×

กลยุทธ์นกบินตัววี กับ 5 วิธีคิดสร้าง Huawei เป็นแบรนด์ทรงอิทธิพลของโลก รายได้ 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี

19.04.2019
  • LOADING...

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ Huawei แบรนด์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประเทศจีน สามารถลบภาพจำเดิมๆ ของธุรกิจจีนที่มักถูกตีตราว่าชอบลอกเลียนแบบ และเปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีที่น่าจับตามองจนเป็นที่หวาดกลัวของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

 

เคน นครินทร์ เล่าถึง 5 เคล็ดลับความสำเร็จของ Huawei สุดยอดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกในรายการ The Secret Sauce

 

 


 

คุณเคยสังเกตไหมว่าทำไมฝูงนกถึงมักบินเป็นรูปตัววี

 

เหตุผลเพราะนกตัวที่บินอยู่ปลายแหลมของตัววีคือนกจ่าฝูงที่คอยนำทางตัวอื่นๆ แต่มันไม่ได้ทำหน้าที่นี้อยู่เพียงลำพัง เพราะเมื่อไรที่เริ่มอ่อนกำลัง นกตัวอื่นจะผลัดขึ้นมาทำหน้าที่นี้แทน เปรียบเสมือนการกระจายกำลังกันทำงานอย่างเป็นระบบ

 

วิถีบินของฝูงนกกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Huawei ใช้วิธีเดียวกันในการบริหารองค์กร

 

 

Huawei แบรนด์ที่เริ่มต้นจากพนักงานเพียง 6 คน ก่อตั้งโดยชายผู้เป็นทั้งอดีตทหารและวิศวกรหนุ่มนามว่า ‘เหรินเจิ้งเฟย’

 

ผ่านมากว่า 30 ปี Huawei กลายเป็นแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประเทศจีน มีพนักงานสูงถึง 180,000 คน Huawei สร้างบริการให้กับประชากรทั่วโลกถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด และมีมูลค่าบริษัทติด Top 100 ของโลก

 

Huawei ได้เปรียบตรงที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลจีน แถมยังผลิตสินค้าครอบคลุมออกมาเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในปี 2018 Huawei ทำรายได้ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (3.3 ล้านล้านบาท) มีสัดส่วนจากสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียง 39.3% ในขณะที่รายได้ 49.3% มาจากธุรกิจเครือข่ายโทรคมนาคม

 

 

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ Huawei  

1. วิจัย วิจัย และวิจัย

Huawei ถือเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถึงขั้นว่าในปี 2017 พวกเขาตัดรายได้เกือบ 15% เพื่อลงทุนด้านนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ Huawei ยังไม่ได้วิจัยอยู่แค่ในประเทศตัวเอง แต่ได้ร่วมงานกับ Innovation Center ทั่วโลก

 

ยกตัวอย่างฟีเจอร์สุดฮือฮาอย่างกล้องถ่ายรูป Huawei ร่วมงานกับบริษัท Max Berek Innovation Lab พาร์ตเนอร์ของ Leica จากเยอรมนี ทำให้มีเลนส์กล้องที่สุดยอดเหนือกว่าคู่แข่ง หรือการร่วมงานกับบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีของแบรนด์ระดับลักชัวรีจากฝรั่งเศส ทำให้ Huawei มีสินค้าที่พรีเมียมต่างจากแบรนด์อื่นๆ ของประเทศจีน

 

อีกสิ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ (Artificial Intelligence) ที่ Huawei ให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น พวกเขามองเป้าหมายการพัฒนาเรื่องนี้ในระยะยาว พร้อมเข้าร่วมโครงการ Made in China 2025 ของประเทศจีน แคมเปญผลักดันให้ประเทศหันมาใช้ระบบนี้แทบทั้งหมดให้ได้

 

การสร้างนวัตกรรมของ Huawei ก็น่าสนใจไม่น้อย เขาใช้แนวคิดที่เรียกว่า Reverse Engineering กลยุทธ์จากการเติบโตภายในองค์กรที่เมื่อสนใจธุรกิจของใครก็นำเทคโนโลยีของเขามาถอดเป็นชิ้นๆ เพื่อทำการเรียนรู้ วิเคราะห์ อาศัยการวิจัยและค้นคว้าของตัวเองมาพัฒนาต่อยอดจนได้ผลงานที่ดียิ่งขึ้น​

 


2. Customer First Attitude ลูกค้าคือศูนย์กลาง

Huawei ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง

 

ย้อนกลับไปสมัยที่ Huawei เพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน ตลาดโทรคมนาคมหรือผู้ให้บริการด้านการสื่อสารถูกครอบครองโดยยักษ์ใหญ่จากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ Huawei ต้องดิ้นรนเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เช่น ประเทศในแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือแม้กระทั่งบนภูเขาสูง บางที่ทุรกันดารมาก บางที่ยังมีการรบราฆ่าฟัน แต่พวกเขาก็มุ่งมั่นตั้งใจไปเปิดพื้นที่บริการใหม่ๆ ในสถานที่เหล่านั้นจนชนะใจกลุ่มลูกค้าและกลายเป็นตัวเลือกในที่สุด

ในยุคที่คุณภาพของสินค้าและบริการของ Huawei ยังไม่ค่อยดีเท่าไร พวกเขาจึงเน้นไปที่ความใส่ใจในการบริการ แม้จะถูกดุด่าแค่ไหน พนักงานก็เต็มใจขอโทษลูกค้าและเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

ครั้งหนึ่ง สตีเฟน โรช Chief Economist จาก Morgan Stanley ตั้งใจไปเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของ Huawei ในเมืองเซินเจิ้น ปรากฏว่าเหรินเจิ้งเฟยไม่ออกมาต้อนรับด้วยตัวเอง แต่ส่งผู้บริหารท่านอื่นออกมาแทน ทำให้โรชไม่พอใจว่าทำไมเขาถึงกล้าปฏิเสธคนที่เอาเงินทุนจำนวนมหาศาลมาให้ถึงที่ ท้ายสุดเหรินเจิ้งเฟยให้เหตุผลกับเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเขาจะทุ่มเทเวลาไปกับการพบปะลูกค้าเท่านั้น ไม่ว่าลูกค้าจะเป็นใครมาจากไหน เขาพร้อมเจอลูกค้าเสมอ แต่ถ้าไม่ใช่ลูกค้า เขาก็ไม่อยากเสียเวลา

 

อีกเหตุการณ์ที่สะท้อนแนวคิด Customer First Attitude ได้เป็นอย่างดีคือตอนที่ Huawei ตั้งใจพัฒนาระบบโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกลของประเทศจีน ปรากฏว่าพวกเขากลับเจอปัญหาที่คาดไม่ถึง นั่นคือเรื่องหนูที่มักมาแทะสายสัญญาณต่างๆ เกิดการรบกวนอยู่บ่อยครั้ง ถ้าเป็นบริษัทฝั่งตะวันตกอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของลูกค้า ไม่เกี่ยวกับองค์กร แต่สำหรับ Huawei พวกเขากลับมองว่าเป็นเรื่องน่ากังวลที่ต้องรีบรับผิดชอบโดยเร็วที่สุด ทำให้พวกเขาต้องเร่งพัฒนาสายสัญญาณที่มีคุณภาพ สามารถป้องกันหนูแทะได้ แถมพวกเขายังนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ต่อในประเทศแถบตะวันออกกลาง สร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้หลายพื้นที่เลยทีเดียว

 

3 เรื่องนี้เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า Huawei คือแบรนด์ที่ใส่ใจลูกค้าอย่างแท้จริง และเป็นเหตุผลสำคัญของ Huawei ในการตัดสินใจไม่เข้าตลาดหุ้นเพื่อป้องกันการแทรกแซง Core Value ขององค์กรนั่นเอง

 

3. พนักงานทุกคนคือเจ้าของบริษัทที่แท้จริง
Huawei อยากได้การทำงานแบบถวายหัวจากพนักงานทุกคน ถึงขั้นในช่วงเริ่มต้นของบริษัท พนักงานต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน โดยมีสวัสดิการเป็นผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม เพราะทำงานดึกจนต้องค้างแรมที่ออฟฟิศ

 

ปัจจุบันด้วยบริษัทที่เติบโตขึ้น ทำให้กระบวนการทำงานดีขึ้นตามลำดับ แต่ Huawei ยังคงโฟกัสการทำงานของพนักงานไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่ใครหลายคนต้องอิจฉาพนักงาน Huawei คือการที่เหรินเจิ้งเฟยเลือกถือหุ้นในบริษัทเพียง 1.4% นอกนั้นเขายกให้พนักงานที่ทำงานได้ดีเต็มศักยภาพ ในปี 2014 มีผลรายงานให้เห็นว่าพนักงาน 80,000 กว่าคนเป็นเจ้าของหุ้นส่วนสูงถึง 90% ถือว่าเป็นการซื้อใจพนักงานที่มาถูกทาง เพราะทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเจ้าขององค์กรด้วยอีกคน

 

 

4. ใช้ระบบซีอีโอแบบหมุนเวียน

อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปในตอนต้นบทความ Huawei ใช้ระบบหมุนเวียนผู้นำเช่นเดียวกับฝูงนก เหรินเจิ้งเฟยไม่อยากเป็นหัวหน้าเผ่าเพียงคนเดียว เพราะเขาไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เขาจึงใช้ระบบ The Rotating CEO System ระบบทำงานโดยการแต่งตัวซีอีโอ 3 คน ทำงานหมุนเวียนกันทุก 6 เดือน เพื่อดูแลความเป็นไปของบริษัท

 

ถามต่อว่า Huawei ใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือกคนเหล่านี้ พวกเขาใช้ระบบประชาธิปไตยในการโหวตจากพนักงานกว่า 80,000 คน (ข้อมูลปี 2014) เลือกตัวแทน 60 คน จาก 60 คนเลือกแคนดิเดตเพื่อเป็นจัดตั้งทีม Standing Committee Member หรือคณะกรรมการ 4-7 คนเพื่อเป็นบอร์ดคัดคณะซีอีโออีกที โดยเหรินเจิ้งเฟยก็ยังเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเช่นเดิม

 

ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ระบบนี้ 1.ไม่มีใครทำหน้าที่เดิมนานเกินไป 2.มีความเป็นประชาธิปไตยในการเลือก 3.เหรินเจิ้งเฟยได้ถอยออกมาเป็นโค้ชคอยให้คำปรึกษา มีเวลาทำงานด้านอื่นมากขึ้น

 

5. พลังแห่งความคิด

เหรินเจิ้งเฟยเป็นคนที่ไม่ชอบตัดสินใจแบบเร่งด่วน ทุกครั้งที่เขาต้องตัดสินใจ เขามักใช้เวลาในการคิดไตร่ตรองให้ดีที่สุด รวมถึงเขายังพยายามพัฒนาให้คนทำงานมีวิธีคิดที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น ตั้งกฎให้ผู้บริหารอ่านหนังสือที่อยู่นอกเหนืองานของตนเอง และนำสิ่งที่ได้มาพรีเซนต์ในที่ประชุม หรือการสร้าง Huawei University มหาวิทยาลัยที่เน้นสอนพนักงานให้เข้าใจถึงธุรกิจของ Huawei เป็นต้น

เราจะดื่มให้กับความสำเร็จจนสุดหัวใจ แต่ถ้าเมื่อไรที่พ่ายแพ้ เราจะต่อสู้จนตัวตาย

– เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง Huawei


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising