×

บทเรียนเรื่องธุรกิจและวิธีคิดในการทำงานของ หนุ่มเมืองจันท์

27.11.2018
  • LOADING...

สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ นักเขียนและสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจ

 

หลังลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ได้ 5 ปี เขาเพิ่งออกหนังสือเล่มที่ 30 ในชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ชื่อ เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม และทำคลาสธุรกิจที่ฮิตที่สุดในประเทศไทยอย่างหลักสูตร ABC สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

 

เคน นครินทร์ พูดคุยกับ พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ ในเรื่องธุรกิจและการทำงาน ในพอดแคสต์ The Secret Sauce

 


 

 

จากการได้พูดคุยกับนักธุรกิจมาทั่วประเทศ มีคนไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม

ผมได้หลักคิดหลายอย่างจากนักธุรกิจเก่งๆ คุณอนันต์ อัศวโภคิน เป็นมหาเศรษฐีที่พูดเก่งที่สุด มีความคำคมในวิธีคิดและการมองไปข้างหน้า เข้าใจการวางกลยุทธ์ที่เป็นคนกำหนดเกณฑ์เอง ไม่ได้เอาทฤษฎีเก่าๆ มาใช้ รูปแบบการทำโรงแรม ห้างสรรพสินค้า อย่าง Terminal 21 ฉีกกฎหมดทุกอย่าง

 

คุณตัน ภาสกรนที ก็ถือว่าเก่ง เป็นมนุษย์รายละเอียด ถ้างานไหนที่เขาจับ คุณไปถามเถอะ รายละเอียดยิบ คิดไม่เหมือนใคร หรือ คุณสุรชัย พุฒิกุลางกูร Illustrator โฆษณาอันดับหนึ่งของโลก เขาอาจไม่ใช่นักธุรกิจ แต่มีวิธีคิดที่คมมาก ตั้งคำถามกับชีวิตได้ดี หาวิธีทำงานได้เก่ง รู้จักดึงสิ่งที่ตัวเองถนัดมาใช้ พร้อมวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ กลับมาเป็นชิ้นงานได้ยอดเยี่ยม

 

คุณหมู ณัฐวุฒิ ผู้ก่อตั้ง Ookbee ผมเคยสัมภาษณ์เขาเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ตอนนี้กลับมาคุยอีกครั้ง เก่งขึ้นเป็นคนละคน เขาเป็นผู้จัดการกองทุน 500 TukTuks กองทุนลงทุนสตาร์ทอัพใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย เวลาตัดสินใจลงทุนโปรเจกต์ไหน คุณหมูจะตั้งคำถามกับตัวเองแค่ 2 คำถาม

 

1. ไอเดียทั้งหมดของคนที่เอาโปรเจกต์มานำเสนอ ถ้ามีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีและเงินทุน เขาจะสามารถทำเองและไปสู้ได้ไหม ถ้าทำได้ เขาไม่เอานะ เพราะแสดงว่าไอเดียยังไม่เจ๋งพอ แต่ถ้าคิดแล้ว สู้ไม่ได้ นั่นแปลว่าเจ๋งจริง

 

2. ถ้าโปรเจกต์ดี ดูวิธีการพูดคุยหรือสังเกตบุคลิกแล้วน่าสนใจ เขาจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าย้อนกลับไปตอนอายุ 25 ปี เขาจะให้คนนี้เป็นเจ้านายตัวเองไหม หมายความว่า ต่อให้คุณเก่ง แต่ถ้าคุณไม่มีเสน่ห์ เห็นแก่ตัว  ขาดภาวะความเป็นผู้นำ คุณอาจหาคนเก่งมาทำงานด้วยไม่ได้ ธุรกิจมันจะรันไม่ได้เลย ถ้าคนเก่งไม่เข้ามาทำงานกับคุณ

เป็นวิธีคิดที่ผมต้องขอจำมาใช้เลย เป็นคำถามที่สะท้อนให้เห็นว่าโปรเจกต์ดีไหม คนทำงานมีประสิทธิภาพมากพอหรือเปล่า

 

จุดร่วมของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

แม้นักธุรกิจรุ่นใหม่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และมีจุดหมายในการสร้างธุรกิจต่างจากคนรุ่นเก่า พวกเขาสร้างสตาร์ทอัพขึ้นมา เพื่อหวังให้ถึงจุดหนึ่งที่สามารถ Exit พร้อมโอนสิทธิ์เจ้าของให้คนอื่น แต่ช่วงเวลาที่ทำให้มันเติบโต เท่าที่เห็นมา ไม่มีใครที่ไม่ทำงานหนัก ทุกคนพร้อมจะกัดงานไม่ปล่อยจนกว่าจะได้สิ่งที่ตั้งใจไว้จริงๆ

 

อีกเรื่องที่เป็นจุดร่วมของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ คือพวกเขาจะหาโอกาสในสิ่งที่คนมองไม่เห็น มองออกว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่

 

จุดร่วมของคนทำธุรกิจล้มเหลว

คนที่ขาดโฟกัส เหมือนขับรถแล้วปล่อยพวงมาลัย ใช้เงินนอกประเภท ที่เห็นชัดมาก คือพวกที่มีธุรกิจดีอยู่แล้ว แต่รู้สึกว่าตัวเองร่ำรวยจากตลาดหุ้น เอาเงินไปใช้โน่นนี่ผิดจากลู่ทางเดิม หรือบางคนเอาเงินไปใช้กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือความถนัดตัวเอง เช่น รายได้เป็นรายเดือน แต่ไปจ่ายเป็นรายวัน หรือทำธุรกิจเล็กๆ มีรายได้อยู่ประมาณหนึ่ง แต่ดันไปขยายให้ใหญ่เกินตัว

 

 

ถ้ามีเด็กจบใหม่สักคนเดินเข้ามาขอบทเรียนเรื่องการทำงานจากประสบการณ์ที่พี่ตุ้มสั่งสมมา อะไรคือสิ่งที่เขาควรตระหนักถึงมากที่สุด

1. จงกระหายโอกาส

ผมจำได้ว่าตอนทำงานอยู่ที่ประชาชาติธุรกิจ ตอนนั้นโฆษณาลงหนังสือพิมพ์น้อย เลยมีพื้นที่ให้เขียนเยอะ บังเอิญผมเป็นคนเขียนงานพอใช้ได้ เลยได้รับโจทย์จากรุ่นพี่ให้เขียนงานอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นสกู๊ปข่าวครึ่งๆ กลางๆ เพราะแต่ก่อนมันมีโต๊ะข่าวเจาะจงหัวข้อชัดเจน แต่ถ้ามีสกู๊ปอะไรที่กลางๆ เขาก็จะให้ผมเขียน

 

วินาทีนั้นมีเหตุผลให้ตัวเอง 2 อย่าง 1. พี่โยนงานให้เรา 2. มันคือโอกาสในการเรียนรู้

 

ผมโชคดีที่คิดแบบข้อที่ 2 ทักษะการเขียนของผมได้จากตรงนั้นเยอะมาก มันเป็นโอกาสที่ผมได้ทดลองวางโครงเรื่องในพื้นที่ 2 หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ออกแบบว่าส่วนไหนควรถ่ายทอดเนื้อหาออกมารูปแบบใด เป็นกราฟบ้าง เป็นการล้อมกรอบคำพูดคนที่เราไปสัมภาษณ์บ้าง เป็นการใช้รูปภาพบ้าง เหมือนหน้าที่ของผมคือการคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดึงคนอ่านอยู่กับงานเขียนของเราจนจบ เป็นความท้าทายของงานในตอนนั้น  

 

จำไว้ว่าช่วงเริ่มต้นยิ่งทำงานหนักเท่าไร คุณยิ่งได้เรียนรู้งานมากขึ้นเท่านั้น

 

2. อย่าเปลี่ยนงานบ่อยเกินไป

ช่วงทำงาน 2 ปีแรก ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในองค์กรไหนนานเกิน 6 เดือน คุณไม่มีทางรู้จริงเรื่องนั้น เพราะเวลามันสั้นเกินไป

 

คุณอาจได้แค่ชื่อว่าเคยทำงานที่นี่ แล้วก็ย้ายไปอีกที่หนึ่ง ผ่านไป 5 ปี คุณผ่านมา 5 ที่ แต่เชื่อไหมว่าจะขึ้นตำแหน่งบริหารจริงๆ ทักษะเรียนรู้งานแค่ 6 เดือน มันไม่พอ เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งได้ปรับตัวเท่านั้นเอง

 

ถ้าคุณทำงานมาถึงอายุสัก 30 กว่า ผ่านการทำงานมาที่ละ 2-3 ปี การสะสมมูลค่าตรงนั้นสูงกว่าแน่นอน

 

ทฤษฎีเลือกงานใหม่ ‘แรงดูด-แรงผลัก’

ทฤษฎีของผมมีอยู่เรื่องเดียว ‘แรงดูด-แรงผลัก’ ถ้าลาออกจากที่ใดที่หนึ่งด้วยแรงผลักหรือปัญหา คุณจะมองที่ใหม่ดีเสมอ ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ใหม่หรือที่เก่าทุกที่มีปัญหาทั้งสิ้น แต่แค่คุณอาจยังไม่เจอปัญหาของที่ใหม่ ถ้าน้องคนไหนออกจากงานด้วยแรงผลักแบบนี้ ผมจะเรียกมาคุย และบอกว่ายังไงทุกที่ก็มีปัญหา

 

ผมเคยทำงานได้ 2-3 ปี แล้วจะลาออกไปอยู่อีกที่หนึ่ง ตามสไตล์คนรุ่นใหม่ไฟแรง ทนไม่ได้ที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ ขอไปอยู่ที่ใหม่ดีกว่า สมัครงานที่ใหม่กำลังจะไปแล้ว แต่จู่ๆ ก็เกิดการตั้งคำถามกับชีวิตว่า ‘ผมเต็มที่กับที่นี่แล้วหรือยัง’ ผมไม่อยากเสียดายทีหลัง และบอกกับตัวเองว่า ‘รู้อย่างนี้อยู่ที่เก่าเหมือนเดิมดีกว่า’

 

จากคำถามนั้น มันทำให้ผมรู้ว่ายังพยายามกับที่เก่าไม่พอ และอยู่ที่เดิมต่อมาถึง 30 ปี

 

3. ถ้าเปลี่ยนงานเมื่อไร อย่าว่าที่เก่าให้ที่ใหม่ได้ยิน

ถ้าผมเป็นคนสัมภาษณ์งาน และได้ยินคนมาให้สัมภาษณ์พูดถึงที่เก่าในแง่ลบ ผมก็เสียวเหมือนกันนะ วันหนึ่งคุณลาออกจากผมไป ผมคงจะโดนหนักอยู่เหมือนกัน บางอย่างมันเป็นประสบการณ์ส่วนตัว เก็บไว้ดีกว่า อย่าไปพูดถึงที่เก่าในแง่ลบเกินไป

 

วิธีมองคนเวลาสัมภาษณ์งานตามสไตล์พี่ตุ้ม

มันแล้วแต่เรื่องว่าเราสัมภาษณ์คนเพื่อรับเข้าทำงานฝ่ายไหน เช่น การสัมภาษณ์นักข่าว ผมไม่สัมภาษณ์เรื่องใหญ่ๆ ที่คนมาสมัครงานใหม่ต้องไม่รู้แน่ๆ แต่ผมจะถามเขาว่า ‘คุณรู้เรื่องไหนดีที่สุด’ ถ้าเขาบอกว่ารู้เรื่องหนัง ผมจะให้เขาลองวิเคราะห์หนังให้ผมฟัง ถ้าเขาสามารถวิเคราะห์ได้ดี นั่นแปลว่า เขาสามารถวิเคราะห์ได้ เวลาให้ทำเรื่องใหม่ เขาก็จะสามารถทำได้ดีเช่นกัน

 

อีกข้อของนักข่าวและนักเขียน ต้องเป็นคนช่างสังเกต เวลาเขาเดินเข้ามาถึงห้องสัมภาษณ์ ผมถามเลยว่าที่คุณเดินขึ้นมาถึงชั้นนี้ คุณเห็นอะไรบ้าง จะได้ดูว่า เขาทำการบ้านมาดีแค่ไหน และเป็นคนใส่ใจในรายละเอียดหรือเปล่า ท้ายสุดเขาต้องเล่าเรื่องเป็น เพราะเป็นทักษะที่สำคัญมากกับนักข่าว

เรื่องทัศนคติก็สำคัญ ความคิดในแง่ลบมันทำร้ายองค์กร คิดดู ถ้ามีคนขี้บ่น ขี้โวยวาย ขี้นินทา คนพวกนี้จะทำร้ายคนที่เหลือมากแค่ไหน และคนแบบนี้มักทำงานน้อยที่สุด เพราะไม่มีใครอยากให้งาน สุดท้ายก็ได้เงินเดือนเท่ากัน แล้วเราจะจ้างคนแบบนี้ไว้ทำไม

แต่ถ้ามีคนที่ทัศนคติดี จะเป็นพลังบวกมากเลย เห็นคนอื่นเป็นเพื่อน มีอะไรก็ช่วยกัน กลายเป็นทีมที่สนุกมาก

 

วิธีคิดในการทำงาน ‘บันไดขาขึ้น-บันไดขาลง’

ผมสอนลูกน้องว่าเวลาทำงานให้คิดแบบบันไดขาขึ้น สมมติถึงวาระพิจารณาเงินเดือน พนักงานสองคนได้ปรับเงินเดือนเท่ากัน คนที่ 1 คิดว่าคนที่ 2 ทำงานน้อยกว่าตัวเอง รู้อย่างนี้ให้ทำงานน้อยเท่าคนนั้นดีกว่า นี่คือบันไดขาลง แต่ถ้าเราปรับมุมมองอีกแบบ ลองคิดว่า เอ๊ะ ทำไมเขาทำงานน้อยแต่ได้ขึ้นเงินเดือนเท่ากัน เขามีวิธีการทำงานอย่างไรนะ นี่คือการคิดแบบบันไดขาขึ้น คนแบบนี้จะมีโอกาสเติบโตมากกว่า

 

 

เป้าหมายในอนาคตของพี่ตุ้มคืออะไร

ผมเป็นคนที่มีความฝันน้อยมาก ไม่เคยฝันอยากเป็นนักเขียนหรืออะไรเลย แต่โอกาสและจังหวะมันพาไปแบบนั้น มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ดีที่สุดในสิ่งที่เป็น ชื่อหนังสือผมคือปรัชญาในชีวิตผมทั้งหมด ฉะนั้น นิยามของความฝันตัวผมในวันนี้มันไม่ใช่คำตอบของชีวิต เพราะในแต่ละช่วงเวลามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

ในวัย 20-30 กว่า ทุกครั้งที่มีอะไรเข้ามา ผมโดดใส่เลย เพราะผมสนุกกับมัน แต่วันนี้แม้ว่าสิ่งนั้นจะสนุก แต่ผมจะถามตัวเองด้วยเสมอว่า ‘ผมทำไปเพื่ออะไร’ ถ้ามีคำตอบที่ใช่ ผมก็จะทำ บางอย่างทำเพื่อขอบคุณ ผมชอบการขอบคุณ​ ผมทำเฟซบุ๊กไลฟ์มาจากเรื่องนี้เลย

 

ย้อนกลับไป ผมเคยทำรายการ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ทางช่องเวิร์คพอยท์ มีแฟนรายการอยู่ประมาณหนึ่ง แต่พอเจอเรื่องโปรดักชันที่ตัวเองไม่ได้ถนัดเท่าไร เลยหยุดไป วันหนึ่ง ผมไปแจกลายเซ็นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มีคนเข้ามาถามผมว่า “ทำไมไม่ทำรายการนี้อีก ผมเริ่มต้นทำธุรกิจจากพี่เลย” พอได้ยินแบบนั้น ผมเลยคิดได้ว่ามันมีประโยชน์นี่หว่า และยิ่งผมได้ทำหลักสูตร ABC เริ่มรู้จักนักธุรกิจมากขึ้น มีโอกาสได้สนิทและพูดคุยเชิงลึกกัน พวกเขายินดีแชร์ประสบการณ์พวกนี้ต่อไปให้คนอื่น ผมเลยกลับมาทำรายการนี้ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์อีกครั้ง

 

บางอย่างเราก็ทำเพื่อคำ ‘ขอบคุณ’ มันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขเท่านั้นเลย

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ล่าสุดในวัย 55 ปี

ผมอาจนึกเรื่องใหญ่ๆ ไม่ออก แต่ผมสนุกกับปรากฏการณ์ใหม่ของสังคม อย่างหนังเรื่อง นาคี 2 จากละครโทรทัศน์มาเป็นภาพยนตร์ ทำเงิน 300 ล้านบาท มีเครื่องปลุกเสกสำหรับคนจองบัตร มีคนสูงอายุที่ไม่ได้ดูหนังมานาน แต่ยอมจ่ายเงินเข้าโรงหนัง เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่ผมสนุกกับมันได้ทุกวัน

 

ล่าสุดผมคุยกับน้องที่เรียนคลาส ABC มันมีช่วงทอล์กให้แต่ละคนออกมาพูดเรื่องของตัวเอง ผมชอบเรื่องของเขามาก เขาเป็นนักธุรกิจที่เคยทำงานประจำมาตลอด แล้ววันหนึ่งเกิดอาการป่วยเจ็บหน้าอก คิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ แต่จริงๆ เป็นกรดไหลย้อน วินาทีที่กำลังนอนราบ เขาย้อนนึกถึงอะไรที่ตัวเองยังไม่ได้ทำบ้าง เลยรู้ว่ามีอีกหลายเรื่องเลยที่อยากทำ พอฟื้นตัวได้ เขาเลยเปลี่ยนสมการชีวิตตัวเองใหม่ เอาเงินไปอยู่สุดท้าย เอาความสุขขึ้นมาก่อน

 

เชื่อไหม ถึงแม้เขาจะเป็นมนุษย์ที่อยู่ในระบบ แต่เขาสามารถสร้างโรงงานที่ทำกำไร โดยที่ 2 ปี เขาไม่ต้องเข้าออฟฟิศนี้เลย เขาทำธุรกิจที่จอดรถดอทคอม ที่จอดรถใกล้สนามบินที่ลูกค้าจอดค้างคืนได้หลายวัน พร้อมบริหารพนักงานให้ได้ทำงานในแบบที่พวกเขาต้องการ แถมมีรายได้ดีด้วย

 

เป็นการเปลี่ยนเรื่องเล็กๆ แต่เพิ่มความสุขมากๆ ให้ตัวเองได้ไม่ยากเลย

 

 


สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest สรกล อดุลยานนท์


Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X