×

ทำไมคนเราถึงกลัวผี กลัวผีแต่ชอบดูหนังผี วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

17.12.2022
  • LOADING...

คุณเป็นคนหนึ่งที่ ‘กลัวผี’ รึเปล่า? ผีมีจริง หรือเป็นแค่จินตนาการ อาการผีอำ เป็นเพราะผีจริงๆ หรือเราแค่ฝันร้ายกันแน่ ทำไมคนชอบดูหนังผี ทั้งๆ ที่กลัวผี แล้วถ้าอยากเลิกกลัวผี ต้องทำอย่างไร

 

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนเราถึงต้องกลัวผี ทั้งที่ชีวิตนี้ก็ยังไม่เคยเจอเลยสักครั้ง วิทยาศาสตร์มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้อย่างไร ดร.ข้าว จะมาเล่าให้ฟัง

 


 

ทำไมคนเราถึงกลัวผี

จริงๆ แล้วการที่มนุษย์มีความกลัวนั้นนับว่าเป็นผลดีต่อชีวิต เพราะส่วนใหญ่เรามักจะกลัวอะไรก็ตามที่สร้างความเดือดร้อนหรืออันตราย ซึ่งสมองจะสั่งให้เรากลัวเพื่อหลีกเลี่ยงภัยอันตรายเหล่านั้น โดยสาเหตุของความกลัวจะมาจาก 2 รูปแบบ

 

  1. ประสบการณ์ทางตรง คือเคยประสบกับความกลัวด้วยตัวเองในอดีต เช่น คนกลัวหมา เพราะเคยถูกหมากัดตอนเด็กๆ และกลายเป็นความฝังใจมาจนถึงตอนโต

 

  1. ประสบการณ์ทางอ้อม คือเห็นคนอื่นกลัว และคิดไปว่าสิ่งนั้นน่ากลัวไปด้วย เช่น ลูกเห็นพ่อแม่กลัวแมลงสาบแล้วกลัวตาม เพราะซึมซับมาว่าแมลงสาบเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรเข้าใกล้ หรือดูหนังผีแล้วเห็นว่ามันหักคอคนได้ จึงให้รู้สึกกลัวผีขึ้นมา

 

จากสาเหตุของความกลัวที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าการที่จะเกิดความกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้น จะต้องมีข้อมูลที่เป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นน่ากลัวและอันตราย เราจึงจะรู้สึกกลัว ซึ่งเชื่อมโยงได้ว่า ‘การกลัวผี’ ก็น่าจะมาจากเหตุผลเดียวกัน

 

นั่นเป็นเพราะว่าคนที่กลัวผีส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นกลัวมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แสดงว่าในช่วงวัยนั้นจะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าผีเป็นสิ่งที่น่ากลัว อันตราย และฆ่าเราได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นอาจจะมาจากพ่อแม่ที่เคยขู่ว่าเดี๋ยวผีจะมาหลอก หรือเวลาดูการ์ตูนแล้วมีฉากตัวละครวิ่งหนีผี จนทำให้เราซึมซับและตีความไปว่าผีเป็นสิ่งที่น่ากลัว  

 

เมื่อรู้สึกกลัว ร่างกายจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เมื่อประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น ได้กลิ่น ได้ยิน ลิ้มรส และสัมผัส ได้รับข้อมูลแล้วก็จะถูกส่งไปยังสมอง และเมื่อไรก็ตามที่สมองตีความว่าข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย Amygdala ส่วนเล็กๆ ของสมองที่มีขนาดเท่าอัลมอนด์ ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์และความกลัวก็จะเริ่มทำงานทันที

 

พอ Amygdala รับรู้แล้ว จากนั้นร่างกายจะเข้าสู่โหมFight-or-Flight เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการต่อสู้กับสิ่งอันตราย หัวใจจะเต้นแรงขึ้น เลือดสูบฉีดมากขึ้น กล้ามเนื้อตึง และหายใจถี่ 

 

ทำไมบางคนยังชอบดูหนังผี ทั้งที่กลัวผีมาก

ตามขนบของหนังผีปกติ ผู้สร้างมักจะค่อยๆ บิลด์อารมณ์ความกลัวของผู้ชมด้วยภาพ เสียง และจังหวะเวลา ซึ่งการประวิงเวลาให้นานที่สุดเพื่อให้เกิดความลุ้นระทึกนี้เป็นการทำให้ร่างกายรู้สึกกลัว หวาดระแวง อะดรีนาลีนหลั่ง คอร์ติซอลทำงาน กล้ามเนื้อเกร็งด้วยความรู้สึกตื่นเต้น

 

และพอถึงจุดไคลแมกซ์ของหนัง เช่น หนีผีได้สำเร็จ หรือรอดพ้นจากความตาย เวลานั้นเราจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาทันที ฮอร์โมนแห่งความเครียดอย่างคอร์ติซอลหายไป แต่จะมีฮอร์โมนอีกชุดหนึ่งขึ้นมาแทนที่ นั่นก็คือโดพามีนและเอ็นโดรฟิน ที่ทำให้เราความรู้สึกฟินและมีความสุข 

 

แต่นอกจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนมีความสุขจากการดูหนังผี เพราะมันเป็นเหมือนการจำลองสถานการณ์ โดยโยนตัวเราไปเผชิญกับสิ่งน่ากลัวที่ยังมีความปลอดภัย เนื่องจากลึกๆ เราเองก็รู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ดูอยู่เป็นหนัง มันไม่สามารถทำอันตรายเราได้จริงๆ ซึ่งการดูหนังได้จนจบก็เหมือนเราผ่านด่านการต่อสู้กับความกลัวและเอาชนะมันได้ เสมือนเป็นการฝึกร่างกายอย่างหนึ่งเพื่อรับมือกับภัยอันตรายทางอ้อมนั่นเอง

 

ผีอำ เกิดจากผีจริงๆ หรือเป็นแค่จินตนาการ 

ผีอำ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ อาการคือขยับตัวไม่ได้ หายใจไม่ออก เหมือนมีอะไรบางอย่างมาล็อกอยู่ แต่สมองยังรู้สึกว่ามีการรับรู้ปกติ ไม่ถึงกับนอนหลับสนิท

 

ในทางวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายของเหตุการณ์นี้ไว้ว่า ระหว่างการนอนหลับลึกจนกระทั่งหลับฝัน โดยปกติระบบร่างกายของคนเราจะบังคับไม่ให้สามารถขยับได้อยู่แล้ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มือหรือขาไปฟาดชนกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว แต่ความรู้สึกดังกล่าวนั้นอาจเป็นช่วงเวลาที่ทับซ้อนกันระหว่างความฝันกับความจริงพอดี คือยังอยู่ในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น รู้สึกตัว แต่ก็ยังสามารถจินตนาการภาพแปลกๆ ได้ บวกกับการที่ร่างกายขยับไม่ได้ขณะฝัน จึงทำให้ขยับตัวไม่ได้ หายใจไม่ออก ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างการนอน ไม่ใช่ผีอำแต่อย่างใด

 

โรคกลัวผี มีจริงไหม รักษาอย่างไรถ้ากระทบกับชีวิตประจำวัน

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าการกลัวผีมีแนวโน้มว่าจะถูกพัฒนาจากข้อมูลที่ได้รับมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่เมื่อโตขึ้นก็จะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่เรากลัวมันเป็นแค่เสียงแว่วมาเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ เราก็จะรู้สึกกลัวน้อยลง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่กลัวผีมากๆ มาจนถึงตอนโต จนกระทบกับการใช้ชีวิต นอนหลับยาก ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้

 

งานวิจัยจากแพทย์ด้านจิตวิทยาที่บอกว่าคนไข้ที่กลัวผีหลายๆ คน เมื่อสืบประวัติไปเรื่อยๆ ก็พบว่าพวกเขาเคยได้รับข้อมูลว่าผีน่ากลัวจากพ่อแม่ในทางใดทางหนึ่ง และทำให้เขาพัฒนาความกลัวมาจนโต และถึงขั้นที่ต้องได้รับการบำบัด เพราะมีปัญหาเรื่องกลัวผีจนกระทบชีวิต โดยจิตแพทย์จะมีการจ่ายยาลดเครียด หรือทำการบำบัดเพื่อให้พวกเขาสามารถควบคุมความรู้สึกได้ และไม่กลัวผีจนกระทบการทำงานมากเกินไป

 

นอกจากนี้ยังมีภาวะทางร่างกายอื่นๆ ที่อาจทำให้เรามองเห็นสิ่งประหลาดๆ ได้ เช่น ภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือการอยู่ในพื้นที่ที่มีก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เห็นภาพหลอนได้ และอีกเหตุผลที่อาจเป็นไปได้คือเรื่องของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำให้เกิดเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำ โดยจะเป็นเสียงแปลกๆ ที่ฟังดูลึกลับ น่ากลัว หรือการทำปฏิกิริยาระหว่างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับผิวหนังของเราก็อาจทำให้รู้สึกถึงการสัมผัสได้ ทั้งที่จริงๆ ยังไม่ได้มีอะไรมาโดนตัวเราเลยด้วยซ้ำ 

 

ข้อมูลทั้งหมดที่เล่ามาอาจเป็นการช่วยอธิบายปรากฏการณ์ลึกลับที่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กลัวผีมากก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกแย่หรือเป็นปมด้อย เพราะมันอาจเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กและไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้ สิ่งสำคัญกว่าคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ซึ่งแต่ละคนคงมีวิธีจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมกับตัวเองแตกต่างกันออกไป

 


 

Credits

 

The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster พงศกร เพ่งพิศ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising