×

ยาแก้ปวดรู้ได้อย่างไรว่าเราปวดตรงไหน

11.06.2022
  • LOADING...

ยาแก้ปวดคือของจำเป็นที่ทุกบ้านต้องมีและต้องใช้ เพราะไม่ว่าจะปวดหัว ปวดท้อง ปวดฟัน หรือปวดประจำเดือน ยาเม็ดเล็กๆ นี้ก็ช่วยชีวิตเอาไว้ได้ทุกที แต่พูดก็พูดเถอะ บางทีก็แอบสงสัยถึงความฉลาดของมันอยู่เหมือนกันนะว่า ยาแก้ปวดรู้ได้อย่างไรว่าเราปวดตรงไหน แล้วยาพวกนี้มันทำงานกับร่างกายเราอย่างไรกันแน่

 

อาการปวดเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อเซลล์ในร่างกายของเราได้รับบาดเจ็บ จะมีการสร้างสารเคมีที่ชื่อว่า Prostaglandin ทำให้เกิดการเจ็บปวด มีอุณหภูมิสูงขึ้นเหมือนเป็นไข้ ทำให้เกิดการอักเสบ โดยอาการเหล่านี้เป็นเหมือนระบบเตือนภัยอย่างหนึ่งที่บอกให้รู้ว่าภายในร่างกายกำลังเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้น แล้วพอรู้สึกเจ็บปุ๊บ สมองจะเริ่มทำงานเพื่อหาทางบรรเทาความเจ็บปวดนั้นให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่เรียกว่า Pain Detector หรือตัวตรวจจับความเจ็บปวดนั่นเอง

 

ตัวตรวจจับความเจ็บปวดที่ว่านี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Nociceptor ซึ่งจะแฝงตัวอยู่ตามเส้นประสาทที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย ทั้งผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ รวมไปถึงอวัยวะภายในต่างๆ โดยการที่ Nociceptor จะรับรู้ได้นั้น ความเจ็บปวดจะต้องอยู่ในระดับที่ร่างกายของเรารู้สึกได้ หลังจากนั้นถึงทำการส่งสัญญาณต่อไปยังสมอง

 

การเดินทางของยาแก้ปวด 

หลังจากเรากลืนยาแก้ปวดไปแล้วประมาณ 1 นาที เม็ดยานี้จะไหลลงไปถึงกระเพาะอาหาร ค่อยๆ ดูดซึมเข้ากระแสเลือด และวิ่งไปที่ตับเป็นจุดหมายแรก ซึ่งภายในตับจะมีเอ็นไซม์ชนิดหนึ่งที่คอยสอดส่องสารเคมีรวมถึงยาชนิดต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกาย โดยมันจะทำลายตัวยาดังกล่าวให้แตกตัวเป็นผุยผง จากนั้นค่อยส่งต่อไปที่ไตเพื่อกำจัดออกจากร่างกายในรูปแบบของปัสสาวะ

 

แต่โมเลกุลบางส่วนในยาแก้ปวดที่หลุดรอดจากการทำลายของตับไปได้ก็จะยังคงอยู่ในกระแสเลือดและไหลเวียนไปทั่วทั้งร่างกาย นั่นหมายความว่ายาไม่ได้เข้าไปบรรเทาอาการปวดให้เราแบบตรงจุดขนาดนั้น แต่มันว่ายเวียนวนอยู่ทุกที่ รวมถึงในบริเวณที่ปวดด้วย 

 

ยาแก้ปวดมีกี่แบบ แต่ละแบบทำงานกับร่างกายเราอย่างไร  

ยาแก้ปวดที่เราใช้กันทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs) ยาแก้ปวดและลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น Aspirin, Ibuprofen และ Ponstan โดยยากลุ่มนี้จะเข้าไปขัดขวางเอ็นไซม์ที่ให้กำเนิดสารเคมีที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด (Prostaglandin) และเมื่อร่างกายสร้างสารดังกล่าวไม่ได้ ความเจ็บปวดจึงไม่เกิดขึ้น

 

  1. Paracetamol ยาแก้ปวดชนิดที่นิยมใช้กันทั่วไปในครัวเรือน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ายากลุ่มนี้ทำหน้าที่เข้าไปขัดขวางสัญญาณความเจ็บปวดที่กำลังจะส่งไปยังสมอง เมื่อบล็อกได้สำเร็จ สมองไม่ได้บอกร่างกายกำลังเจ็บปวด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกดีขึ้นหลังจากกินยาเข้าไปนั่นเอง

 

นอกจากจะแก้ปวดแล้ว ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังมีสรรพคุณช่วยลดไข้ได้ด้วย ซึ่งใช้หลักการเดียวกันเลยคือ NSAIDs บล็อกการเกิดของสารแห่งความเจ็บปวด และ Paracetamol เป็นการขัดขวางการส่งสัญญาณที่ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปยังสมอง เมื่อสมองไม่สั่งการหรือไม่มีสารตั้งต้นที่ทำให้เราตัวร้อนเหมือนเป็นไข้ ร่างกายจึงมีอุณหภูมิลดลงและกลับสู่สภาพปกติได้

 

กินยาแก้ปวดอย่างไรให้ปลอดภัย

แม้ยาแก้ปวดทั้ง 2 กลุ่มจะมีความปลอดภัย แต่สิ่งที่พึงระวังก็คือการกินในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรกินต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะอาจเกิดผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย ดังนี้

 

ยากลุ่ม NSAIDs 

  1. มีฤทธิ์กัดกระเพาะ กินบ่อยๆ อาจทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารได้
  2. ลดการไหลเวียนของเลือดไปยังไต อาจทำให้ไตมีปัญหา
  3. อาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต หรือโรคหัวใจ (ยกเว้น Aspirin)
  4. ไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ เพราะกระทบต่อพัฒนาการของทารก 
  5. คนเป็นไข้เลือดออกไม่ควรกิน Aspirin เด็ดขาด เพราะมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดออกมากขึ้นกว่าปกติ 

 

ยากลุ่ม Paracetamol

การกินต่อเนื่องในปริมาณมากและนานเกินไปอาจทำให้ตับวายได้ เพราะตับต้องทำงานหนักในการกำจัดสารเคมีจากตัวยาที่เข้าสู่ร่างกาย

 

และสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการกินยาแก้ปวดในปริมาณที่เหมาะสม โดยสำหรับผู้ใหญ่ ควรกินยาโดยคำนวณจากน้ำหนักตัวคือ 10-15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น หากหนัก 50 กิโลกรัม ปริมาณที่เหมาะสมคือ 750 มิลลิกรัมต่อครั้ง (สูงสุดไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง และไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน)

 

แต่สำหรับเด็กไม่ควรใช้วิธีคำนวณตามน้ำหนักตัว เพราะความสามารถของตับในการกำจัดของเสียยังมีไม่เท่าผู้ใหญ่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อจัดสรรยาในปริมาณที่เหมาะสมจะดีที่สุด

 

ไม่ควรกิน Paracetamol ร่วมกับยาชนิดอื่นที่มีส่วนผสมของ Paracetamol ร่วมด้วย เพราะอาจเป็นการกินยาในปริมาณที่มากเกินไปโดยไม่รู้ตัว (Overdose) แต่สามารถกินร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs ได้ไม่มีปัญหา

 


 

Credits

 

The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative Care Label

Video Editor เสาวภา โตสวัสดิ์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader นัฐฐา สอนกลิ่น

Webmaster อารยา ปานศรี

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising