×

Game Changer ของศุภลักษณ์ The Mall Group, สมโภชน์ พลังงานบริสุทธิ์, พิพิธ Kbank และชานนท์ อนันดาฯ

28.05.2019
  • LOADING...

คุณจะทำอย่างไรถ้าโลกในตอนนี้ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง แต่เดินเป็นกราฟเอกซ์โพเนนเชียล

คุณจะทำอย่างไรในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว และมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย

คุณจะทำอย่างไรในโลกที่เต็มไปด้วยคำว่า Digital Disruption ที่กำลังถาโถมเป็นคลื่นสึนามิแทรกแซงทุกธุรกิจ

อะไรคือ Game Changer ที่สำคัญที่สุดในธุรกิจของคุณ

เคน-นครินทร์ สรุปประเด็นสำคัญพร้อมถอดบทเรียนที่ได้จากงานเสวนา Game Changer เกมใหม่เปลี่ยนอนาคต จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในรายการ The Secret Sauce

 



 



ภาพรวมในโลกธุรกิจ เมื่อกระแส Disruption เข้ามา มีอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ และความท้าทายที่รออยู่

 

  • สปีกเกอร์ทุกท่านเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันโลกไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง แต่เดินเป็นลักษณะของ ‘กราฟเอกซ์โพเนนเชียล’ (Exponential Graph)

    ความหมายของกราฟเอกซ์โพเนนเชียล คือกราฟที่เดินเป็นเส้นตรงอยู่ดีๆ ก็กระโดดขึ้นสูงเหมือนภูเขา แต่ไม่ใช่ภูเขาสามเหลี่ยมธรรมดา เพราะมันมีการเว้าเข้ามา แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของเทคโนโลยีที่พัฒนารวดเร็วก้าวกระโดดยกกำลังสอง และยังคงยกกำลังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้คนทำธุรกิจต้องรีบปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น  
  • พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย พูดถึงศัพท์ Gray Rhino หรือ แรดสีเทา ไว้ได้น่าสนใจ โดยเขาเล่าถึงสัตว์ 3 ชนิดที่เปรียบเทียบกับผลกระทบทางธุรกิจ

 

1.)ช้างตัวใหญ่ (Big Elephant) เปรียบเหมือนอิมแพกต์ขนาดใหญ่ที่ใครๆ ก็เห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้นักธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลง

2.) หงส์สีดำ (Black Swan) เปรียบเทียบกับภัยคุกคามที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น เหตุการณ์ 9/11 ที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อน

3.) แรดสีเทา (Gray Rhino) สัตว์ที่สื่อถึงภัยคุกคามหรือความเสี่ยงที่พอจะคาดเดาได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยกลับละเลย เช่น Digital Disruption ทุกคนรู้ว่ามันสำคัญ แต่มีแค่บางคนเท่านั้นที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

 

  • ชานนท์ เรืองกฤตยา แห่งอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ นำกราฟของเอเจนซี และสำนักข่าวหลายแห่งมาโชว์ให้ดู พร้อมเล่าว่าสมัยนี้องค์กรต่างๆ อย่าง Netflix หรือ Tesla ใช้เวลาเพียงไม่นานในการไต่เต้าขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของอุตสาหกรรม แต่อีกด้านก็มีธุรกิจอีกไม่น้อยที่ตกม้าตายอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ทำให้อายุเฉลี่ยของธุรกิจสั้นลง เมื่อเทียบกับสมัยก่อน

 

นอกจากนี้กราฟยังโชว์ข้อมูลให้เห็นอีกว่าคลื่นสึนามิ Digital Disruption ที่ถาโถมเข้ามา ยังทำให้ทุกวงการธุรกิจโดนแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นไอซีที, สื่อมวลชน, Professional Service, ธนาคาร, การเงิน, ประกัน, ค้าปลีกและพลังงาน เรียกได้ว่าโดนกันถ้วนหน้า ถ้าไม่รีบปรับตัวก็อาจกลายเป็นแรดสีเทาได้

 

  • ศุภลักษณ์ อัมพุช แม่ทัพจากบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าตอนนี้เราเหมือนอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ไม่ได้รบกันด้วยอาวุธ แต่รบกันด้วยการค้าและธุรกิจ ต่างฝ่ายต่างใช้เงินและความเป็นองค์กรใหญ่ไล่ถล่มกันไม่รู้จบ แม้มันอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่มีมนุษย์เสียชีวิต แต่มีหลายธุรกิจถูกฆ่าล้างจนล้มตายจากไป


สัตว์ที่เอาตัวรอดได้ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ใช่สัตว์ที่แข็งแรงที่สุด ไม่ใช่สัตว์ที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้รวดเร็วที่สุด



4 อุตสาหกรรมใหญ่ปรับตัวอย่างไร และอะไรคือ Game Changer ของผู้นำเหล่านี้

 

  • ธุรกิจธนาคาร
    แม้ว่าการทำธุรกิจประเภทนี้ยังกำไรดีอยู่ ธนาคารกสิกรไทยเป็นเจ้าแรกที่ผลักดันระบบ Mobile Banking เข้าสู่ตลาดได้สำเร็จ มีผู้ใช้มากที่สุดในประเทศ แต่ก็ไม่สามารถประมาทภัยคุกคามได้ เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป และมี FinTech เข้ามาแข่งขันหลายเจ้า ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามว่า “จะมีวันที่ธนาคารสูญพันธ์ุหรือไม่”  
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
    ชานนท์ แห่งอนันดาฯ พูดถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เขาตั้งคำถามชวนคิดมากมาย ทั้งเรื่องการมาถึงของรถยนต์ไร้คนขับ หรือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนไม่อยากกู้เงินธนาคารหลักล้านเพื่อเป็นหนี้ 30 ปีอีกต่อไป ธุรกิจอสังหาฯ ต้องปรับตัวหนักแค่ไหน แล้วแก่นแท้ของการทำธุรกิจในทุกวันนี้คืออะไร นอกจากทำที่อยู่อาศัยแล้ว ธุรกิจอสังหาฯ ต้องเสริมเรื่อง Mobility เข้าไปด้วยหรือเปล่า


ท้ายสุดแม้ชานนท์ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน แต่เขาได้ทิ้งท้ายด้วยโจทย์แห่งความท้าทายว่า “ในอนาคตแก่นของธุรกิจอสังหาฯ​ อาจเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับอนันดาฯ ที่อาจเริ่มเดินเกมใหม่ก็เป็นได้”

 

  • ธุรกิจพลังงาน

พลังงานฟอสซิลที่ใช้สารคาร์บอนกลายเป็นปัจจัยสำคัญของภาวะโลกร้อนและความไม่ยั่งยืน ทำให้ธุรกิจต้องหันมาใช้พลังงานทดแทน แต่ในมุมมองของสมโภชน์ อาหุนัย หัวเรือใหญ่แห่งบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ เขาคิดว่าโจทย์ใหญ่คือการหาพลังงานที่เป็น Decarbonized และ Decentralized ให้ได้ รวมถึงโยนคีย์เวิร์ดสำคัญอย่างการทำแบตเตอรี่ หรือแหล่งกักเก็บพลังงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ เขาเชื่อในการสร้างนวัตกรรมของตัวเอง เพื่อให้ก้าวนำคนอื่นได้อยู่เสมอ

 

  • ธุรกิจค้าปลีก
    โอกาสและความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกมีด้วยกัน 3 เรื่อง 1) Globalization โลกไร้พรมแดน ทำการค้าขายแค่ในประเทศไม่เพียงพออีกต่อไป 2) Digitalization โลกดิจิทัลเกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจต้องไม่มองข้าม 3.) Tourism สนใจเรื่องการท่องเที่ยว เพราะประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

    ในฐานะที่ศุภลัษณ์ ทำธุรกิจค้าปลีกมาอย่างยาวนาน เธอกำลังพยายามมองหา The Winning Formula หรือสูตรลับของชัยชนะว่ามันคือะไร แม้เธอยังไม่เฉลยคำตอบ แต่กลับเปิดเผยภาพลับที่เราพอจะเปรยๆ ให้ฟังได้ว่า เธอมีโอกาสไปคุยกับคนเก่งระดับโลกมากมาย เพื่อเรียนรู้วิสัยทัศน์ และวิธีคิดของคนเหล่านั้น เธอเสริมท้ายด้วยว่า เธอจะไม่หยุดคิดใหญ่ ฝันใหญ่ จนกว่าจะได้สูตรลับ และพาองค์กรไปถึงเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

 

สรุป Game Changer
1. ธุรกิจทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำ Partnership เพื่อหาจุดลงตัวให้ได้มากที่สุด
2. สร้าง Mindset แห่งการฟัง ผู้นำต้องฟังคนรุ่นใหม่ เพราะทุกอย่างอยู่ในมือคนรุ่นนี้
3. Decentralize หมดยุคบริหารองค์กรแบบบนลงล่าง หรือกระจายจากศูนย์กลาง เปลี่ยนเป็น Distribution สร้างแผนกเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อบริหารงาน และเรียนรู้ร่วมกัน
4. Outside-in อ่านเกมข้างนอกให้ออก และนำกลับมาพัฒนางานข้างในให้ดียิ่งขึ้น
5. ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้บริโภคมีความสุขมากที่สุด เพราะมันคือพื้นฐานขั้นแรกของการทำงาน หรือการทำธุรกิจเพื่อมาตอบโจทย์ความรู้สึกเหล่านั้นของพวกเขา  

 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising