เลือดกรุ๊ปบี มักจะโสดจริงหรือ?
เคยสงสัยไหมว่ากรุ๊ปเลือดบอกอะไรได้บ้าง เราคาดเดานิสัยจากกรุ๊ปเลือดได้จริงหรือเปล่า สูตรกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดมีประโยชน์จริงไหม และทำไมคนเราถึงชอบเอากรุ๊ปเลือดไปผูกกับสิ่งต่างๆ มากมายขนาดนั้น ความจริงของทุกอย่างเป็นอย่างไร เราจะมาเฉลยกันในเอพิโสดนี้
กรุ๊ปเลือด สำคัญแค่ไหน
คนเราจำเป็นต้องรู้กรุ๊ปเลือดของตัวเอง เพราะมันมีความสำคัญมากในการถ่ายเลือด หากวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุที่ต้องได้รับการถ่ายเลือด ก็ต้องแจ้งกรุ๊ปเลือดกับหมอให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นอาจเกิดการถ่ายเลือดผิดพลาด และส่งผลอันตรายกับชีวิตได้ แต่ถ้าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเองเลือดกรุ๊ปอะไร แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดได้เลย
ตามหลักการแล้ว กรุ๊ปเลือดสามารถแบ่งวิธีการเรียกได้มากถึง 43 ระบบ แต่คนทั่วไปมักจะรู้จักเพียงแค่ 2 ระบบเท่านั้น นั่นก็คือ ABO System อย่างที่เราคุ้นเคยกันว่าเลือดกรุ๊ปเอ เลือดกรุ๊ปบี เป็นต้น ส่วนอีกระบบหนึ่งคือ Rh System ที่จะแบ่งประเภทเป็นบวกหรือลบเท่านั้น โดยเลือดทั้งสองระบบนี้มีความจำเป็นในการถ่ายเลือดค่อนข้างมาก เพราะถ้าถ่ายเลือดผิดก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
ABO System แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ A, B, AB และ O
Rh System แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ + หรือ –
เมื่อนำทั้งสองระบบมารวมกัน เท่ากับจะแบ่งเลือดได้ 8 ประเภท คือ A+, A-, B+, B-, AB+, AB-. O+ และ O-
หลักการให้เลือดเป็นอย่างไร ทำไมบางกรุ๊ปเลือดจึงข้ามประเภทได้
โดยทฤษฎีแล้ว หากจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือด สิ่งที่ดีที่สุดคือเราควรจะรับเลือดที่เป็นกรุ๊ปเดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว บางกรุ๊ปเลือดก็มีลักษณะเฉพาะที่สามารถข้ามจักรวาลกันได้ เช่น คนที่เลือดกรุ๊ป O ที่สามารถถ่ายเลือดไปได้ทุกกรุ๊ป แต่กลับรับเลือดได้เฉพาะกรุ๊ป O ด้วยกันเท่านั้น และถ้าคนคนนั้นมีเลือดกรุ๊ป O- ก็ยิ่งลำบาก เพราะมีความจำเป็นมากๆ ที่จะต้องรับเลือดกรุ๊ป O- เหมือนกันเท่านั้น
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เราต้องใช้คำอธิบายในทางชีววิทยา คือถ้าส่องดูในเลือดจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เม็ดเลือดแดง’ ซึ่งทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่ผิวของเม็ดเลือดแดงจะมีแอนติเจน (Antigen) อยู่เต็มไปหมด และมันคือตัวสำคัญที่จะบอกกรุ๊ปเลือดของเรา ซึ่งหลักๆ จะมีอยู่ 2 แบบคือ แอนติเจนชนิด A กับแอนติเจนชนิด B
ถ้าเม็ดเลือดแดงมีแอนติเจน A ล้วนๆ คนนั้นจะมีเลือดกรุ๊ป A
ถ้าเม็ดเลือดแดงมีแอนติเจน B ล้วนๆ คนนั้นจะมีเลือดกรุ๊ป B
ถ้าเม็ดเลือดแดงมีทั้งแอนติเจน A และ B คนนั้นจะมีเลือดกรุ๊ป AB
ถ้าเม็ดเลือดแดงไม่มีทั้งแอนติเจน A และ B อยู่เลย คนนั้นจะมีเลือดกรุ๊ป O
นอกจากแอนติเจน อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำความรู้จักควบคู่กันคือ แอนติบอดี (Antibody) ทำหน้าที่เหมือนยามที่คอยกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไป อย่างเช่น คนเลือดกรุ๊ป A มีแอนติเจน A ถ้าพบแอนติเจน B หลงเข้ามา แอนติบอดีก็จะกำจัดแอนติเจน B ทิ้งทันที
นำมาสู่เหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมกรุ๊ป O จึงสามารถแบ่งปันได้ แต่กลับรับได้เฉพาะกรุ๊ป O ด้วยกันเท่านั้น นั่นก็เป็นเพราะว่าคนเลือดกรุ๊ป O ไม่มีทั้งแอนติเจน A และ B แต่ดันมีแอนติบอดีทั้ง A และ B ทำให้ไม่สามารถรับเลือดจากกรุ๊ป A, B หรือ AB ได้นั่นเอง
ผู้รับ | ผู้ให้ | |||
O | A | B | AB | |
O | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ |
A | ✘ | ✔ | ✘ | ✔ |
B | ✘ | ✘ | ✔ | ✔ |
AB | ✘ | ✘ | ✘ | ✔ |
เหตุผลที่ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์มีกรุ๊ปเลือดแตกต่างกัน
เพราะมนุษย์เกิดมาเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ธรรมชาติจึงสร้างให้คนเรามีกรุ๊ปเลือดที่แตกต่างกันออกไปเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะแต่ละกรุ๊ปอาจจะมีความทนทานต่อโรคภัยไข้เจ็บไม่เท่ากัน หากต้องเจอกับโรคระบาดที่รุนแรง บางกรุ๊ปเลือดอาจพ่ายแพ้ต่อโรคนั้นง่ายๆ แล้วเสียชีวิตไป ในขณะที่บางกรุ๊ปเลือดก็สามารถต้านทานและอยู่รอดต่อไปได้
ประเด็นนี้เคยมีหลักฐานสนับสนุนที่ค่อนข้างชัดเจนในยุคที่มีการระบาดของ ‘โรคมาลาเรีย’ ที่จนถึงปัจจุบันนี้ทั้งโลกก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ แม้ในวงการวิทยาศาสตร์จะมีความพยายามอย่างมากก็ตาม
โดยมีการเปรียบเทียบว่ามาลาเรียระบาดเยอะๆ ที่ไหนในโลกนี้บ้าง จนพบว่าจุดที่ระบาดเยอะ ผู้คนที่นั่นมักจะมีเลือดกรุ๊ปโอ นั่นเป็นเพราะเวลาที่เชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกาย มันจะไปโจมตีเม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะเม็ดเลือดแดงที่มีแอนติเจน A จะเซนสิทีฟมาก (เลือดกรุ๊ป A หรือ AB) เมื่อถูกโจมตีแล้วร่างกายจะสร้างสารเคมีตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนกาว ทำให้เวลาเม็ดเลือดแดงอื่นๆ ที่ไม่โดนไวรัสวิ่งเข้ามาใกล้ มันก็จะมารวมตัวกันเกาะเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อ จนบล็อกการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
จากสมมติฐานนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าคนที่มีเม็ดเลือดแดงที่ไม่มีแอนติเจนใดๆ เลย (เลือดกรุ๊ป O) สามารถต้านทานการสร้างโปรตีนที่เป็นกาวได้เวลาที่เจอไวรัสตัวนี้โจมตี ฉะนั้นคนที่มีเลือดกรุ๊ป O จึงแข็งแกร่งและต้านทานต่อมาลาเรียได้ดีกว่าคนอื่นนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบอีกว่าคนเลือดกรุ๊ป O มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบเลือด โดยเฉพาะโรคหัวใจหรือสโตรก น้อยกว่าคนที่มีเลือดกรุ๊ปอื่นด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเลือดกรุ๊ป O จะแข็งแกร่งกว่ากรุ๊ปอื่น เพราะแต่ละโรคก็มีความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน
กินอาหารตามกรุ๊ปเลือด ดีจริงไหม
ที่มาที่ไปของประเด็นการเลือกกินอาหารตามกรุ๊ปเลือด เกิดจากการที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เริ่มจับสังเกตและเก็บสถิติเจอว่าคนบางกรุ๊ปเลือดอาจจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่างมากกว่าอีกกรุ๊ปเลือดหนึ่ง จนเกิดเป็นคำแนะนำว่าใครควรจะกินอาหารกลุ่มนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพด้านนั้นๆ ตามมา
แต่ชุดข้อมูลนี้ก็ต้องบอกว่าไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนทั้งโลก เพราะมันเป็นเพียงสถิติหรือการทำวิจัยที่เก็บตัวอย่างจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการเก็บข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็อาจทำให้การแปลผลเปลี่ยนแปลงไปอีกเรื่อยๆ ก็เป็นได้
ทั้งนี้ กลุ่มนักวิจัยด้านโภชนาการก็ยังมีความพยายามในการศึกษาว่าอาหารตามกรุ๊ปเลือดเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า โดยการนำกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,500 คน แบ่งกลุ่มตามกรุ๊ปเลือด ให้ทุกคนกินอาหารที่เหมาะกับแต่ละกรุ๊ปเลือดต่างๆ เวียนกันไปจนครบ และเมื่อมาเก็บข้อมูลสุขภาพก็พบว่าการกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดเพื่อสุขภาพไม่ได้เป็นข้อมูลจริงแท้ขนาดนั้น เพราะกลุ่มตัวอย่างบางคนที่แม้จะกินอาหารไม่เหมาะกับกรุ๊ปเลือดตัวเอง แต่ก็ส่งผลดีกว่าด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้ยังเจอข้อมูลที่ค้านกับคำแนะนำเรื่องการกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดอีกหลายข้อ ทำให้สรุปได้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง เพราะถ้าเลือกกินอาหารประเภทพืชผักเยอะๆ กินโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม ลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล ไม่ว่าคุณจะมีเลือดกรุ๊ปไหนก็ย่อมดีต่อสุขภาพทั้งนั้น สำคัญกว่านั้นคือคุณควรรู้ว่าตัวเองแพ้อาหารประเภทไหน และควรจะหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เพียงเท่านี้ก็ดีที่สุดกับร่างกายแล้ว