×

เลือกตั้ง 2566 : สื่อจับมือเครือข่ายนักวิชาการฯ เตรียมเปิดโหวตเสียงประชาชน เห็นด้วยหรือไม่ ให้ ส.ว. โหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมาก ส.ส.

โดย THE STANDARD TEAM
12.05.2023
  • LOADING...
ส.ว. โหวตนายก

วานนี้ (11 พฤษภาคม) ที่ห้องศาลจำลอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ จัดงานแถลงข่าว เปิดโหวตเสียงประชาชน ‘ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่สมาชิกวุฒิสภาควรโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ขณะที่สื่อมวลชนที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการเปิดโหวตครั้งนี้คือ THE STANDARD, ไทยรัฐทีวี, PPTV, Nation, เวิร์คพอยท์, THE MOMENTUM, The MATTER, The Reporters และมติชน

 

สำหรับไฮไลต์สำคัญช่วง ‘วิเคราะห์การเมืองโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง’ จากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา, ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

 

รศ.ดร.โอฬารกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนตื่นตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง เห็นได้จากการเลือกตั้งล่วงหน้า เนื่องจากเห็นบ้านเมืองที่มีความอึมครึมมา 8 ปี มีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง 

 

แต่สิ่งที่ประชาชนเกิดความกังวลหลังการเลือกตั้งคือ ส.ว. ที่ไม่เป็นมิตรต่อการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งผมคิดว่าเป็นปมปัญหาใหญ่พอสมควร มีสัญญาณอำมหิตจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่พยายามทำสิ่งที่ไม่สมควรทำ แต่สามารถทำได้ เมื่อกลไกของคณะรัฐประหารกลายเป็นตัวแสดงหนึ่งในทางการเมือง ณ เวลานี้ และดูท่าทีของตัวแสดงเหล่านี้มีความคาดหวังอยากสืบทอดอำนาจในกระบวนการประชาธิปไตย พร้อมกับการไม่ยอมรับต่อกระแสสังคมในปัจจุบัน จึงทำให้สมมติฐานของประชาชนจำนวนมากคาดว่าอาจจะเกิดสัญญาณบางอย่างต่อกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน

 

รศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า สภาชุดที่แล้วเป็นสภาชุดที่มี ส.ส. งูเห่ามากที่สุด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งรัฐบาลปริ่มน้ำ และมีการใช้เงินในสภาเป็นการจูงใจในการย้ายข้าง รวมถึงในการเลือกตั้ง นี่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ในการปฏิรูปประเทศ และไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ ดังนั้นขนาดรัฐบาลปริ่มน้ำยังมีปัญหาขนาดนี้ หากเป็นเสียงข้างน้อยปัญหาจะมากขนาดไหน เดือนกรกฎาคมนี้จะมีกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และ พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมาน ถ้าหากกฎหมายชุดนี้ผ่านการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญเข้าสภา ฉะนั้นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่รอดแน่ เพื่อป้องกันปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ให้เกิด การซื้อเสียงในสภาให้ ส.ส. งูเห่าหมดไป รวมถึงรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล สำคัญที่สุดคือเสียงของประชาชน การเป็นรัฐบาลตามวิถีทางประชาธิปไตยจึงมีวิธีเดียวคือให้ ส.ว. เคารพเสียงประชาชน

 

รศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อไปว่า ในช่วงสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง วิธีการในการลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 137 กำหนดว่าให้การลงคะแนนออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา 56 (2) โดยกำหนดให้มีการลงคะแนนเสียงโดยเปิดเผยตามตัวอักษร ก-ฮ โดย ส.ส. และ ส.ว. คละกัน แต่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ ส.ว. กังวลได้ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าเสียงประชาชนไปในทิศทางใด โดยในมาตรา 56 (3) กำหนดว่า การลงคะแนนสามารถใช้วิธีอื่นตามที่ประชุมเห็นสมควรได้ ฉะนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้าหากจะให้ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน ส.ว. เพื่อให้ ส.ว. รู้ทิศทางของเสียงประชาชน

 

นอกจากนี้ในส่วนของนักวิชาการท่านอื่นได้แสดงความเห็นต่อการทำงานของ กกต. จากการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยกล่าวว่า

 

“ผมขอร้องเรียนไปยัง กกต. ว่า ผมมีความกังวลใจในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. โดยมีกรณีอย่างเช่น การไม่ใส่ชื่อและเลขของผู้สมัคร อาจทำให้เกิดความสับสน การไม่เขียนตัวเลขหน้าซอง อาจทำให้ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนบิดเบือนไป และสะท้อนประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ กกต. ที่มีค่อนข้างต่ำ โดยมีข้อสงสัยว่าเป็นการเจตนาหรือปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อ ทำให้ กกต. เกิดวิกฤตศรัทธา”

 

ขณะที่การต่อสู้ยิงกันดุดันทั้ง 2 ฝ่ายโดยใช้วิธีการเติมแต้ม โดยฝ่ายที่แพ้ต้องไปเติมแต้มผ่านการแจกกล้วย ปัญหาคืออีกฝ่ายที่ไม่ได้คะแนนถึง 376 โดยฝ่ายนี้สามารถแจกกล้วยได้ โดย ส.ว. หรือ ส.ส. ก็อาจรับกล้วยเช่นกัน รัฐสภาจะกลายเป็น ‘Banana Politics’ แล้วอะไรที่จะสามารถหยุด Banana Politics คือความชอบธรรมจากเสียงประชาชนผ่านการโหวตว่า ‘ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว. ควรโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.’

 

สำหรับการเปิดโหวตของเครือข่ายนักวิชาการฯ และสื่อ เพื่อให้ ส.ว. ฟังเสียงประชาชน จะเริ่มตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม โดยใช้เวลา 3 วัน ผ่านช่องทาง QR Code โดยจะประกาศผลเวลา 13.30 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม ว่าประชาชนมีความต้องการให้เจตจำนงของตนเองเป็นไปในทิศทางใด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising