×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: เสรีภาพแห่งปืน สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่คร่าชีวิตชาวอเมริกัน จน ‘การเมือง’ กับ ‘ปืน’ กลายเป็นของคู่กัน

17.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • โดนัลด์ ทรัมป์ ชูจุดยืนผู้พิทักษ์สิทธิการครอบครองปืนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้
  • โจ ไบเดน ประกาศนโยบายเชิงรุกขจัดปืนจากท้องถนน หากชนะเลือกตั้ง
  • สมาคมไรเฟิลแห่งชาติสหรัฐฯ (NRA) อยู่เบื้องหลังการล็อบบี้ขัดขวางนโยบายควบคุมปืนมายาวนาน
  • นักการเมืองไม่กล้าต่อกรกับ NRA อย่างจริงจัง เพราะหวาดเกรงอำนาจการล็อบบี้กฎหมาย
  • เหตุกราดยิงในโรงเรียนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนรุ่นใหม่ลุกฮือต่อต้านอิทธิพลของ NRA 
  • โควิด-19 ทำให้ชาวอเมริกันครอบครองปืนเพิ่มขึ้น

4 ปีผันผ่าน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับมาเป็นพาดหัวข่าวหลักของสื่อนานาชาติอีกครั้ง ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีเปลี่ยนคู่บนสังเวียน ผู้กำชัยชนะหน้าเก่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน เผชิญคู่ชกใหม่แต่เปี่ยมประสบการณ์ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสมัย บารัก โอบามา ที่รับไม้ต่อ ฮิลลารี คลินตัน ผู้ปราชัยในปี 2016 

 

แม้ผู้สมัครเปลี่ยนไป ทว่าประเด็นถกเถียงที่เป็นปัจจัยช่วงชิงคะแนนเสียงกลับยังเป็นเรื่องเดิมๆ เช่นเดียวกับปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกในสังคมอเมริกา นั่นคือ ‘สิทธิการครอบครองปืน’ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 2 (Second Amendment) ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ นับแต่ปี 1791 

 

พรรคเดโมแครต และ โจ ไบเดน คงจุดยืนเดิมกับการคุมเข้มการจำหน่ายและครอบครองปืน เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันเหตุการณ์กราดยิงที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความรุนแรงจากอาวุธปืน 

 

ส่วนรีพับลิกัน และ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการเพิ่มเสรีภาพในการครอบครองปืน ด้วยเหตุผลว่า สิทธิการป้องกันตนเองขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามหลักรัฐธรรมนูญ

 

นักเคลื่อนไหวเรียกร้องการควบคุมปืนชุมนุมหน้าศาลสูงสุดในนครนิวยอร์ก

 

ข้อโต้แย้งถึงนโยบายปืนของสหรัฐฯ เกิดขึ้นมายาวนานในทุกการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ดูเหมือนชัยชนะส่วนใหญ่จะตกเป็นขององค์กรและกลุ่มคนที่เรียกร้องสิทธิการครอบครองปืนมาตลอด แม้ผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม 

 

THE STANDARD จะพาไปดูนโยบายปืนของผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ รวมถึงอำนาจนอกสภาที่คอยกำหนดทิศทางการเมืองว่าด้วย ‘ปืน’ ของอเมริกามาอย่างยาวนาน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงคำว่า ทำไม ‘การเมือง’ และ ‘ปืน’ จึงเป็นของคู่กันในสหรัฐฯ

 

ทรัมป์ พันธมิตรแห่งปืน

สมัยที่ทรัมป์ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก เขาได้รับเงินสนับสนุนการหาเสียงกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 936 ล้านบาทจากสมาคมไรเฟิลแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NRA ซึ่งเป็นองค์กรชูสิทธิการครอบครองปืน 

 

การเดิมพันของ NRA ถือว่าคุ้มค่า เมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีจุดยืนเชิงอนุรักษนิยมหลายคน รวมถึงกำหนดให้ธุรกิจปืนเป็น ‘ธุรกิจพื้นฐานที่สำคัญ’ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมอนุญาตให้เปิดได้ ทั้งที่รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องบังคับให้ธุรกิจส่วนอื่นๆ ต้องปิดกิจการชั่วคราว เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาด

 

รัฐบาลทรัมป์ยังผ่อนปรนข้อบังคับว่าด้วยการส่งออกอาวุธปืน และยกเลิกนโยบายสมัยโอบามาที่จำกัดการจำหน่ายอาวุธปืนให้บุคคลที่กรมประกันสังคมสหรัฐฯ พิจารณาว่ามีสภาวะจิตที่ไม่ปกติพอ

 

ภายหลังเหตุกราดยิง-สังหารหมู่ ‘วันวาเลนไทน์’ ที่โรงเรียนมัธยมสโตนแมน ดักกลาส ในเมืองพาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา เมื่อปี 2018 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บอีก 17 ราย ประธานาธิบดีทรัมป์ เสนอให้ติดอาวุธอาจารย์ที่ ‘ช่ำชอง’ การใช้ปืน เพื่อเป็นมาตรการปกป้องนักเรียน ผลสำรวจความคิดเห็นอาจารย์ส่วนใหญ่ต่อต้านแนวคิดนี้ เช่นเดียวกับเสียงคัดค้านจากสหภาพอาจารย์ด้วย

 

เมื่อพรรคเดโมแครตชิงที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรได้ในปี 2018 และเสนอกฎหมายที่จะขยายขอบเขตการตรวจสอบประวัติผู้ต้องการซื้อปืน รวมถึงคุมเข้มการจำหน่ายปืนให้เข้มงวดมากขึ้น รัฐบาลทรัมป์ขู่ที่จะใช้สิทธิวีโต้มาตรการดังกล่าว หากผ่านกฎหมายมาจนถึงจุดที่ทรัมป์ต้องลงนามรับรอง

 

แต่แล้วในเดือนสิงหาคม ปี 2019 ทรัมป์กลับลำอีก โดยให้สัมภาษณ์ว่า “เราได้รับเสียงสนับสนุนมหาศาลเพื่อดำเนินการตรวจสอบประวัติ (ผู้ต้องการซื้อปืน) ที่เป็นเหตุเป็นผลและอย่างมีนัยสำคัญ” 

 

แน่นอน มาตรการที่ทรัมป์กล่าวนั้นไม่เคยเกิดขึ้น ยกเว้นแต่การสั่งห้ามจำหน่ายพานท้ายปืนแบบ ‘บัมป์-สต๊อก’ (Bump Stock) ที่ช่วยให้ปืนยิงได้รัวต่อเนื่อง แบบเดียวกับที่มือกราดยิงในเหตุสังหารหมู่ลาสเวกัสใช้เมื่อปี 2017

 

ผู้คนหนีตายจากการกราดยิงของมือปืนในเมืองลาสเวกัส ปี 2017

 

กลับกัน ทรัมป์ไม่เพียงไม่ออกกฎหมายที่เป็นรูปธรรม แต่ยังใช้วาทกรรมโจมตีเดโมแครตที่พยายามให้เกิดการคุมเข้มการจำหน่ายอาวุธปืนมาตลอด จนเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักเคลื่อนไหวสนับสนุนสิทธิการครอบครองปืน 

 

“ทรัมป์ให้คำมั่นที่จะพิทักษ์บทบัญญัติที่ 2 และยึดมั่นในเสรีภาพตามหลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกของสมาคมเราต่างเชื่อมั่น” NRA กล่าวในแถลงการณ์สนับสนุนการเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

ทรัมป์เองก็ไม่ปฏิเสธ เขาให้สัมภาษณ์กับสถานีคาทอลิกทีวีว่า “ผมปกป้องข้อบัญญัติที่ 2 ถ้าไม่มีผม พวกคุณก็จะไม่มีข้อบัญญัตินี้”

 

ไบเดน มือพิฆาตปืน

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตในปีนี้ ลงสังเวียนหาเสียงด้วยประวัติการต่อสู้เพื่อเรียกร้องการจำกัดสิทธิการครอบครองปืนมายาวนาน หากทรัมป์มี NRA เป็นผู้สนับสนุน โจ ไบเดน ก็มีองค์กร Everytown for Gun Safety ที่ถือเป็นองค์กรคู่อริของ NRA เป็นพันธมิตรสำคัญ

 

ในช่วงการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครต ไบเดนวางตัวว่าเขาเป็นผู้สมัครคนเดียวที่เคยประชันหน้ากับ NRA และเอาชนะมาได้ ซึ่งเป็นความจริง เมื่อปี 1993 สมัยที่ไบเดนยังเป็นวุฒิสมาชิกทรงอิทธิพล เขาผลักดันการผ่านกฎหมายที่นำมาสู่การวางระบบตรวจสอบประวัติ (Background Check) ของผู้ต้องการครอบครองปืนในปัจจุบัน ในปี 1994 เขายังช่วยผ่านกฎหมายห้ามการจำหน่ายอาวุธประเภทจู่โจม (Assault Weapon) อาทิ ปืนชนิด ‘AK-47’ ที่มีผลบังคับนาน 10 ปี

 

แต่ก็เป็นความจริงว่า NRA เอาชนะไบเดนมาแล้วเช่นกัน เพราะในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีให้บารัก โอบามา ไบเดนเป็นผู้นำการออกกฎหมายควบคุมปืน หลังเหตุกราดยิงและสังหารหมู่ที่โรงเรียนประถมแซนดี้ฮุก เมื่อปี 2012 แต่ความพยายามของเขาไม่ประสบผล ไม่ว่าจะการตรวจสอบประวัติอย่างครอบคลุม การห้ามจำหน่ายปืนไรเฟิลแบบกึ่งอัตโนมัติ และแมกกาซีนที่บรรจุกระสุนได้มากกว่า 10 นัด เพราะเมื่อกฎหมายผ่านไปถึงการรับรองในระดับวุฒิสภา กลับได้คะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะไปต่อกรกับ ส.ว. ของรีพับลิกัน

 

 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนชูนโยบายควบคุมปืนที่เขาเคยล้มเหลวที่จะออกเป็นกฎหมายเมื่อปี 2012 รวมถึงเพิ่มนโยบายครอบคลุมไปถึงการจำกัดการซื้อปืนมือสองจากผู้ที่มีอาวุธปืนในครอบครองอยู่แล้ว และเสนอให้ชาวอเมริกันซื้อปืนได้ไม่เกิน 1 กระบอกต่อเดือน

 

เขายังสนับสนุนการจำกัดการจำหน่ายปืนและการครอบครองปืนโดยผู้ร้ายข้ามแดน บุคคลที่ต้องข้อหาด้านความเกลียดชัง และบุคคลที่สภาวะจิตไม่เพียบพร้อมตามการวินิจฉัยของกรมประกันสังคม รวมไปถึงการสั่งห้ามจำหน่ายปืนและกระสุนปืนออนไลน์อีกด้วย

 

“เราสามารถ และเราจะยุติการระบาดของความรุนแรงจากอาวุธปืน” ไบเดน ทวีตข้อความในทวิตเตอร์เมื่อไม่นานมานี้

 

พลังอำนาจของกลุ่มทุนปืน

ในขณะที่ชาติตะวันตกและยุโรปล้วนมีอาชญากรรมที่เกิดจากอาวุธปืนในอัตราที่ต่ำ แต่ทำไมสหรัฐฯ ที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘ผู้นำโลกที่ 3’ กลับมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากขึ้นจนเข้าขั้นวิกฤต และมันเรื้อรังมาหลายสิบปี ก่อนหน้าที่โอบามาหรือทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีเสียอีก 

 

สารคดีเรื่อง NRA Under Fire ผลิตโดย The Passionate Eye ชี้ว่า เหตุผลที่สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายควบคุมปืนไม่ได้เสียที มาจากอิทธิพลและการล็อบบี้ของสมาคมไรเฟิลแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NRA สมาคมเดียวกับที่ไบเดนประกาศว่า “หากผมชนะเลือกตั้ง NRA คุณปูเสื่อรอผมได้เลย”

 

แรกเริ่มเดิมที NRA เป็นสมาคมเพื่อฟูมฟักนักแม่นปืนรุ่นใหม่ เพื่อการสงครามและกีฬา ก่อตั้งโดยทหารผ่านศึกสมัยสงครามกลางเมือง 2 คน ในปี 1871 

 

“NRA เป็นองค์กรด้านความปลอดภัยด้วยซ้ำ” แมตต์ เบนเนตต์ นักเคลื่อนไหวการควบคุมปืนกล่าวในสารคดีชิ้นนี้ “พวกเขาช่วยสอนเด็ก เพื่อน และครอบครัว ถึงการใช้และการเก็บอาวุธปืนอย่างปลอดภัย”

 

กระสุนที่ปลิดชีพประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี, มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ และวุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เคนเนดี ในช่วงทศวรรษที่ 1960 กลายเป็นชนวนเปลี่ยนจุดยืนของ NRA เมื่อประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ลงนามรัฐบัญญัติควบคุมปืนปี 1968 ด้วยเหตุผลว่า “การควบคุมอาชญากรรมที่ได้ผลในความคิดของผม คือการควบคุมปืนที่มีประสิทธิภาพ”

 

“พวกเขาเชื่อว่ามันเป็นพันธะของ NRA ที่จะต้องผันตัวเป็นองค์กรชูข้อบัญญัติที่ 2” เบนเนตต์ กล่าว “พวกเขาพยายามจัดการกับกลุ่มคนที่เห็นต่าง และนั่นเป็นสิ่งที่ NRA กระทำมาตลอดนับแต่นั้น”

 

การ์ตูนเสียดสีการเมือง การใช้ปืนข่มขู่ให้คนลงคะแนนในปี 1876

 

เวลาผ่านไป NRA กลายเป็นองค์กรล็อบบี้ที่ทรงอำนาจเหนือการเมืองอเมริกา “ปืนเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ เป็นสิ่งเดียวที่คานอำนาจไม่ให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมชีวิตของพวกเรา มันไม่เกี่ยวอะไรกับตัวปืนเลย มันเป็นเรื่องของเสรีภาพ” จอห์น อะควิลโน อดีตโฆษก NRA กล่าว

 

NRA แทรกแซงการเมืองได้แค่ไหน

ปัจจุบัน NRA มีสมาชิกมากกว่า 5 ล้านคน ทำให้มีทุนสนับสนุนมหาศาล และยังมีการบริหารจัดการองค์กรที่ดี ถือเป็นองค์กรล็อบบี้ที่ทรงพลังมากที่สุดองค์กรหนึ่งในสหรัฐฯ

 

เชื่อหรือไม่ว่า NRA จัดเกรดนักการเมืองอเมริกันตามจุดยืนด้านสิทธิการครอบครองปืน ยกตัวอย่าง “ถ้าคุณได้เกรด F จาก NRA และคุณพยายามจะชนะการเลือกตั้ง คุณต้องอาศัยโชคมากๆ” เชอริล เกย์ สโตลเบิร์ก ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุ

 

และนี่คือตัวอย่าง การแทรกแซงที่ประสบความสำเร็จของ NRA 

 

  • ภายหลังเหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์เมื่อปี 1999 NRA ขัดขวางการผ่านกฎหมายที่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน เสนอให้มีการตรวจสอบประวัติผู้ซื้ออาวุธปืนทุกคนในมหกรรมแสดงปืน แม้กฎหมายจะผ่านวุฒิสภามาได้อย่างเฉียดฉิว แต่ผ่านร่างไม่สำเร็จ เพราะขาดคะแนนเสียงที่จำเป็นในสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลจากการล็อบบี้ของ NRA
  • NRA ทุ่มเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐดำเนินแคมเปญการเมืองเชิงรุก ต่อต้านอัล กอร์ ที่ลงชิงประธานาธิบดีในปี 2000 “อัล กอร์ ต้องการรัฐบาลที่ตรวจสอบ ออกใบอนุญาต และลงทะเบียนผู้ครอบครองปืนทุกคน…เขาจะผลักดันไม่ให้มีมหกรรมปืนอีก ปีนี้พวกคุณต้องลงคะแนนให้เสรีภาพ เพราะหาก อัล กอร์ ชนะ พวกคุณจะแพ้” ชาร์ลตัน เฮสตัน นักแสดง และประธาน NRA กล่าวในโฆษณา และท้ายสุด อัล กอร์ พ่ายแพ้เลือกตั้ง และ “นับแต่นั้นมา เดโมแครตก็หวาดกลัว NRA” สโตลเบิร์ก เล่า
  • ปี 2012 จากเหตุกราดยิงโรงเรียนประถมศึกษาแซนดี้ฮุกในรัฐคอนเนตทิคัต ที่ทำให้เด็กเสียชีวิต 20 ราย พนักงานโรงเรียนเสียชีวิต 6 ราย เป็นโศกนาฏกรรมที่ควรจะนำไปสู่การปฏิรูปนโยบายปืนอย่างจริงจัง ทั้งครอบครัวของเหยื่อ และประธานาธิบดีโอบามา พร้อมที่จะผลักดันการควบคุมปืนอย่างเต็มที่ “ผมเห็นความหวัง ชาวอเมริกันเกิน 91% สนับสนุนให้เกิดการตรวจสอบประวัติ แม้แต่ครัวเรือนที่มีสมาชิก NRA อยู่ด้วยกว่า 80% ก็สนับสนุน” โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยนั้น และผู้ชิงประธานาธิบดีในวันนี้ กล่าวในสารคดี NRA Under Fire แต่ NRA ไม่ยอมแพ้ ใช้การล็อบบี้อย่างหนัก จนกฎหมายควบคุมปืนฉบับนี้ต้องพับไป เพราะขาดเสียงโหวต 6 คะแนน ทั้งที่ มหาชนต่างสนับสนุน “มันเป็นวันที่น่าอับอายของรัฐบาล” โอบามา กล่าว

 

เสียงปืนดัง…นำสู่พลังกดดัน

จากตัวอย่างที่หยิบยกมา เป็นเหตุผลที่เพียงพอว่าทำไมนักการเมืองและผู้สมัครชิง ประธานาธิบดีไม่กล้าเผชิญหน้าโดยตรงกับอำนาจล็อบบี้ของ NRA หากเป็นพรรครีพับลิกัน ก็เพราะสมาคมนี้เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนรายสำคัญ ส่วนเดโมแครตจะหวาดกลัวอิทธิพลการล็อบบี้ของ NRA ไม่เพียงแค่กับการผ่านกฎหมายควบคุมปืนเท่านั้น

 

แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 มีปัจจัยที่อาจนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายปืนอย่างเป็นรูปธรรม หากพรรคเดโมแครตคว้าชัยชนะ และปัจจัยนี้ก็เกิดจากเหตุกราดยิงโรงเรียนมัธยมพาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา เมื่อปี 2018 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย

 

โดย 3 วันหลังเหตุกราดยิง เอ็มมา กอนซาเลซ ผู้รอดชีวิตวัย 18 ปี ขึ้นปราศรัยโจมตีนักการเมืองที่พึ่งใบบุญ NRA “พวกคุณในรัฐบาล…พวกคุณอ้างว่าเหตุการณ์นี้มันป้องกันไม่ได้ เราจะบอกว่าพวกคุณโกหก…ถึงนักการเมืองที่รับเงินบริจาคจาก NRA พวกคุณควรอับอายได้แล้ว”

 

เอ็มมา กอนซาเลซ ปราศรัยโจมตีนักการเมืองที่หนุนโดย NRA หลังเหตุกราดยิงโรงเรียนมัธยมพาร์กแลนด์

 

เหล่านักเรียนโรงเรียนมัธยมพาร์กแลนด์ เดินขบวนพร้อมกับประชาชนอีกหลายแสนคน ทั้งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และหลายเมืองทั่วโลก กดดันให้โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาพบปะพูดคุยกับพวกเขา พร้อมประกาศจะผลักดันกฎหมายควบคุมปืนสมัยโอบามาให้สำเร็จ แต่หลังจากทรัมป์ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร NRA ที่ทุ่มเงินกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐสนับสนุนการหาเสียงของเขา ท้ายสุด ทรัมป์ก็ไม่กล้าไปต่อ

 

เหล่านักเรียนโรงเรียนมัธยมพาร์กแลนด์ไม่ยอมแพ้ เดินสายตระเวนไป 50 เมืองใน 20 รัฐ เพื่อผลักดันการปฏิรูปกฎหมายปืนให้เป็นหัวข้อถกเถียงหลักในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2018 

 

“NRA ไม่เคยเผชิญกับความท้าทายจากคนรุ่นใหม่แบบนี้มาก่อน” เบนเนตต์ กล่าวในสารคดี “พวกเขาไม่เคยต้องประชันหน้ากับเยาวชนที่ฉลาด มีความสามารถ และจัดระเบียบตัวเองได้ดีแบบนี้” 

 

และในวันเลือกตั้งกลางเทอม ความพยายามของคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จ พรรคเดโมแครตชนะที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นมากกว่า 36 ที่นั่ง เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี 

 

ไบเดน ประกาศขจัดปัญหาปืน

ด้วยแรงหนุนจากเสียงข้างมาก เดโมแครตในสภาล่าง โจ ไบเดน ประกาศกร้าวจะประชันหน้ากับ NRA ด้วยนโยบายเชิงรุกเพื่อควบคุมอาวุธปืน อาทิ

  • เพิกถอนรัฐบัญญัติการคุ้มครองอาวุธปืนเชิงพาณิชย์ ที่ถูกล็อบบี้จนผ่านเป็นกฎหมายได้สำเร็จในปี 2005 กฎหมายนี้ช่วยให้ผู้ผลิตปืนไม่ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่ผลิตภัณฑ์ของตนก่อขึ้น
  • สั่งห้ามการจำหน่ายอาวุธปืนแบบจู่โจมและแมกกาซีนสมรรถนะสูง 
  • จัดโครงการ ‘ซื้อปืนคืนจากชุมชน’ เพื่อลดจำนวนปืนบนท้องถนน โดยมีตัวเลือกให้ผู้ครอบครองปืน คือ ขายปืนให้รัฐบาล หรือลงทะเบียนปืนภายใต้รัฐบัญญัติอาวุธปืนแห่งชาติ
  • จำกัดปริมาณปืนที่บุคคลหนึ่งจะซื้อได้เหลือเพียง 1 กระบอกต่อเดือน

 

“หากเราไม่สามารถลุกขึ้นมาแก้ปัญหาได้ในเวลานี้ มันจะไม่ใช่แค่ความล้มเหลวทางการเมือง มันเป็นความล้มเหลวทางศีลธรรมด้วย เพราะหมายความว่าเรายอมรับว่าโศกนาฏกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก” โจ ไบเดน ระบุในหน้าความคิดเห็นพิเศษ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times เมื่อปี 2019 

 

“เราจะทรยศความหวาดกลัวของเด็กๆ ที่ต้องวิ่งหนีตายในโรงเรียน และร่างไร้วิญญาณกระจัดกระจายบนลานจอดรถ เราจะทรยศความรู้สึกและเสียงภาวนาให้เป็นเพียงคำสัญญาที่กลวงโหวงได้หรือ”

 

โควิด-19 กับปืนในมืออเมริกันที่มากกว่าเคย

วิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการอนุญาตให้ร้านจำหน่ายปืนยังเปิดต่อไปได้ แม้ธุรกิจอื่นๆ จำต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ปืนในอเมริกาทวีความน่าวิตกมากขึ้น 

 

องค์กร ‘Everytown for Gun Safety’ เปิดเผยข้อมูลที่ร้องขอกับ FBI ผ่านการใช้กฎหมายเสรีภาพทางข้อมูล (Freedom of Information Act) พบว่า ชาวอเมริกันซื้ออาวุธปืนเพิ่มขึ้นมหาศาล รวมหลายล้านกระบอก จนการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อล่าช้าไป 3 วัน 

 

นั่นหมายความว่ามีคนอเมริกันเกือบ 3 แสนคน ที่ครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา ตามกฎหมายระบุว่า หากการตรวจสอบประวัติของ FBI ใช้เวลาดำเนินการเกิน 3 วันทำการ ผู้จำหน่ายปืนสามารถขายปืนให้ผู้ซื้อได้โดยไม่มีความผิด

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ภาพการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 มีนัยสำคัญที่น่าจับว่า  ใครจะเป็นฝ่ายชนะ ระหว่างผู้สมัครที่สนับสนุนการครอบครองปืนตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ กับผู้สมัครที่ต้องการขจัดปัญหาความรุนแรงในสังคมที่เกิดจากอาวุธปืน 

 

ซึ่งอีกไม่นาน เราจะได้รู้ผล

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising