×

ปรับพอร์ตหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ กับ ‘สองเรื่องที่ไม่เปลี่ยนไป’ และ ‘สองเรื่องที่เปลี่ยนแปลง’

09.11.2020
  • LOADING...
ปรับพอร์ตหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ กับ ‘สองเรื่องที่ไม่เปลี่ยนไป’ และ ‘สองเรื่องที่เปลี่ยนแปลง’

ในระหว่างที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังติดตามผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2020 ที่สูสีและตื่นเต้นที่สุดครั้งนี้อยู่ หลายคนก็เริ่มตั้งคำถามว่าเราต้อง ‘ปรับพอร์ต’ รับมือกับความไม่แน่นอนที่สูง หรือนโยบายเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร

 

แต่ไม่ทันที่เราจะตั้งตัว การตอบรับล่าสุดของตลาดก็กลับเป็นไปในทาง ‘บวก’ กับแทบทุกสินทรัพย์ จนความ ‘ไม่กล้าเสี่ยง’ ของนักลงทุนกลับกลายเป็นต้นทุนไปเสียแล้ว

 

อาการ ‘กลัวตกรถ’ คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับนักลงทุนทั่วโลกในตอนนี้ แม้นักลงทุนที่ประสบการณ์สูงจะรู้ตัวว่าภาวะดังกล่าวอาจนำไปสู่ความเสี่ยงมากกว่าโอกาส แต่การที่ทุกสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นก็ยากที่จะทำเป็นไม่สนใจ

 

อย่างไรก็ดี สำหรับการสร้างความมั่งคั่งและลงทุนระยะยาว สิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนไม่ควรเกิดขึ้นแค่จากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ว่าจะเปลี่ยนแปลงมุมมองเศรษฐกิจไปในทิศทางไหน แต่ควรต้องคิดไปพร้อมกับระดับราคา อารมณ์ของตลาด ตำแหน่งของแต่ละสินทรัพย์ในปัจจุบัน รวมไปถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตหลังการเลือกตั้งพร้อมกันด้วย

 

เมื่อเราเรียงลำดับความคิดให้ดีจะพบว่าในโลกของการลงทุนมี ‘สองเรื่องสำคัญที่ไม่เปลี่ยนไป’ และมีเพียง ‘สองเรื่องสำคัญที่เปลี่ยนแปลง’ อย่างมีนัยจากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ครั้งนี้ 

 

ประเด็นแรกคือทิศทางของยีลด์ทั่วโลก ‘ไม่เปลี่ยน’ และตลาดเชื่อว่าดอกเบี้ยกับผลตอบแทนของตราสารหนี้จะอยู่ในระดับต่ำอย่างนี้ต่อไปอีกนาน

 

เห็นได้ชัดจากล่าสุดที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 2 ปีและ 10 ปีแทบไม่ไปไหน ปัจจุบันซื้อขายในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.15% และ 0.85% ตามลำดับ ตอกย้ำด้วยการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% ในวันถัดมา ชี้ว่าผลตอบแทนจากบอนด์คงไม่มีทางสูงขึ้นเร็วๆ นี้ และจะเป็นสิ่งที่ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ ต่อไปอีกสักพักหลังการเลือกตั้ง นักลงทุนจึงยังควร ‘ลด’ การลงทุนแบบเน้นรายได้ และตั้งใจมองหาการลงทุนที่เติบโตมาแทนที่ก่อน

 

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังสิ่งที่การเลือกตั้ง ‘ไม่สามารถเปลี่ยนได้’ อย่างที่สอง ซึ่งก็คือระดับราคาของสินทรัพย์เสี่ยง

 

เนื่องจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้ นอกจากจะไม่มีพรรคการเมืองไหนสามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาทั้งหมดไว้ได้แล้ว ยังแสดงให้เราเห็นอีกด้วยว่าชาวอเมริกันมีความแตกแยกทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน

 

ประเด็นดังกล่าวจะทำให้การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายขนาดใหญ่ เช่น การอัดฉีดเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยการขาดดุลทางการคลังสูง หรือการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจบางประเภทจะถูกต่อต้านเสมอจากฝั่งตรงข้ามจนเกิดขึ้นจริงได้ยาก

 

หมายความว่าหุ้นที่เน้นสร้างนวัตกรรมที่แพงก็จะแพงต่อไปจนกว่าจะมีการตอบรับของตลาดที่ดีในอนาคต ขณะที่หุ้นพื้นฐานที่ถูกก็ต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้กลับมาให้ได้ด้วยตัวเองเสียก่อน

 

ดังนั้น จึงควรทยอยลงทุน หาจังหวะเข้าลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เน้นปรับสมดุลพอร์ตด้วยการผสมผสานหุ้นพื้นฐาน (Value) ควบคู่ไปกับหุ้นเติบโต (Growth) ให้มากขึ้น เพื่อรอวันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤต 

 

ส่วนเรื่องที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ‘เปลี่ยน’ ตลาดการเงินอย่างแรกคือสถานะการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของดอลลาร์ที่ลดบทบาทลงอย่างรวดเร็ว

 

แค่ย้อนกลับไปในเทียบกลางปีที่ผ่านมากับปัจจุบัน ดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ร่วงลงจากระดับ 100 จุดเหลือเพียง 92 จุดไปเสียแล้ว โดยต่อให้การเลือกตั้งจะมีผลบวกกับนโยบายของพรรคเดโมแครต นักลงทุนก็เลือกที่จะเชื่อว่าสหรัฐฯ จะมีการใช้นโยบายทางการคลังอย่างมหาศาล กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า

 

และในกรณีที่ไม่มีแรงหนุนจากการเลือกตั้ง นโยบายทางการเงินก็จะต้องผ่อนคลายลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะมีผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าได้อีกไม่ต่างกัน หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นทิศทางไหน เงินดอลลาร์ก็ถูกมองว่าต้องอ่อนค่า

 

ดังนั้นการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) จึงดูน่าสนใจที่สุด เพราะมักเป็นสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวได้เร็วในช่วงที่สกุลเงินท้องถิ่นแข็งค่า ขณะเดียวกันนักลงทุนก็สามารถถือทองคำไว้เป็นสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มเติมได้ เพราะในอนาคตเรากำลังจะพบกับดอลลาร์ที่อ่อน และไม่มีสงครามการค้ามาสร้างความผันผวนอีกต่อไป

 

และประเด็นสุดท้ายที่การเลือกตั้งสามารถ ‘เปลี่ยน’ ได้คืออารมณ์ของนักลงทุน เพราะเมื่อเหตุการณ์สำคัญผ่านพ้นไปแล้ว ‘ความไม่แน่นอน’ จะทยอยลดลง และความกล้าของนักลงทุนกำลังเพิ่มขึ้น

 

ชัดเจนที่สุดคือดัชนีวัดความกลัวอย่าง VIX Index ที่ปรับตัวสูงขึ้นผิดปกติไปถึง 40 จุดในช่วงเลือกตั้ง และย่อตัวลงเหลือเพียง 24 จุดเท่ากับก่อนเลือกตั้งในตอนนี้ เป็นการชี้ว่านักลงทุนที่เคยกลัวนั้นเลิกกลัวไปแล้ว

 

โดยอารมณ์ของตลาดหลังความกลัวมักเป็นช่วงที่ตลาด ‘มีความหวัง’ เป็นช่วงที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว ระดับราคาของสินทรัพย์ยังแพง แต่นักลงทุนเชื่อว่าอนาคตกำลังจะดีขึ้น มองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1973 ช่วงมีความหวังของตลาดมักกินเวลาราว 9 เดือนต่อรอบ และหุ้นสหรัฐฯ มักให้ผลตอบแทนจากการตีมูลค่า (P/E Expansion) ที่สูงขึ้นถึงกว่า 40% ต่อปีโดยเฉลี่ยในช่วงนี้ 

 

นักลงทุนจึงควรเพิ่มการลงทุนที่สามารถสร้างการเติบโตของพอร์ตให้มากขึ้นไปพร้อมกันด้วย

 

ถึงตรงนี้ เชื่อว่าผู้อ่านคงได้มุมมองในการปรับพอร์ตเพื่อรับมือกับตลาดการเงินหลังการเลือกตั้งครั้งนี้บ้างไม่มากก็น้อย 

 

ท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอสำหรับการสร้างความมั่งคั่งคืออย่าให้เหตุการณ์ระยะสั้นมีผลกระทบกับการลงทุนระยะยาวของเรามากเกินไป 

 

‘การกระจายการลงทุน’ และเลือกสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับภาพเศรษฐกิจระยะยาวจะทำให้เรากล้าลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง 

 

และสุดท้ายต้องไม่ลืมว่าความเสี่ยงของการสร้างความมั่งคั่งไม่ได้มีแค่การ ‘ขาดทุน’ แต่การรับความเสี่ยงที่ต่ำเกินไปก็สามารถทำให้เราเสี่ยงที่จะ ‘ไปไม่ถึงเป้าหมาย’ ความมั่งคั่งที่เราต้องการด้วยเช่นกัน 

 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising