×

มูให้รวย มูให้ปัง พลังความสำเร็จ สำรวจ ‘พลังมู สู่อัตลักษณ์ความเป็นไทย’

13.06.2022
  • LOADING...
มูเตลู

ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เห็นข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจ คือข่าวทีม ส.ก. จากพรรคเพื่อไทยไปลงพื้นที่ที่ตลาดห้วยขวาง และได้ไปทำพิธีบูชาพระพิฆเนศ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตลาดห้วยขวางที่ใครๆ ก็รู้จักกันดี ข่าวระบุว่าพรรคจะผลักดันให้เทวาลัยพิฆเนศและตลาดห้วยขวางเป็น Soft Power จุดดึงดูดนักท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจดี

 

จากบทความก่อน ‘เจาะลึกพลัง ‘มูเตลู’ Soft Power ของไทยที่สร้างรายได้มหาศาล’ (https://thestandard.co/key-messages-mutelu-amulet-and-commercial-buddha/)  

 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ได้จากพลังมูเตลู โดยเฉพาะตลาดพระเครื่องก็สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้มากถึงกว่าปีละ 40,000 ล้านบาท และในท้ายบทความผู้เขียนได้ทิ้งท้ายว่าจะพาทุกท่านไปสำรวจความสำเร็จในเชิงการท่องเที่ยว ว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากพลังมูเตลูสามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดและให้กับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่อย่างไร และจะพาไปสำรวจความสำเร็จธุรกิจมูเตลูอย่างแบรนด์ไลลา (Leila Amulets) และธุรกิจเบอร์มงคล ว่าความสำเร็จสามารถสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจมากน้อยแค่ไหน  

 

ดังนั้นบทความนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านทุกท่านไปสำรวจความสำเร็จของ Soft Power มูเตลูที่ติดค้างกันไว้ ว่ามูแล้วรวย มูแล้วปังอย่างไร

 

เที่ยวมู สู่เม็ดเงินมหาศาล

หากกล่าวถึงพลังมูเตลูในความสำเร็จเชิงการท่องเที่ยว หลายคนคงนึกถึงประเทศสำคัญประเทศหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวด้านนี้ได้มหาศาลคือ เมียนมา คนไทยจำนวนมากแม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองก็เคยซื้อทัวร์เพื่อที่จะเดินทางไปเที่ยวชมหรือไปสักการะบูชาขอพรสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญๆ ในเมียนมา ไม่ว่าจะไปดูพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี ไปกราบไหว้ขอพรพระธาตุเจดีย์สำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์ชเวดากอง พระธาตุอินทร์แขวน หรือไปชมทุ่งมหาเจดีย์ที่เมืองพุกาม รวมถึงไปทำพิธีมูขอพรจากเทพศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเทพทันใจ หรือเทพกระซิบ จนเทพทั้ง 2 องค์ถูกยืมมาอยู่ที่วัดในประเทศไทยหลายต่อหลายวัด เพื่อดึงดูดนักแสวงบุญให้มาท่องเที่ยว ให้มามู หรือแม้แต่ถูกยืมมาดัดแปลงจากเทพทันใจเป็นพระองค์อินทร์ทันใจก็มีมาแล้ว

 

จากข้อมูลกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวของเมียนมา รายงานว่า เมียนมามีรายได้จากการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2557 ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังระบุว่า ในปีเดียวกันนี้มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมียนมาเป็นจำนวนมากกว่า 3.5 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาลกว่า 1,140 ล้านดอลลาร์ หรือราว 37,620 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจากไทย ญี่ปุ่น และจีน คิดเป็นสัดส่วน 67% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2557

 

กลับมามองในประเทศไทย โดยภาพรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพลังมูเตลูในปี 2562 ผลการสำรวจของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ประมาณการว่าการเดินทางไปทำบุญของประชาชนภายในประเทศสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบได้มากถึง 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.36 ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะมีมูลค่าโดยรวมแล้วยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด

 

ไม่เพียงเท่านั้นจากข้อมูลการท่องเที่ยว จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ยังระบุว่าจากการเติบโตของกระแสไอ้ไข่หรือเจ้าไข่ วัดเจดีย์ ทำให้มีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวในจังหวัดสูงถึงกว่า 970 ล้านบาท และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 1.2 ล้านคน สามารถสร้างรายได้เข้าจังหวัดได้มากถึง 5,572 ล้านบาท

 

พลังรวย พลังมู สู่ท้องถิ่นและชุมชน

นอกจากการสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลและทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในประเทศแล้ว พลังมูเตลูนี้ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในชุมชนบริเวณใกล้เคียงสถานที่ท่องเที่ยวนั้นด้วย ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่าง 3 สถานที่ที่เป็นที่รู้จักกัน อย่าง ‘ไอ้ไข่หรือเจ้าไข่’ จังหวัดนครศรีธรรมราช ‘คำชะโนด’ จังหวัดอุดรธานี และ ‘หลวงพ่อทันใจ’ จังหวัดเชียงใหม่ 

 

ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงวัดไอ้ไข่นั้น เปิดร้านขายเครื่องเซ่นไหว้หลายสิบร้าน บริเวณทางเข้าวัดเจดีย์ สามารถสร้างรายได้ถึงหลักแสน โดยการขายรูปปั้นไก่ที่นำไปถวายไอ้ไข่ ตั้งแต่ราคาตัวละ 10 บาท ถึงราคาหลัก 10,000 บาท

 

หรือสถานที่มูเตลูสำคัญอย่าง ‘เกาะคำชะโนด’ พี่น้องชาวบ้านที่มีฝีมือในการทำบายศรีก็พากันทำบายศรีออกมาให้ผู้ที่มาสักการะบูชาได้บูชากัน ตลอด 2 ข้างทางถนนสายบ้านสันติสุข ตำบลบ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ทางเข้าเกาะคำชะโนด ชาวบ้านเปิดร้านขายบายศรีรูปพญานาคกว่า 30 ร้าน สร้างรายได้อย่างต่ำเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งชาวบ้านบางรายทำมาแล้วกว่า 10 ปี

 

หรือบริเวณทางขึ้นวัดพระธาตุดอยคำ ‘หลวงพ่อทันใจ’ จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเห็นว่ามีชาวบ้านจำนวนมากมาเปิดร้านขายพวงมาลัยดอกมะลิ เพื่อให้ผู้ที่มากราบไหว้หลวงพ่อทันใจได้ซื้อไปถวายหรือแก้บนจากที่เคยได้มามูไว้ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านทั่วไปได้วันละไม่ต่ำกว่า 400-500 บาท

 

เห็นไหมว่า สถานที่มูเตลูเหล่านี้นอกจากจะสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับประเทศแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้หรือกระจายรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งถือเป็นรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลักอย่างการทำการเกษตร หรืออาจจะกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัวเลยก็เป็นได้

 

ขายมู สู่รายได้ธุรกิจกว่าพันล้าน

‘ไลลา’ คืออะไร ไลลา คือศูนย์รวมเครื่องรางของขลังขวัญใจคนหนุ่มคนสาวสายมูเตลู อันเป็นสายที่เข้มข้นด้วยรสนิยม ค่านิยม ความเชื่อในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไลลา คือแบรนด์เครื่องรางชั้นนำที่โด่งดังมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

 

ความสำเร็จของไลลา จะเห็นได้ว่าไลลาจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในเดือนกันยายน 2559 เริ่มต้นมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แต่เพียงเวลาแค่ไม่ถึง 3 ปี ไลลาสามารถสร้างมูลค่ายอดขายในปี 2562 ได้สูงถึง 139,481,213 บาท มีมูลค่าบริษัท ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 10,332,469 บาท (เพิ่มขึ้น 1033.25% ของทุน) ต้องเรียกได้ว่าไลลาเป็นเครื่องรางที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างมาก ผู้ที่นิยมบูชามาใส่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มดาราวัย ลิซ่า มาริโอ้ ฯลฯ

 

ความสำเร็จหนึ่งของไลลาคือกานำเอาเครื่องรางของขลังของไทยมาผสานกับการเป็นเครื่องประดับ และออกแบบเครื่องรางให้ดูมีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น เกิดกระแสเติบโตของธุรกิจและความนิยมอย่างรวดเร็ว มีร้านเช่าบูชาหลายแห่ง แต่ละแห่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล ชิดลม, สยามพารากอน, สยามดิสคัฟเวอรี่ และเอ็มโพเรียม

 

ไลลา คือการทำให้วัตถุมงคลกลายเป็นเครื่องประดับที่สอดรับกับแฟชั่นสมัยนิยม ดังคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าของแบรนด์วัตถุมงคลไลลาที่กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการทำไลลาเกิดจากการพยายามเอาเครื่องรางของขลังของไทยมาผสานกับเครื่องประดับและออกแบบเครื่องรางให้ดูแฟชั่นมากขึ้น ดังนั้นวัตถุมงคลไลลาจึงไม่ใช่การสร้างวัตถุศักดิ์สิทธิ์แบบเดิมๆ ขึ้นมาเพียงเท่านั้น แต่ยังมีการออกแบบให้เกิดความสวยงามจากเหล่าจิวเวลรีดีไซเนอร์ด้วย 

 

ความสวยงามและความเก๋ไก๋ของวัตถุมงคลไลลาถึงขั้นที่ผู้เขียนคอลัมน์ Fashion Inspirations นิตยสาร Vogue กล่าวว่า ของขลังในอดีตที่ผู้ใหญ่จับให้ห้อยพระไม่ก็ผูกสายสิญจน์แบบเก่านั้นทำให้คนรุ่นใหม่ ‘กลัวเชย’ หรือคิดว่าของขลังจากวัดมีไว้สำหรับคนแก่เท่านั้น

 

แต่สำหรับของขลังไลลากลับเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการพระเครื่องไทยเลยก็ว่าได้ โดยการดึงเอาความเชื่อแต่โบราณของไทยมาจับคู่กับความเป็นแฟชั่น จนถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “เราเห็นเบี้ยแก้พญาเสือโคร่งทำให้ฉุกคิดถึงกลิ่นอายความเป็น Gucci ขึ้นมาทันที” นี่คือ Creative Economy

 

ไม่เพียงแต่ธุรกิจมูเตลูด้านวัตถุมงคลอย่าง Leila Amulets เท่านั้น 3 ค่ายมือถือที่เห็นช่องทางเติบโตที่จะเพิ่มฐานลูกค้าด้วยการตลาดเบอร์มงคล ก็ลงมาทำตลาดด้วยพลังมูเตลูนี้ด้วยเช่นกัน หากอ้างอิงจากงานสัมมนา Marketing In The Uncertain World ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลาดเบอร์มงคลถือว่าเติบโตสวนกระแสวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาอยู่ โดยผลวิจัยพบว่าคนไทยกว่า 52 ล้านคนเชื่อในเรื่องความเชื่อเรื่อง ‘โชคลาง’ คนไทยกว่า 74% มีความเชื่อเรื่องเบอร์มงคล ตลาดเบอร์มงคลมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

 

มูลค่าตลาดซื้อขายเบอร์มงคลในแต่ละปีมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10 เปอร์เซ็นต์ 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ใช้การตลาดมูเตลูโดยใช้แคมเปญเบอร์มงคลจากอาจารย์หรือหมอดูชื่อดังต่างๆ มาการันตีความ ‘เฮง’ จึงสามารถช่วยดึงผู้บริโภคให้กลับมาใช้งานค่ายมือถือของตนเองได้จำนวนมาก

 

พร้อมรับพลังมู สู่อัตลักษณ์ความเป็นไทย

 

จากข้อมูลข้างต้นคำถามของผู้เขียนก็คือ เราพร้อมแล้วหรือยังกับการยอมรับความเป็นตัวตนของเรา ตัวตนที่เราพยายามปิดบังและบางครั้งแอบรู้สึกอายและรังเกียจตัวเองด้วยซ้ำไป ดังนั้นก้าวแรกของการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องรางของขลังในฐานะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราต้องเปลี่ยนชุดความคิดของเราเกี่ยวกับพุทธพาณิชย์ แขก คำ ผกา กล่าวว่า “อย่าบอกว่าเงินกับวัดไปด้วยกันไม่ได้ เรายอมรับเถอะว่าศาสนากับทุนนิยมมันหนีกันไม่พ้น”

 

ศาสนามันมีหลายมิติ ทั้งในแง่ที่หันหลังให้โลก และแง่ที่เป็นหนึ่งเดียวกับโลก ศาสนาพุทธเองก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปของโลก เพียงแต่ผู้เขียนคิดว่าเราเพียงปล่อยให้ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย แยกรัฐออกจากศาสนาและความเชื่อ เลิกกำหนดว่าความเชื่อไหนถูกหรือผิด และที่สำคัญที่สุดคือ เลิกปฏิเสธความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา พร้อมกับยอมรับว่า ‘มูเตลู คือความเป็นไทย คือเอกลักษณ์ คืออัตลักษณ์อันทรงพลัง’

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising