×

อาจารย์อดัม ยืนยันว่า ใครๆ ก็เก่งภาษาอังกฤษได้

10.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02.42 Utahn แปลว่าชาวยูทาห์

06.53 สิ่งที่คุณอาจไม่รู้มาก่อนเกี่ยวกับรัฐยูทาห์

11.57 ชีวิตของ อาจารย์อดัม ในสมัยที่ยังเป็น นักเรียนอดัม

18.25 ชีวิตของหนุ่มมิชชันนารีที่ถูกส่งมาอยู่อีกฟากโลก

28.03 รู้ไหมว่า อาจารย์อดัม เกือบจะไม่ได้เป็น อาจารย์อดัม

32.29 ทัศนคติ สำคัญที่สุดในการเรียนภาษา

39.56 สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนไทยยังไม่เก่งภาษาอังกฤษเท่าที่ควร

41.46 อาจารย์อดัม ในฐานะ คุณพ่อของน้องออสติน

43.57 วิธีเลี้ยงเด็กสองภาษา ถ้าทั้งพ่อแม่ ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเจ้าของภาษา

อาจารย์อดัม น่าจะเป็นหนึ่งในอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โด่งดังและประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศไทย และเราเชื่อว่า เขาคือชาวอเมริกันผู้มาหัดเรียนภาษาไทยตอนเป็นผู้ใหญ่ ที่พูดภาษาไทยได้ชัดที่สุดในโลก (แต่อาจไม่จริงก็ได้ เพราะแน่นอนว่า เรายังไม่ได้พบเจอและรู้จักชาวอเมริกันผู้มาหัดเรียนภาษาไทยตอนเป็นผู้ใหญ่ทุกคนบนโลกนี้)

 

เรายังเชื่ออีกว่า การที่นายอดัม ได้เดินทางมาจากอีกฟากโลก เพื่อมาเป็นอาจารย์อดัมที่เมืองไทยนั้น เป็นทั้งเรื่องของฟ้าลิขิต พอๆ กับที่เขาลิขิตชีวิตของตัวเองเลยทีเดียว

 


 

02.42

Utahn แปลว่าชาวยูทาห์

ผมเกิดที่ Salt Lake City เมืองหลวงของรัฐ Utah คือถ้าดูแผนที่สหรัฐอเมริกาจะเห็นว่า ซ้ายสุดจะเป็นรัฐแคลิฟอร์เนีย ถัดมาเป็นรัฐเนวาดา ที่มีลาสเวกัส ถัดมาก็คือยูทาห์ ซึ่งบ้างก็เรียกกันว่า Midwest แต่ผมว่ามันน่าจะเป็น West มากกว่า

 

ตอนอายุประมาณ 3-4 ขวบผมย้ายมาอยู่เมือง Portland รัฐ Oregon แล้วอยู่ที่นั่นจนถึงอายุประมาณ 12 ปี นั่นหมายถึงว่าผมเติบโตมาในฐานะ Oregonian (ชาวออริกอน) แล้วค่อยย้ายกลับมาเป็น Utahn (ชาวยูทาห์) อีกทีนึง เพื่อเรียนต่อจนจบมัธยม

  

ถ้าจะมาเที่ยวรัฐยูทาห์ คงต้องถามก่อนว่าคุณอยากได้วันหยุดแบบไหน ถ้าอยากได้อารมณ์แบ็กแพ็กก็แนะนำให้มาหน้าร้อน เพราะ Salt Lake City เป็นเมืองในหุบเขา เรามีเทือกเขาร็อกกี้ เหมาะสำหรับการแคมปิ้ง เดินขึ้นเขา (hiking) หรือขี่จักรยานภูเขา ถ้าอยากเล่นเวคบอร์ดหรือสกีน้ำก็เหมาะอีก เพราะที่นี่มีอ่างเก็บน้ำและทะเลสาบมากมาย แต่ถ้าคุณชอบเล่นสกีหรือสโนว์บอร์ด ยูทาห์ก็ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับวันหยุดหน้าหนาว เขาว่ากันว่า -นี่ไม่ใช่ผมพูดเองนะครับ เอาข้อมูลมาจากนิตยสารสกีและสโนว์บอร์ดต่างๆ- ยูทาห์เป็นรัฐแห่ง The best snow on Earth ซึ่งหิมะที่ดีที่สุดในโลกนี่ก็น่าจะหมายถึงนุ่มที่สุด มีคุณภาพที่เหมาะกับการเล่นกีฬาบนหิมะที่สุด ดีจนเขาเคยมาจัด Winter Olympic ที่นี่ในปี 2002 สมัยนั้นผมยังอยู่ไฮสกูลอยู่เลย

 

06.53

สิ่งที่คุณอาจไม่รู้มาก่อนเกี่ยวกับรัฐยูทาห์

ถ้าเป็นคนไทยอาจไม่รู้นะครับ แต่ถ้าเป็นชาวอเมริกัน น่าจะเป็นที่รู้กันดีว่าที่นี่มีคริสต์ศาสนิกชนนิกาย มอร์มอน อยู่เยอะมาก แต่ก็จะมีอีกส่วนหนึ่งที่ต่อต้าน สองกลุ่มนี้เขาจะมีปะทะกันเรื่อยๆ

 

ผมถูกเลี้ยงมาแบบมอร์มอน แต่พอโตมา ถึงจะไม่ค่อยอินแล้ว คือตอนนี้กลายเป็น Formon ไปแล้ว (former mormon – อดีตมอร์มอน) ผมก็ยังคิดว่ามอร์มอนเป็นคนที่ดีและแฮปปี้นะครับ

 

อาจารย์อดัม ที่ The Standard Podcast

 

11.57

ชีวิตของ อาจารย์อดัม ในสมัยที่ยังเป็น นักเรียนอดัม

เล่นแต่กีฬาเลยครับ เบสบอล บาสเกตบอล ฟุตบอล กรีฑาก็เล่นนะ เคยแข่งวิ่ง 100-200 เมตร ในระดับรัฐด้วยนะครับ เขาจะให้ผมไปวิ่ง 400 แต่ผมบอกไม่ไหว ตายแน่ๆ แต่วิ่งผลัด 4X100 นี่โอเคนะ เคยแข่งอยู่ ผมเป็นไม้ 3 เพราะผมทำเวลาวิ่งเข้าโค้งได้ดีที่สุด และตอนแข่งเนี่ย ตอนส่งต่อให้ไม้สุดท้ายเนี่ย เรายังเป็นที่หนึ่งอยู่เลยนะครับ แต่หลังจากนั้นเนี่ย (หัวเราะ) ผมไม่โทษ anchor (ไม้สุดท้าย) ของเราแล้วกันนะครับ เพราะเอาจริงๆ anchor ของทุกทีมก็คือตัวที่ฝีเท้าจัดที่สุดของเขาทั้งนั้นแหละ ที่เราแพ้ก็เพราะ anchor ของเราไม่ได้วิ่งเร็วที่สุดในรัฐ ก็เท่านั้นเอง

 

จะเรียกผมว่า Jock ก็อาจจะได้ เพราะผมเล่นหมดทุกอย่าง เวคบอร์ด กอล์ฟ ซึ่งทั้งสองอย่างนี่ทุกวันนี้ก็ยังเล่นอยู่ เทนนิสก็เล่น สโนว์บอร์ด ลองบอร์ด

 

จบไฮสกูลปั๊บก็ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่เลย และด้วยความที่ยังไม่อยากรีบเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยทันที ผมเลยขอหยุดพักสักปีหนึ่ง ว่าแล้วก็ขนข้าวของใส่รถเก่าๆ แล้วขับไปถึงซานดิเอโก ไปอยู่ที่นั่นสามเดือน เล่นกระดานโต้คลื่นทุกวัน ทำงานพิเศษส่งพิซซ่า ใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้นบน Mission Beach ไปจนเงินหมด แล้วก็กลับบ้าน (หัวเราะ)

 

18.25

ชีวิตของหนุ่มมิชชันนารีที่ถูกส่งมาอยู่อีกฟากโลก

ทันทีที่ได้รู้ ผมตื่นเต้นนะ ที่เราสมัครโครงการมิชชันนารีนี้แต่แรกก็เพราะเราอยากทำอะไรที่ออกนอกกรอบ คือถ้าเขาส่งไปแถวๆ มิสซิสซิปปีคงไม่ไปอะครับ (หัวเราะ) เราก็อยากไปที่ที่มันคูลๆ หน่อย เพื่อนผมได้ไปไต้หวัน ยังงี้ อเมริกาใต้ ยังงี้ พอเห็นว่าของเราคือกรุงเทพฯ ประเทศไทย ผมก็ เยส! เยี่ยมยอด! โพ้นทะเลสุดๆ ได้ไปคูลสมใจที่คนละฟากโลกโน่นเลย

 

ตอนนั้นยอมรับว่าผมรู้อะไรเกี่ยวกับประเทศไทยน้อยมากครับ รู้แค่ว่าอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมเลยไปกูเกิลดู พอเข้าวิกิพีเดียไปเห็นตัวหนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขียนว่า ‘ราชอาณาจักรไทย’ เท่านั้นแหละครับ… จำได้เลยว่าตอนนั้นคิดว่า “นี่มันภาษาอะไรวะเนี่ย! ไม่มีทางเลยที่เราจะพูดฟังอ่านเขียนภาษายึกยือนี่รู้เรื่อง” ผมว่าน่าจะเป็นอารมณ์เดียวกับที่คนไทยต้องไปหัดเขียนอ่านภาษาเกาหลี หรือภาษาจีน คือลักษณะตัวหนังสือมันคนละอย่างเลย ตอนนั้นเลยกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ผมก็บอกตัวเองว่า ถ้าจะเรียนให้รู้เรื่องคงต้องตั้งใจและทุ่มเทอย่างหนักเลยล่ะ

 

ตอนแรกที่มาถึงผมไปอยู่ขอนแก่นนะ อยู่โรงแรมเล็กๆ ในตัวอำเภอเมือง อยู่ที่นั่นสามเดือน โดยธรรมชาติของความเป็นมิชชันนารีมันต้องย้ายที่ไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ไปบุรีรัมย์ ไปกรุงเทพฯ ไปอุดรธานี ไปศรีสะเกษ ส่วนใหญ่ก็จะวนๆ อยู่ในแถบอีสานนั่นล่ะครับ

 

ชีวิตมิชชันนารีจะเริ่มต้นแต่เช้านะ หกโมงครึ่งต้องตื่นแล้ว และตามตารางเนี่ย ต้องออกกำลังกายครึ่งชั่วโมง อันนี้ผมจะหลับยาวไปเลย (หัวเราะ) คือถ้าให้เล่นกีฬาก็น่าจะสนุกดี แต่นี่มันน่าเบื่ออะ ให้วิดพื้น ซิตอัพ ยังงี้ ไม่ล่ะครับ ขอบคุณ นอนดีกว่า… ฟังดูไม่ดีเลยเนอะ เหมือนแฉตัวเอง (หัวเราะ) หลังจากนั้น 7 โมงเช้า เราก็ต้องศึกษาพระคัมภีร์กัน และ 8 โมงเช้าก็จะได้เวลาเรียนภาษา แต่ผมจะเริ่มเรียนภาษาตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าเลย โดดพระคัมภีร์… แฉตัวเองอีกแล้วครับ (หัวเราะ) คือจริงๆ ผมจะใช้วิธีอ่านออกเสียงพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทย สำหรับผมนั่นนับเป็นการเรียนภาษาอย่างหนึ่งโดยการฝึกออกเสียงเพื่อฝึกสำเนียงไทย ทำแบบนี้ทุกเช้า วันละหนึ่งชั่วโมงเต็ม ก่อนจะเริ่มเรียนภาษาไทยอีกหนึ่งชั่วโมงเต็ม

 

ภาษาไทยทำไมถึงยากอย่างนี้ 

หลังจากกินอาหารเช้า เราก็จะออกไปพบผู้คน ไปพูดคุยและเชิญชวนชาวบ้านให้มาโบสถ์ แต่คนส่วนใหญ่ก็จะไม่สนใจหรอกครับ ผมก็จะลงเอยด้วยการชวนชาวบ้านคุยไปเรื่อยเปื่อยเป็นการฝึกภาษา ซึ่งช่วงแรกความลำบากคือ เขาจะพอเข้าใจที่เราพูด แต่เราจะไม่เข้าใจที่เขาพูดเลย ยากมาก ผมต้องใช้เวลาวันละสองชั่วโมงไปสามสี่เดือนกว่าจะเริ่มอ่านตัวหนังสือไทยได้ คือเริ่มจำตัวอักษรได้ว่าตัวนี้ ก.ไก่ ตัวนั้น ข.ไข่ แต่เรื่องคำนี่ยากกว่านั้น เพราะในภาษาไทยมันไม่มีเว้นวรรคใช่ไหมครับ ผมเลยจะไม่รู้ว่าเลยแต่ละคำมันเริ่มตรงไหนและจบตรงไหน แต่พอเริ่มแยกคำได้ ภาษาก็ค่อยๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะการอ่านพระคัมภีร์ซ้ำๆ ก็จะทำให้รู้จักคำศัพท์ที่เกี่ยวกับศาสนาได้ก่อนเพื่อน เช่น ‘คุณธรรม’ ‘ความใจบุญ’ ‘ความรัก’ ‘ศรัทธา’

 

กว่าจะเก่งได้มันใช้เวลานานมากนะ ตอนแรกก็หงุดหงิดล่ะครับ เราจะคิดแต่ว่า นี่ขยันเรียนขยันฝึกทุกวันเลยนะ แต่ทำไมยังไม่เข้าใจที่คนอื่นพูดสักที ทำไมเราแย่ยังงี้วะ อะไรทำนองนั้น บางทีโทษชาวบ้านอีก ทำไมไม่เหมือนที่เรียนมาเลยเนี่ย คุณพูดผิดหรือเปล่า นั่น ไปโทษเจ้าของภาษาอีก (หัวเราะ) แต่ที่สุดแล้วก็ต้องบอกตัวเองว่า ใจเย็นๆ เดี๋ยวก็ได้เอง ไม่ต่างกับคนไทยที่พยายามจะเก่งภาษาอังกฤษนั่นล่ะครับ เราจะเร่งหรือบังคับให้ตัวเองเก่งไวๆ มันไม่ได้หรอก ของอย่างนี้มันต้องใช้เวลาจริงๆ แต่ตอนนั้นมันผิดหวังกับตัวเองจนท้อ จนบางทีอดคิดไม่ได้ว่า หรือจะกลับบ้านดีว้า (หัวเราะ) ยอมรับว่ามันก็มีคิดบ้างนะครับ แต่ก็พยายามลุยต่อ

 

