×

เปิดวิสัยทัศน์ ‘พลังงานบริสุทธิ์’ ฝันเป็น ‘เทสลาแห่งอาเซียน’

13.07.2019
  • LOADING...

สมโภชน์ อาหุนัย ซีอีโอแห่ง ‘พลังงานบริสุทธิ์’ เขาคือมหาเศรษฐีของประเทศไทย ที่เพิ่งถูกจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 10 จากนิตยสาร Forbes ประสบความสำเร็จทางด้านการทำธุรกิจและมีชีวิตหลากหลายด้านที่น่าสนใจ จนสื่อต่างประเทศหลายสำนักต่างตั้งฉายาให้เขาเป็น ‘อีลอน มัสก์ แห่งประเทศไทย’

The Secret Sauce เอพิโสดนี้ เคน นครินทร์ แชร์ประสบการณ์จากการได้พูดคุยถึงวิสัยทัศน์ของคุณสมโภชน์ในทริปเยี่ยมชมโรงงาน Amita Technologies Inc. โรงงานแบตเตอรี่ของพลังงานบริสุทธิ์ ณ ประเทศไต้หวัน สถานที่ซึ่งเปรียบเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ความฝันของคุณสมโภชน์นั้นเป็นจริง





สมโภชน์ อาหุนัย ชายผู้มีความฝันอยากเป็นคนแรกของประเทศไทยที่สามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ด้วยตัวเอง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีใครสามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ คนไทยยังแค่รับจ้างผลิตหรือสร้างเทคโนโลยีแล้วนำออกไปขาย ไม่เคยมีแบรนด์เทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ไม่เคยมีการสร้างนวัตกรรมเบ็ดเสร็จ 100%

เบื้องหลังวิสัยทัศน์ของ สมโภชน์ อาหุนัย คืออะไร ทำไมเขาถึงกล้าฝันใหญ่ แถมเริ่มต้นลงมือทำจริงไปแล้วอีกด้วย



‘พลังงานบริสุทธิ์’ เป็นบริษัทเกี่ยวกับอะไร

ย้อนกลับไปเท้าความกันสักนิด สำหรับคนที่อาจยังไม่ค่อยรู้จักบริษัทนี้

พลังงานบริสุทธิ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 13 ปีก่อน สมัยนั้นคุณสมโภชน์มีทรัพย์สินส่วนตัวอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท เขาเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการที่บริษัท หยวนต้า ประเทศไทย จำกัด แต่เมื่อล่าสุดจากตัวเลขการรายการของนิตยสาร Forbes เขามีทรัพย์สินถึง 90,000 ล้านบาท ภายในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ เขามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่าตัว จากการมองการณ์ไกลในธุรกิจที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ และรู้จักใช้กลไกทางตลาดหุ้นในการเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง

ภาพรวมธุรกิจของพลังงานบริสุทธิ์มุ่งเน้นเป็นผู้นำทางด้านการผลิตเทคโนโลยีที่มาจากพลังงานทางเลือก มีผลประกอบการในปี 2561 รายได้รวมอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท มีกำไรสุทธิเกือบ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% และ 30​% ตามลำดับจากปีก่อน





คุณสมโภชน์กำลังลงทุนธุรกิจอะไรที่ไต้หวัน

เหตุผลที่พลังงานบริสุทธิ์เชิญสื่อหลายสำนักเดินทางไปไต้หวันในครั้งนี้ เพราะเมื่อปี 2559 เขาได้ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท Amita Technologies Inc. ผู้นำธุรกิจแบตเตอรี่ประเภทลิเธียม ไอออน โพลิเมอร์

หลายครั้งการทำธุรกิจ เราอาจได้ยินคำว่า The New S-Curve คุณสมโภชน์ยอมรับว่า กำไรของบริษัทเขากำลังลดลง เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทที่ต้องเผชิญปัญหานี้ เพราะกำไรจากบางส่วนที่ทำได้กำลังจะหมดลง แม้เป็นสิ่งที่พอคาดเดาได้ แต่คุณสมโภชน์จะไม่มีวันอยู่นิ่งดูดายปล่อยให้ธุรกิจตาย เขาต้องหา The New S-Curve หรือธุรกิจใหม่ เข้ามาทดแทนส่วนที่หายไป ซึ่งคำตอบของเขาคือ ‘แบตเตอรี่’ นั่นเอง

แน่นอน ต้องเกิดคำถามต่อว่า แล้วทำไมต้องเป็นแบตเตอรี่?

ลองคิดตามให้ดี แบตเตอรี่คือเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการพลิกเกม ทำให้ ‘โรงงานไฟฟ้าพลังงานทางเลือก’ แปรสภาพมาเป็น ‘โรงงานไฟฟ้าหลัก’ จาก ‘เลือก’ เป็น ‘หลัก’ ด้วยการกักเก็บพลังงานไว้ใช้ผ่านแบตเตอรี่ ทำให้จ่ายไฟได้อย่างสม่ำเสมอ แม้ในช่วงเวลาที่ไม่มีสายลมหรือแสงแดด ดังนั้นยิ่งแบตเตอรี่ดีเท่าไร ยิ่งส่งผลบวกกับพลังงานทางเลือกมากเท่านั้น 


คุณสมโภชน์จึงลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ประเภทลิเธียม ไอออน โพลิเมอร์
50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในประเทศไทย มีมูลค่าการลงทุนสูงถึงแสนล้านบาท แม้ตอนนี้เขาเริ่มต้นที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี แต่ในอนาคตจะยิ่งขยายไปในแผนระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี





ทำไมต้องเป็นบริษัท Amita Technologies Inc.

คุณสมโภชน์เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะตัดสินใจเลือกที่นี่ เขาใช้เวลาค้นหาอยู่ประมาณ 2 ปี พูดคุยตกลงอีก 3 ปีกับหลายที่ทั่วโลก โดยเหตุผลที่ตัดสินใจว่าต้องเป็นอมิตา มาจากเทคนิคการถามคนอื่น เขาเลือกที่จะถามหลายๆ คน พอได้คำตอบ ก็เอาไปถามคนใหม่ต่อ เขาบอกว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่ง แต่คุยกับคนเยอะ กล้าขอความรู้ และหมั่นเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง



 


Amita Technologies Inc. เป็นโรงงานที่อยู่ใกล้ละแวกชุมชน ก่อตั้งมาได้ 19 ปี แม้จะผลิตแบตเตอรี่ได้ดี การันตีด้วยรางวัลระดับโลก แต่อีกมุมหนึ่ง พวกเขาไม่เก่งเรื่องการสร้างแบรนด์ หรือไม่รู้วิธีต่อยอดจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีเท่าไรนัก คุณสมโภชน์มองเห็นจุดนี้ จึงอยากพัฒนา Know How ที่มี เพื่อมุ่งสู่การสร้างเทคโนโลยีใหม่ของตัวเอง

นี่คือวิธีคิดในอีกมุมของการซื้อเทคโนโลยี ที่ไม่ใช่แค่ซื้อเพื่อให้มีใช้ แต่มองลึกไปถึงการต่อยอด เพราะเขากำลังสร้างโรงงานใหม่ Bluetech City ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่โดยเฉพาะ

เช่นเดียวกับบริษัทอมิตาก็รู้สึกวิน-วินกับเรื่องนี้ เพราะอย่างที่เล่าไปว่า เขาไม่เก่งเรื่องการสร้างธุรกิจ เขาเป็นเหมือนโออีเอ็มที่ผลิตสินค้าให้บริษัททั่วโลกมามากมาย แต่ไม่เคยคิดสินค้าที่ต่อยอดไปขายในตลาดได้ พลังงานบริสุทธิ์จึงเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้อย่างดี

 



สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการให้สัมภาษณ์ของคุณสมโภชน์

ช่วงหนึ่งของการให้สื่อฯ เปิดประเด็นสัมภาษณ์คุณสมโภชน์ มีนักข่าวท่านหนึ่งถามว่า นิยามของพลังงานบริสุทธิ์คืออะไร และทำไมเขาถึงกล้าฝันใหญ่เช่นนี้

เขาตอบ พลังงานบริสุทธิ์ไม่ได้ต้องการทำแค่แบตเตอรี่ แต่ต้องการสร้าง Solution ต้องการเป็นแอปพลิเคชันโพรวายเดอร์ ต้องการยกระดับไปอีกขั้น เขาต้องการเป็นคนแรกของเมืองไทยที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยกำลังไฟไหม้หรือกำลังกินบุญเก่าของตัวเองอยู่ ไม่มีการลงทุนใหญ่ๆ ของต่างประเทศมานานแล้ว สิ่งเหล่านั้นกระจายออกไปอยู่ที่ประเทศอื่นเสียหมด ค่าแรงเราไม่ดึงดูดเท่าที่ควร คนไทยเคยชินกับการดึงคนนอกมาลงทุน แน่นอน 20-30 ปีที่ผ่านมา เราอาจเคยทำได้ ตลาดแรงงานพร้อม ค่าแรงถูก ทรัพยากรธรรมชาติมีให้ใช้ แต่สิ่งที่เราลืมไปคือ เราไม่เคยผลิตอะไรพวกนี้เองได้เลย เป็นกับดักรายได้ปานกลาง ถ้ารัฐบาลยังใช้วิธีคิดแบบเดิมอยู่ เขาเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตื่น EA อยากรีเทิร์นกลับมาให้ประเทศ คนไทยเก่งแต่ไม่ค่อยเชื่อกันเอง ชอบมองว่าคนไทยเป็นคนชั้นสองของประเทศ พอเราอยากผลิตแบตเตอรี่ ไม่ค่อยมีใครเชื่อ แต่พอต่างชาติพูดว่าจะทำ กลับเชื่อ ดังนั้น ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดเหล่านี้ ในอนาคตจะเหนื่อยแน่นอน

ถามต่อว่า ความเสี่ยงของการทำเรื่องนี้คืออะไร

เขาเชื่อว่า สิ่งที่กำลังจะทำเป็นเพียงไวรัสความต้องการเล็กๆ ของโลกใบนี้ พลังงานทางเลือกหรือรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแน่นอน เพราะมันมีปัจจัยชัดเจน การระบุเป้าหมายว่า อยากสร้าง 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เป็นเพียงจุดเล็กๆ ในมหาสมุทรของการสร้างพลังงานทางเลือก เขาไม่ได้กลัวสิ่งที่ทำมาไม่มีคนใช้ แต่กลัวทำแล้วไม่เพียงพอต่อความต้องการต่างหาก





วิธีคิดในการสร้างวิสัยทัศน์แบบ อีลอน มัสก์ แห่งประเทศไทย

1. หาข้อมูลให้ครบถ้วน คุณสมโภชน์ตอบว่า อาจเป็นเพราะเขาเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นมาก่อน เวลาจะวิเคราะห์หุ้นสักตัว เขาจะหาข้อมูลให้ละเอียดรอบด้าน คู่แข่งคืออะไร เทรนด์กำลังจะไปทางไหน อุตสาหกรรมขับเคลื่อนอย่างไร ต้องครบถ้วน

2.ใช้ Five Force Analysis การวิเคราะห์ปัจจัยกดดันทั้ง 5 ตั้งแต่ระดับสูง กลาง ต่ำ เพื่อวิเคราะห์การแข่งขัน

3. มีใจเป็นกลาง อย่าตัดสินใจจากจุดที่ไม่เหมาะสม เช่น อยากช่วยเพื่อน ชอบเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว หรือคิดเอาเองว่าน่าจะเป็นไปได้ และพยายามหาเหตุผลสนับสนุนเรื่องพวกนี้ของตัวเอง

4. กล้าลงมือทำ เขาสรุปทิ้งท้ายว่า ถ้าไม่เริ่มต้นตอนนี้ เราจะทำกันเมื่อไร ยกตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แน่นอนว่าหลายเจ้าอยากทำ อยากทำกำไร แต่ถ้าไม่เสี่ยง มันจะเติบโตได้อย่างไร

 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

 Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising