ทำไมค่าเงินบาทถึงแข็งค่า แข็งที่สุดในรอบ 6 ปี และแข็งที่สุดในเอเชีย จะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง เงินบาทแข็งดีหรือไม่ดี
เคน นครินทร์ ชวน เป็นหลิว-ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์ นักข่าวเศรษฐกิจประจำ THE STANDARD มาร่วมพูดคุยและวิเคราะห์สถานการณ์ รวมถึงให้คำแนะนำสำหรับนักธุรกิจและผู้ประกอบการ ใน The Secret Sauce: Executive Espresso
ส่องสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในเอเชีย และสกุลเงินหลักของโลก
ค่าเงินบาทแข็งค่า หมายถึง เราจะใช้เงินบาทน้อยลงเพื่อแลกเงินต่างประเทศ เช่นก่อนหน้านี้เราใช้เงินบาท 35 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้เราใช้เงินบาท 30.5 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ ดูกันตั้งแต่ตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ อย่างวันที่ 18 กันยายน 2562 ค่าเงินบาทอยู่ราว 30.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี และยังแข็งค่าที่สุดในเอเชียอีกด้วย ถ้าเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐจากต้นปีถึงปัจจุบัน บาทจะแข็งค่ากว่าอยู่ที่ 6.2% บาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร 9.6% ส่วนปอนด์ ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 8.3%
ทำไมค่าเงินบาทถึงแข็งค่า
- ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับต่างประเทศ เนื่องจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมีเงินต่างชาติจากการส่งออกและเงินจากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก
- ความผันผวนเศรษฐกิจโลก ซึ่งค่าเงินที่แข็งค่าจะขึ้นอยู่กับสกุลเงินที่จะมาเปรียบเทียบ ถ้าประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกมีสถานการณ์ที่สร้างความกังวลให้ประชาชนหรือนักลงทุน ค่าเงินก็จะแปรผันตามไปด้วย อย่างเช่น ปัจจัยเรื่อง Trade War สหรัฐฯ-จีน, Brexit, สงครามน้ำมัน, ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาชะลอตัว การขึ้นดอกเบี้ย นโยบายหรือมาตรการใหม่ๆ เป็นต้น
- เหตุผลที่ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในเอเชีย เพราะนักลงทุนเริ่มเห็นเงินบาทเป็น Safe Haven หรือที่ปลอดภัยในการลงทุน ตัวอย่าง Safe Haven คือการลงทุนซื้อทองคำ พันธบัตรระยะสั้น ระยะยาว หรือเก็บเป็นสกุลเงิน อย่างเงินเยน
เงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าแบบไหนดีกว่ากัน
มีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ เนื่องจากถ้าค่าเงินแข็งค่า ผู้ส่งออกจะได้เงินน้อยลง แต่ผู้นำเข้าจะได้เงินมากขึ้น นำเข้าสินค้าก็ถูกลง และยังมีข้อดีกับรายย่อยคือ คนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศได้ถูกลง ส่วนถ้าค่าเงินอ่อนค่าจะช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันคนไทยเพิ่มขึ้น คนต่างชาติมาเที่ยวในไทยถูกลงถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งความผันผวนของค่าเงินเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่ในประเทศก็มีการดูแลจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลนโยบายการเงิน ทั้งการขึ้นและลดดอกเบี้ย อย่างวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เพื่อมาแก้ปัญหาการเก็งกำไรและการแข็งค่าของค่าเงินบาท ภายใน 5 วันหลังจากนั้นเกิดกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นสุทธิ 8,225 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า 0.48% สุดท้ายแล้วสำหรับผู้ประกอบการ ควรทำประกันป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ก่อน
ย้อนรอยค่าเงินบาทและวิเคราะห์ค่าเงินบาทในอนาคต
ดูจากข้อมูลค่าเงินช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่อ่อนค่าที่สุดคือเดือนตุลาคม 2558 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวไม่ต่ำกว่า 35 บาท จนเดือนมีนาคม 2560 ค่าเงินเริ่มแข็งค่ามาอยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ และแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า ธุรกิจไหนที่ได้รับผลกระทบบ้าง
ธุรกิจการส่งออก
มูลค่าการส่งออกสุทธิมีสัดส่วน 5-6% ของ GDP ส่งผลกระทบโดยตรงเนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออกซึ่งได้รับเงินสกุลต่างประเทศจะแลกกลับมาเป็นเงินบาทได้มูลค่าน้อยลง ดังนั้นจะกระทบทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของผู้ส่งออกลดลง โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมี 3 กลุ่มหลัก
1. กลุ่มที่เสียประโยชน์ คือกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลักจะกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และเครื่องประดับ
2. กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์คือ ธุรกิจขายในประเทศและนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก จะทำให้ค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบที่เป็นเงินต่างประเทศลดน้อยลง ได้แก่ เครื่องจักร ชิ้นส่วน เหล็ก โลหะ เวชภัณฑ์ เครื่องมือการแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ
3. กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบคือ ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก แต่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์
ธุรกิจการท่องเที่ยว
มูลค่าการส่งออกมีสัดส่วน 15% ของ GDP ไทย “เมื่อเงินบาทแข็งค่า ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก เพราะธุรกิจนี้เป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของประชาชน และส่วนใหญ่ผู้ที่ทำธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจรายเล็กและประชาชนจำนวนมาก พอนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยน้อยลง เนื่องจากการที่เงินบาทแข็งค่าทำให้ชาวต่างชาติจะมาเที่ยวไทยแพงขึ้น แม้ว่าจะตั้งงบการใช้จ่ายเท่าเดิมแต่จะสามารถซื้อของในไทยได้น้อยลง ทำให้คนไทยมีรายได้น้อยลงไปด้วย โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้จ่ายในไทยปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะเติบโต 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ถือว่าชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่เติบโต 9.4% ปี
เรื่องที่ต้องจับตามอง เพราะจะมีผลกระทบค่าเงิน
ติดตามเศรษฐกิจโลก เช่น Trade War, สงครามน้ำมัน, Brexit และการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะลดอีก 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งถ้า Fed ลดดอกเบี้ย ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จำเป็นต้องลดตาม
แนะนำผู้ประกอบการ
- พัฒนาธุรกิจตัวเอง อย่างเช่น นำเข้าเครื่องจักร เพื่อลดต้นทุนในระยะยาว
- ทำประกันป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงิน
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Co-host
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor อสุมิ สุกี้คาวา
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Interns อสุมิ สุกี้คาวา, ณัฏฐนิช ผิวสว่าง