จนผ่านไปสักสามเดือน ผมว่าผมเริ่มเข้าใจคนพูดประมาณ 50%… ไม่ถึงด้วยซ้ำ สัก 30% ละมั้ง… เอาอย่างนี้ น่าจะหนึ่งในสาม ก็ตก 33% แล้วกัน (หัวเราะ) ตอนนี้เริ่มจับใจความได้ คือเริ่มเข้าใจว่าเขาคุยเรื่องอะไรกันอยู่ แต่ยังออกความเห็นด้วยไม่ได้นะครับ (หัวเราะ) ก็จะแค่ (สำเนียงฝรั่งพูดไทย) “ครับ เห็นด้วยครับ” รู้เรื่องไม่รู้เรื่องก็เห็นด้วยไปหมดละมั้ง เหมือน ‘Yes syndrome’ ของคนไทยพูดอังกฤษอะครับ ใครพูดอะไรมาก็ ‘Yes’ ไว้ก่อน ผมก็คงเหมือนกัน ในตอนนั้นถ้ามีใครถามว่า “นี่โง่หรือเปล่า” ผมก็คง “ใช่ครับ” “ชอบกินหมาหรือเปล่า” “ใช่ครับ” (หัวเราะ)

 

อาจารย์อดัม ที่ The Standard Podcast

 

28.03

รู้ไหมว่า อาจารย์อดัม เกือบจะไม่ได้เป็น อาจารย์อดัม

ผมเริ่มถ่ายคลิปสอนภาษาอังกฤษสั้นๆ ลงยูทูบ สักพักก็เริ่มถูกเชิญไปเป็นวิทยากรพิเศษบ้าง แต่ในขณะเดียวกันผมก็มองหางานประจำไปด้วย ตอนนั้นพอดีกับช่วงที่กูเกิลมาเปิดสำนักงานสาขาในประเทศไทย ตอนนั้นน่าจะเป็นปี 2009-2010 ก่อนหน้านั้นผมเผอิญได้นั่งข้างคุณผู้หญิงคนหนึ่งบนเครื่องบินครับ เธอทำงานที่กูเกิลในสิงคโปร์ เธอบอกว่ากูเกิลกำลังจะเปิดสำนักงานในประเทศไทย ลองไปสมัครสิ ส่งเรซูเม่มา เดี๋ยวจะส่งต่อให้เจ้านาย แล้วจะเชียร์ให้ เธอออกปากจะช่วยก็เพราะผมกับเธอคุยกันถูกคอ คุยเฉยๆ จริงๆ นะครับ ไม่ได้จีบ (หัวเราะ)

 

สุดท้ายคือผมถูกเรียกสัมภาษณ์ถึง 3 รอบ จนมาถึงรอบที่ 4 จะเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าผ่านรอบนี้ผมก็น่าจะได้งานค่อนข้างแน่นอนแล้วล่ะ ซึ่งเขาก็บอกล่วงหน้านะครับว่าจะโทรมาวันเวลาไหน แต่ความบังเอิญคือ มันตรงกับวันที่ผมต้องไปทำงานเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แล้วเขาโทรมาตอนที่ผมใกล้จะต้องขึ้นเวทีพอดี จังหวะนั้นผมเริ่มคิดและมองเห็นว่า งานสอนภาษามันอาจจะเป็นงานที่ดีได้ ถ้าผมเลือกเดินไปบนเส้นทางนี้ มันอาจเป็นโอกาสให้ผมได้สร้างอาชีพของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใครก็ได้นะ

 

ผมกดรับสาย แล้วตัดสินใจบอกไปว่า ขอบคุณสำหรับโอกาสนะครับ แต่ผมคงต้องขอปฏิเสธ สิบนาทีต่อมา ผมขึ้นไปอยู่บนเวทีในฐานะ อาจารย์อดัม ด้วยความรู้สึกโล่งใจอย่างยิ่ง เพราะผมได้ตัดสินใจเลือกแล้ว หลังจากที่คิดมานานว่า จะไปทำงานที่กูเกิลดีไหม จนทุกวันนี้บางทียังนั่งคิดอยู่เลยว่า ถ้าตอนนั้นเลือกกูเกิล ป่านนี้จะเป็นยังไงนะ ผมจะได้เป็นซีอีโอหรือยัง (หัวเราะ) พูดเล่นครับๆ แต่ผมมั่นใจนะว่ามันก็ต้องไปได้ดีในทางของมันได้เหมือนกันแหละ เพียงแต่ตอนนั้นผมเลือกแล้ว

 

และการได้กลายเป็น อาจารย์อดัม ก็เปลี่ยนชีวิตผมอย่างมาก เพราะผมได้มีโอกาสช่วยเหลือและเปลี่ยนชีวิตของคนอื่นเช่นกัน ผมสนุกกับงานมาก และรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานให้ตัวเอง… ไม่สิ ที่จริงผมทำงานให้ภรรยาผมมากกว่า (หัวเราะ) แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็รู้สึกดีที่มีวันนี้ และเป็น อาจารย์อดัม อย่างวันนี้ครับ ไม่งั้นคงไม่ได้มานั่งให้สัมภาษณ์แบบนี้จริงไหม (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนะ… อาจจะได้มาให้สัมภาษณ์ในฐานะซีอีโอของกูเกิลก็ได้ (หัวเราะ)

 

32.29

ทัศนคติ สำคัญที่สุดในการเรียนภาษา

นอกจากได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม ช่วยให้แรงบันดาลใจในการเรียนภาษา ผมยังช่วยสอนเคล็ดลับในการเรียนภาษาให้ได้ผล โดยเฉพาะการเน้นให้เห็นว่า การจะเก่งภาษาต้องใช้เวลา ดิ้นรน และต้องหงุดหงิดกับความไม่ได้ดั่งใจของตนเอง และมันเป็นเรื่องธรรมดาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณจะพูดผิด เขียนผิด ฟังผิด อ่านผิดได้เสมอ และคุณไม่มีวันที่จะใช้ภาษาได้อย่างสมบูรณ์แบบ และนั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกนั่นแหละ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เรียนภาษาโดยอยู่ในสิ่งแวดล้อมของภาษานั้นๆ มาตั้งแต่เด็ก การมาเรียนภาษาในวัยผู้ใหญ่เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

 

เพราะฉะนั้น คุณควรจะเรียนไปหัวเราะไป และขำได้กับความผิดพลาดของตัวเอง อย่าไปเครียดกับมันมาก เดี๋ยวก็สำเร็จเอง ขนาดผมเป็นเจ้าของภาษาผมยังพูดผิดอยู่บ่อยๆ เลย

 

บางทีผมรู้สึกว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมองภาษาอังกฤษเป็นแค่วิชาที่เราต้องเรียนและต้องสอบให้ผ่าน บอกได้ว่าประโยคไหนเป็นเทนส์อะไร ช่องสองของกริยาตัวนี้คืออะไร ซึ่งก็ดีนะครับ ผมไม่เคยแอนตี้การเก่งไวยากรณ์เลย ผมเองก็ต้องศึกษาไวยากรณ์ไทยเหมือนกัน แต่ผมอยากให้คนมองเห็นว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่วิชาเรียน แต่มันเป็นทักษะ เป็นเครื่องมือ ตอนสอบเราอาจมีถึง 5 ชอยส์ A B C D E แต่ในชีวิตจริงเรามีแค่ 2 เองนะ คือ A ฝรั่งเข้าใจ และ B ฝรั่งไม่เข้าใจ

 

และในชีวิตจริง เราสามารถทำให้ฝรั่งเข้าใจเราได้โดยไม่ต้องพูดภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์แบบ โดยพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทย หรือโดยใช้ภาษาอังกฤษที่ผิดไวยากรณ์ ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าเราไม่ควรพัฒนาทักษะทางภาษาของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นะครับ แต่อยากให้ทุกคนเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ผิดก็ไม่เป็นไร พยายามสื่อสารเข้าเถอะ จะด้วยภาษามือหรือภาษากายก็จัดไป

 

อีกอย่างที่ผมพูดเสมอคือ ชาวต่างชาติที่เขามาเมืองไทยน่ะ เขามาเที่ยว เขาไม่ได้มาตรวจแกรมมาร์เรา หรือแบบ “โอ้ย ฟังไม่รู้เรื่อง สำเนียงไม่ดี ไม่คุยด้วยแล้ว” (หัวเราะ) ไม่ใช่ แค่ได้เห็นว่าคุณพยายามจะสื่อสารกับเขา เขาก็ประทับใจแล้ว ผมว่าภาษาเป็นเรื่องของทัศนคตินะ

 

39.56

สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนไทยยังไม่เก่งภาษาอังกฤษเท่าที่ควร

คนไทยหลายพันที่ผมเคยสอนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยสักนิดเดียว แต่สุดท้ายก็พูดได้กันทุกคน ผมเลยมั่นใจว่า ทุกคนมีความสามารถที่จะพูดภาษาอังกฤษกันได้ดีทั้งนั้นแหละครับ อาจจะไม่ถึงกับเป๊ะ แต่ก็ใช้ภาษากันได้คล่อง สาเหตุเดียวที่ผมเห็นว่าทำให้หลายคนพูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้ดี ก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นยังไม่ทุ่มเทเวลาให้กับมันมากพอ เท่านั้นเองนะ ถ้าพวกเขาให้ความสำคัญและให้เวลากับการฝึกฝน พากเพียร เรียน ขยัน รับรองว่าสุดท้ายก็ทำได้ทั้งนั้น

 

อาจารย์อดัม ที่ The Standard Podcast

 

41.46

อาจารย์อดัม ในฐานะ คุณพ่อของน้องออสติน

ออสตินตอนนี้ขวบครึ่ง เป็นเด็กร่าเริงและยิ้มเก่งมาก หัวเราะทั้งวันครับ เห็นเขาแล้วถึงผมจะอารมณ์จะบูดมาจากไหนก็กลายเป็นอารมณ์ดีทุกที ออสตินเป็นเด็กสองภาษา ภรรยาผมจะพูดไทยกับเขา ส่วนผมจะพูดแต่ภาษาอังกฤษกับเขาเท่านั้น ที่จริงคุณพ่อตาแม่ยายของผมอยากให้ออสตินได้สามภาษานะ คืออยากให้ได้ไทยอีสานด้วย (หัวเราะ) แต่ผมบอก ขอเท่านี้ก่อนแล้วกันนะครับ (หัวเราะ) เดี๋ยวรอให้ได้สองก่อน แล้วจะสามกันทีหลังค่อยว่ากัน

https://www.instagram.com/p/Bdwb2E6nOF0/?hl=en&taken-by=ajarnadam

 การมีลูกนี่เปลี่ยนชีวิตเรามากเลยนะ อย่างน้อยตอนนี้ผมก็รู้แล้วว่า ผมตื่นเช้าขึ้นมาทุกวันเพื่อใคร ผมทำทุกอย่างที่ผมทำในตอนนี้เพื่อใคร

 

43.57

วิธีเลี้ยงเด็กสองภาษา ถ้าทั้งพ่อแม่ ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเจ้าของภาษา

ผมว่าได้นะ แม้จะมีหลายคนคิดว่า เป็นคนไทยก็อย่าไปพูดภาษาอังกฤษกับลูกเลย ผมไม่เห็นด้วยครับ ผมว่ามีสื่อที่พูดภาษาอังกฤษแบบเจ้าของภาษามากมายที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเอามาช่วยสอนคุณลูก โดยไม่ต้องพูดเองก็ได้ หรือต่อให้พูดผิดๆ ถูกๆ บ้าง ก็ไม่เห็นเป็นไรเลยครับ

 

คนเราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ผิดไม่ได้ และไม่มีใครควรมานั่งคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากตนเอง

 


 

ถ้าคุณชอบพอดแคสต์เอพิโสดนี้ เราขอแนะนำให้…

 


Credits

 

The Host สาวิตรี สุทธิชานนท์

The Guest อดัม แบรดชอว์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor ภูมิชาย บุญสินสุข

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Photo อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising