×

เจ้าสัวธนินท์ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว แล้วความล้มเหลวเสียใจได้กี่วัน

12.10.2019
  • LOADING...

‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ 

 

หนึ่งประโยคสำคัญจากเจ้าสัวธนินท์ ที่ตั้งใจสื่อสารไปถึงนักอ่าน ผ่านหนังสือเล่มใหม่ของเขา 

 

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสแห่งบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อซีพี เขียนหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ตลอดชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันที่อายุย่างก้าวเข้าสู่เลข 8 นอกจากมุมมองส่วนตัวที่ไม่ได้หาอ่านกันได้บ่อยๆ เนื้อหาข้างในยังอัดแน่นไปด้วยบทเรียนเกี่ยวกับธุรกิจ ทั้งเรื่องตัวเลข ขาดทุน ความสำเร็จ ความผิดพลาด การบริหารคน และอื่นๆ

 

เคน-นครินทร์ สรุปบทเรียนสำคัญจากหนังสือ ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ ในรายการ The Secret Sauce

 


 

ใครมีเทคโนโลยี ก็สามารถดึงเงินจากอากาศได้

จุดเริ่มต้นในการสร้างเนื้อสร้างตัวของเจ้าสัวธนินท์ มาจากการขายไก่

 

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ไก่นับว่าเป็นสินค้าราคาแพง ด้วยปัญหามาจากกำลังผลิตที่ไม่เพียงพอ ไก่ในยุคนั้นนิยมถูกเลี้ยงไว้ตามใต้ถุนบ้าน หรือถ้าเป็นธุรกิจ กำลังเลี้ยงมากที่สุดก็ไม่เกิน 300 ตัว ยังไม่มีอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ที่จริงจัง ในขณะที่สหรัฐอเมริกาสามารถเลี้ยงได้ 10,000 ตัวต่อคน

 

เจ้าสัวจึงกลับมาทบทวนว่า เพราะอะไรประเทศไทยจึงติดปัญหาเรื่องนี้ จนพบว่ามาจากการขาดแคลนเทคโนโลยี เขาจึงตัดสินใจนำเข้าเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เพราะเชื่อว่า ใครก็ตามที่มีมีเทคโนโลยี คนนั้นจะสามารถดึงเงินจากอากาศได้

 

เทคโนโลยีทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลง แม้ต้องลงทุนมากขึ้นก็ตาม เขาสมมติตัวเลขว่า เคยขายของ 100 บาท ต้นทุน 50 บาท กำไร 50 บาท แต่ถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทุ่นแรง ต้นทุนเหลือ 30 บาท กำไร 70 บาท เท่ากับเราจะมีกำไรเพิ่มอีก 20 บาท ซึ่งเจ้าสัวเรียกกำไรในส่วนนี้ว่า ‘กำไรจากอากาศ’ และยังมีอีกสูตรที่เรียกได้ว่า ‘3 สูง 1 ต่ำ’ คือ ลงทุนสูง ประสิทธิภาพสูง คุณภาพสูง แต่ต้นทุนต่ำ

 

จังหวะคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ในหนังสือ ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ มีรูปใบอนุญาตลงทุนระบุตัวเลข 0001 ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นว่าซีพีเป็นนักลงทุนต่างชาติรายแรกหลังจากเมืองจีนเปิดประเทศ ในขณะที่บริษัทต่างชาติเจ้าอื่นมองว่าปัจจัยโดยรวมของที่นั่นยังไม่พร้อมแก่การลงทุน แต่ซีพีไม่คิดแบบนั้น เขากลับมองว่า “เราไม่รอให้เขาพร้อม แต่เราจะเข้าไปทำให้ความพร้อมเกิดขึ้น เพราะจังหวะการเข้าไปเป็นบริษัทแรก ได้เปรียบเสมอ”

 

เห็นก่อนทำก่อน อย่ามองอะไรเพียงมุมเดียว

เรื่องราวก่อนมาเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนนของเมืองไทย เจ้าสัวมองเห็นโอกาสในการเปิด 7-Eleven ที่บ้านเรา แต่สหรัฐฯ กลับไม่ยอมด้วยเหตุผลที่ว่า รายได้ประชากรต่อหัวหรือ GDP ต่ำเกินไป เขาจึงแย้งกลับไปด้วยมองมุมที่แตกต่าง เขาคิดว่าประชากรไทยมีรายได้ต่ำก็จริง แต่ความหนาแน่นมากกว่าสหรัฐฯ ถึง10 เท่า ทำให้โอกาสในการสร้างรายได้รวมที่ไทยไม่แพ้ที่สหรัฐฯ เหมือนกัน แถมยังมีการลงทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจาก ที่ดิน ค่าจ้างแรงงานราคาต่ำกว่า

 

เจ้าสัวเล่าเสริมถึงเรื่องนี้ในงานเปิดตัวหนังสือด้วยว่า คนฉลาดชอบทำอะไรง่ายๆ ได้ความสำเร็จไม่ยาก ในขณะที่ตัวเขาเองกลับชอบเรื่องยากๆ ที่ดูมีอนาคต หากมีโอกาสยิ่งใหญ่ เขายิ่งพาตัวเองเข้าไปหาสิ่งนั้น เปรียบเหมือนนักมวยที่ขึ้นต่อยเพียงลำพัง แม้จะสะดุดขาตัวเอง แต่ถ้านับ 1-10 แล้วลุกขึ้นมาได้ คนคนนั้นก็สามารถคว้าชัยได้อยู่ดี เพราะไม่มีคู่ต่อสู้ เหมือนแข่งกับตัวเอง และตอบรับความสำเร็จโดยปราศจากคู่แข่ง

 

หลักการบริหารความเสี่ยง 

‘เสี่ยงได้แต่ต้องไม่ให้บริษัทล้มละลาย’

 

แนวคิดสำคัญในการบริหารธุรกิจของเจ้าสัว ใช้หลักการบริหารความเสี่ยงแบบ 70/30 วิธีคิดมาจากการประเมินว่าถ้าลงทุนไปแล้ว 70% มีโอกาสได้ แต่ความเสี่ยงที่เหลืออยู่คือ 30% เขาจะลงมือทันที

 

กลับกันถ้าความเสี่ยงมีแค่ 10% แต่โครงการใหญ่มากจนทำให้ซีพีอยู่ในความไม่ปลอดภัย จนถึงขั้นมีโอกาสล้มละลาย เขาก็ไม่เอาด้วยเช่นกัน 

 

เมื่อเจอวิกฤต อย่าเหลิง อย่าท้อ และอย่าตาย

เจ้าสัวยอมรับว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเคยล้มเหลวชนิดมืด 8 ด้าน เพราะหนี้ที่เคยไปกู้มาทวีมูลค่าสูงขึ้น ยกตัวอย่างหนึ่งในหน่วยธุรกิจอย่าง True Corporation เขาต้องสู้กับความไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้าง วิกฤตเรื่องหนี้ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

 

สิ่งแรกที่เขาทำในตอนนั้น คือการปิดห้องเรียกพี่น้องทั้ง 4 มาพูดคุย เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เขาบอกทุกคนว่า เขาจะไม่ทำให้ธุรกิจเดิมของครอบครัวต้องล้มละลาย นั่นหมายความว่าสินค้าเกษตรยังอยู่ แต่ธุรกิจใหม่ต้องขายทิ้ง ที่เหลือขอให้ทุกคนไปเที่ยวพักผ่อนอย่างสบายใจ เขาจะอาสารับผิดชอบเรื่องนี้เอง

 

ต่อมา เขาต้องตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออก เขาเปรียบเทียบกับเรือที่ใกล้จม การโยนของไม่จำเป็นทิ้งเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่าอะไรที่ต้องรักษาไว้อยู่ เขาเลือกรักษาธุรกิจที่โลกยอมรับและมีอนาคต

 

อีกเรื่องที่เขาทำคือการขยายธุรกิจ แม้ดูย้อนแย้งกับอุปสรรคที่ต้องเจอ แต่เจ้าสัวเชื่อว่า ถ้าธุรกิจที่ยังอยู่ไม่มีการขยาย จะเหลือเพียงอาการทรงๆ และรอวันทรุด พนักงานจะเริ่มขาดความเชื่อมั่น เขาจึงต้องทำให้ธุรกิจเติบโต เพื่อสร้างขวัญกำลังใจพร้อมให้รายได้กลับคืนกระเป๋าสตางค์ 

 

ก่อนเกิดวิกฤตจงอย่าเหลิง หลังเกิดวิกฤตจงอย่าท้อ และสำคัญที่สุดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จงอย่าตาย

 

จาก ‘กงสี’ สู่ ‘มืออาชีพ’

เจ้าสัวพยายามเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัวสู่ธุรกิจสังคม ด้วยการมอบหมายหน้าที่และอำนาจให้กับคนนอก เชิญผู้เชี่ยวชาญมาปรับโครงสร้างองค์กร เชื่อใจและไว้ใจกับคนอื่นที่อยู่นอกเครือญาติ ลูกหลานไม่มีสิทธิ์แซงคิว พวกเขาต้องออกไปสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อให้ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ และไม่เอาธุรกิจที่อยู่ตัวแล้วให้ลูกหลานทำ

 

เชื่อมั่นเรื่องการบริหารคน

ผู้นำต้องเข้าใจก่อนว่าผู้บริหารเก่งๆ ต้องการอะไร อำนาจ เกียรติยศ และเงินทอง

 

เจ้าสัวเชื่อว่าอำนาจสำคัญที่สุด เพราะมันทำให้เขาได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตัวเองออกมา หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยเกียรติยศ ให้ตำแหน่งที่ดี ให้คนอื่นยอมรับในตัวตน และท้ายสุดจึงเป็นเงินทอง 

 

ผู้นำต้องสร้างคนที่เก่งกว่าตัวเอง

หลายคนอาจเคยเห็น เจ้านายที่มีลูกน้องรายล้อมแต่ตัวเองยังทำงานหนักอยู่คนเดียว สาเหตุของเรื่องนี้มักมาจาก เจ้านายยังคงเชื่อว่าตัวเองเก่งที่สุด และไม่มีใครทำหน้าที่ได้ดีแทนตนได้

 

เจ้าสัวแนะนำว่า ผู้นำที่ดีต้องใจกว้างพอที่จะมองเห็นจุดเด่นหรือข้อดีของคนอื่น รู้จักใช้คนให้เป็น ไม่ลืมเคารพและให้เกียรติพวกเขา และเมื่อมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด ต้องไม่ว่ากล่าวคนผู้นั้น แต่ต้องทำให้รู้ตัวเองว่า มีอะไรผิดพลาด ทำไมถึงผิดพลาด แล้วจะปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างไร

 

‘เถ้าแก่น้อย’ คือ ‘ลูกวัวที่ไม่กลัวเสือ’

เจ้าสัวสร้างหลักสูตรเถ้าแก่น้อย ปลุกปั้นผู้นำแห่งอนาคต เขานำเสนอวิธีคิดเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ เขาเชื่อว่าในบริษัทใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงยาก ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่มาช่วยเสริมทัพ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีกรอบความคิดเดิมมาครอบงำ ไม่มีความสำเร็จเดิมให้ยึดเตรียม ไม่เกรงกลัวต่อความผิดพลาด

 

เขาจึงให้ลูกวัวที่ไม่กลัวเสืออย่างคนรุ่นใหม่มาสร้างสรรค์อะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่มาจากความมั่นใจ ไม่เกรงใจอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น

 

ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว

โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีความกดดันรอบตัว วันนี้เราสำเร็จพรุ่งนี้อาจล้มเหลว วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจจะมีคนที่เก่งกว่า จึงต้องหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ยุคนี้ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า

 

ท้ายสุด ผมย้อนกลับไปที่คำถามของ สุทธิชัย หยุ่น “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว แล้วความล้มเหลวเสียใจได้กี่วัน”

 

เขาตอบว่า “เมื่อล้มเหลวก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรกลุ้มใจเกิน 1 วัน เพราะความกลุ้มใจไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ไม่มีใครสำเร็จในทุกเรื่อง แต่ต้องรู้ว่าล้มเหลวเพราะอะไร เพื่อเป็นกรณีศึกษาไม่ให้ล้มเหลวอีกครั้ง”

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Interns อสุมิ สุกี้คาวา, ณัฏฐนิช ผิวสว่าง

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X