×

คุยกับ SPACETH.CO เรื่องการท่องเที่ยวอวกาศ และ Mars Colonization

14.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time Index

02.21 ทำไมคนไทยถึงสนใจเรื่องอวกาศ

04.28 เสียงลมแรกบนดาวอังคาร

08.08 ไปอยู่บนดาวอังคารกันเถอะ

12.00 ท่องเที่ยวอวกาศ

18.57 สิ่งมีชีวิตนอกโลกมีจริงไหม

Tomorrow is Now เอพิโสดนี้ ซู่ชิง-จิตต์สุภา ฉิน ชวนเดินทางออกไปสำรวจอวกาศ กับเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง เจ้าของเว็บไซต์และแฟนเพจ SPACETH.CO ​เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ กร-กรทอง วิริยะเศวตกุล


ทำไมคนไทยถึงสนใจเรื่องอวกาศ

จริงๆ คนไทยสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว แต่มันมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงปี 2015 เทคโนโลยีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กกำลังเป็นของใหม่มาแรง นาซาจึงได้ถ่ายทอดสดระหว่างส่งยานอวกาศชื่อนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ไปสำรวจดาวพลูโต

 

 

‘ดาวพลูโต’ ที่อยู่ห่างไกล อาจคล้ายเป็นสัญลักษณ์ของความเหงาโดดเดี่ยวสำหรับคนไทย เมื่อเห็นเช่นนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกผูกพัน และมองว่าอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถึงขั้นมีการเข้าไปถล่มคอมเมนต์จำนวนมากจนเป็นที่จดจำไปทั่วโลก

 

Photo: NASA/JPL-Caltech

ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากนอกโลก

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งมีข่าวดีแรกจากยานอวกาศชื่อว่าอินไซท์ (Insight) ที่ไปสำรวจดาวอังคาร โดยระยะเวลาจากการสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้รอบที่แล้วกับรอบใหม่ห่างกันถึง 6 ปี ทันทีที่นักสำรวจส่งเสียงลมที่พัดผ่านบนดาวอังคาร จึงนับเป็นความตื่นเต้นครั้งใหญ่ เพราะนั่นคือเสียงแรกที่มนุษย์สามารถได้ยิน

 

 

เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่สักวันหนึ่ง มนุษย์จะย้ายไปอยู่บนดาวอังคาร

ตอนนี้หลายหน่วยงานเริ่มวางเป้าหมายที่การไปตั้งฐานอยู่อาศัยไกลถึงดาวอังคาร นาซาเรียกภารกิจนี้ว่า ‘การกลับไปดวงจันทร์ เพื่อเดินหน้าไปสู่ดาวอังคาร’ เป็นโครงการสำรวจใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการตั้งสถานีอวกาศรอบดวงจันทร์ ก่อนปล่อยยานสำรวจไปที่นั่น รอจนเทคโนโลยีต่างๆ มีความพร้อม ถึงเริ่มเดินทางสู่อวกาศชั้นลึก คือการไปอยู่บนดาวอังคารนั่นเอง

 

หากสงสัยว่าทำไมถึงมีช่องว่างอันยาวนานระหว่างการไปถึงดวงจันทร์และการรอสำรวจดาวอังคาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมา โครงการอวกาศอย่างอะพอลโล 13 ที่นักอวกาศเกือบไม่ได้กลับบ้าน หรือมีกระสวยอวกาศระเบิดไปถึง 2 ครั้ง ทำให้ต้องสูญเสียชีวิตของนักบิน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการสำรวจอวกาศยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ ถ้าเรามีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำไมไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำไมต้องเอามนุษย์ไปเสี่ยงชีวิตอีก

 

Photo: SpaceX

 

เก็บกระเป๋าเตรียมท่องเที่ยวอวกาศ

จากเดิมที่คนมักคิดว่าการสำรวจอวกาศเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอวกาศโดยตรงเท่านั้น แต่สมัยนี้หลายบริษัทอย่าง SpaceX ของอีลอนมัสก์ หรือ Virgin Galactic ของริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) ทำให้การเดินทางไปอวกาศดูเป็นเรื่องง่ายขึ้น อีกไม่นานเกินรอ เราอาจขึ้นสู่วงโคจรเหมือนกับการมีเครื่องบินโดยสารเดินทางจากนิวยอร์กไปลอนดอนเลยก็เป็นได้

 

จริงๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ด้วยความร่ำรวยของมหาเศรษฐีเงินเหลือใช้ที่ขอจ่ายเงินให้หน่วยงานอวกาศของรัสเซีย เพื่อแลกกับการไปเที่ยวบนสถานีอวกาศ เขาต้องฝึกทักษะกับนักบินนานถึงครึ่งปี ก่อนจะได้บินไปอยู่บนสถานีนานาชาติอีก 1 สัปดาห์ เป็นประสบการณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่ได้ใช้ชีวิตเหมือนนักอวกาศ

 

Photo: NASA Ames Research Center

ภาพคอนเซปต์การท่องเที่ยวและอยู่อาศัยในยานอวกาศ โดย Rick Guidice

 

ทั้งหมดที่เราพูดถึงยังอยู่ในรอบวงโคจรของโลก แต่เมื่อกลางปี 2018 นี้เอง SpaceX เพิ่งประกาศพาคุณยูซากุ มาเอซาวา (Yusaku Maezawa) นักท่องเที่ยวอวกาศชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เหมาเที่ยวบินของยาน BFR เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวดวงจันทร์ในปี 2023 นี้

 

Photo: NASA

 

มนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม

เป็นเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ถ้ามีจริง มันอาจไม่ได้มีรูปลักษณ์แบบที่เราเห็นตามภาพยนตร์ หากวันหนึ่งมีการสำรวจแล้วเจอแค่ในระดับไมโครเซลล์ ก็นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แล้ว ที่ทำให้มนุษย์รู้ว่าเราไม่ได้อยู่กันลำพังในจักรวาลแห่งนี้

 

ถ้าหากเราอยู่ลำพังบนจักรวาลแห่งนี้จริงๆ ก็อาจเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะที่ผ่านมาความพยายามสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ หรือสำรวจหาสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะกลายเป็นเรื่องสูญเปล่าทั้งหมด

 

The Great Filter แนวคิดที่เชื่อว่า มีฟิลเตอร์ขนาดใหญ่ที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถผ่านข้ามไปได้ เป็นการทำลายล้างครั้งใหญ่ เทียบกับโลกเหมือนยุคไดโนเสาร์ที่โดนกวาดล้างครั้งใหญ่โดยอุกกาบาต ถึงขั้นมีการตั้งสมมติฐานว่าโลกเราอาจเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่ผ่าน The Great Filter มาได้แล้ว แต่ดวงอื่นยังคงติดอยู่ตรงนั้น ทำให้เราไม่อาจค้นพบสิ่งมีชีวิตอื่นได้ กลับกัน เราอาจเป็นสิ่งเดียวที่ยังไม่ผ่านจุดนั้น และกำลังรอเผชิญมันอยู่ก็ได้เช่นกัน

 

Photo: NASA

 


สามารถฟังพอดแคสต์ Tomorrow is Now
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย


 

Credits

 

The Host จิตต์สุภา ฉิน

The Guests ​ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน, กรทอง วิริยะเศวตกุล

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer ปิยพร อรุณเกรียงไกร

Show Co-producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์  

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising