เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง จากกระบวนการสร้างสิ่งประดิษฐ์ โดยนวัตกรผู้ยิ่งใหญ่ ชายที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ผมไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นนักประดิษฐ์” เขาคือ โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลก
เคน-นครินทร์ ถอดบทเรียนที่ได้จากการชมนิทรรศการ Lighting A Revolution The Edison Era ณ Smithsonian National Museum of American History กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
‘นักวิทยาศาสตร์’ และ ‘นักประดิษฐ์’ แตกต่างกันอย่างไร
ส่วนหนึ่งในนิทรรศการเล่าไว้ว่า นักวิทยาศาสตร์คือคนที่พยายามเข้าใจความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับโลก ในขณะที่นักประดิษฐ์เป็นคนที่พยายามเข้าใจเช่นกัน แต่ต่างที่คนกลุ่มนี้มีหัวคิดด้านธุรกิจและรู้จักวิธีปรับสิ่งที่คิดให้เข้ากับชีวิตประจำวันของผู้คน
ฉะนั้นพวกเขาคือคนธรรมดาที่อยู่นอกห้องแล็บ และตั้งใจพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ เพื่อทำให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นในทางใดทางหนึ่ง
นี่คือบทเรียนจากเบื้องหลัง 4 ขั้นตอนการสร้าง ‘หลอดไฟ’ นวัตกรรมสำคัญที่มอบแสงสว่างไสวกับคนทั้งโลก
1. หมั่นหาความรู้ให้ตัวเองอยู่เสมอ
สมัยยังเด็ก เอดิสันฐานะไม่ร่ำรวย เขาจึงไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาตามปกติ จากจุดนี้ทำให้เขามุ่งมั่นอ่านหนังสือ หาความรู้ และทดลองฝึกงานเกี่ยวกับการส่งโทรเลขนานถึง 6 ปี ประสบการณ์นี้คือสุดยอดบทเรียนชั้น 1 ที่ผลักดันให้เขาสนใจเรื่องไฟฟ้า พร้อมเชื่อมั่นว่าตัวเองจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้
2. ทดลองผิดถูก พร้อมจดบันทึกเสมอ
ภายในนิทรรศการมีโซนจัดแสดงผลงานที่ผ่านการลองผิดลองถูกของเอดิสัน อย่างไส้หลอดไฟ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้งานจริง แต่หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของโซนนี้คือสมุดบันทึก หัวใจสำคัญที่ทำให้เขาประดิษฐ์หลอดไฟได้สำเร็จ
สมุดเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า เอดิสันมีความเป็นผู้นำ สามารถรวมนักประดิษฐ์เก่งๆ มาสร้างสรรค์ผลงานด้วยกัน เพราะทุกครั้งที่มีการทดลอง จะมีคนจดบันทึกมากกว่าแค่ตัวเขา และทุกคนจะต้องจดบันทึกทุกครั้ง เพื่อเรียนรู้จากความล้มเหลว มุ่งพัฒนาต่อยอดจนกว่าจะถึงเป้าหมาย
3. รู้จักวิธีการขายนวัตกรรมให้เป็น
เอดิสันมีทักษะในการขยายขอบเขตสิ่งประดิษฐ์ที่ตัวเองสร้างให้ยิ่งใหญ่ หลังจากสร้างนวัตกรรมสำเร็จ เขาจัดงานแฟร์ระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดคนรวยที่อยากลงขันสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ให้มารวมตัวกันในงานนี้
ทักษะนี้การันตีให้เห็นว่า นอกจากเขาจะมีมนต์ขลังในการสร้างสรรค์ เขายังมีหัวธุรกิจ รู้จักวิธีขายที่น่าสนใจเป็นอย่างดีอีกด้วย
4. ความสำเร็จมาพร้อมคู่แข่งเป็นเรื่องปกติ
ยุคนั้นมีหลายบริษัทพยายามผลิตสินค้ามาแข่งกับเอดิสัน โดยเฉพาะบริษัทแก๊สและน้ำมัน รวมถึงคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักประดิษฐ์ไฟฟ้ากระแสสลับ ที่เคยชนะการประมูลโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ แน่นอนว่าเอดิสันเคยพ่ายแพ้ แต่เขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ คุณต้องมีศัตรูไว้บ้าง”
ฉะนั้นอย่ากังวลมากนักเมื่อต้องแข่งขัน โฟกัสตัวเองเป็นหลัก พัฒนานวัตกรรมให้ดีที่สุด
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์