ธนาคารกสิกรไทย กับการขยับตัวครั้งใหญ่เพื่อรุกตลาด CCLMVI และขยายฐานทัพใหม่ในการสร้างนวัตกรรมภายใต้ชื่อบริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด ณ เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน หรือซิลิคอนแวลลีย์แห่งเอเชีย
เคน นครินทร์ คุยกับ พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย อดีตเภสัชกรผู้ชอบความท้าทายและเชื่อเรื่องการใช้วิชาตัวเบาเพื่อบริหารธุรกิจ ในรายการ The Secret Sauce
จุดเริ่มต้นความท้าทาย
การมีแพสชันในตนเอง และการเปิดรับความท้าทายใหม่ๆ จะทำให้เราได้เรียนรู้และปรับตัวท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้รับมอบหมายให้ขยายธุรกิจในประเทศจีน พิพิธตัดสินใจเรียนภาษาจีนและพยายามทุกทางเพื่อหาโอกาสที่จะขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เขาพบว่าธุรกิจในประเทศจีนใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก กสิกรไทยเข้าไปกลายเป็นตัวเล็กมาก ตรงกันข้ามกับตลาดในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นธนาคารที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นผู้นำด้าน Digital Transformation ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ด้วยความที่ตลาดในประเทศยังไม่เพียงพอ การขยายธุรกิจไปสู่เอเชียถือเป็นหัวใจหลัก และแน่นอนว่าต้องไปเจาะตลาดที่มีคนอาศัยอยู่เยอะ และเป็นกลุ่ม New Middle Class อย่างประเทศจีนก่อน สิ่งที่ต้อง ‘Unlearn’ หรือละทิ้งไปเมื่อเจอกับความท้าทายใหม่ คือความสำเร็จที่กสิกรเคยมีมาในอดีต และมองหาข้อดีของการเป็นคนตัวเล็กให้ได้
กลยุทธ์ Asset-light Digital Expansion
ท่ามกลางสภาวะที่มีคู่แข่งเยอะมาก กสิกรค้นพบข้อดีของการเป็นคนตัวเล็กที่สามารถนำไปเป็นจุดแข็งเพื่อนำเสนอแก่นักลงทุนได้ นั่นคือการใช้ ‘วิชาตัวเบา’ หรือ Asset-light Digital Expansion คือการขยายธุรกิจโดยใช้ดิจิทัลแบบ Asset-light ใช้การลงทุนที่เบา โดยอาศัยพาร์ตเนอร์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย แทนที่จะตั้งสาขามากมายในประเทศจีน ก็ตั้งเพียงไม่กี่สาขา แล้วไปเป็นพาร์ตเนอร์กับคนอื่น จากนั้นเข้าหาลูกค้าด้วยวิธีการอื่นๆ โดยใช้ดิจิทัลเป็นตัวนำ การใช้วิชาตัวเบานี้จำเป็นต้องมีผู้นำที่กล้าพอที่จะ Unlearn ประสบการณ์และความสำเร็จของตนเอง เพื่อไปบุกตลาดใหม่ ความยากอยู่ที่ แต่เดิมธนาคารหลักในประเทศไทยเวลาลงตลาดจะใช้กลยุทธ์ Super Heavy Asset คือการลงทุนกับอาคารสถานที่ เครื่องมือต่างๆ อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว สังเกตได้จากจำนวน Transaction ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของแอปฯ Mobile Banking อย่าง K PLUS เมื่อเทียบกับช่องทางอื่นที่รวมกันแล้วยังไม่เท่าช่องทางเดียว
Mindset ของการเกิดใหม่
ระหว่าง Learn Unlearn และ Relearn สิ่งที่ยากที่สุดที่ทุกคนน่าจะคิดเหมือนกันคือการ Unlearn เพราะการละทิ้งความรู้ ประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ และความสำเร็จที่เคยมีมาเป็นเรื่องที่ยาก แต่การที่ไม่ Unlearn หลายๆ ครั้งนี่เองที่จะทำให้เราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะมัวแต่แบกความสำเร็จเดิมๆ เอาไว้ ดังนั้นการเกิดใหม่ของกสิกรไทยในตลาดใหม่ Mindset ที่มีก็ต้องใหม่มากเช่นกัน นอกจากการ Unlearn แล้ว ยังต้องอาศัยการ Relearn อะไรบางอย่าง และ Learn อะไรบางอย่างด้วย เพราะ 2 สิ่งนี้มักมาควบคู่กับคำว่าความล้มเหลว พิพิธกล่าวว่าเคยเจ๊ง 500 ล้าน และบางโครงการแอบทำโดยที่หัวหน้าไม่รู้ เพื่อแลกกับความล้มเหลวและบทเรียนที่จะได้รับกลับมา หลังจากปี 2020 เป็นต้นไป Mindset สำคัญที่ควรปลูกฝังในผู้บริหารหรือเด็กรุ่นใหม่คือต้องกล้าเรียนรู้ที่จะล้มเหลว หลายบริษัทฯ ยังคงติดกับดักนี้อยู่ เพราะไม่กล้าที่จะทิ้งความสำเร็จหรือบทเรียนแบบเดิมๆ ไป การเกิดใหม่ของ KBank ในตลาดภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจตลาดไปเรื่อยๆ น่าสนใจตรงที่เขาสามารถจัดตั้งบริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด แหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีและศูนย์รวมบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้น เพื่อสนับสนุนการทำงานของธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีน นี่คือตัวอย่างของการใช้วิชาตัวเบาของผู้บริหารที่มี Mindset ที่พร้อม Unlearn อยู่สม่ำเสมอ
ลองผิดลองถูก แต่ต้อง ‘เรียนรู้’
การเรียนรู้จากความผิดพลาด ทำให้เกิดการเรียนรู้และเกิดความเชื่อขึ้นมาใหม่ การอนุญาตให้ลองผิดลองถูกเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละองค์กร อย่างไรก็ตาม ต้องหาวิธีการทำ แต่ไม่ใช่กลัวความเสี่ยงไปเสียทุกอย่าง อนุญาตให้ทำแต่มีลิมิตที่กำหนดไว้ เมื่อล้มแล้วต้องรีบเรียนรู้และบูรณาการความล้มเหลวนั้นมาเป็นความรู้ให้ได้มากที่สุด ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในประเทศจีนหรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง คาดว่าน่าจะเห็นการ Transform ครั้งยิ่งใหญ่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเร็วแค่ไหน เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ส่วนในแง่ของคน วัฒนธรรม และคุณค่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนลงเรือลำเดียวกัน และอยู่ในคุณค่าเดียวกัน โดยเฉพาะผู้นำในองค์กรต้องระวังเรื่องการเสพสื่อที่ถูกต้อง ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราจะลงไปเล่นตรงนี้ใช่ไหม ถ้าใช่ ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เราและทีมงานมีความเชื่อ แล้วแพสชันจะตามมาเอง จากนั้นก็เป็นเรื่องของการลงมือทำ การลองผิดลองถูก และการเรียนรู้จะเกิดขึ้นในท้ายที่สุด เด็กรุ่นใหม่ไม่ยึดติดกับอะไรมากมาย และเป็นรุ่นที่มีความคิดสร้างสรรค์ ขอแค่นำเขาไปให้ถูกที่เท่านั้น สุดท้ายจะกลายเป็นองค์ความรู้ วิธีการทำงาน และวัฒนธรรมแบบใหม่ขององค์กร เมื่อมีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาให้เขาได้ลงมือทำและเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นเอง
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากวิชาตัวเบาของ พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มี 2 ข้อหลักๆ ดังนี้
- ต้องกล้าที่จะ Unlearn สิ่งเก่าๆ หรือลืมประวัติศาสตร์และความสำเร็จเดิมๆ ไปให้ได้ และกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา
- ในยุคนี้ แค่ความสามารถในการผ่านความยากลำบากไปได้ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะความยากลำบากนั้นมีเข้ามาตลอดเวลาและรวดเร็วมาก สิ่งที่ต้องทำคือการติดอาวุธเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ กล้าที่จะล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และรีบเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาตัวเองไปให้ได้มากที่สุด
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Advertising Director ธัญญ์นรี นิธิพัชรโรจน์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Music westonemusic.com