×

อนาคตการศึกษาหลังโควิด-19 เป็นอย่างไร โรงเรียนยังจำเป็นอยู่ไหม

25.04.2020
  • LOADING...

เมื่อโควิด-19 บังคับให้การศึกษาในโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์ New Normal ของการศึกษาจะเป็นอย่างไร โรงเรียนยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และครูต้องปรับตัวอย่างไร

 

เคน นครินทร์ คุยกับ Dr. Dan Moore ครูใหญ่และประธานฝ่ายบริหาร โรงเรียนนานาชาติบรอมส์โกรฟ ในรายการ The Secret Sauce

 

 

เด็กนักเรียนที่บรอมส์โกรฟเริ่มใช้การเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Google ตั้งแต่ต้นปี 2020 หรือในช่วงที่ข่าวไวรัสเพิ่งเริ่มต้นขึ้น จากการมองเห็นว่าการเรียนรู้ออนไลน์จะเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการสั่งการบ้าน การส่งงาน การให้โจทย์นักเรียนเพื่อไปศึกษาผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยตัวเอง สำหรับเด็กประถมและมัธยมต้น ทางโรงเรียนส่งเสริมให้ผู้ปกครองของเด็กมีส่วนในการใช้งานระบบออนไลน์นี้เช่นกัน เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนของเด็ก สิ่งนี้ทำให้นักเรียนต่างชาติซึ่งอาจกลับบ้านไปในช่วงปิดภาคเรียนและไม่อาจกลับมาไทยได้ยังคงสามารถเรียนรู้ได้ตามหลักสูตรปกติ

 

‘Step-by-step’ Organic Developmental Process

เมื่อใช้การเรียนรู้ออนไลน์ในระดับที่กว้างขึ้น ต้องแน่ใจว่าแต่ละขั้นตอนของโรงเรียนมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น คลาสสอนเด็ก 3 ขวบต้องสั้นและน่าสนใจ เพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก คลาสสอนเด็กมัธยมอาจมีการใช้สัดส่วนของการสอนด้วยการอัดคลิปวิดีโอทิ้งไว้รวมกับการสอนสด ต้องมีการออกแบบแบบฝึกหัด ข้อสอบ และขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะจากอาจารย์

 

การลงรายละเอียดเช่นนี้ต้องค่อยๆ ทำทีละสเตปเพื่อให้เด็กและผู้ปกครองตามทัน เปรียบเหมือนการเรียนดนตรี คงไม่สามารถจบการเรียนไวโอลินแล้วกระโดดไปเล่นวงออร์เคสตราได้ทันที ต้องค่อยๆ เรียนเครื่องดนตรีทีละชิ้น เพราะถ้าพวกเขาตามไม่ทัน เขาจะหยุดเรียนรู้หรืออาจถึงขั้นเดินถอยหลัง

 

การรู้ว่าเรามีบทเรียนที่บันทึกไว้เท่าไร และมีการสอนสด เราสามารถจัดตารางได้ใน 1 วัน โดยไม่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าหนักจนเกินไป ให้เวลากับการรับฟังความคิดเห็น ให้ครูมีโอกาสคุยหนึ่งต่อหนึ่งกับนักเรียน เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับแบบฝึกหัดและวิธีที่พวกเขาสามารถปรับปรุง เพื่อให้แน่ใจว่าการโต้ตอบแบบสองทางยังคงเกิดขึ้น

 

ช่วงปลายเทอม 2 และต้นเทอม 3 ที่บรอมส์โกรฟ หัวหน้าในฝ่ายต่างๆ มาประชุมกันหลายครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หัวหน้าอนุบาล หัวหน้าประถม หัวหน้ามัธยม และทีม จากการทำงานร่วมกัน รับฟังข้อเสนอแนะจากพนักงาน นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อปรับสิ่งต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นในขณะที่เราก้าวเข้าสู่เทอม 3

 

สอนความรู้นอกตำราเรียน สร้าง Mindset และทัศนคติที่มีประสิทธิภาพ

นักเรียนหรือผู้ใหญ่เองก็เป็นสัตว์สังคม หากคุณคิดย้อนกลับไป วัยเด็กของคุณอยู่ที่โรงเรียน และการที่เราเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ ลักษณะนิสัยที่เรามีถูกหล่อหลอมจากโรงเรียน การไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็ก ดังนั้นในฐานะโรงเรียน เราต้องแน่ใจว่าเราให้การสนับสนุนนักเรียนของเราทั้งในด้านจิตใจและด้านการศึกษา

 

การพัฒนาอุปนิสัยและตัวตน และเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับโลก คือการสอนให้เขารู้วิธีใช้และประมวลผลความรู้ และรู้วิธีที่พวกเขาทำงานร่วมกันกับผู้อื่น เพราะไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใด การเรียนรู้ออนไลน์ การนั่งอยู่บนคอมพิวเตอร์ค้นหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีบางอย่างที่ลดความจำเป็นในการทำงานของมนุษย์ เรายังต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม เรายังต้องร่วมมือกัน เรายังต้องเรียนรู้วิธีการเขียน เรายังต้องสามารถเขียนได้ ชุดทักษะทั้งหมดนี้ที่เราสอนที่โรงเรียนสามารถพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้ออนไลน์

 

ที่บรอมส์โกรฟมีโปรแกรมหนึ่งเรียกว่า BEAM (Building Effective Attitude and Mindset) การสร้างทัศนคติและชุดความคิดที่มีประสิทธิภาพ และส่วนหนึ่งของบทเรียนนั้นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม การทำงานเป็นทีม การดูสื่อ การแยกแยะข่าวปลอม การใช้อินเทอร์เน็ต การดูแลสุขภาพ เพศศึกษา ยาเสพติด ชีวิตที่ต้องเรียนรู้ในฐานะเด็ก และคุณเรียนรู้เกี่ยวกับมันในวิธีที่ปลอดภัยมากที่เด็กสามารถถามคำถามกับครูและพูดคุยกับเพื่อนๆ ได้

 

เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ได้เห็นจำนวนเด็กที่พยายามติดต่อหาครูในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาพูดอย่างเปิดเผยมากขึ้น ในวัฒนธรรมไทยซึ่งมีธรรมชาติที่ค่อนข้างเก็บตัว เด็กไทยจำนวนมากได้เปิดใจกับครูว่าพวกเขารู้สึกเหงามากและพวกเขาคิดถึงเพื่อนๆ พวกเขาไม่ได้อยู่ด้วยกันในห้องเรียน ในโรงเรียน 

 

โรงเรียนเราระมัดระวังอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนไม่รู้สึกเหงา ไม่มีปัญหาทางจิตใจ และมีความสุข สามารถพูดคุยกับที่ปรึกษาของโรงเรียนผ่านแพลตฟอร์ม Google และสามารถสนทนาที่เป็นความลับได้หากพวกเขาต้องการ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มาโรงเรียน

 

คุณครูที่ดีคือคุณครูที่เรียนรู้และปรับปรุงทักษะอย่างต่อเนื่อง

เรากำลังปรับปรุงทักษะของครูอย่างต่อเนื่อง เพราะการที่คุณมีวุฒิครู ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นครูที่ดี เพราะครูที่ดีต้องที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นสิ่งที่เปิดหูเปิดตาให้กับครูมาก พวกเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่ช่วงอินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มต้น หรือยังไม่มีเสียด้วยซ้ำ อยู่ๆ ก็มีคนมาบอกว่าคุณต้องสอนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 100% ในอีกสองเดือนข้างหน้า นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิง Mindset ของครู พวกเขารับมือได้ดีมากและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งยอดเยี่ยมมาก

ในอนาคต ครูอาจไม่ใช่คนที่ยืนอยู่หน้าห้องและสอนอย่างเดียวอีกต่อไป ครูต้องมีบทบาทการเป็น Facilitator อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของนักเรียน

ทักษะสำหรับอนาคตที่มากกว่า 21st Century Skills

โรงเรียนต้องเตรียมทักษะให้เด็กมีความพร้อมให้มากกว่า 21st Centrury Skills ด้วย 12 ข้อคือ การคิดวิเคราะห์, ความคิดสร้างสรรค์, การทำงานร่วมกัน, การสื่อสาร, การใช้ข้อมูล, การรู้เท่าทันสื่อ, การรู้เท่าทันเทคโนโลยี, ความเป็นผู้นำ, ความคิดริเริ่ม, ความยืดหยุ่น, การทำงานให้มีประสิทธิภาพ และการเข้าสังคม

 

ทักษะที่เพิ่มเข้ามารวมถึง การเสพสื่อออนไลน์ การหาข้อมูลร่วมกับผู้อื่นทางออนไลน์ การคัดกรอง Fake News การใช้ชีวิตอย่างสมดุลบนโลกดิจิทัล หรือแม้กระทั่งการทำอาหารเองที่บ้าน และที่สำคัญที่สุดคือทักษะการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดา

 

Bromsgrove’s Learner Profile

บุคลิกลักษณะทั้ง 8 อย่างที่ทำให้นักเรียนเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ สามารถเติมเต็มชีวิตของตนเอง เติมเต็มชีวิตของผู้อื่น และประสบความสำเร็จอย่างมีความสุข

  1. Positivity การคิดในแง่บวก
  2. Team Player การรู้จักทำงานเป็นทีม
  3. Risk Taker การรู้จักเสี่ยงอย่างมีสติและคิดรอบคอบ
  4. Independent การรู้จักช่วยเหลือตัวเองได้
  5. Reflective การรู้จักคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง และสามารถพิจารณาแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น
  6. Kindness การมีจิตใจโอบอ้อมอารีย์
  7. Determined ความมุมานะ แน่วแน่ ตั้งใจ
  8. Curiosity ความกระหายใคร่รู้ อยากรู้อยากเห็น

 

ระบบการศึกษาไทย

ความท้าทาย คือการทำให้แน่ใจว่าโอกาสในการศึกษานั้นเท่าเทียมกันในทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นในชนบทหรือในเมือง เนื่องจากมีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนเอกชน เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนรัฐ โรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนเอกชนหลายแห่งรับเงินจำนวนมากจากค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้

 

รัฐบาลทั่วโลกต้องการทำอะไรที่ดูยิ่งใหญ่ เช่น การแจก iPad เราไม่สามารถมีนโยบายเดียวที่ใช้กับทุกคนได้ แต่การปรับปรุงการศึกษาในประเทศไทย เราทำให้แน่ใจว่านักเรียนในโรงเรียนชนบทเล็กๆ เหล่านั้นเห็นถึงความสำคัญในการที่เทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกในอนาคต และเข้าใจวิธีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

 

โรงเรียนที่ไร้โทรศัพท์มือถือ

ปัจจุบันหลายสิ่งเปลี่ยนไป ผู้ปกครองรู้ว่าลูกของพวกเขาอยู่ที่ไหนผ่านการติดตามด้วยโทรศัพท์ พวกเขาสามารถสื่อสารกับลูกได้ตลอด 24 ชั่วโมง เด็กเชื่อมต่อกับโลกอย่างต่อเนื่อง พวกเขามีมือถือ iPad และ Apple Watch

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือผมห้ามเด็กนำมือถือมาโรงเรียน เริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2562 07.00-15.30 น. จนกว่ากิจกรรมการเรียนทั้งหมดจะเสร็จสิ้น

 

ในฐานะอาจารย์ใหญ่ ผมคิดว่าจะมีการต่อต้านค่อนข้างมากจากนักเรียนหรือแม้แต่จากผู้ปกครองที่รู้ว่าลูกๆ พึ่งพาเทคโนโลยีตลอดเวลา แต่กลายเป็นผมได้รับคำขอบคุณมากมาย ทั้งจากการพูดคุยและอีเมลจากผู้ปกครอง ซึ่งพูดประมาณว่า “ขอบคุณสำหรับการห้ามใช้มือถือ ลูกของฉันกลับบ้านจากโรงเรียนตื่นตัวขึ้นมาก พวกเขามีส่วนร่วมกับการใช้ชีวิตมากขึ้น พวกเขามีความสุขมากขึ้น พวกเขามีความสุขมากถึงขั้นไม่จับโทรศัพท์มือถือในระหว่างวันที่โรงเรียน” เด็กนักเรียนเรียนรู้ได้ดีกว่า เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกรบกวน

 

ปัญหานักเรียนทะเลาะหรือรังแกกันผ่าน LINE หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผมซื้อถุงเตรียมไว้กว่า 200 ถุง และ Post-it จำนวนมากในออฟฟิศ พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือจากเด็กที่ทำผิดกฎ ได้มาเพียง 2 เครื่องจาก 2 วันแรก จากนั้นไม่มีมาอีกเลย เด็กขอบคุณโรงเรียนที่แบนโทรศัพท์มือถือ ผมพบว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างแปลก แต่มันแสดงให้ผู้ใหญ่อย่างเราเห็นว่า เราประเมินความกดดันและผลกระทบทางจิตวิทยาที่นักเรียนได้รับจากการออนไลน์ 24 ชั่วโมงต่ำไป 

 

และตอนนี้มิตรภาพของพวกเขาได้กลายเป็นความจริง เป็นมิตรภาพที่ทรงคุณค่าที่ไม่ได้อยู่แค่ในโลกออนไลน์

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์

Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Music westonemusic.com

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising