×

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ : เลี้ยงลูกในสไตล์คุณแม่ซูเปอร์โมเดล

15.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

00.10 Introduction

03.11 เบื้องหลัง Asia’s Next Top Model

17.56 นางแบบเขียนบล็อก

26.15 ‘10 THINGS I TELL MY DAUGHTER’

36.15 การกุศลเป็นเรื่องใกล้ตัว

     ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์โมเดลและพิธีกรรายการเรียลิตี้ระดับโลกผู้ทำทุกอย่างและเอาดีได้ทุกอย่าง นางแบบรุ่นน้องก็ต้องดูแล ลูกทั้งสองก็ต้องเลี้ยง บล็อกก็ต้องเขียน คลิปก็ต้องถ่าย เดินแบบก็ขาดไม่ได้ งานการกุศลก็ต้องไป ออกกำลังกายก็ต้องไหว!

     ซินดี้คุยกับโบ-สาวิตรี เรื่อง Asia’s Next Top Model เรื่องการเลี้ยงลูก และการเขียนบล็อกที่ cindysirinya.com

 


 

03.11

บทบาทการเป็นพิธีกรรายการเรียลิตี้แฟรนไชส์ระดับโลก Asia’s Next Top Model

     รายการนี้มีมา 5 ไซเคิลแล้วค่ะ ซินดี้เป็นโฮสต์ 2 ไซเคิลล่าสุด ไซเคิล 4 ที่น้อง ตะวัน นางแบบไทยเป็นผู้ชนะ มาถึงไซเคิล 5 ก็มีนางแบบไทยอีก 2 คนที่โดดเด่น ถ้าถามว่านางแบบไทยมีข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบอย่างไรบ้างในการแข่งขันรายการแบบนี้ ดูจากผลงานที่ผ่านมาก็พอบอกได้ ซินดี้ว่าตอนนี้ก็ไม่ใช่แค่นางแบบนะคะ นางงามเราก็กำลังรุ่งมาก เข้ารอบลึกๆ กันเข้าไปทุกที อย่างน้ำตาลในปีก่อน หรือมารีญาในปีนี้ซินดี้ก็เอาใจช่วยอยู่

     นางแบบไทยของเราสวยนะ ครบทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติ ถ้าจะมีข้อเสียสักเรื่องคือความสามารถทางภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างกรณีของน้องตะวันนี่เรียกว่า น้อยกว่านั้นไม่ได้แล้วนะคะ จะไม่สามารถสื่อสารกับนานาชาติได้เลย (That’s the least amount of English you can get away with) นั่นคืออย่างเดียวที่เราต้องพยายามทำให้ถึงมาตรฐานจึงจะทำงานกับคนต่างชาติได้

 

04.50

ในความเห็นของพี่ซินดี้ นอกจากความชำนาญภาษาอังกฤษแล้ว นางแบบไทยต้องทำการบ้านเรื่องไหนเป็นพิเศษอีก เพื่อประสบความสำเร็จในการแข่งขัน

     โดยธรรมชาติแล้ว คนไทยเป็นคนที่ไม่ค่อยจะ… ยังไงดีล่ะ จะบอกว่าไม่สังคมหรือหงิมเกินไปนี่ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว แต่เราไม่ค่อยกล้าจะนำเสนอตัวเอง นี่เป็นรายการเรียลิตี้ไงคะ คนเขาอยากเห็นความแซบ ความเป็นนางร้ายหน่อยๆ (หัวเราะ) (They wanna see your sass… and… can I say, bitchiness?) คนดูอยากเห็นความก๋ากั่นมั่นใจ ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบการเผชิญหน้า (Thai people are not very confrontational) ไม่ชอบใจอะไรใครก็ไม่กล้าพูดออกไปตรงๆ แต่สำหรับรายการแบบนี้ เราอาจต้องกล้าขึ้นอีกนิด เสียงดังขึ้นอีกหน่อย ไม่งั้นเราจะกลายเป็นตัวละครจืดๆ ตัวหนึ่ง ซึ่งถ้าจืดนี่ก็จบนะ คนดูจะมองไม่เห็นเราเลย

 

05.59

คำถามนี้ไม่รู้พี่ซินดี้จะยอมตอบหรือเปล่านะคะ ไซเคิล 5 ก็จบไปแล้ว บอกเราได้ไหมว่า จริงๆ แล้วนางแบบคนไหนเป็นคนโปรดที่พี่ซินดี้แอบเชียร์พิเศษ

     บอกไม่ได้ค่ะ (หัวเราะ) ตอบอย่างนี้แล้วกัน คนที่โดดเด่นชัดเจน ทั้งในทางที่ดีและไม่ค่อยดีนะ (หัวเราะ) ก็มี คลาร่า ที่เชื่อว่าคนดูจะจดจำได้แน่นอน เพราะน้องเขาจะมีประเด็นอะไรให้ติดตามทุกอาทิตย์ (She’s definitely memorable and really kept things exciting week after week) สนุกดีเหมือนกันที่ต้องคอยพยายามรับมือกับความเครซี่ที่น่าเอ็นดูของเธอ (It was fun to just kind of negotiate her crazy, in the most endearing way) โดโรธี ก็เด่นมาก ทั้งสวยและน่าตื่นเต้น (She was a firecracker)

     เรื่องของเรื่องคือ สาวๆ พวกนี้หลายคนจะหาตัวเองไม่เจอก่อนรายการจบ (All these girls, they almost don’t come to their own until after the show) เรียกว่าเบ่งบานเฉิดฉายช้าเกินไป เพราะมัวแต่อะไรก็ไม่รู้ คือทำไมไม่ทำแบบนี้ตั้งนานแล้ว กว่าจะรู้ตัว เอ้า โดนคัดออกไปละ

     แต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของรายการแบบนี้นะคะ คือมันเหมือนหลักสูตรเร่งรัดที่ช่วยให้แต่ละคนค้นพบตัวเอง และได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับตัวเอง คือในเวลาแค่ 13 สัปดาห์ เจอโจทย์ทุกอย่างเลยที่นางแบบคนหนึ่งพึงจะเจอตลอดเส้นทางอาชีพ และทุกคนต้องพยายามทำภารกิจที่แสนยากในเวลาสั้นนิดเดียว (The learning curve is so steep) แล้วก็อย่างที่บอกค่ะ จะมาไฟลุกคึกคักแผลงฤทธิ์เอาวันหลังๆ นี่ก็สายเกินไปแล้ว

 

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

 

07.50

หนึ่งสิ่งที่คุณผู้ชมอาจไม่รู้เกี่ยวกับเรียลิตี้โชว์

     ชีวิตของพวกเราอยู่ในกำมือของคนตัดต่อค่ะ (หัวเราะ) (You are at the mercy of the editor’s) อย่างซินดี้เนี่ย พูดอะไรออกไปตั้งเยอะแยะ อาจมีสักประโยคหนึ่งที่เขาตัดเอาไปใช้ ซึ่งอาจเป็นในคนละสถานการณ์ แต่มันออกมาเวิร์ก เราก็ต้องเข้าใจเขานะ และเราต้องรู้ว่า นี่คือสิ่งที่เราเลือกแล้ว และนี่คือสิ่งที่เราต้องเจอ (This is what you signed up for)

 

08.18

ในรายการเรียลิตี้โชว์ส่วนใหญ่เราอาจสังเกตเห็นว่าจะได้เจอตัวละครบางประเภทเป็นประจำ เช่นต้องมีนางร้าย ต้องมีสาวน้อยน่าสงสารผู้ตกเป็นเหยื่อและโดนกลั่นแกล้งตลอดเวลา หรือต้องมีนางลูกเป็ดขี้เหร่ที่มาไกลจากอีพีหนึ่งมากๆ แล้วจบอีพีสุดท้ายด้วยการกลายโฉมเป็นสาวงาม ทั้งหมดนี้มาจากการคัดสรรโดยเจตนาหรือเปล่าคะ

     สาวๆ ที่ถูกเลือกเข้ารายการ ถ้าไม่ใช่เพราะบุคลิกโดดเด่นแข็งแรงอยู่แล้ว ก็จะเป็นเพราะพวกเธอมีอะไรบางอย่างน่าตื่นเต้นให้คุณผู้ชมติดตาม สวยจัดๆ อย่างเดียวก็เอาไม่อยู่นะคะ ถ้าไม่มีความคิดความอ่านหรือพูดจาไม่เป็นเอาเสียเลย ถ้าอย่างนั้นคือไปเป็นนางแบบอย่างเดียวก็ได้ ไม่ต้องมาแข่ง

     คนที่ถูกเลือกจะมาพร้อมบุคลิกที่น่าสนใจอยู่แล้ว และสิ่งเหล่านี้ก็จะถูกแสดงออกมาเองอย่างเป็นธรรมชาติในรายการ เมื่อถูกกล้องจับ 24 ชั่วโมง ทางรายการจะไม่ปั้นให้แต่ละคนแตกต่างออกไปจากตัวตนที่แต่ละคนเป็นจริงๆ เช่น เราจะไม่กำกับสาวขี้อายให้ไปหาเรื่องตบกับเพื่อน บทบาทของเธอคือสาวขี้อาย เพราะเธอเป็นของเธออย่างนั้น เพียงแต่บุคลิกตรงนี้จะเข้มข้นขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อไปเจอสถานการณ์ต่างๆ ในรายการ โปรดิวเซอร์จะไม่เขียนบทให้พูด เราไม่มีสคริปต์ แต่พอเจอความกดดัน แต่ละคนจะเผยเนื้อแท้ตัวตนออกมาเอง

     มีการพยายามเสี้ยมให้เกิดดราม่าไหม โอย ไม่ต้องเสี้ยมหรอกค่ะ เท่าที่เห็นในทีวีนั่นส่วนน้อยนะ ของจริงเยอะกว่านั้นมาก ผู้หญิงอยู่ด้วยกันน่ะ! นึกออกไหม แค่วันแรกก็ทะเลาะกันแล้วว่าใครจะนอนที่ไหน ทำไมเธอใช้ห้องน้ำนานจัง เรื่องพวกนี้ไม่ต้องกำกับเลยค่ะ มันมาเอง แต่พอกลายเป็นรายการหนึ่งชั่วโมง เขาต้องเลือกเล่าเส้นเรื่องที่สมเหตุสมผลและน่าสนใจ ไม่ใช่เดี๋ยวคนโน้นก็ทะเลาะกับคนนี้ แล้วคนนั้นก็ไปพูดเรื่องโน้น มันต้องมีทิศทางที่จะทำให้คนดูไม่งง และพาคนดูไปยังสิ่งที่เราต้องการ

 

11.11

     แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกอย่างถูกถ่ายทอด สาวๆ ที่เข้ามาได้น่ะฉลาดๆ ทั้งนั้น ทุกคนรู้แหละว่าเกิดอะไรขึ้น (They’re smart. They know what’s up) ทุกคนรู้ว่าตัวเองกำลังออกอากาศและถูกติดตามดูอยู่ ซินดี้เชื่อว่าแต่ละคนเขากำกับตัวเองอยู่แล้ว ทุกคนรู้หมดว่าอยากให้บทบาทและภาพของตัวเองออกมายังไง (They would produce their own story. They already know who they wanna be) มันเป็นยุคดิจิทัลที่เราเคยชินกับการพูดหน้ากล้องทำคลิปลงยูทูบหรืออินสตาแกรมอยู่แล้ว เราเคยชินกับการสร้างให้ตัวเราเป็นแบรนด์อยู่แล้ว (They’re coming in with their own brand already)

 

11.42

มีโควต้าของแต่ละคาแรกเตอร์ของผู้เข้าแข่งขันไหมคะ เช่น เอาล่ะ สาวเหวี่ยงๆ ขอสามคนพอ แล้วจากนั้นก็ขอแนวสาวเหนียมบ้าง อะไรอย่างนี้

     ซินดี้ไม่มีส่วนร่วมในการแคสติ้งเลยค่ะ เราได้เจอสาวๆ พร้อมกับที่ทุกคนได้เจอเราครั้งแรก นั่นคือในเอพิโสด 1 แต่เชื่อว่าโปรดิวเซอร์ต้องมีสิ่งที่เขาอยากได้ในใจอยู่แล้วล่ะ เช่น อยากได้ช่างพูดแบบเมาท์ไม่หยุดสักคนหนึ่ง ต้องมีแบบสวยลืมโลกสักคน แต่ก็ต้องมีแนวสาวแปลกหรือสาววีนอีกสักคน และจากจำนวนมหาศาลของสาวๆ ที่เข้ามาออดิชัน เขามีตัวเลือกเยอะอยู่แล้วล่ะ

 

12.30

กรรมการเองก็เหมือนจะมีบทบาทและบุคลิกที่แตกต่างกันไป ใจดีก็ต้องมี ดุๆ ก็ต้องมา เทียบกับรายการอเมริกันไอดอล ก็เรียกว่าต้องมีทั้งพอลล่า (Paula Abdul) และไซมอน (Simon Cowell) และแน่นอน รายการนี้ก็มี ยูไซ ยูไซ ยูไซ! (Yu Tsai) ตัวจริงเขาเป็นยังไงคะ

     ยูไซเป็นคนที่พลังล้นเหลือ และประสบการณ์มากมาย เป็นตากล้องแนวหน้าที่ถ่ายสุดยอดนางแบบมาแล้วทั่วโลก รู้ลึก รู้จริง แล้วคอมเมนต์ของเขาก็เป๊ะจริงๆ และตรงไปตรงมาจนบางครั้งฟังแล้วเจ็บ แต่นี่คือสิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องเจอ เพราะคุณเลือกมาอยู่ที่นี่เอง และความเห็นของคนอย่างยูไซคือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องฟังเอาไว้

     แต่สำหรับซินดี้นี่จะออกแนวคุณแม่ (หัวเราะ) แต่เป็นคุณแม่ที่เข้มงวดนะ เรารัก เราช่วย แต่ถ้าเด็กๆ ดื้อหรือซน แม่ก็ต้องกำราบให้อยู่กับร่องกับรอยเสียหน่อย

     นอกจากนั้นเรายังมีกรรมการรับเชิญของแต่ละเอพิโสด อาจเป็นลูกค้าที่กำลังมองหานางแบบที่เหมาะกับสินค้าของเขาจริงๆ

     และแน่นอน นางแบบพี่เลี้ยงอย่าง คาร่า เป็นเมนเทอร์แนวพี่สาวที่จะคอยสอนเรื่องต่างๆ คณะกรรมการในแต่ละเอพิโสดจะต่างกันไป เพื่อให้สาวๆ ได้คอมเมนต์ที่หลากหลายและรอบด้าน ในทีวีอาจเห็นว่าบางคนได้คอมเมนต์ประโยคเดียว อย่างในเอพิโสดแรกที่ยังอยู่กันครบ 13 คน เพราะเวลามันจำกัดค่ะ แต่ความจริงสาวๆ เขายืนกันยาวมาก และกรรมการทุกคนก็คอมเมนต์กันเยอะและจริงจังมากนะ เพราะเราอยากให้ทุกคนพัฒนากันจริงๆ

 

14.22

อะไรคือบทบาทที่สำคัญที่สุดของพี่ซินดี้ในฐานะพิธีกร

     เป็นเหมือนกัปตันเรือ เป็นคนพารายการไปในทางที่เราต้องการ เป็นคนบอกว่าในแต่ละเอพิโสดจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และความคาดหวังคืออะไร เข้าไปอยู่ด้วยในบางชาเลนจ์ และที่สำคัญคือเป็นผู้นำการคอมเมนต์และตัดสิน

 

15.19

โบคิดว่าพี่ซินดี้เป็นคนที่เหมาะจะโฮสต์รายการนี้ที่สุด ทั้งมีออร่า มีองค์คุณแม่ คือเอาอยู่จริงๆ พี่ซินดี้คิดว่าตัวเองจะทำหน้าที่นี้ได้ดีขึ้นไปอีกในไซเคิลต่อไปยังไงบ้างคะ

     แต่ละไซเคิลมันต่างกันหมดเลยนะคะ โปรดักชันก็ต่างกันไปในแต่ละรอบ นั่นทำให้เราต้องเรียนรู้ใหม่ทุกครั้ง ซินดี้อยากพยายามหาวิธีที่จะช่วยเหลือและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าแข่งขันมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะตามบทบาทแล้วเราไม่ใช่คนที่จะลงไปโค้ชโดยตรงเหมือนเมนเทอร์คนอื่น พิธีกรควรแยกตัวเองออกมา ไม่เข้าไปคลุกคลี ซึ่งตรงนี้สำหรับซินดี้มันยากมากนะ เพราะเราก็เกิดอาการคันไม้คันมืออยากเข้าไปช่วย เข้าไปสอน แต่ด้วยบทบาทหน้าที่คือไม่ได้ไง แต่อย่างที่บอกว่า จะพยายามหาทางเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้สาวๆ แต่ละคนเก่งขึ้นโดยไม่เสียจุดยืนของพิธีกรค่ะ

 

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

 

17.56

Cindysirinya.com เกิดขึ้นมายังไง อะไรคือแรงบันดาลใจให้ลงมือเขียนบล็อก

     เหมือนซินดี้มีเวลาว่างเหลือเฟือใช่ไหมคะ (หัวเราะ) เราว่าเรามาถึงจุดหนึ่งในชีวิตที่รู้สึกอยากแบ่งปัน เราจะได้คำถามเข้ามาเสมอทั้งทาง เฟซบุ๊ก หรือ อินสตาแกรม “ทำยังไงถึงจะได้เป็นเหมือนพี่ซินดี้คะ” พี่ว่าอย่ามาเหมือนพี่เลยค่ะ มันเหนื่อย (หัวเราะ) เราทำงานมาเยอะ ประสบการณ์ก็มากพอ ก็อยากเล่า อยากแชร์ เลยอยากได้ที่ทางที่หน้าตาสวยงามน่าเยี่ยมชมที่รวบรวมสิ่งเหล่านี้ไว้

     มีหลายด้านของซินดี้ที่คนยังไม่รู้จัก คนเห็นเราในฐานะนางแบบอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้วเรายังเป็นศิลปิน เป็นแม่ ชอบเดินทาง และเราว่าเราก็ตลกพอสมควร (หัวเราะ) เราก็สร้างของเราขึ้นมาเองเลย ทั้งบล็อก ทั้ง ยูทูบแชนแนล ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายามสูงมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็สนุกมากด้วย

     แชนแนลทางยูทูบชื่อ Cindy Sirinya Bishop ค่ะ ตั้งมันตรงๆ อย่างนี้แหละ (หัวเราะ) ฝาก subscribe และติดตามด้วยนะคะ

     ซินดี้ทำคอนเทนต์เป็นสองภาษา คือถ้าพูดภาษาอังกฤษ จะขึ้นซับไทยให้ และถ้าพูดไทย ก็จะใส่ซับอังกฤษ ที่จริงก่อนนั้นเคยอยู่ทีหนึ่งตอนไลฟ์ลงอินสตาแกรมแล้วไม่รู้จะพูดภาษาอะไรดี (หัวเราะ) คอมเมนต์ส่วนใหญ่ของคนไทยที่ฝากไว้คือ อยากให้พูดอังกฤษ แล้วขึ้นซับไทยให้เรียนภาษาไปด้วย เอ้า ได้ จัดให้

     และด้วยความที่เขียนเอง พิมพ์เอง ใส่เอง ก็แน่นอนเลยว่าจะมีคำสะกดผิดเต็มไปหมด คุณผู้ชมผู้อ่านก็น่ารักมาก “เอ่อ พี่ซินดี้สะกด ‘ฝรั่ง’ ผิดนะคะ” (หัวเราะ) สงสัยต้องจ้างคนช่วย แต่ปัญหาของซินดี้คืออะไรรู้ไหม เราเป็น control freak ทุกสิ่งต้องเป๊ะตามที่เราต้องการ ต้องทำทุกอย่างเองถึงจะพอใจ ไม่ชอบแจกงานให้คนอื่นทำแทน แต่สงสัยจะไม่ไหว ที่สุดแล้วมันต้องให้คนอื่นช่วยนะ

 

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

 

21.16

บริหารจัดการเวลาเพื่อทำทุกสิ่งทุกอย่างนี้ยังไง ทั้งเป็นแม่ ในขณะเดียวกันต้องไปถ่ายรายการที่เมืองนอกอีกต่างหาก เขียนบล็อก ถ่ายวิดีโอ งานนางแบบ งานแสดง

     อย่าง Asia’s Next Top Model นี่ก็ไม่ได้ถ่ายทั้งปีไงคะ แค่สองเดือน แต่ระหว่างสองเดือนนั้นก็ไม่ทำอย่างอื่นเลย ช่วงเวลาอื่นของปีก็ใช้วิธีกันไว้เป็นก้อนๆ เช่น สามเดือนนี้ปลุกปั้นบล็อกอย่างเดียว ซึ่งก็ต้องเริ่มจากการสอนตัวเอง เพราะอยากทำเป็นเองก่อน ซึ่งพอสำเร็จก็ภูมิใจนะคะ

     นอกนั้นก็ต้องใช้วิธีจัดลำดับความสำคัญ แน่นอนว่าลูกๆ ต้องมาก่อน ซินดี้กับไบรอนจะแท็กทีมกันดูแลลูก แบ่งกันไปวันไหนใครดูใคร เรื่องงานตามมาทีหลัง ซึ่งจะทำให้แต่ละวันมันจะไม่ซ้ำกันเลย แต่เราต้องวางแผน และพอครอบครัวเราเป็นทีมที่ดี เราก็ช่วยกันได้

 

23.08

‘10 เรื่องที่ฉันจะบอกกับลูกสาว’

     ในบล็อกจะมีหัวข้อต่างๆ เช่น สไตล์ สุขภาพ การเดินทาง แล้วก็ครอบครัว เรื่องที่พี่อยากเขียนคือเรื่องที่เราคิดว่าคนจะมีความรู้สึกร่วมด้วย วันหนึ่งเรานั่งดูรูปเลล่าแล้วก็ตัดสินใจว่าจะเขียนเรื่องสิ่งที่เราพูดกับลูกเป็นประจำอยู่ทุกวัน แล้วพอเป็นความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงจากหัวใจ มันก็จะไหลออกมาอย่างไม่ยากเย็นเลย แป๊บเดียวเท่านั้น สองชั่วโมงก็เขียนเสร็จ แล้วก็กลายเป็นเรื่องที่ได้ผลตอบรับจากคนอ่านมากที่สุดจนทำให้รู้สึกว่า เอาล่ะ นี่คงเป็นเรื่องที่คนชอบ และเราก็อยากจะมุ่งไปทางนี้ให้มากขึ้น

     เรื่องตลกคือ ซินดี้ให้เลล่าอ่าน แล้ว… มีอยู่ข้อหนึ่งที่จะบอกว่า ‘แม่จะฟังลูกเสมอ’ (หัวเราะ) …เช้าวันถัดไปเลย เราก็กำลังวุ่นๆ แล้วลูกก็เรียก แม่ แม่ เราก็ เดี๋ยวจ้ะเดี๋ยว… เท่านั้นแหละ “แม่คะ ไหนแม่เขียนไว้ในบล็อกว่าแม่จะฟังลูกเสมอไง” (หัวเราะ) ฮึ่ม ไม่น่าให้อ่านเลย เด็กคนนี้จะฉลาดเกินไปเสียแล้ว (หัวเราะ)

 

24.55

ในบล็อกพี่ซินดี้เขียนว่า “เวลามีคนถามว่าลูกสาวอายุเท่าไร ซินดี้จะชอบตอบขำๆ ว่า 7 ขวบย่าง 17 และแม่ของซินดี้ก็เคยพูดถึงซินดี้เอาไว้อย่างนั้นเหมือนกัน” ในประโยคนี้โบเห็นสาวสามวัยในครอบครัวเดียวกัน ที่รู้สึกได้ว่าสนิทสนมและรักใคร่กันมากเลย เล่าเรื่องลูกสาวและคุณแม่ให้เราฟังหน่อยสิคะ

     ซินดี้สนิทกับแม่มาก สนิทและใกล้ชิดกันมาตลอดชีวิต บ้านเราเป็นครอบครัวเล็กๆ ค่ะ มีกันแค่สามคนพ่อแม่ลูก คุณพ่อเสียในปีเดียวกับที่เลล่าเกิด แม่ของซินดี้เป็นแม่คูลๆ อายุ 75 แล้ว แต่ยังสวมขาสั้น ทำแยมกับแตงกวาดองไปขายที่ตลาด Farmer’s market คือสุดยอดอะ แล้วแม่ก็สนิทกับหลานสาวมากด้วย

 

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

 

26.15

10 THINGS I TELL MY DAUGHTER

 

1. “You are beautiful… inside & out.”
    “ลูกสวยทั้งภายในและภายนอก”


     สมัยเลล่าอายุสัก 3-4 ขวบ พาไปที่ไหนคนก็จะทักว่า โห สวย น่ารัก คือเด็กส่วนใหญ่ก็จะได้คำชมแบบนี้ แต่เลล่าจะเจอเยอะกว่ามากเพราะเป็นลูกซินดี้ที่มีคนรู้จัก ก็ต้องพยายามคุยให้ลูกเข้าใจว่าคำว่าสวยมันมีทั้งภายในและภายนอก คิดว่าลูกเข้าใจนะคะว่าภายนอกไม่สำคัญเท่าภายใน และคำว่าสวยภายในคืออะไร 

 

2. “I love you… just the way you are.”
    “ลูกจะเป็นยังไงแม่ก็รัก”


     เรื่องนี้เด็กต้องรู้และเข้าใจ โดยเฉพาะเลล่าเป็นเด็กเนี้ยบเหมือนซินดี้ คือเป็น perfectionist เพราะฉะนั้นบางทีถ้าทำอะไรไม่ได้อย่างใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลล่าจะเลิกเลย ถ้าทำให้เพอร์เฟกต์ไม่ได้ ไม่ทำเลยดีกว่า ประมาณนั้น ซินดี้จะคอยบอกให้ลูกเข้าใจว่า ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้นะลูก จะเป็นยังไงแบบไหนแม่ก็รัก 

 

3. “You can always talk to me.”
    “ลูกคุยกับแม่ได้ทุกเรื่องนะ”


     เรื่องนี้สำคัญมากนะคะ โดยเฉพาะพ่อแม่ไทยที่ซินดี้คิดว่าควรพูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจในทุกเรื่องให้ได้ เพราะถ้าพ่อแม่ไม่คุยกับเขา เขาก็จะไปหาอินเทอร์เน็ต หรือไปหาเพื่อน ทีนี้น่ากลัวแล้วนะ เพราะเราเห็นมาแล้วว่าบนอินเทอร์เน็ตมีอะไรรออยู่บ้าง (หัวเราะ) ซินดี้จะบอกลูกเสมอว่า เลล่า คุยกับแม่ได้ทุกเรื่องเลยนะ แม่จะไม่ว่า แม่จะไม่ตัดสิน (I’m not gonna judge. I’m here for you.) 

 

4. “I am listening.”
    “แม่ฟังลูกเสมอนะ”


     ไปด้วยกันกับข้อเมื่อกี้ เรื่องนี้เราก็เคยเจอ คือบางครั้งมันยุ่งจริงๆ แล้วบางทีลูกอยากบอกอะไรเรา ซึ่งอาจเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา เช่น ครูชมเพราะตั้งใจเรียน หรือวันนี้ทำอะไรสนุกที่โรงเรียนมาบ้าง และถ้าพ่อแม่เอาแต่ “จ้ะๆๆ ดีจ้ะ” แบบขอไปที และทำแบบนี้บ่อยๆ เข้า สักวันลูกจะไม่อยากเล่าอะไรให้เราฟังแล้ว 

 

5. “It’s okay to make mistakes. Nobody is perfect.”
    “คนเราผิดพลาดกันได้ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ”


     บอกให้ลูกรู้ว่า แค่พยายามที่สุดก็ถมเถแล้ว แม่เอาแค่นั้นแหละ เท่าที่หนูทำได้ดีที่สุดก็พอ (Make sure they know that their best is all you need.) 

 

6. “I’m sorry.”
    “แม่ขอโทษ”


     สำคัญมากอีกเช่นกัน พ่อแม่ชอบคิดว่าฉันเป็นพ่อแม่ ฉันไม่ต้องขอโทษลูกก็ได้ ไม่ใช่นะคะ ผู้ใหญ่ก็ขอโทษเด็กได้ แล้วก็ให้เขาเห็นอีกด้วยว่า พ่อแม่ก็ต้องขอโทษกันถ้าทำอะไรไม่ดีต่อกัน เขาจะได้รู้ว่า อ้อ ทุกคนอยู่ใต้กติกาเดียวกันหมด คือถ้าทำผิดก็ต้องขอโทษ (It’s really important for the kids to see you say sorry to your partner, too, then kiss and make up. For them to see that, they’ll realize, oh, the rules apply to everybody.) 

 

7. “Don’t be a bully and don’t put up with bullies.”
    “อย่าไปแกล้งใคร และอย่าให้ใครมาแกล้ง”


     ลูกเคยมาเล่าว่ามีคนมาแกล้ง ซินดี้ก็บอกว่า อย่าไปหงอ บอกเขาไปตรงๆ ว่าไม่ชอบ อย่าทำอีก แต่ถ้าเขายังไม่เลิก ก็ไปบอกครู อย่าได้แต่ทนให้เขาแกล้ง เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เขาได้ใจว่าเขามีอำนาจเหนือเรา เขาไม่ได้มีอำนาจนะ เขาน่าสงสารต่างหาก เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะมีคนสนใจเขา (He’s not powerful. He’s really sad, because that’s the only way he can get attentions.) และที่ซินดี้อยากให้ลูกรู้ตรงนี้ เพราะอยากให้ลูกยกโทษให้คนขี้แกล้งพวกนั้นด้วย คือไม่ต้องไปพูดกับเขา ไปอยู่ใกล้เขา แต่เข้าใจเขาเถอะว่าทำไมเขาเป็นแบบนี้
     ซินดี้ไม่อยากให้ลูกเกลียดใคร ในไซเคิล 4 ของ Asia’s Next Top Model ซินดี้ได้สัมผัสมาแล้วว่าโลกเราเต็มไปด้วยความเกลียดชังมากมายแค่ไหน คือ เดี๋ยวนะคุณผู้ชม นี่มันรายการทีวี ทำไมต้องเกลียดชังกันมาถึงครอบครัวฉันด้วย คือแบบ บ้าไปแล้ว 

 

8. “I am so proud of you.”
    “แม่ภูมิใจในตัวลูกนะ”


     ถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อย บอกให้เขารู้ว่าเราภูมิใจในตัวเขาแค่ไหน ต่อให้เขาล้มเหลวก็เถอะ เราก็ภูมิใจนะที่เขาได้พยายามแล้ว (Even though you failed, I’m proud that you tried.) 

 

9. “Don’t ever let someone pressure you into doing something you don’t want to do or that is wrong.”
    “อย่าให้คนอื่นมากดดันให้ลูกทำในสิ่งที่ลูกไม่อยากทำหรือสิ่งที่ไม่ควรทำ”


     เรื่องนี้น่าจะได้พูดเยอะเลยตอนลูกเข้าสู่วัยรุ่น นั่นจะเป็นวัยที่เพื่อนมีอิทธิพลมาก และเพื่อนจะคูลกว่าพ่อแม่ เราตามเขาไปทุกที่ไม่ได้หรอก แต่เราสอนเขาเอาไว้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วพอซินดี้ได้เห็นว่า ต่อให้เพื่อนกดดัน แต่เลล่าสามารถพูดออกมาได้ว่า “ไม่อะ ไม่อยากทำ” (No, I dont’ feel like doing that) แบบนี้เราก็สบายใจแล้ว

 

10. “Don’t worry too much about what others think of you.”
     “อย่าไปสนใจมากเกินไปว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับเรา”


     เราอยู่ในโลกยุคที่การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และหมกมุ่นกับการคิดว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเราอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะโซเชียลมีเดีย แต่เราก็ใช้มันนะ ซินดี้ก็ถ่ายรูปตัวเองโพสต์ตลอด และเราก็ต้องโพสต์รูปที่คิดว่าตัวเองดูดี และที่คนอื่นจะคิดว่าดูดีอยู่แล้วใช่ไหม เป็นธรรมดา แต่นั่นไม่ใช่ความจริงของโลกเสมอไป ต้องตั้งสติ ต้องเข้าใจว่า โอเค โลกโซเชียลคืออย่างนี้ ตอนเราอยู่ในโลกนั้นก็ทำตามกติกาของมัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราต้องเป็นตัวของเรา อย่างที่เราเป็นจริงๆ เราจะเป็นคนประหลาด ไม่เหมือนใคร หรือแม้แต่เพี้ยนๆ ก็ได้นะ เพราะเอาจริงๆ พวกนี้แหละค่ะมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปอีก (หัวเราะ) อย่าคิดมากเกินไปว่าคนอื่นเขาจะคิดกับเรายังไง เป็นตัวของตัวเองไปเถอะ

 

33.39

ถ้าขอให้พี่ซินดี้เปลี่ยนชื่อบทความนี้เป็น ‘10 THINGS I TELL MY SON’ 10 สิ่งที่บอกกับลูกชายจะมีอะไรต่างไปจาก 10 สิ่งที่บอกกับลูกสาวไหมคะ จะมีอะไรเพิ่มมาบ้าง หรือจะตัดอะไรออกไปหรือเปล่า

     ส่วนใหญ่น่าจะเหมือนเดิมนะคะ แต่คงเพิ่ม “Be a gentleman.” เข้าไปอีกข้อ ให้ดูแลและปฏิบัติต่อผู้หญิงให้เหมือนปฏิบัติกับแม่ตัวเอง สรุปคือให้เป็นเหมือนพ่อเขานั่นแหละ “Be your dad.” พ่อเขาเป็นสุภาพบุรุษ ใส่ใจ อดทน
เอเดนจะเหมือนซินดี้นะ ออกจะเครซี่ ออกจะดื้อๆ อืม เพราะอย่างนี้ล่ะค่ะถึงเป็นห่วงหน่อยๆ (หัวเราะ) เป็นคนบ้าพลัง มุ่งมั่น และวิ่งเข้าชน แต่ซินดี้แค่อยากให้เขาพื้นฐานดีก่อน รู้ว่าอะไรดีชั่วถูกผิด มีน้ำใจและรู้จักเคารพผู้อื่น เอาเท่านี้ก็สบายใจแล้ว

 

34.41

ข้อแตกต่างระหว่างการเลี้ยงลูกสาวและการเลี้ยงลูกชายคืออะไร

     ลูกคนอื่นไม่รู้ รู้แต่ว่า เลล่ากับเอเดนต่างกันที่สุดก็คือนิสัยและอารมณ์ เลล่าเป็นคนละเอียดอ่อน พิถีพิถัน มีความเป๊ะ สมมติจะเล่าอะไรสักเรื่อง ต้องเริ่มนับหนึ่งแล้วไล่ไปสองสาม และถ้าถูกขัดจังหวะจะไปต่อไม่ได้ ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ แม่ฟังไปก็ตะกุยโซฟาไป เร็วเข้าลูก เล่าเร็วๆ สิลูก (หัวเราะ) เลล่าจะมีวิถีของตัวเอง มีสไตล์ของตัวเอง และเราชอบที่ลูกเป็นแบบนั้น เราจะไม่ไปเปลี่ยนเขานะ ในขณะเดียวกัน เอเดนนี่จะพุ่งชนก่อนเลย อย่างที่บอกว่าเลล่าเหมือนไบรอน เอเดนจะเหมือนซินดี้ “พวกเราลุย! ไปกันเลย!” ต่อให้ตกเก้าอี้ก็จะลุกขึ้นมาทันที “ไม่เป็นไร! ไม่เจ็บเลย! ลุยกันต่อเลย! ผมโอเค!” เดี๋ยว! แต่แม่ไม่โอเค! (หัวเราะ)

     สรุปว่า กับเลล่าต้องให้พื้นที่และเวลาให้เขาได้เติบโตในแบบของตัวเอง ส่วนเอเดนต้องให้ฟองน้ำรัดหัวเข่ากับหมวกกันน็อก และได้แต่หวังว่าเขาจะแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง (หัวเราะ) คือคนหนึ่งก็จะ “เดี๋ยวๆๆ อย่าเพิ่งๆๆ” แต่อีกคนก็จะ “ เร็วๆๆ ลุยเลยลูกๆๆ” นั่นล่ะค่ะความแตกต่าง (หัวเราะ)

 

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

ซินดี้ Sirinya Bishop at The Standard Photo Studio

 

36.15

แม่ของพี่ซินดี้มีวิธีปลูกฝังเรื่องการรู้จักแบ่งปันให้ตั้งแต่ยังเด็ก

     วันเกิด 1-4 ขวบของซินดี้มีแขกรับเชิญเป็นเด็กๆ จากบ้านเด็กกำพร้าในพัทยาที่แม่ชวนมาร่วมฉลองที่บ้าน ยังจำความไม่ได้หรอกค่ะแต่ได้เห็นรูป มันก็เลยเป็นสิ่งที่ซึมเข้าไปติดอยู่ในความรู้สึกของเรามังคะว่า ถ้าพอมี ก็ให้แบ่ง ถ้าพอช่วยได้ ก็ให้ช่วย

     ซินดี้โชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมการกุศลกับหลายหน่วยงาน ทั้งสถานสงเคราะห์เด็ก บ้านคามิลเลียนเพื่อเด็กพิการ (Camillian Center for Disabled Children) เป็นทูตของ Fin Free Thailand รณรงค์ให้นำหูฉลามออกจากเมนู ทั้งจากโรงแรมและร้านอาหารทั่วประเทศ และล่าสุดเพิ่งเข้าร่วมกับ มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Thailand) เพื่อเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft Lip, Cleft Palate)

     รู้ไหมคะว่าทุกวันนี้เด็กๆ ที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์มีเพียง 7% เท่านั้นที่พ่อแม่สวมหมวกกันน็อกให้ และรู้ไหมว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเสียชีวิตของเด็ก รองจากการจมน้ำ ซินดี้เข้าไปร่วมโครงการชื่อ 7% Project ที่พยายามจะรณรงค์ให้การใส่หมวกกันน็อกกลายเป็นเรื่องที่เราทำกันเป็นมาตรฐานให้ได้ ซินดี้ไม่ยอมให้ลูกขี่จักรยานโดยไม่สวมหมวกกันน็อกด้วยซ้ำ นิสัยการสวมหมวกกันน็อกของคนไทยยังเป็นแบบ ใส่เพราะกลัวตำรวจจับ พอผ่านตำรวจไปแล้วก็ถอด จริงอยู่ที่มันทั้งร้อน ทั้งสวมใส่ไม่สบาย แต่ชีวิตของเรานะคะ

     กลับมาที่ Fin Free ส่วนหนึ่งคงมาจากการที่ซินดี้ชอบดำน้ำ เราเจอฉลามบ่อยๆ สำหรับเรามันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเลยนะ จำนวนฉลามที่ลดลงทั่วโลกคือสิ่งน่าเป็นห่วง เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลแน่นอน

     สำคัญที่สุด หูฉลามไม่ใช่สิ่งที่กินแล้วดีต่อสุขภาพเลยนะ บอกว่าเป็นอันตรายเลยดีกว่า เพราะมีสารพิษสะสมเยอะมาก

 

41.09

สำหรับคนที่อยากช่วย แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง หรืออยากช่วย แต่ไม่มีทั้งเงินทั้งเวลา คำแนะนำของพี่ซินดี้คืออะไร

     พูดอย่างนี้ดีกว่า เราใช้เวลาแค่ไหนในการโพสต์อะไรสักอย่างบนอินสตาแกรม หรือในการแชร์เรื่องราวอะไรสักเรื่องบนโซเชียลเน็ตเวิร์กของเรา ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของงานการกุศลคือการสร้างความรับรู้ค่ะ

     ถ้าอยากช่วย ลองเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เล็กๆ ง่ายๆ ไม่ต้องใหญ่โต เอาที่สะดวกเราด้วย เช่นโรงเรียนมีโครงการอะไรก็ไปร่วมกับเขา เอาแค่ลองตั้งใจหันไปดูรอบๆ เราจะเห็นว่าโครงการแบบนี้มีเยอะมากเลยนะ ลองมองหาดู เอ ที่จริงซินดี้น่าจะเขียนบล็อกเรื่องนี้นะ

     ซินดี้พยายามปลูกฝังที่บ้านด้วย อย่างเอเดนเพิ่งมีงานวันเกิดไป ได้ของขวัญเป็นของเล่นมากมาย เอาล่ะ งั้นก็ถึงเวลาให้ของเล่นเก่าๆ ของเราไปอยู่กับคนอื่นบ้างแล้วนะ อะไรแบบนี้ เขาก็จะเลือกของเล่นที่เขาจะไม่เล่นแล้ว เพื่อเอาไปบริจาคให้เด็กที่ไม่มีของเล่นบ้าง คือเอเดนนี่โตพอจะเข้าใจเรื่องแบบนี้แล้ว เราก็สอนเขา

     อีกอย่าง อันนี้ซินดี้ไม่วิพากษ์วิจารณ์นะคะ แต่พุทธศาสนาเขามีทำบุญใช่ไหม ซินดี้ไม่ใช่พุทธ ซินดี้ก็จะเลือกทำทานแทน นี่ไม่ได้แปลว่าอะไรดีกว่ากัน ทำทั้งคู่ยิ่งดี ที่จริงคือ ทำอันหนึ่งแล้วก็อย่าลืมอีกอันหนึ่งด้วย เพราะมีคนขาดแคลนอยู่ และเราช่วยเขาได้นะ

 

44.35

คิดอย่างไรกับ Self-driving car ถ้ามีให้สักคันจะลองขับไหม

     เดี๋ยวนะคะ ถ้า self-driving ก็แปลว่าไม่ได้ขับเองอยู่แล้วนี่ (หัวเราะ) คือถามว่าจะไปนั่งอยู่หลังพวงมาลัยมันไหมใช่มั้ย… เดี๋ยว มันมีพวงมาลัยหรือเปล่า… คือซินดี้เป็นคนประเภท hands-on คือต้องลงมือเอง ถ้าไปนั่งรถที่ขับตัวเองได้สงสัยจะเป็นบ้า (หัวเราะ) ขอทำนายได้ไหม ซินดี้ว่ารถอย่างนี้ไม่น่าวิ่งอยู่บนท้องถนนเมืองไทยได้ภายในสองทศวรรษนี้ (หัวเราะ) เจอมอเตอร์ไซค์บ้านเราเข้าไป จบ

 

46.26

สมมติให้เลือกกินอาหารได้เพียง 3 อย่างไปตลอดชีวิต นับจากมื้อหน้านี้เลย จะเลือกอะไรบ้าง

     อย่างแรกเลือก ขนมปังปิ้งทาเวจิไมต์หน้าอะโวคาโด (Avocado on toast with vegemite) อย่างที่สอง ขอเป็นบลูเบอร์รีสดๆ และอย่างที่สาม อืม ให้กินตลอดชีวิตเลยเหรอ เดี๋ยวนะ ยังไม่มีโปรตีนเลย งั้นเอา แซลมอนย่างซอสเทอริยากิ โปะข้าวกล้อง โอเค เท่านี้ก็น่าจะครบแล้วล่ะค่ะ สารต้านอนุมูลอิสระและไขมันดีต่างๆ (หัวเราะ)

 


 


 

Credits

 

The Host สาวิตรี สุทธิชานนท์

The Guest สิรินยา บิชอพ

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor ภูมิชาย บุญสินสุข

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Photo นวลตา วงศ์เจริญ

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X