×

หุ่นยนต์รีดนมวัว AI พยากรณ์อากาศ หรือหุ่นยนต์คือทางรอดของเกษตรกรรมไทย

16.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time Index

01:22 AgTech คืออะไร

02:20 มองเทรนด์โลก

05:16 การเกษตรแบบโดรนๆ

09:08 เพิ่มความแม่นยำด้วย IoT

15:30 เทคโนโลยี + เกษตรกรไทย = ?

20:49 ชาวนาจะตกงานไหม

24:20 ความท้าทายในอนาคต

ในยุคที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติรุกคืบเข้าทดแทนแรงงานคนในหลายสาขาอาชีพ เกษตรกรไทยควรปรับตัวอย่างไร อะไรคือความท้าทายที่รอเราอยู่เบื้องหน้า

 

Tomorrow is Now เอพิโสดนี้ ซู่ชิง-จิตต์สุภา ฉิน ชวน ดร.มหิศร ว่องผาติ ผู้ก่อตั้งบริษัท HiveGround ซึ่งกำลังคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร มาพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีที่จะมาพลิกโฉมภาคเกษตรกรรมไทย และเปลี่ยนภาพจำของชาวนา ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’ ไปตลอดกาล

 


รู้จัก AgTech คลื่นลูกใหม่ของวงการสตาร์ทอัพ

AgTech ย่อมาจากคำว่า Agricultural Technology หมายถึงเทคโนโลยีการเกษตร ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ก็คือบรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพที่คิดค้นพัฒนาเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ เพื่อยกระดับการทำเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพแม่นยำมากขึ้น ใช้แรงงานคนน้อยลง และรับมือกับความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ตั้งแต่การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียมไปจนถึงโดรนเพื่อการเกษตร การมาถึงของ AgTech จะเปลี่ยนภาพจำของชาวนา ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’ เป็น ‘หลังสู้เก้าอี้ หน้าสู้จอ’ แทน

 

เทรนด์โลกไปทางไหน

1. หุ่นยนต์บริการ (Service Robots)

จากรายงานประจำปี World Robotics โดย International Federation of Robotics พบว่าหุ่นยนต์บริการที่ใช้ในภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมากคือ หุ่นยนต์รีดนมวัว (Milking Robots)

 

2. Machine Learning

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทอย่างยิ่ง เกษตรกรในญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยี Machine Learning ช่วยคัดคุณภาพของแตงกวาและผลไม้อื่นๆ แทนการคัดมือเอง เพราะคนเหนื่อยล้าได้ง่าย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรจะทำงานได้อย่างแม่นยำจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีปริมาณข้อมูลมากเพียงพอที่จะวิเคราะห์คำนวณ ซึ่งต้องอาศัยการเก็บตัวอย่างของผลผลิตแต่ละเกรด และสอนให้ระบบเข้าใจว่าผลไม้แต่ละเกรดมีความแตกต่างกันอย่างไร นอกจากนี้ Machine Learning ยังสามารถทำงานที่มีลักษณะซ้ำๆ (Consistency) ได้โดยที่ประสิทธิภาพไม่ได้ลดลง

 

3. โดรน (Drones)

อนาคตของเกษตรกรรมจะอยู่บนพื้นฐานความแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เช่น การพยากรณ์สภาพอากาศ ปกติแล้วการวิเคราะห์สภาพอากาศและการตรวจสภาพพืชด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมมีข้อจำกัดเรื่องความละเอียดของภาพต่ำ เพราะถ่ายในระยะไกลและช้ากว่าเวลาจริง เช่น ภาพถ่ายจาก Google Earth จะช้ากว่าเวลาจริงประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ขณะที่โดรนจะตอบสนองความต้องการใช้งานได้ทันที เพราะสามารถบันทึกภาพถ่ายแบบเรียลไทม์ด้วยกล้องที่มีความละเอียดสูงกว่าและบินได้ในระยะใกล้กับพื้นดิน ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพืชชัดเจน และกำหนดโซนได้ว่าพืชบริเวณใดแข็งแรงหรือถูกแมลงจู่โจม

 

โดรนอีกประเภทที่เริ่มได้รับความนิยมในไทยคือโดรนฉีดพ่นสารเคมีทางการเกษตร (Spraying Drones) หรือโดรนอารักขาพืช (Crop Protection Drone) ตามปกติแล้วนาข้าวจะต้องฉีดสารเคมีประมาณ 4-5 ครั้งต่อไร่ก่อนวันเก็บเกี่ยว (ไม่นับข้าวเกษตรอินทรีย์) คนจะต้องลงไปเดินฉีดพ่นยาในนาข้าวเอง และสะพายเป้ที่มีน้ำหนักเยอะ แถมยังต้องฉีดทวนลม ทำให้ร่างกายสัมผัสกับสารเคมีอันตรายโดยตรง จึงเริ่มมีการใช้โดรนฉีดพ่นสารเคมีทางการเกษตรแบบอัตโนมัติ เพราะช่วยประหยัดเวลา สม่ำเสมอ และทำงานได้ทั่วถึงมากกว่า ที่สำคัญคือช่วยลดอันตรายต่อสุขภาพของคน ทีมงานจึงพยายามพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการโดรนแบบครบวงจร

 

4. Internet of Things (IoT)

นอกจากสมาร์ทฟาร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลของพืชและสัตว์ รวมทั้งระบบจัดการในฟาร์มผ่านเซนเซอร์แล้ว ยังมีเรื่องของสถานีตรวจวัดอากาศ (Weather Station) ที่ใช้วัดภูมิอากาศแบบเฉพาะจุด เช่น ความชื้น สภาพลม ณ แปลงตรงนั้นจริงๆ ว่ามีแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ช่วยให้เราเห็นข้อมูลบางอย่างก่อนที่จะเกิดปัญหา แตกต่างจากการพยากรณ์อากาศจากดาวเทียมซึ่งเป็นการวิเคราะห์แบบภาพใหญ่เท่านั้น ทำให้วางแผนรับมือหรือดูแลพืชผลได้ยาก โดยเฉพาะกับฟาร์มขนาดใหญ่ (Mega Farm)

 

จากการพูดคุยกับเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี เขาเชื่อว่าถ้าสามารถดูความชื้นของทุเรียนทุกต้นได้ เขาจะสามารถจัดการโรคได้ แต่แน่นอนว่าต้นทุนก็เพิ่มขึ้นด้วย และทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมาก หรือ Big Data แต่ปัญหาจริงๆ คือนอกจากได้ข้อมูลมาแล้ว เราจะเปลี่ยนข้อมูลมาเป็นรายงานหรือข้อมูลประกอบการตัดสินใจ (Business Intelligence) ว่าจะสุดท้ายแล้วเราควรจะทำอะไร เพราะข้อมูลดิบมันสร้างขึ้นได้ง่ายมาก เราสามารถวัดความชื้นของต้นไม้ทุกต้นได้ แต่ข้อมูลเหล่านั้นบอกอะไรกับเรา นี่คือเรื่องใหญ่ที่งานวิจัยในภาคการเกษตรและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องทำ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คืองานวิจัยเป็นสิ่งที่ต้องใช้ต้นทุนเงินและเวลา คนอยากได้เร็ว แต่ไม่มีการตีความ จึงเกิดปัญหาว่าจะเอาข้อมูลมาทำไม มันเลยไม่ครบลูปสักที เราไม่มีข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำมาใช้งานได้ หรือกระทั่งเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ภาครัฐเองก็อาจจะมีปัญหาตรงนี้ หลายหน่วยงานมีข้อมูล แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ได้ Open Data จริงๆ

 

ย้อนมอง AgTech ในไทย

ปัจุบันบริษัท HiveGround ได้พัฒนาเทคโนโลยีในการเกษตร แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

1. การใช้โดรนถ่ายภาพจากมุมสูง และจัดทำแผนที่เพื่อประเมินสุขภาพของพืช

2. การโดรนทางการเกษตรที่เกี่ยวกับปุ๋ยยา โดยต่อยอดการทำงานของโดรนตัวแรก ให้ไปฉีดยาเฉพาะตำแหน่งของพืชที่มีปัญหาเพื่อลดการใช้สารเคมีที่ไม่จำเป็น

 

แม้จะติดปัญหาตรงที่คนขายปุ๋ยยาขายสินค้าได้น้อยลง แต่เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะดีกับเกษตรกรมากกว่าในระยะยาว ทำงานได้มากขึ้น ดีต่อผู้บริโภคเองด้วย ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน เพราะเราสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่าพืชปลูกที่ไหน โดยใคร เมื่อใด ใช้สารเคมีอะไรบ้าง ถ้ามีข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีพืช 2 เกรด อย่างพืชออร์แกนิกที่ต้องใช้ความใส่ใจในการปลูกมากขึ้น เมื่อลดสารเคมี คนก็ต้องออกแรงดูแลเยอะขึ้น ในอนาคตเทคโนโลยีอาจเข้ามาช่วยเพิ่มความแม่นยำของการเกษตรออร์แกนิกด้วย

 

ปัญหาของภาคเกษตรกรรมไทย

จากข้อมูลสถิติทางการเกษตร เมืองไทยเป็นประเทศที่ขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก ประมาณ 300 ล้านไร่ มีพื้นที่เกษตรประมาณ 50% คิดเป็น 150 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 70 ล้านไร่ พืชไร่ 30 ล้านไร่ และพืชสวนอีก 30 ล้านไร่ ถือเป็นอัตราส่วนค่อนข้างสูง เราเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลอ้อยอันดับ 2 ของโลก พอย้อนไปดูว่าเราทำอ้อยได้ ประสิทธิภาพสูงแค่ไหนก็ต้องดูจากหน่วยตันต่อไร่ เมืองไทยได้ประมาณ 10 ตันต่อไร่ ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่ทำได้เต็มที่ 4 เท่า แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วเราจะยังอยู่ได้ พอกินพอใช้ในระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ ซึ่งจะต้องเพิ่มต้นทุน ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และใช้ความพยายามจากหลายภาคส่วน

 

หุ่นยนต์จะแย่งงานจริงไหม

ในเมืองไทยไม่น่าเกิดปัญหาหุ่นยนต์แย่งงาน เพราะลำพังแรงงานมนุษย์เองก็ไม่พออยู่แล้ว แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็เป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแรงงานคนในไทยที่ต้นทุนถูกมาก ปัญหาที่แท้จริงคือค่าแรงของไทยมันชนกำแพงแล้ว ถ้าเราจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่ค่าแรงจะไม่ขึ้น ปัจจุบันเฉพาะค่าแรงของคนทำนาในภาคกลางอยู่ที่ 50-100 บาทต่อไร่เท่านั้น น่าคิดต่อว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนงานบางส่วนที่เป็นอันตรายและน่าเบื่อน่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะช่วยอุดช่องโหว่ของแรงงานต่างด้าวที่ย้ายกลับไปทำงานในประเทศ และเปิดโอกาสให้แรงงานไทยหันไปทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือแม้แต่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันแรงงานที่ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรมก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพัฒนาทักษะ (Reskill) เพื่อที่จะควบคุมและทำงานกับเครื่องจักรอัตโนมัติเช่นกัน

 


สามารถฟังพอดแคสต์ Tomorrow is Now
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย


 

Credits

 

The Host จิตต์สุภา ฉิน

The Guest มหิศร ว่องผาติ

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer ปิยพร อรุณเกรียงไกร

Show Co-producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์  

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising