×

ผลสำรวจการอ่านคนไทยปี 2561 ชี้ชัด คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 80 นาทีต่อวัน

04.04.2019
  • LOADING...

ผลการสำรวจของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2561 เผยว่าทุกวันนี้คนไทยมีค่าเฉลี่ยการอ่านมากขึ้นถึง 80 นาทีต่อวัน ซึ่งแบ่งเป็นหนังสือเล่ม 88% ขณะที่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) มีมากถึง 75.4%

 

เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) สำนักงานอุทยานการเรียนรู้และสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเผยผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยเป็นการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือนทั่วประเทศ นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า​คนไทยในช่วงอายุ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือ 78.8% หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยในเขต กทม. มีคนอ่านมากที่สุด คิดเป็น 92.9% ภาคกลาง 80.4% ภาคเหนือและภาคอีสาน 75% และภาคใต้ 74.3%

 

ขณะที่เวลาในการอ่านสูงขึ้น พบว่าคนไทยอ่านหนังสือนานที่สุดเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ค่าเฉลี่ยการอ่านอยู่ที่ 66 นาที และปี 2556 อยู่ที่ 37 นาที โดยในปัจจุบันมีการแบ่งเป็นหนังสือเล่ม 88% ส่วนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นถึง 75.4%

 

ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า TK Park ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่ผลสำรวจการอ่านของประชากรไทยมาแล้ว 2 ครั้ง นั่นคือการสำรวจในปี 2556 และ 2558 พบว่าสถิติการอ่านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมรวมถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปพอสมควร จึงทำให้ในปีนี้ที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล การอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ย่อมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงหวังให้ข้อมูลและสถิติการอ่านนี้เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้  

 

“ทาง TK Park มองว่าแม้จะมีตัวเลขคนอ่านเพิ่มขึ้น 78.8% ก็ตาม แต่เมื่อมองไปที่ตัวเลขของกลุ่มที่ไม่อ่าน พบว่ามีถึง 21.2% คิดเป็นจำนวนประชากร 13.7 ล้านคน ซึ่งเหตุผลของการไม่อ่านมีตั้งแต่การดูทีวี ไม่มีเวลา อ่านไม่ออก ไม่ชอบ ไม่สนใจการอ่าน ชอบเล่นเกม รวมทั้งไม่มีเงินซื้อหนังสือ” นายกิตติรัตน์กล่าวเสริม

 

นอกจากนี้ยังมีการสรุปผลสำรวจในปี 2561 โดยผู้อำนวยการ TK Park กล่าวถึงประเด็นการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปีที่มีจำนวน 5.4% เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากผลสำรวจเมื่อครั้งที่แล้ว นั่นหมายถึงมีเด็กจำนวนถึง 145,000 คนถูกพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว ในขณะที่งานวิจัยเรื่องผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอ ทีมแพทย์ระบุว่าการเสพสื่อผ่านจออิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบกับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กพอสมควร ซึ่งไม่สมควรใช้กับเด็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบครึ่งอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้ประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก

 

“หนังสือเล่มยังไม่ตาย ในช่วงเวลา 3 ปีนี้เราเห็นได้ชัด ความนิยมการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ 75.4% ซึ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อัตราการลดลงของการอ่านหนังสือเล่มกลับไม่สูงเท่าไรนัก เพราะจากการสำรวจยังคงมีคนอ่านหนังสือเล่มอยู่ถึง 88% ดังนั้นแนวทางการส่งเสริมการอ่านในอนาคตจึงสามารถรณรงค์ควบคู่กันไปได้ทั้งสองทาง”

 

ประเด็นสุดท้าย ห้องสมุดทั่วโลกต้องรู้จักปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่แสดงตัวเลขผู้อ่านหนังสือในห้องสมุดเพียง 0.6% ของคนอ่านหนังสือ หรือคิดเป็นจำนวน 298,000 คน ซึ่งต่ำกว่า 3 แสนคนเป็นครั้งแรก โดยมีผู้ยืม-คืนหนังสือลดลง คิดเป็น 8.3% ซึ่งปรากฏการณ์การลดลงของผู้มาอ่านหนังสือในห้องสมุดนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย ดังนั้นห้องสมุดเองจะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ เพื่อรองรับการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในชุมชนอย่างแท้จริง

 

นอกจากนี้ผลสำรวจปี 2561 ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องของการจัดอันดับ 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือมากที่สุด ดังนี้

1. กรุงเทพฯ 92.9% 

2. สมุทรปราการ 92.7%

3. ภูเก็ต 91.3%

4. ขอนแก่น 90.5% 

5. สระบุรี 90.1% 

6. อุบลราชธานี 88.8%

7. แพร่ 87.6% 

8. ตรัง 87.2% 

9. นนทบุรี 86.6% 

10. ปทุมธานี 86.2%

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising