×

วางกลยุทธ์อย่างไรในโลกที่คาดเดาไม่ได้ ตอน 2 คิดและทำด้วยคาถา ‘ลองดูสิ’

28.02.2020
  • LOADING...

Time Index 

00:20 ย้อนถึงตอนที่ 1 แบบสั้นๆ 

01:28 ขั้นตอนการวางกลยุทธ์

06:44 กระบวนการตีกรอบ

14:42 การสำรวจ (Scanning)

20:54 Multiple Future

31:32 กระบวนการเลือก

38:08 การวางแผน (Planning)

44:10 การลงมือทำ

55:22 Mindset ของผู้นำต่อไอเดียของลูกน้อง

58:57 สิ่งที่อยากฝากถึงคนทำธุรกิจในอนาคต

 


 

จากการเป็นผู้กำหนดอนาคตในตอนที่แล้ว ดร.ธนัย ชรินทร์สาร ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ เจ้าของ Facebook Group Strategy Essential จะมาอธิบายถึงขั้นตอนวางกลยุทธ์ในเชิงของเครื่องมือ ซึ่งสามารถนำไปลองใช้ได้กับทั้งบริษัท หรือทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จในระดับบุคคลก็ได้ ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยนำทางให้เราไม่ฟุ้งจนเกินไป เพราะโดยปกติแล้วเมื่อพูดถึงการทำกลยุทธ์ บริษัทต่างๆ มักจะให้เอาคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมารวมกัน หา Facilitator สักคนเพื่อมาทำ SWOT ด้วยกัน แปะโพสต์อิทไอเดียมากมาย แล้วโหวตให้คะแนนกัน เพราะไม่มีใครกล้าฆ่าไอเดียของคนอื่นๆ ทิ้ง 

 

แต่ทว่านั่นอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีอย่างที่เคยคิด เพราะกลยุทธ์ที่ดีสำหรับธุรกิจในอนาคตจำเป็นต้องมีความสอดคล้องกันและคิดอย่างเป็นระบบด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

 

1. ตีกรอบ (Set Domain)

ในเมื่ออนาคตมีความเป็นไปได้นับไม่ถ้วน เราต้องมาตีกรอบกันก่อน การกำหนดขอบเขตให้เหมาะสมนั้นนับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ถ้าเรากำหนดแคบเกินไปอาจจะติดอยู่กับธุรกิจแบบเดิมๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการตีกรอบขนาดกำลังพอดีที่เราจะเดินหน้าไปแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด

 

ยกตัวอย่างเช่น สถานีโทรทัศน์ตีกรอบว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ อนาคตก็จะแคบเกินไปจนไม่เห็นโอกาสใหม่ๆ หรือถูกดิสรัปต์ในที่สุด แต่หากมองว่าจากสถานีโทรทัศน์เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ก็จะเริ่มเห็นกรอบที่กว้างขึ้น เมื่อมีปัจจัยในการประเมินจริงนั้นค่อนข้างยาก ตามหลักแล้วจะต้องดูเป็นรายกรณี แต่หากจะอธิบายให้เห็นภาพรวมจะมีสิ่งที่เรียกว่า Domain Max ขึ้นมาเพื่อดูว่าธุรกิจในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง แล้วใช้ Edge Strategy กลยุทธ์ชายขอบมาลองจับดู ใช้สินค้าเดิม แต่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มอื่นๆ แทน แล้วพิจารณาร่วมกับเทรนด์ในอนาคต ดูว่าโดเมนใดน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจ สถานีโทรทัศน์แห่งเดิมที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการถ่ายทำรายการ การอัดเสียง มีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม อาจจะเปิดให้เช่าพื้นที่ทำพอดแคสต์ได้ในอนาคต เมื่อมองเห็นเทรนด์ว่าคนหันมาทำพอดแคสต์มากขึ้น ต้องการใช้ห้องอัดที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือผลักดันต่อไปอีกนิดให้กลายเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ก็ยังได้ 

 

แต่อย่าเพิ่งฟุ้งฝันไปไกลเวลาคุยเรื่องอนาคต อย่าเพิ่งปักใจว่าเราจะลงมือทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เลยทันที อย่าเพิ่งลงมือเร็วเกินไป เลือกทำน้อย แต่ได้อิมแพ็กเยอะ ดีกว่าทำเยอะแล้วความเสี่ยงสูง และที่สำคัญมากๆ ก็ต้องไม่ลืมสิ่งที่มีค่าที่สุดอย่างการตีกรอบเวลา เพราะว่าอนาคตนั้นเป็นได้ตั้งแต่พรุ่งนี้ไปจนถึงนิรันดร์ 

 

2. การสำรวจ (Scanning)

เพราะว่าทุกอย่างที่เราทำต้องมีหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานก็จะกลายเป็นจินตนาการ หลายคนที่เป็น Visionary Leader หากมองให้ลึกจริงๆ แล้วเขาคือนักสแกนสัญญาณที่คนอื่นมองไม่เห็น (Weak Signal) ด้วยการสังเกตเรื่องเล็กๆ ที่ในอนาคตจะเป็นเรื่องใหญ่ ขั้นตอนนี้จึงเป็นการมาตั้งใจพิจารณาว่าโดเมนที่เราเลือกไปข้างต้นนั้นมีอะไรที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก มีทิศทาง ใช้ทีมรีเสิร์ชช่วยสำรวจหาเทรนด์ที่เหมาะกับโดเมนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงการพูดคุยกับกูรูที่อยู่ในโดเมนนั้นมา เก็บมาเพื่อสแกนหาความไม่แน่นอน กับสแกนหาเทรนด์บางอย่าง ตัวอย่างเช่น เทรนด์ของพอดแคสต์ที่กำลังเติบโตทั่วโลก ในบ้านเราเองคนก็ใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้นด้วยปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงวิธีการทำงานแบบ Work From Home ที่กำลังมาแรง Spotify จึงดึงเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ไฟแรงเข้ามาอยู่ใต้ร่มเดียวกัน เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้า เพราะขณะที่ตลาดกำลังโต เราต้องหาลูกค้าให้ได้วงกว้าง ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งที่ตลาดชะลอตัวแล้วเรายังเป็นเบอร์เล็กอยู่ก็จะไม่อาจสร้างอิมแพ็กให้โลกใบนี้ได้ 

 

3. การสร้างอนาคตหลายรูปแบบ (Multiple Future) 

นำความเป็นไปได้ทั้งหมดมารวมกันดูว่าอะไรบ้างที่เป็นไปได้ อะไรที่มีหลักฐาน มีแนวโน้ม มีข้อมูลสนับสนุน ยกตัวอย่างกรณีของโรคโควิด-19 ที่อาจจะเป็นได้ 2 สถานการณ์ก็คือ 1.ระบาดไปทั่วโลก 2.มีการคิดวัคซีนป้องกันขึ้นมาหยุดได้ในเวลาอันสั้นแล้วจบไป การทำแบบนี้เพื่อให้เห็นทั้งข้อมูลที่จะนำไปสู่เทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และข้อมูลของความไม่แน่นอน แต่ขั้นตอนนี้ก็เป็นศิลปะอีกเช่นกัน เราจึงต้องเลือกความไม่แน่นอนที่มีนัยสำคัญกับโดเมนของเราราว 3-5 แบบให้เห็นทางแยกข้างหน้าว่าเราไปไหนต่อได้บ้าง

 

เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ เราต้องใจร้ายกับตัวเองนิดหนึ่ง ดังที่ในหนังสือของ แอนดรูว์ โกรฟ ผู้ร่วมก่อตั้ง Intel เขียนไว้ในหนังสือ Only the Paranoid Survive: How to Exploit the Crisis Points จึงต้องประเมินความเป็นไปได้ว่าสิ่งที่คู่แข่งมีอาจจะดีกว่าเราก็ได้ แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่ทุกอย่างพังทลาย เพราะว่าอะไรจะเกิดไม่เกิดนั้นอยู่ที่การกระทำของเราด้วยเช่นกัน 

 

4. การเลือกอนาคต 

การเลือกอนาคตที่เราอยากจะสร้าง ลองสังเกตดู Visionary Leader ทั้งหมดที่สร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น iPhone, Amazon.com ล้วนแต่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้ แต่ถูกสร้างขึ้นมาได้เพราะใครบางคน มองเห็นความเป็นไปได้ว่าสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การเลือกนี้ไม่มีข้อเท็จจริงมาสนับสนุนว่าจะเกิดขึ้นอย่างที่คาดร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ และในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรเป็นคนตามเทรนด์เสมอไป เพราะเราจะกลายเป็นคนตามหลัง แต่ขณะเดียวกันการทำอะไรที่มันเสี่ยงเกินไปมากๆ ก็ไม่เช่นกัน ดังนั้นการเลือกเราใช้คำว่าต้องเลือกแบบมีพอร์ตโฟลิโอ เมื่อมองความเป็นไปได้ของอนาคตหลากหลายสถานการณ์ เมื่อถึงเวลาต้องเลือกจึงควรใช้วิธีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ไปในแต่ละความเป็นไปได้ เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างจะได้รับการคอนเฟิร์มเอง 

 

หลักในการแบ่งเปอร์เซ็นต์ว่าจะลงทุนลงแรงกับสิ่งใดมากน้อยก็กลับมาที่ความเป็นศิลปะเช่นเคย โดยต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างทั้งเทรนด์ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือแพสชันของตัวเอง เพราะการสร้างอนาคตจำเป็นต้องมีแพสชัน และที่เหนือกว่านั้นก็คือวัตถุประสงค์ เพราะฉะนั้นเมื่อเจออะไรที่เป็นอุปสรรคก็จะกลับมาทบทวนวัตถุประสงค์ของตัวเองให้ฮึดสู้ทำต่อไป 

 

ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องไดนามิก เพราะอนาคตเปลี่ยนทุกวัน จะมีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นสัญญาณของเทรนด์ใหม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันมันจะมีการรับรองจากข้อมูลที่เราลงมือทำไปแล้ว เราไม่มีทางรู้ว่าทำ

 

5. วางแผน (Planning) 

กลับมาดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรเท่าไรบ้าง แต่ถ้าไปยึดติดว่าเรามีแค่นี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ของทรัพยากรคือการแลกกัน มีเงินเยอะ เปลี่ยนเงินเป็นคน มีคนเยอะ เปลี่ยนคนเป็นเครือข่ายไปเชื่อมต่อกับคนอื่น อย่ามองแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราแลกเปลี่ยนกันได้ ผู้นำจึงต้องมองทรัพยากรที่ดีของตัวเองให้ออก มองทรัพยากรในมุมที่แตกต่างไปจากเดิม จะไม่เจอปัญหาเรื่องไม่มีทรัพยากรอีกต่อไป เพื่อที่จะได้ใช้เวลาไปกับการบริหารจัดการให้ลงตัวกับแผนที่เราต้องการแทน

 

เพราะหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือเวลา ต้องบริหารจัดการเวลาให้ได้ โดยเฉพาะเวลาของผู้บริหารระดับสูงควรให้เวลาไปกับการฟูมฟักการเติบโตของธุรกิจ เพราะว่าผู้นำจะเป็นผู้พาธุรกิจไปสู่พื้นที่ทางโอกาสใหม่ๆ และนั่นคือการพิสูจน์ความสามารถของผู้นำที่แท้จริง

 

ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือเวลา ต้องบริหารจัดการเวลาให้ได้ โดยเฉพาะเวลาของผู้บริหารระดับสูง ควรให้เวลาไปกับการฟูมฟักการเติบโตของธุรกิจ

 

6. การลงมือทำแบบ ‘ลองดูสิ’ (Small Scale Experiment)

การลงมือทำในอนาคตจะไม่เหมือนการลงมือทำในปัจจุบัน แค่ให้แนวทาง แล้วให้คนทำงานมีโอกาสเรียนรู้ไปว่าเส้นทางไหนมันจะเป็นเส้นทางที่ดี ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้เร็ว ใช้ Fast Cycle และปรับอย่างรวดเร็วไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ 

 

ส่วนของการวัดผลจะต้องคอยพิจารณาศักยภาพการเติบโตว่าลงมือทำไปแล้วมีการตอบรับจากตลาดอย่างแท้จริง สิ่งที่เราทำอยู่มีคนเห็นคุณค่าอย่างแท้จริง แสดงว่าเราคิดมาถูกทางแล้ว ต้องรีบเปลี่ยนจากโหมดเฝ้าดูอนาคตเป็นการลงทุนเพื่อการได้มาซึ่งลูกค้า แต่ถ้าผลไม่ตรงตามสมมติฐาน ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี แต่เป็นการได้เรียนรู้ไประหว่างทาง จนกระทั่งเราหาอนาคตที่ใช่สำหรับเราเจอ นี่คือความหมายของคำว่า Agility สอนเราให้เป็นคนไม่ยึดมั่นถือมั่น เรามีความตั้งใจได้ แต่เราก็ต้องมีความฉลาดที่จะเรียนรู้ แล้วเราจะไม่มองทุกอย่างเป็นความล้มเหลว เราจะมองเป็นการเรียนรู้หมดเลยเพื่อพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ปรับได้ทั้งแผน ปรับได้ทั้งวิสัยทัศน์ เพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 

 

เพราะโลกนี้มีความสำเร็จหลากหลายรูปแบบ จึงควรเปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมได้ลองคิด ลองเสนอสิ่งใหม่ๆ แล้วทดลองทำไปด้วยกัน ถ้าสำเร็จก็ดีต่อบริษัท ถ้าล้มเหลวก็ได้เรียนรู้ เพียงพยายามอย่าให้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากจนเกินไป อย่าลองใหญ่ไป อย่าใช้เงินหนักเกินไป หรือเอาชื่อเสียงบริษัทไปทุ่มเทกับเรื่องนี้ แต่ลองกับ Small Scale Experiment ถ้าผู้บริหารทั้งหลายมีพูดคำว่า ‘ลองดูสิ’ จนติดปาก อาจจะได้โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และความทุ่มเทแรงกายแรงใจของคนในทีมที่อยากจะทำไอเดียของเขาให้สำเร็จ

 

ขั้นตอนเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้คนที่ไม่ได้มีความเป็น Futurist สามารถเป็น Futurist ได้ เป็นการถอดรหัสค้นหา Inner Architecture ที่อยู่ภายในวีธีคิดของคนเก่งๆ เมื่อถอดรหัสวิธีคิดได้ เราก็สามารถนำมาทดลองทำซ้ำให้เกิดความสำเร็จได้อีกมากมาย

 

การคิดเรื่องอนาคตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกอย่างที่เราคิดเกี่ยวกับอนาคตเป็นตัวกำหนดการกระทำของเราวันนี้ ถ้าเราไม่คิดถึงอนาคต เราก็จะไม่ปรับการกระทำของเราวันนี้

 

คนที่คิดถึงอนาคตจะมีแต่ความหวัง มีแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ความผิดพลาดส่วนใหญ่มาจากการที่เรามักไม่ค่อยใช้เวลาร่วมกันสร้างอนาคตอย่างจริงจัง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและรวดเร็ว เราต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม วันนี้ไม่ใช่เวลาของ One Man Hero ในการสร้างอนาคตแล้ว

 

เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตั้งแต่วันนี้ด้วยคำเพียง 3 พยางค์ ‘ลอง ดู สิ’ 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Music westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising