×

ศุภลักษณ์ อัมพุช “รัฐต้องกล้าเปิดประเทศ ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง”

22.11.2020
  • LOADING...

ในสถานการณ์ที่แทบทุกธุรกิจกำลังดิ้นรนเอาตัวรอด ศุภลักษณ์ อัมพุช แม่ทัพใหญ่แห่งเดอะมอลล์ กรุ๊ป เชื่อว่าปี 2563 ยังเป็นแค่การเผาหลอกที่รอสัญญาณคลื่นวิกฤตที่แท้จริงซัดโถมเข้าฝั่งในปีหน้า

 

The Secret Sauce กับการสัมภาษณ์ แอ๊ว ศุภลักษณ์ ที่ไม่ได้คุยแค่ธุรกิจเดอะมอลล์ แต่เจาะลึกไปถึงทางออกของประเทศ เพราะอะไรเธอจึงยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีให้เปิดประเทศอย่างฉลาดและไม่กลัว เพื่อเป็นความหวังเดียวในการไปต่อของประเทศไทย

 

นี่คือบทสัมภาษณ์ครั้งใหญ่ที่ผู้นำควรฟัง

 

วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายท่านบอกว่าเป็นปีที่หนักหนา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รีเทลก็เช่นกัน เล่าให้ฟังหน่อยครับว่าเป็นอย่างไร

 

เราเรียนเภสัช เรียนหมอ เรารู้ว่าโควิด-19 ไม่ใช่ H1N1 ไม่ใช่ซาร์ส มันรุนแรงมาก ระบาดไปทั่วโลกเหมือนกับสงครามเชื้อโรค ก่อนหน้านี้เราใช้คำว่าดิสรัปชัน เป็นสงครามเทคโนโลยี เหมือนการล่าอาณานิคมด้วยการดิสรัปต์เทคโนโลยีทั้งอีคอมเมิร์ซและออนไลน์

 

อันที่สองเป็นสงครามเชื้อโรค มันอันตราย เพราะมันฆ่าชีวิตคน ฆ่าธุรกิจ แล้วเราก็ผ่านมาตั้งแต่ Sub-zero ตอนนี้เดอะมอลล์ 39 ปี มีห้างประมาณ 16-17 แห่ง ผ่านมาหลายวิกฤต ทั้งปี 1997 เหลือง-แดง สึนามิ การที่เราอยู่รอดวันนี้ อย่างที่คุณเคนเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอน IMF มันส่งผลกระทบกับคนที่ไปกู้เงินแล้วค่าเงินบาทมันลด แต่ในวิกฤตอันนั้นมันมีโอกาส เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมาก เราเปิดเอ็มโพเรียมเป็นศูนย์การค้าไฮเอนด์ที่เป็นเวิลด์คลาสแห่งแรกในประเทศไทย ทุกคนบอกว่าเจ๊งแน่ แต่ปรากฏว่าค่าเงินบาทถูกทั้งทวีปเอเชีย ทำให้นักท่องเที่ยวจาก 7 ล้านคนกลายเป็น 17 ล้านคนภายใน 2 ปี แล้วคนก็เข้ามาใช้เงินจับจ่ายกัน จากที่เอ็มโพเรียมจะเจ๊ง กลายเป็นคนไทยเดินออกนอกประเทศไม่ได้ ใครมีลูกรวยๆ ก็ส่งลูกกลับมาหมด เอ็มโพเรียมจึงกลายเป็นที่เดินของคนมีอันจะกิน คนต่างชาติก็เข้ามาเยอะขึ้น กลายเป็นเอ็มโพเรียมขายดี ตอนแรกเติบโตกว่า 30% ทุกปี ซึ่งตอนนี้ตัวเลขขึ้น 2% หรือไม่ติดลบก็บุญแล้ว 

 

ต่อมาเราก็ไปเปิดสยามพารากอน ตั้งใจให้เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่จะพลิกประเทศไทย ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็น Shopping Paradise เพราะเราเห็นคุณค่าของนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อมหาศาล 

 

เวลาทำธุรกิจ เราศึกษาจากประเทศอื่น ดูอย่างสิงคโปร์ ประเทศเขาไม่มีอะไร ประชากรจำนวนไม่มาก แต่ทำไมสิงคโปร์ชนะ ก็ดูได้เลยว่าเขาตั้งใจให้เมืองเป็น Shopping Paradise โดยเฉพาะเรื่องภาษี ซึ่งประเทศไทยติดมากเลยเรื่องภาษี แก้ไม่ได้สักที

 

หรืออย่างดูไบ Emaar Group เจ้าของ The Dubai Mall มาชวนแอ๊วนะ เขามาเชิญเอ็มโพเรียมไปเปิดที่นั่น เพราะเขาอยู่สิงคโปร์ เราก็บอกว่าดูไบไกลไป มีคนอยู่ 2 ล้านคน แต่สุดท้ายเขาก็สร้าง Shopping Paradise เขาใช้โมเดลสยามพารากอน ทำให้เกิด The Dubai Mall ดังนั้นดูไบพัฒนาประเทศแค่ 15 ปี แล้วคุณก็รู้อยู่แล้วว่าเจ้าครองนครเขาฉลาดขนาดไหน เขาเริ่มที่ Duty Free เพราะเขาไม่มีประชากร ต้องดึงคนจากตะวันออก ยุโรป แอฟริกาใต้ แล้วก็ลงทุนเอมิเรตส์แอร์ไลน์ จนตอนนี้กลายเป็นฮับการบินที่มีสนามบินอันดับหนึ่งของโลก

 

ลองคิดดู ประเทศเล็กๆ เขาจะเอาคนจากไหน เขาต้องเอาคนจากข้างนอก ซึ่งนักท่องเที่ยวสำคัญ สิงคโปร์ก็ทำทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจดี เขาไม่สามารถส่งออกได้เพราะไม่มีกำลังการผลิต เขาก็ต้องเป็นสำนักงานใหญ่ในแง่ของการเงิน ทำให้ประเทศปลอดภัย น่าอยู่ เต็มไปด้วยต้นไม้ โรงเรียนดี การศึกษาดี รถไม่ติด คัดสรรคนที่จะไปลงทุน แล้วสุดท้ายมาเลเซียก็มาทำตามสิงคโปร์ ทำจุดดึงดูดด้วยตึกที่สูงที่สุด ทำสนามบินใหม่ ทำฟอร์มูลาวัน ทำภาษี

 

ส่วนไทยเราทำ Amazing Thailand คนแรกเลยนะ ในขณะเดียวกันมันก็ Truly Asia, Incredible India คือทุกคนทำเรื่องการท่องเที่ยวกันหมด เพราะรู้อยู่แล้วว่าการบริโภคของคนในพื้นที่ไม่พอ คุณดูอย่างญี่ปุ่นแล้วกัน ประชากร 100 ล้านคน ทำไมต้องมาพึ่งคนไทย เมื่อก่อนคนไทยไปเขาไม่ให้เข้าด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้สวัสดีค่ะ เชิญคนไทย คนไทยไปใช้เงินที่ญี่ปุ่นเท่าไร เป็นแสนๆ ล้าน วันหยุดสุดสัปดาห์ไม่ไปหัวหินแล้ว ฉันรู้จักแต่ฮอกไกโด โตเกียว เกียวโต นั่นคือญี่ปุ่น แล้วเขาก็ซึ้งแล้ว นั่นคือการท่องเที่ยว จากแต่ก่อนที่ไม่มีเลย

 

สมัย 20 กว่าปีมาแล้ว แอ๊วทำเรื่องนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ตอนนั้นไต้หวันและเกาหลีค่าแรงสูง คนจึงเลือกลงทุนในบ้านเรา เปิดโรงงานผลิตทั้งไมโครชิป ทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ เยอะไปหมด ส่งออกระเบิดเถิดเทิง สมัยก่อนค่าแรง 70 บาท ตอนนี้ค่าแรงเรา 300 บาท จะไปสู้กับใครล่ะ จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ส่งออกไม่ต้องพูดแล้ว เกษตรกรค่าแรง 300 บาท เก็บผลไม้ยังไม่มีคนจะเก็บเลย ผลไม้ตายคาต้น อันนี้เกษตรก็มีปัญหาอีก ส่งออกมีปัญหา อุตสาหกรรมกลายเป็นอุตส่าห์หากรรม เพราะเงินลงทุนสูง กลายเป็นว่าคุณวิกรมไปลงทุนอุตสาหกรรมที่ลาว เวียดนาม เมียนมา เราก็ถามว่าทำไมคุณไม่มาทำที่ไทยบ้าง เขาตอบว่าก็ฐานมันย้ายจากประเทศไทยไปแล้วจะให้ทำอย่างไร โรงงานไล่ปิด BOI ก็ไม่ได้เต็มที่ นักกฎหมายก็เยอะ แถมยังมีภาษีการนำเข้า คือประเทศไม่ได้ช่วยเหลือ แต่มองนักลงทุนเป็นนักกอบโกย

 

แอ๊วคิดว่ามายด์เซ็ตของข้าราชการหรือรัฐบาลต้องสัมพันธ์กับเอกชนให้มากที่สุด เพราะวันนี้เอกชนต้องช่วยตัวเอง ถ้ารัฐบาลเข้าใจว่าการลงทุนจะสามารถช่วยประเทศได้อย่างไร เริ่มดูจากต่างประเทศก็ได้ แอ๊วเคยไปปรึกษาท่านนายกฯ ว่าทำไมไม่ทำเอ็นเตอร์เทนนิ่ง เพราะมันง่ายที่สุด เพราะคนไทยเก่งเรื่องนี้ แต่วันนี้ใครเอาไปกินแล้วรู้ไหม เวียดนาม บาหลี

 

ตอนนี้รัฐบาลมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายได้ ดังนั้นการหารายได้เข้าประเทศเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งโชคดีที่เราเป็นจุดยุทธศาสตร์ CLMV มี 200 ล้าน AEC มี 600 ล้าน จีนอีกพันกว่าล้าน อินเดียอีกพันกว่าล้าน รัสเซียอีกเป็นร้อยล้าน ยังไม่พูดถึงตะวันออกกลางหรืออเมริกา ไกลไป เอาแค่ยุโรป อิตาลี เยอรมนี เพราะฉะนั้นเราเป็น Window of the World  Bangkok เป็น Number One of Tourist in the World ชนะปารีสและลอนดอนติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว และจะชนะต่อไป แล้วทำไมเราไม่เอาจุดนี้ขึ้นมา

 

โควิด-19 รุนแรงกว่า IMF หลายเท่า มันเกิดขึ้นเหมือนสงครามโลกที่ต้องมีคนพ่ายแพ้ แต่ครั้งนี้พ่ายแพ้ทุกประเทศ แล้วเราจะดึงกลับมาได้อย่างไร

 

เท่าที่ฟังมาทั้งหมดเหมือนเรากำลังอยู่ใน Perfect Storm ทั้งเรื่องการดึงดูดนักลงทุน การท่องเที่ยว เกษตรกรรม เหมือนมีแต่ข่าวร้ายเข้ามา ขอย้อนกลับมาที่บริษัทของคุณแอ๊วก่อน โควิด-19 กระทบกับเดอะมอลล์มากน้อยแค่ไหน และคุณแอ๊วปรับตัวหรือสู้อย่างไร

 

เดอะมอลล์อาจจะโชคดีนิดหนึ่ง เราทำเรื่องการบริหารความเสี่ยงไว้สูง การขยายธุรกิจของเราจะต้องไม่มีอะไรที่สูญเปล่า ดังนั้นเราไม่ขยายเยอะ มีอยู่สิบกว่าแห่ง แต่ละแห่งเล่นหัวเมืองใหญ่ เปรียบเทียบว่าศูนย์เดียวของเราอาจจะเท่า 4-5 ของคนอื่น เหมือนเรามี Capital City อยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ขยายทั่วประเทศ ถ้าทำเช่นนั้นเป็น Brick and Mortar ตอนนี้คงปวดหัวมาก เพราะอีคอมเมิร์ซเข้ามา มันทำให้ Brick and Mortar มีปัญหา แล้วค่าใช้จ่ายมันคงที่

 

เป็นนโยบายของบริษัทอยู่แล้วหรือเปล่าครับ 

เราต้องมีเงินสดสำรอง เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็โชคดีมากที่ยังไม่ได้ขยายธุรกิจก่อนการมาถึงของโควิด-19 เพราะจริงๆ เรามีโครงการ 4-5 หมื่นล้าน ลงทุนเพื่อเปิดปีนี้ ตาย ต้องไปไหว้พระเจ้า ช่วยด้วย เพราะบางครั้งคนจะเจ๊งหรือล้มละลาย มันเกิดจากการที่ลงทุนมากเกินไปหรือลงทุนเกินตัว 

 

เดอะมอลล์ กรุ๊ป แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือเดอะมอลล์ เน้นกลุ่ม Middle Class ระดับกลางประมาณ B- เป็นฐานที่กว้างพอสมควร แต่เราไม่ได้จับฐานล่างที่มีโมเดิร์นเทรด เพราะเขามีพวกยิ่งใหญ่อยู่แล้ว เช่น บิ๊กซี เทสโก้ เราจะไปสู้กับเขาได้อย่างไร ตอนนั้นก็มีคนมาชวนเราทำ ถ้าเราไม่มีเงินเป็นหมื่นล้าน สาขาละพันล้าน ก็อย่าไปเสี่ยง ต้องผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น ตลาดนี้เราไม่เล่น 

 

อีกกลุ่มคือตลาดบนเป็น Hi-end ได้แก่ สยามพารากอน เอ็มโพเรียม คุมตลาดนี้อยู่ เราจับลูกค้ารวยที่สุด ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่หนึ่งคนซื้อไม่รู้เท่ากับกี่สิบคน ทำให้ปรากฏว่าสยามพารากอนที่เดียวทำตัวเลขมากกว่า 10 ศูนย์การค้า ฉะนั้นเราก็เลยโชคดีที่มี 2 แห่งนี้ รวมถึงสถานที่ไลฟ์สไตล์อย่างเอ็มควอเทียร์ เราสร้าง District ที่ไม่ใช่แค่ทำศูนย์การค้าหนึ่งศูนย์ เราไม่เชื่อใน Stand Alone Department Store เมื่อก่อนจะเห็นมีห้าง Pioneering Spirit ของคำว่า All-in-One คือมีทั้งรีเทลและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คือเราคิดว่าการที่จะดึงคนมาได้ทั้งหมด จะให้คนมาซื้อของอย่างเดียวมันไม่ใช่ มันต้องมาแฮงเอาต์ พาลูกพาหลานมาเที่ยว แล้วทุกคนมาซื้อของเพื่อความสุข เราต้องการสร้างความสุขให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสถานที่ของเรามันก็เลยไม่ใช่แค่คุณมาซื้อของ เรามีโรงหนัง ไอซ์สเกต สวนน้ำ ถามว่าลงทุนไปทำไม ไม่ใช่เรื่องเงินนะ แต่ทำเพื่อจะให้สถานที่ของเราเป็นศูนย์กลางของชีวิตของคน ซึ่งเราทำตรงนี้มา 30 ปีแล้ว อันนี้เป็นดีเอ็นเอและสปิริตของเรา เรากล้าที่จะทำอะไรที่แตกต่าง เหมือนสยามพารากอนหรือเอ็มโพเรียม ดึงนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว สิ่งประกอบเหล่านี้เราใช้คำว่า Winning Formula เราเป็นเภสัช เราก็ต้องหาส่วนผสม มันอาจจะไม่ใช่สูตรเดียวนะ มันไม่ใช่แค่ว่าของถูก ลดราคา ต้องผสมสิ่งอื่นเข้าไปด้วย


เรามีเงินสดสำรอง เราแบ่งลูกค้าเป็นหลายกลุ่ม เราโชคดีที่แผนการลงทุนยังไม่ได้เริ่ม แต่ถามจริงๆ ว่าจากผลกระทบที่นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ คุณแอ๊วจัดการตรงนี้อย่างไร 

หลังจากเปิดล็อกดาวน์ช่วงเดือนมิถุนายน มันดีกว่าที่เราคาดไว้ เพราะ Social Security คนได้เงิน ยังมีใช้อยู่ หรือมีรัฐบาลช่วย กลุ่มที่ยอดตกน้อยคือเดอะมอลล์ แทบจะไม่ตกเลย ตก 20% ถือว่าน้อยนะ เอ็มโพเรียมตกประมาณ 20% กว่า ก็ยังได้อยู่ กลุ่มคนรวยอยู่ แต่ที่กระทบหนักกลับเป็นในเมือง เรียกว่า Depend The Tourist อย่างที่คุณรู้อยู่แล้ว สนามบินดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิหนักเลย ไม่ต้องพูดเลย อะไรที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวเจอหนัก

 

เราก็เลยแบ่งเป็น 3 เทียร์ ปนกันไปปนกันมากระทบกว่า 10% เราก็เลยอยู่ในฐานะที่ตกน้อยกว่าคนอื่น เพราะสาขาชานเมือง ตอนนั้นปิดไป 2 เดือน คนก็เริ่มมาจับจ่ายของจำเป็น ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน เครื่องเขียน หรืออาหาร ของใช้จำเป็นขายดี แต่เสื้อผ้าไม่ดี เสื้อผ้ามีปัญหา 

 

แอ๊วรู้เลยว่าเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมยังไม่ใช่ของจริง มันเพิ่งเปิด แต่ถ้าสิงหาคมมีปัญหาแน่ เพราะ Expat กลับประเทศ ดังนั้นตัวเลขก็เลยดิ่งจาก 20 มาเป็น 30 ฉะนั้นกันยายนจะเหลืออะไร เพราะกันยายนพวกเขายังกลับมาได้

 

พอเห็นแบบนี้เราก็ดูว่า เอาล่ะ รัฐบาลกำลังจะทำให้เกิด Bubble Travel ซึ่งแอ๊วก็ไปดูประเทศอื่นๆ อิตาลีทนไม่ไหวแล้ว ฝรั่งเศสไม่ไหวแล้ว ถ้าไม่มีเอเชียไปซื้อของ

 

วันนี้เดอะมอลล์ไม่มีปัญหา สิ่งที่มีปัญหาไม่ใช่เรา มันคือคนที่ค้าขายกับเรา ซึ่งเราสงสารเขามาก ทุกวันนี้ฟังแต่ข่าวร้าย เพราะเขามองว่าเราเป็นคนใหญ่ มองว่าเราเป็นรัฐบาล เป็นธนาคาร กู้ซอฟต์โลนไม่ได้ กู้ธนาคารไม่ได้ มากู้คุณแอ๊วแทน เราก็ดูแลเขา เขาอยู่มาตั้ง 30 กว่าปี ก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แต่กระเป๋าเราก็มีจำกัดนะ

 

อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อ

เราไปประชุมสมาคมค้าปลีก เขาก็บอกว่าห้างอย่างเราช่วยคนรวย ช่วยคุณศุภลักษณ์ ช่วยจิราธิวัฒน์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันช่วยผ่านเพื่อให้ธุรกิจเราอยู่รอด เพื่อซัพพลายเออร์อีกเป็นหมื่น เช่น Jaspal Group เราคุยกับเขา “คุณแอ๊ว ผมหนักมากเลย ผมมีซับคอนแทรกเตอร์เยอะมากมาผลิตผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า ถ้าผมไม่ให้งานเขา ซับคอนแทรกเตอร์ผมตาย ต่อไปผมกลับขึ้นมาแล้วใครจะมาผลิตของให้ผม ผมก็ต้องจ่ายเงินเขาเลี้ยงเขา” บางคนบอก “คุณแอ๊ว ค่าเช่าผมไม่มีนะ ต้องลดอย่างนี้ ต้องลดกี่เปอร์เซ็นต์” บางทีเราจะไปเก็บอะไรเขา โรงหนังไม่มีหนังเข้า โรงหนังก็ไม่มีจ่าย กลุ้มใจอีก ป่าตองเป็นป่าช้า มันจะไม่เป็นได้อย่างไร

 

ทางออกที่คุณแอ๊วมองคืออะไร

Suffering 100% แอ๊วบอกว่ามันคือสงครามโลกครั้งที่ 3 ทุกคนแพ้สงครามหมดทั้งโลก คุณก็ต้องอยู่ในช่วงพักฟื้น ทุกคนต้องหันมาร่วมมือกัน รัฐบาลจะช่วยอย่างไร จะนับศูนย์ใหม่เหรอ นับศูนย์ใหม่ว่าเราจะฟื้นฟูประเทศอย่างไร จะรีสตาร์ทอย่างไร เกือบตายแล้วนะ ร่อแร่ จะทําอย่างไรให้คนที่ร่อแร่อยู่รอดก่อน ให้บริษัทเขาไม่เจ๊ง ไม่ล้มละลาย มีการจ้างงาน อันนี้คือเรื่องใหญ่มาก รัฐบาลต้องช่วย เพราะถ้าไม่ช่วย เขาไปไม่กลับมาแล้วนะ ปีหน้า 2021 หนักกว่านี้อีกแน่นอน เพราะตอนนี้ยังไม่ได้ไล่คนออก

 

ทุกคนก็บอกว่าปีหน้า Suffer หมด ถ้าเกิดช่วย SMEs ไม่ได้ ธนาคารจะมีหนี้เสียมากขึ้น เพราะรัฐบาลไม่ช่วย แล้ว SMEs มีเรื่องใหญ่มาก เพราะเขาเป็นฐานใหญ่ 3 ล้านกว่าราย ธุรกิจที่มีเงินสะสมอย่างเรา เมื่อขาดทุนจะเริ่มควักเนื้อ มันมีค่าใช้จ่ายหนักอยู่ 4 เรื่อง ค่าคน ค่าไฟ ซัพพลายเออร์ และภาษี ไล่ไปทีละประเด็น



1. ไม่อยากลดคน ไม่ตัดเงินเดือน แต่ปีนี้อาจจะไม่มีโบนัส พอไม่มีโบนัสปลายปี คนไม่ออกมาจับจ่าย ธุรกิจยอดตก



2. ปีหน้าเอาไม่อยู่ ต้องมีการเลย์ออฟคน เริ่มจากคนที่ทำงานชั่วคราวและไม่รับคนเพิ่ม คนที่ยังอยู่ต้องทำงานหนักขึ้น ร้านอาหารน่าสงสารมาก ร้านอาหารเดี๋ยวนี้มีเดลิเวอรี ยอดตกกันเกือบ 40% อยู่ไม่ได้แล้ว ก็เลยบอกว่าให้จ้างเป็นรายชั่วโมงไหมล่ะ ให้คนมีงานทำ

 

3. สิ่งที่เราพูดกันว่าเรื่องเงินที่เขากู้กันมาจะทำอย่างไร ทุกคนเป็นหนี้หมด ก็ต้องทำซอฟต์โลนให้ได้ ซอฟต์โลนธนาคารก็ไม่กล้าปล่อยอีก ปล่อยไปก็ไม่รู้จะได้คืนหรือเปล่า คราวนี้สมาคมการค้าก็บอกว่าส่งมาให้ฉันสิ เดี๋ยวฉันปล่อยเอง ถ้าฉันปล่อยเอง ฉันรู้ว่าใครต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยไปตั้งแคชเชียร์เก็บเลย ขายได้เท่าไรก็แบ่งกันมา ถือว่าจ่ายดอกเบี้ยไปก่อน ดีกว่าไม่ได้เลย เพราะซอฟต์โลนเขาไม่กล้าออกจริงๆ ไม่ออกเลย แต่เขาค้าขายอยู่ที่เซ็นทรัล เขามีร้านค้าเยอะมาก เขาก็รู้ว่าจะปล่อยใคร เขาก็ปล่อยได้ ดังนั้นซอฟต์โลนสำคัญมาก แต่ตอนนี้มันไม่ได้ใช้เลย  

 

4. รัฐบาลจะช่วยอะไรได้บ้าง แอ๊วบอกถ้าไม่ตัดคนก็ต้องลดค่าไฟได้ไหม เพราะตอนนี้ทุกคนมาขอแอ๊วลดค่าแอร์ ค่าไฟ ถ้าหน่วยงานนี้กำไรเยอะก็มาช่วยหน่อยได้ไหม เก็บให้ถูกหน่อย ลดสัก 50% เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่ได้ก่อน อันนี้พูดตรงๆ ไม่ได้มาช่วยคนรวยแบบเรานะ เพราะคนที่มาต่อเราเป็นรายเล็กๆ ทั้งหมด คราวนี้เขาจะจ่ายแค่ 50% เราขาดทุนเลย แต่ถ้าเราไม่ช่วยเขา เขาก็เจ๊งอีก แล้วเราจะทำอย่างไร ถ้าเกิดตัวใหญ่อย่างเราล้ม เซ็นทรัลล้ม เราล้ม ไม่เหลือเลย ดังนั้นเขาต้องเข้าใจว่าไม่ได้ช่วยคนรวย หรือการมีชิมช้อปใช้ไปช่วย OTOP มันต้องมาช่วยตัวใหญ่ก่อนเพื่อให้ตัวใหญ่ไปเลี้ยงตัวเล็ก อันนี้เข้าใจไหม เหมือนเวลาคุณอยู่ในเครื่องบิน เกิดเหตุให้ใส่ใครก่อน ใส่ตัวเองก่อน แล้วค่อยไปใส่ลูก ถ้าใส่ลูกก่อน ลูกจะมาช่วยแม่ได้ไหมล่ะ คล้ายๆ กัน ต้องเอาออกซิเจนให้คนอย่างเรา เราเป็นแลนด์ลอร์ด คุณเป็นเจ้าของประเทศ เราเป็นเจ้าของศูนย์การค้า คุณช่วยเหลือประชาชน แต่มายด์เซ็ตของรัฐบาล เข้าใจไหมว่าไม่ได้ช่วยคนรวย ช่วยคนที่ประกอบการ เพราะว่าเราไม่ได้เอาเงินมาเป็นเงินปันผล แต่เราเอาเงินที่ให้มากลับให้เขาอยู่ได้ คุณลดค่าไฟหน่อย ลด VAT ลดเพื่อให้ของไม่แพง 

 

รัฐบาลไม่ได้เก็บรายได้ด้วยซ้ำ เพราะคนจะเจ๊งก่อน คุณเลือกเอาว่าจะเก็บน้อย เก็บนาน หรือคุณจะเก็บไม่ได้เลย เพราะขณะนี้คุณกำลังจะเก็บไม่ได้เลย คนกำลังจะเจ๊งจริงๆ ปีนี้คุณยังไม่เห็น ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง ไม่ได้พูดเล่นนะคะ

 

ทุกสัญญาณน่ากลัวมาก การท่องเที่ยวไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ เกษตรกรไม่ได้ อุตสาหกรรมไม่ได้ รีเทลมีปัญหา แล้วประเทศชาติจะอยู่ได้ด้วยอะไร อสังหาฯ ไม่ต้องพูด อุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ต้องพูด นิคมไปที่อื่นแล้ว วันนี้เราต้องพึ่งกำลังซื้อจากต่างประเทศ หรือนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามา เชื่อไหมระหว่างโควิด-19 ยังมีนักลงทุนจากต่างประเทศมาติดต่อแอ๊วอยู่ เพราะ Pension Funds เยอะมาก จะไปลงทุนที่ไหน ลงตรงอสังหาฯ เสี่ยงไหม เขาจะลงทุนอะไร ประเทศไทยถ้าจะพูดถึงจุดหมายของนักท่องเที่ยว มันมีจุดดึงดูดในด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่ไหน คุณไปภูเก็ต ถามว่ามีอะไร มีภูเก็ตแฟนตาเซีย อยู่มา 30 ปีแล้ว แล้วมีอะไรอีก ป่าตอง ป่าตองก็เป็นป่าช้าไปแล้ว แล้วมัน Sophisticate ที่ไหน ไปดูบาหลีสิคะ โอ้โฮ เป็นวัฒนธรรมสนุกกันถึงตี 5 แล้วคนฝรั่งเศสไปลงทุนด้านแฟชันที่นั่นเยอะมาก ออสเตรเลียก็เยอะ แทบจะเป็นเมืองของออสเตรเลียแล้ว



คุณก็ต้องเปลี่ยนภูเก็ต ง่ายที่สุดคือภูเก็ต ทำไมไม่ทำให้ภูเก็ตที่เมื่อก่อนเป็นริเวียรา แต่มันไม่ใช่แล้วล่ะ เพราะคนจีนไปเยอะเหลือเกิน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นฮาวายไหม มองเป็นฮาวาย คุณต้องกล้า ตอนนี้ใครไปภูเก็ตมากที่สุด คนจีน เมื่อก่อนเป็นคนยุโรป คนยุโรปหนีคนจีน ส่วนพัทยาใครไป คนจีนตอนกลาง มันก็ต้องดูกลุ่มเป้าหมายของตลาด ก่อนนี้ทำเกาะภูเก็ต ถ้าจีนจะมาลงทุน ให้เขาไปเลย เพราะอะไร คนจีนรักเมืองไทยมาก ถ้ามีเศรษฐีนีมาซื้อบ้านหลังละ 500-600 ล้าน เอาไหม เอาสิ มีท่าเรือยอชต์ เมื่อก่อนภาษีเยอะ เดี๋ยวนี้ 0% คนใช้เงินระดับไหน มาเที่ยวบีชคลับ เปิดแชมเปญ เงินสะพัดไหม ทิปส์บ๋อย ทิปส์คน ต่อยอดมาก


แอ๊วดูรายการคุณเคน ดูแล้วต้องถามว่าทำไมฝรั่งเศสและอิตาลียอมปล่อยให้คนเข้า แต่การดูแลของเขายังไม่ดี ประเทศไทยหมอก็เก่ง โรงพยาบาลก็เยอะ แอ๊วก็เลยบอกท่านนายกฯ ว่ามีเกาะแห่งหนึ่ง เกาะนี้อยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีนักท่องเที่ยว เขาก็เปิดเกาะ ถ้าเราลองทำบ้าง เลือกคนรวยที่อยากท่องเที่ยวเข้าไปให้อยู่ที่นั่น เพราะคนรวยมีเงินรักษาอยู่แล้ว หรือถ้ามีคนติดโควิด-19 ทั้งครอบครัว ให้รักษาฟรี เพราะตอนแรกคนไทยก็รักษาฟรี มันจะเป็นสักกี่คน แล้วเขาก็ยอมจ่ายค่าห้องดีๆ เราก็จำกัดให้เขาอยู่หาดเฉพาะ ไม่ใช่จำกัดอยู่ในห้อง เพราะอยู่ในห้องตายแน่ อย่างน้อยเดินบนหาดก็ยังดี ปิดเป็นโซนเลย ก็ทำตรงนี้สิ ให้เขาอยู่ในนี้ แล้วก็ดูปริมาณ

 

คุณแอ๊วกำลังจะบอกว่าการเปิดประเทศเป็นทางออกหรือความหวังเดียวที่ต้องทำการพิจารณาให้นักท่องเที่ยวหรือคนที่มีเงินเข้ามา 

ต้องเปิดประเทศ แต่เปิดอย่างฉลาด เปิดอย่างไม่กลัว ต้องมีคนหนึ่งที่เสียสละ แต่รู้ว่าโรคนี้มันรักษาได้ คนกลัวจริงๆ แต่ตอนนี้ต้องเริ่มหายกลัวแล้ว ต้องตั้งสติแล้ว เพราะถ้าคุณกลัวมาก คุณจะล้มเลย คิดดูว่าถ้าคุณจะชก แล้วคุณขาสั่นกักๆ คุณจะกล้าขึ้นเวทีไหม คุณก็ต้องไม่กลัว ผู้นำก็ต้องกล้า 

 

ก้าวแรกเอาเกาะก่อน เพราะมันคุมง่าย แล้วก็แบ่งเป็นโซนซะ กั้นไว้ให้เขามาแค่นี้ แล้วก็เอา Charter Flight บินมาลงตรงนี้ เอารถลงมาเลย ก็ตรวจได้อยู่แล้ว โควิด-19 ตรวจง่ายจะตาย ให้เขาอยู่สักสัปดาห์ คนรวยจะมีสักกี่คน เอาคนรวยมาก่อนนะ นักท่องเที่ยวจีนหรือใครก็ได้เอามาก่อน เสร็จแล้วก็อยู่ตรงนี้ 14 วัน ถ้าไม่ใช่ก็ปล่อย เขาจะได้ไปเที่ยว เริ่มทำเป็นโมเดล ทำสัก 1 เดือน พอเราได้ผลก็ไปใช้ขยายต่อ เราก็จะปลอดภัย เพราะเรากลัวอยู่ แต่ก็ต้องเตรียมหมอให้พร้อม 

 

เรื่องนี้มันต้องเอานักธุรกิจมาคุยอย่างซีเรียส ตั้งเป็นคณะกรรมการ ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่คุยๆ กันแล้วเงียบไป นายกฯ อาจจะเจอปัญหาหลายด้าน ต้องเข้าใจว่าปัญหามันรุมเร้าเยอะ ทุกวันนี้นักธุรกิจเอกชนเก่ง แต่ว่าฟังไหม ฟังแล้วจะกล้าทำไหม ดังนั้นคุณต้องกล้าที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้มันอยู่ได้ เราก็ดูว่าเดือนนี้เราจะปล่อยกี่คนให้เข้ามา แล้วรู้ว่าในนี้มีโอกาสติด 5% คิดไว้เลย แล้วประกาศให้รู้เลยว่าอย่าตกใจนะ ถ้ามี 5% เดี๋ยวเรารักษาได้ หมอเราเก่ง เตียงเรามีพอ ประกาศให้รู้เลยว่าเรารับตรงนี้ แล้วเรามีมาตรการอย่างนี้ เราต้องทำตรงนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้ตรงนี้ก็มองไม่เห็นนะ แอ๊วขอโทษที่พูดเรื่องซีเรียส การพูดแบบนี้มันเสี่ยงกับตัวแอ๊ว แอ๊วไม่อยากจะมองแค่เดอะมอลล์ คืออยากจะพูดเรื่องอื่นมากกว่า

 

ต้องเปิดประเทศ แต่เปิดอย่างฉลาด เปิดอย่างไม่กลัว ต้องมีคนหนึ่งที่เสียสละ แต่รู้ว่าโรคนี้มันรักษาได้ คนกลัวจริงๆ แต่ตอนนี้ต้องเริ่มหายกลัวแล้ว ต้องตั้งสติแล้ว เพราะถ้าคุณกลัวมาก คุณจะล้มเลย คิดดูว่าถ้าคุณจะชก แล้วคุณขาสั่นกักๆ คุณจะกล้าขึ้นเวทีไหม

 

โปรดติดตามต่อในตอนที่ 2 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

Music westonemusic.com

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising