×

สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Design Thinking และการสร้างนวัตกรรมจาก ต้อง กวีวุฒิ แห่ง SCB 10X และแปดบรรทัดครึ่ง

24.02.2020
  • LOADING...

เคน นครินทร์ คุยกับ ต้อง-กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของพอดแคสต์ แปดบรรทัดครึ่ง ถึงความเข้าใจผิดเรื่องการใช้ Design Thinking เพื่อสร้างนวัตกรรม และบทบาทของ Head of Venture Builder แห่ง SCB 10X ในรายการ The Secret Sauce

 


 

SCB 10X โฮลดิ้งดิจิทัลเทคโนโลยี

ไม่นานมานี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ที่ชื่อว่า บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นเสมือนโฮลดิ้งคอมพานีที่เข้ามาดูแลบริษัทด้านเทคโนโลยีในเครือทั้งหมด เช่น บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures) บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด (SCB Abacus) บริษัท มันนิกซ์ จํากัด (MONIX) เป็นต้น แต่เดิม SCB 10X เป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้พนักงานได้ทดลองสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หากทำสำเร็จจะก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงให้องค์กร ไม่อยู่ภายใต้กรอบความคิดว่าต้องทำสำเร็จหรือต้องทำกำไรให้องค์กรเสมอไป คำว่า Venture Builder หรือ ‘การลงทุนร่วมสร้าง’ เข้าใจง่ายๆ คือการเป็นเสมือน Co-Founder ที่ช่วยให้คนสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้แม้จะอยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมรับความเสี่ยง SCB 10X จะช่วยจัดการในเรื่องต่างๆ ที่ซับซ้อนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทำในสิ่งที่ควรทำจริงๆ นั่นคือการโฟกัสลูกค้า หากธุรกิจไปไม่รอดก็สามารถเลิกกิจการได้โดยไม่เสียหายอะไร

 

Co-Founder แบบไหนที่ SCB 10X ต้องการ

SCB 10X ไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าต้องการคนแบบไหน เราเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า โปรไฟล์ของซีอีโอแบบไหนที่จะทำสตาร์ทอัพสำเร็จ คำตอบคือคนคนนั้นควรมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ มาก่อน เพราะคนแบบนี้จะมีความเข้าใจในปัญหาของธุรกิจสูงมาก มีแนวทางและแพสชันในการแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่แค่สร้างไม่เป็น ซึ่งอาจเป็นคนที่เคยทำสตาร์ทอัพมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จตามที่คิด เพราะคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการทำสตาร์ทอัพ รู้ในสิ่งที่คนในองค์กรไม่รู้ แค่เขาอยู่ในไอเดียที่ผิดและไม่สามารถรับความเสี่ยงได้หลายครั้งในชีวิต อีกกลุ่มที่ SCB 10X มองไว้คือ คนที่มีอาชีพเป็นที่ปรึกษา คนกลุ่มนี้จะมีความคิดวิเคราะห์ที่ดี มีวินัย และต้องการทำอะไรที่เป็นของตนเอง อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกคนที่จะมาร่วมกับ SCB 10X ต้องอาศัยการพูดคุยถึงไอเดียธุรกิจ และเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นคนคนนั้น ตัวตนของผู้ที่จะเข้ามาร่วมต้องมีความพิเศษอะไรบางอย่างที่บ่งบอกว่าธุรกิจนั้นจะไปรอด ส่วนใหญ่ลักษณะของคนที่กล่าวถึงจะมีอายุประมาณ 40 ปี เป็นวัยทำงานที่มีครอบครัวหรือภาระที่ต้องรับผิดชอบ คนกลุ่มนี้มีไฟที่อยากจะทำอะไรบางอย่าง แต่เขาไม่มีทางเลือกที่จะออกมาทำได้

 

วัฒนธรรม SCB 10X เริ่มจากความเชื่อมั่นใน ‘คน’

ก่อนอื่นเราต้องปล่อยให้คนในองค์กรทำอะไรที่อาจล้มเหลวได้ แต่อย่าให้เงินลงทุนเยอะเพื่อลดความเสี่ยงในด้านงบประมาณ การให้คนได้ลองผิดลองถูกโดยใช้เงินไม่มาก มีข้อดีตรงที่ได้ผลลัพธ์เร็ว หากสำเร็จก็ไปต่อ หากไม่สำเร็จก็เปลี่ยนวิธี องค์กรควรกันงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการลองผิดลองถูก เป็นงบประมาณสำหรับการเทรนนิ่งพนักงาน เนื่องจากการลองผิดลองถูกเปรียบเสมือนการ On the Job Training (OJT) ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองทำสิ่งนั้นด้วยตนเอง โดยอาจจะสำเร็จหรือไม่ก็ได้ องค์กรส่วนใหญ่มีงบประมาณสำหรับ Classroom Training เยอะมาก ทั้งที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ชัดเจนเท่ากับการทำ OJT ที่ทำให้พนักงานได้เรียนรู้จากความล้มเหลวโดยตรง สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อจริงๆ สำหรับการลองผิดลองถูก สนับสนุนให้พนักงานได้ทำในสิ่งที่ควรทำจริงๆ มากกว่าการใช้เวลาไปกับกิจกรรมบางอย่างที่เกินความจำเป็น เช่น การประชุม หรือการวางแผนระยะยาว เพราะแผนระยะยาวใช้ไม่ได้กับยุคนี้ แผนที่วางไว้ล้มเหลวได้เสมอหากคุณไม่ได้อยู่ใกล้และเข้าใจลูกค้า ดังนั้นแนวคิด Customer Centric จึงสำคัญ เพราะถึงแม้โลกจะเปลี่ยน แต่ถ้าลูกค้าคุณไม่เปลี่ยน อย่างไรธุรกิจก็อยู่รอด

 

ความคาดหวังต่อ SCB 10X และอนาคตของไทยพาณิชย์

ความแตกต่างและความโดดเด่นของ SCB 10X คือการเป็นหน่วยงานที่แยกตัวออกมาอิสระ ทำให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เราต้องการเปิดบริษัทลูกในลักษณะของ SCB 10X Digital Ventures SCB Abacus ให้ได้อย่างน้อยปีละบริษัท เพราะถึงแม้ว่าธนาคารจะทำหน้าที่หลักในการให้บริการด้านการเงิน แต่โลกที่เปลี่ยนไป กระแสดิสรัปชันที่เข้ามาส่งผลให้เราต้องเริ่มต้นธุรกิจจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มจากความต้องการทางด้านเงิน แต่เป็นธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเรื่องของการทำแพลตฟอร์มหรือบริการบางอย่างที่ตอบโจทย์สำหรับโลกในอนาคต ตัวอย่างเช่น ในอนาคตอาจจะมีแต่คนที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์ ดังนั้น เราต้องวิเคราะห์ว่าคนที่เป็นฟรีแลนซ์ต้องการอะไร หนึ่งในนั้นอาจจะเรื่องการเงิน แต่แน่นอนว่าต้องรวมไปถึงเรื่องของสุขภาพ การประกันภัย ซึ่งสำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน 

 

ความท้าทายของการทรานส์ฟอร์มในภาวะดิสรัปชัน

ท่ามกลางภาวะดิสรัปชัน องค์กรทั่วโลกประสบปัญหาเหมือนกันทั้งหมด แนวคิดของ SCB 10X มีพื้นฐานจากสตาร์ทอัพที่ช่วงแรกมักจะขาดทุน แต่เขาน่าชื่นชมตรงที่เขามีความเชื่อว่า ถ้ามีคนมาอยู่ด้วยเยอะๆ เขาจะมีพาวเวอร์สูงและประสบความสำเร็จได้ในอนาคต จุดอ่อนคือธนาคารทำแบบสตาร์ทอัพไม่ได้ เพราะมีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ดังนั้น การรับมือของธนาคารในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมเป็นเรือลำใหญ่ที่บรรทุกของเยอะ จำเป็นต้องปรับตัวมาสร้าง ‘เรือลำเล็ก’ หลายๆ ลำ เรือลำเล็กมีข้อดีตรงที่สามารถเปลี่ยนทิศทางได้เร็วกว่าเรือลำใหญ่ หากสำเร็จก็ได้เจอดินแดนใหม่ แต่หากไม่สำเร็จ แม้จะล่มก็ไม่เสียหายมาก วิธีคิดแบบนี้คล้ายกับการแบ่งกระสุนไว้หลายๆ นัด มองความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญอยู่ที่การสร้าง Portfolio of Innovation ให้เกิดขึ้นในองค์กร เป็นการบ่งบอกว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่ลงมือทำจะต้องสำเร็จ แต่ให้ดูในภาพรวมว่าเป็นไปในทิศทางไหน ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่าย แต่แปลกที่มักไม่เกิดในองค์กรไทย เพราะเป็นเรื่องของทัศนคติขององค์กรนั้นๆ ว่ายอมรับความผิดพลาดได้มากน้อยแค่ไหน

 

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Design Thinking

คนทั่วไปมักคิดว่า Design Thinking คือกระบวนการ ไม่ว่าจะไปเรียนที่ไหนคนเรามักถามหาวิธีการว่าต้องทำตามขั้นตอนหรือใช้เคล็ดลับอะไรจึงจะสำเร็จ แท้จริงแล้วเราต้องเริ่มต้นจาก ‘ทัศนคติ’ ของตัวเราเองก่อน เพราะในโลกนี้มีเฟรมเวิร์กให้ลองผิดลองถูกเยอะมาก เราต้องลองทำเองจึงจะรู้ว่าต้องทำแบบไหนจึงจะสำเร็จ อย่าไปยึดติดกับกระบวนการ และอย่าถามหาสูตรสำเร็จ เพราะแนวทางการไปสู่ความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการลงมือทำและค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเท่านั้น นอกจากนี้ความคิดนอกกรอบเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกใบนี้ และทำให้ธุรกิจนั้นๆ มีความแตกต่างในแบบที่ใครก็ไม่อาจลอกเลียนแบบได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรว่าจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีความคิดสร้างสรรค์แบบเด็กมากน้อยแค่ไหน ผู้นำในอนาคตจะวัดกันที่ เวลาลูกน้องอยู่ใกล้คุณเขามีไอเดียและกล้าแสดงความคิดเห็นหรือไม่ เพราะองค์กรมีคนหลายเจเนอเรชันอยู่ร่วมกัน ดังนั้นต่างฝ่ายต่างต้องเข้าใจแนวคิดและแนวทางการทำงานร่วมกันด้วย

 

เรื่องของแนวคิดหรือทัศนคติต้องอาศัยเวลาในการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากขาดการลงมือทำและการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Music westonemusic.com

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising