‘การจดบันทึก’ กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ Wellness ที่ได้รับความนิยมมากในปี 2022
ปัจจุบันเริ่มมีคาดการณ์เกี่ยวกับเทรนด์ Wellness ของปี 2022 ออกมาแล้วโดยเว็บไซต์ Destinationdeluxe ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นแน่ๆ คือการ ‘จดบันทึก’ ซึ่งการแสดงออกผ่านการนำกิจวัตรประจำวันง่ายๆ เช่นนี้ เขาบอกว่ามันสามารถพิสูจน์ให้เห็นประโยชน์เชิงบวกเกี่ยวกับการปรับปรุงนิสัยบางอย่างของตัวเอง การเพิ่มแรงจูงใจที่ดี และช่วยลดความวิตกกังวลได้
Pop Tip: มีการคาดการณ์ว่ากิจกรรม ‘การจดบันทึก’ กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ Wellness ที่ได้รับความนิยมมากในปี 2022 ดังนั้นลองฝึกจดบันทึกแบบ New Mindset Journal ตั้งแต่วันนี้ จะช่วยขจัดความเครียด วิตกกังวล และฝึกให้ความสำคัญกับตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
ภาพ: Shutterstock
ไอเดียแต่งห้องสไตล์มินิมัลในโทนสีดำ ขาว เทา แต่งห้องเดิมๆ ได้อย่างมีเสน่ห์ เรียบง่าย แต่ดูเท่อย่างมีชีวิตชีวา ตามแบบ @s.eulll
ใครที่อินสุดๆ กับการแต่งบ้านสไตล์มินิมัลในโทนสีดำ ขาว เทา ต้องไม่พลาดที่จะติดตามสไตล์การแต่งห้องของชาวเกาหลีใต้ที่ใช้ชื่อแอ็กเคานต์ Instagram ว่า @s.eulll เพราะการถ่ายภาพการตกแต่งห้องเดิมๆ ของเธอในแต่ละวัน แม้เป็นมุมเดิมๆ เฟอร์นิเจอร์เดิมๆ แต่กลับอินสไปร์และดูมีเสน่ห์ได้ทุกครั้งที่กดเข้าไปชมดีเทลของการแต่งห้องสุดมินิมัลนี้
Pop Tip: ใครกำลังมองหาไอเดียการแต่งห้องสไตล์มินิมัลในโทนสีดำ ขาว เทา แนะนำให้กดติดตาม Instagram @s.eulll ซึ่งแต่งห้องเดิมๆ ได้อย่างมีเสน่ห์ เรียบง่าย แต่ดูเท่อย่างมีชีวิตชีวา
ภาพ: Instagram @s.eulll
Bathing Rituals เอนหลังแช่ตัวในน้ำอุ่น ช่วยสร้างสมาธิ ทำให้ระบบประสาทสงบลงอย่างล้ำลึก ช่วยบรรเทาความเครียด ความเหนื่อยล้า ลดความเจ็บปวดและการอักเสบได้ดี
การเอาร่างกายสัมผัสกับน้ำในอุณหภูมิที่เหมาะสมคือการ Bathing Rituals ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Wellness ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน มันช่วยฝึกสมาธิและทำให้ระบบประสาทสงบผ่อนคลายลงอย่างล้ำลึก วันศุกร์สุดท้ายของสัปดาห์จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเอนกายแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ เพื่อบำบัดความเมื่อยล้า ลดความเจ็บปวดและการอักเสบได้เป็นอย่างดี ทิปของเราวันนี้จึงอยากชวนเอนกาย แช่ตัวในอ่างน้ำอุ่นๆ และดื่มด่ำความสงบจากความสุขที่เรียบง่ายนี้ให้สมกับเป็นวันศุกร์กันเถอะ
Pop Tip: วันศุกร์แบบนี้เหมาะแก่การ Bathing Rituals เพราะการเอนหลังแช่ตัวในน้ำอุ่นเป็นหนึ่งในพิธีกรรมที่ช่วยสร้างสมาธิ ทำให้ระบบประสาทสงบลงอย่างล้ำลึก ช่วยบรรเทาความเครียด ความเหนื่อยล้า ลดความเจ็บปวดและการอักเสบได้ดี อย่าลืมดื่มน้ำหลังแช่น้ำเสมอ เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้ร่างกาย
ภาพ: Shutterstock
เข้าไปทำงานกับความรู้สึกภายในของตัวเองกับแคมเปญ Every Day is Mind Day ของ UNICEF
ตอนนี้คนหันมาใส่ใจกับสุขภาพจิตกันมากขึ้น เพราะเห็นแล้วว่าการมีสุขภาพจิตที่ดีก็สำคัญพอๆ กับการมีสุขภาพร่างกายที่ดีเหมือนกัน เพราะนอกจากที่จะทำให้เรามีแรงออกไปใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังทำให้เรามีวิธีในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามาอีกด้วย
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก การจะเข้าไปทำงานกับความรู้สึกภายในของตัวเองจึงจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือที่จะถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น POP Tips วันนี้ขอเสนอวิธีง่ายๆ ที่เราได้จากแคมเปญ Every Day is Mind Day ของ UNICEF
หลักการเหล่านี้สามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย และจะยิ่งดีมากขึ้นหากเราสามารถสอดแทรกเข้ากับชีวิตประจำวัน อาศัยช่วงเวลาสั้นๆ ให้เราได้อยู่กับตัวเองแล้วทำกิจกรรมเหล่านี้ ก็จะมีโอกาสเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น
1. ถ้ารู้สึกว่าการปรึกษาใครสักคนไปเรื่องยากเกินไปหน่อย ไม่ว่าจะหาที่ปรึกษาไม่ได้หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ลองเขียนทุกอย่างที่เรากำลังแบกอยู่ลงในสมุดบันทึกส่วนตัว เขียนแบบ ‘Free Writing’ คือถ่ายเททุกอย่างที่อยู่ในหัวโดยไม่ต้องสนใจรูปประโยค ไม่ต้องหยุดมือ และลดการตัดสินตัวเองว่าเขียนแบบนี้ดีหรือไม่ดี การทำแบบนี้จะทำให้สิ่งที่กำลังอวลๆ อยู่ในหัวถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของคำ ที่จะทำให้เราเป็นสิ่งที่กำลังกวนใจเราชัดขึ้น
2. ลองคุยกับตัวเองออกมาดังๆ ผ่านหน้ากระจก การทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องเฮลตี้ด้วยซ้ำ เพราะการพูดออกมาจะทำให้ประสาทสัมผัสทางการได้ยินได้ทำงานอีกอย่าง เราจะได้ยินเสียงพูดของตัวเอง และถ้าฟังดีๆ เราจะได้ยินสิ่งที่เราต้องการ
3. ถ้าใครไม่ถนัดเขียน ลองอัดเสียงตัวเองลงในโทรศัพท์ พูดไปเรื่อยๆ ได้เลยว่าวันนี้เรากำลังรู้สึกอะไร เหมือนเรากำลังเขียนไดอะรีเสียงอยู่ แล้วถ้ามีเวลาว่างก็กลับมาฟัง ก็เป็นอีกทางที่จะทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น
4. ถ้าตัดสินใจแล้วว่าการคุยกับตัวเองไม่เวิร์ก และต้องการความช่วยเหลือจากใครสักคนที่ไว้ใจ ลองเปิดบทสนทนาด้วยการแชตไปหา แทนการโทรไป อาจเริ่มต้นบทสนทนาได้ง่ายกว่า
มีทิปส์ดีๆ ที่จะทำให้เราได้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเองอีกมาก สามารถศึกษาได้จากแคมเปญ Every Day is Mind Day ของ UNICEF ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.unicef.or.th/mindday
เรื่อง: อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
4 วิธีจับสัญญาณว่าเรากำลังต้องการความช่วยเหลือจากใครสักคนไหม
บางทีปัญหาทางใจก็เป็นเรื่องอธิบายลำบาก แม้แต่ตัวเราเองก็หาคำมาอธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังรู้สึกอะไร
แต่ไม่เป็นไร ถ้าเรายังอธิบายเป็นคำพูดออกไม่ได้ POP Tips ขอนำเสนอวิธีการจับสังเกตด้านอื่นๆ ว่าสิ่งเหล่านี้เรากำลังเปลี่ยนไปจากเดิมที่เราเป็นหรือไม่ ถ้าใช่ เราอาจขอความช่วยเหลือจากใครสักคน
1. สัญญาณทางร่างกาย เริ่มมีอาการนอนไม่หลับหรือไม่ก็นอนมากจนผิดปกติ เริ่มทำร้ายตัวเอง เริ่มมีการกินที่ผิดปกติอาจมากหรือน้อยกว่าเดิม
2. สัญญาณทางพฤติกรรม เริ่มมีบุคลิกที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผลการเรียนหรือประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างน่าประหลาดใจ เริ่มมีการใช้สารเสพติด อะไรที่เคยชอบทำ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง ออกไปเจอเพื่อน ก็เริ่มไม่อยากทำ
3. สัญญาณทางความคิด เริ่มมีความคิดวกวนหมกมุ่น คิดซ้ำไปซ้ำมา เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่
4. สัญญาณทางอารมณ์ เริ่มมีอารมณ์แปรปรวนรุนแรง รู้สึกโกรธหรือเศร้ายาวนานและรู้สึกว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด
หากรู้สึกว่าเรากำลังเข้าข่ายสัญญาณต่างๆ เหล่านี้ หรือหากไม่เข้าข่ายเลย แต่ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่สบายเนื้อสบายตัว เราก็สามารถยื่นมือขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ เพื่อนสนิท หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจทำให้เราพบทางออกได้มากกว่าการวนอยู่กับปัญหาเพียงคนเดียว
มีทิปส์ดีๆ ที่จะทำให้เราได้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเองอีกมาก สามารถศึกษาได้จากแคมเปญ Every Day is Mind Day ของ UNICEF ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.unicef.or.th/mindday
เรื่อง: อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
6 วิธีเป็นผู้รับฟังที่ดี เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่ากำลังมีใครรับฟังเขาอยู่อย่างจริงใจ
เราทุกคนสามารถเป็นซัพพอร์ตที่ดีให้กับเพื่อนได้ ถ้าเพื่อนต้องการความช่วยเหลือ อยากได้ที่พึ่งพิงทางใจ แต่เคยสังเกตกันไหมว่าบางครั้งคนที่ขอความช่วยเหลือจากเราอาจไม่ได้อยากได้คำแนะนำมากกว่าการรู้สึกว่ามีใครสักคนกำลังรับฟังเขาอยู่อย่างจริงใจ
POP Tips วันนี้ขอหยิบแนวทางการเป็นผู้รับฟังที่ดี ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกได้รับการประคับประคองจิตใจ จากคู่มือดูแลสุขภาพจิตใจ ในแคมเปญ Every Day is Mind Day จาก UNICEF ซึ่งมีวิธีปฏิบัติคือ
ก่อนเริ่มการสนทนา ลองปิดเครื่องมือสื่อสารถ้าสามารถทำได้ สร้างความเชื่อมั่นให้เพื่อน และรอให้เขาพร้อมเปิดใจที่จะเล่า จากนั้นให้เริ่มถามว่าเพื่อนกำลัง ‘รู้สึกอย่างไร’ ถามอย่างเรียบง่าย แต่ต้องตั้งใจฟัง เอาใจใส่คำตอบของเพื่อนหลังจากนี้ เพื่อนจะได้รู้สึกว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถถ่ายเทความไม่สบายใจได้ออกมาอย่างเต็มที่
ลองทวนคำตอบเป็นระยะให้เพื่อนได้ฟังคีย์เวิร์ดสำคัญ พร้อมกับถามคำถามปลายเปิด เพื่อนำพาไปสู่รายละเอียด หลีกเลี่ยงคำตอบนำหรือคำถามแนว ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ เพราะอาจทำให้บทสนทนาจบเร็ว และถ้าหากอยากให้บทสนทนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เราสามารถแสดงความจริงใจด้วยการถามต่อไปว่า ‘กำลังตั้งใจฟังอยู่นะ เล่าให้ฟังต่อได้ไหม’ หรือชวนเพื่อนคิดต่อว่า ‘แล้วเธอคิดอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง’
สิ่งที่สำคัญคือ อย่าพยายามเป็นนักแก้ปัญหา แต่ควรทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี เพราะการรับฟังเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือที่สำคัญ ไม่ต้องรีบแนะนำให้เพื่อนควรทำอย่างไร เพราะแค่คำแนะนำก็อาจเป็นการตัดสินโดยที่เราไม่รู้ตัว
การสร้างบทสนทนาดังกล่าวจะทำให้เพื่อนที่กำลังไม่สบายใจ รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ ไม่ว่าอย่างไรคุณจะอยู่เคียงข้างเพื่อนและช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถที่จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น แต่หากว่าเพื่อนต้องการความช่วยเหลือมากกว่าการได้รับซัพพอร์ตทางใจ การแนะนำให้เพื่อนปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
มีทิปส์ดีๆ ที่จะทำให้เราได้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเองอีกมาก สามารถศึกษาได้จากแคมเปญ Every Day is Mind Day ของ UNICEF ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.unicef.or.th/mindday
Self-care คือการดูแลตัวเองที่เรียบง่าย แค่เข้าใจว่าตอนนี้ตัวเองต้องการอะไรและตอบสนองสิ่งนั้น โดยไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ใช้เงินมากมาย หรือเดินเข้าสถานความงามเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถทำให้ Self-care เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเรียบง่ายเพียงแค่หิวก็ไปกิน เหนื่อยก็พัก ง่วงก็ไปนอน ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของเรานั่นเอง
POP Tips ขอแนะนำวิธีการดูแลร่างกายและจิตใจตัวเองง่ายๆ ที่สามารถสอดแทรกเข้ากับกิจวัตรประจำวันที่ทำอยู่แล้ว แต่เพิ่มรายละเอียดมากขึ้นหน่อย ใช้เวลามากขึ้นอีกนิด ก็ทำให้สิ่งที่ทำอยู่แล้วกลายเป็น Self-care ได้
1. มีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน เข้านอนและตื่นเป็นเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ การมีกิจวัตรที่แน่นอนจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2. เดินทางในระยะใกล้ๆ ด้วยการเดิน การเดินจะช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งแจ่มใส ช่วยให้เลือดไหลเวียนสู่ร่างกายและสมองได้ดี
3. หาเวลาพูดคุยกับตัวเองด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวประจำวันลงในสมุดบันทึก การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเองด้วยการเขียน ทำให้ความกลัว ความคับข้องใจที่พบเจอระหว่างวันถูกถ่ายเทออกมา ทำให้เราได้ทบทวนและเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งพืช ผัก ผลไม้ ถั่ว ปลาที่มีไขมันดี ธัญพืช หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดความกังวลใจและหงุดหงิดง่าย
5. ยืดเส้นยืดสายระหว่างทำงานด้วยการทำโยคะง่ายๆ จะช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ การผ่อนลมหายใจออกจะช่วยให้ร่างกายกระตุ้นสารเคมีแห่งความสุขในสมองให้หลั่งออกมาได้ดียิ่งขึ้น
6. หาเวลานั่งสมาธิ เพราะการได้ควบคุมลมหายใจตัวเองจะช่วยเรื่องการเต้นของหัวใจ ลดความเครียด เพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง
7. หาเวลาอยู่กับธรรมชาติ เดินเล่นในสวนสาธารณะ ดูแลสัตว์เลี้ยง หรือทำสวน
8. หาเวลาพบปะเพื่อนฝูง การได้ถ่ายเทความเครียดด้วยการแบ่งปันให้เพื่อนที่สนิทใจ จะทำให้เรารู้สึกถึงความรักและความเอาใจใส่จากผู้คนรอบข้าง หากไม่สะดวกจะแชตออนไลน์หรือคุยโทรศัพท์กันสั้นๆ ก็ได้
9. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ มีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของเราอย่างมาก เพราะคือช่วงเวลาที่ร่างกายได้พักผ่อน ได้ย่อยความเครียดและปัญหา ด้วยการผ่อนความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของกิจวัตรประจำวันที่มีประสิทธิภาพ
มีทิปส์ดีๆ ที่จะทำให้เราได้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเองอีกมาก สามารถศึกษาได้จากแคมเปญ Every Day is Mind Day ของ UNICEF ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.unicef.org/thailand/mindday