×

สัมภาษณ์ Bill Heinecke พา Minor ฝ่าวิกฤตหนักที่สุดในรอบ 50 ปี ตอนที่ 1

04.11.2020
  • LOADING...

บิล ไฮเนคกี้ ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ‘แพสชัน’ และ ‘ความอดทน’ สองคีย์เวิร์ดสำคัญที่เขาย้ำตลอดบทสนทนา ในวันที่ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลเผชิญกับวิกฤตหนักที่สุดตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

 

The Secret Sauce ซีรีส์ Boardroom Wisdom คุยถึงบทเรียนจากวิกฤต กลยุทธ์การปรับตัว และเป้าหมายต่อไปของไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล แบรนด์โรงแรมและร้านอาหารระดับโลก 

 


สถานการณ์ธุรกิจของไมเนอร์ตอนนี้เป็นอย่างไร

เรากำลังเผชิญกับมรสุมที่ไม่เคยเจอมาก่อน โควิดเป็นโรคระบาดที่ทำให้สถานการณ์แย่กว่าช่วงที่มีโรคซาร์สหรือวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สำคัญมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในประเทศไทย แต่เป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโลก และคาดว่าจะยังส่งผลกระทบต่อไปในระยะยาว ผลกระทบครั้งนี้ใหญ่มากๆ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 มีหลายประเทศที่ปิดประเทศไป ทำให้รายได้ของเราลดลงมาก ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจไลฟ์สไตล์ โชคดีที่เราสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ลูกค้ามาทานอาหารในร้านไม่ได้ เราก็เปลี่ยนเป็นการส่งอาหารแบบเดลิเวอรีแทน แต่ธุรกิจโรงแรมที่เราต้องเปิดอยู่ตลอด ก็แน่นอนว่าเป็นอะไรที่แย่สุดๆ รวมถึงธุรกิจไลฟ์สไตล์ก็หยุดชะงักไป ครั้งนี้เป็นหนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจที่สาหัสที่สุดเพราะรายได้ของเราแทบจะไม่มีเลย

 

อะไรคือบทเรียนสำคัญที่เรียนรู้ได้จากสถานการณ์โควิด-19

บทเรียนแรก ผมคิดว่าในช่วงโควิด-19 เราจำเป็นต้องมีความคล่องตัวมาก เพราะในช่วงเวลาที่ท้าทายแบบนี้ คนที่รู้ตัวไวที่สุดจะตอบสนองได้เร็วและดีกว่าคนอื่นๆ บทเรียนที่สอง เรื่องของกระแสเงินสด เรามีพนักงานจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก เมื่อเกิดสถานการณ์นี้ มันจึงมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่มาก ทั้งความรับผิดชอบด้านการเงินและความต้องการอื่นๆ ที่เราต้องรับมือ สิ่งสำคัญคือเราต้องสำรองเงินไว้ให้เพียงพอ นอกเหนือจาก 2 เรื่องที่กล่าวมา สมาชิกในทีมก็สำคัญเช่นกัน หลายคนมักพูดถึงแผนระยะกลางและระยะยาว แต่มันไม่เวิร์กสำหรับวิกฤตนี้ เพราะคุณต้องคิดถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก่อน เพราะมันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นเร็วมาก เราต้องมีการป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าคนของเราจะปลอดภัย สิ่งที่เราทำก็คือการวางแผนเพื่อความอยู่รอด โดยมองให้เห็นถึงสิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น โควิด-19 จะอยู่ถึงเมื่อไร ไม่มีใครทราบ แต่ในตอนนี้เราค่อนข้างสบายใจ เพราะเราได้เตรียมแผนรับมือไว้จนถึงสิ้นปีหน้า

 

อะไรคือโอกาสของไมเนอร์ที่ได้จากสถานการณ์โควิด-19

อย่างแรกคือการฝึกการเรียนรู้ มันทำให้เราเห็นโอกาสบางอย่าง เรามีสภาพคล่องทางการเงิน เราจึงมั่นใจว่าเรามีเงินเพียงพอสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 12-16 เดือนต่อจากนี้ รวมถึงบริษัทเราแข็งแกร่งมากในเรื่องการแบ่งสันปันส่วน ในช่วงวิกฤตนี้ เราได้รีแบรนด์โรงแรมแห่งหนึ่งในดูไบ และเรายังมีโรงแรมในเซเชลส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงแรมที่ดีที่สุดในโลกที่เรารีแบรนด์ในนามของอนันตรา มันน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ในช่วงโควิด-19 เราได้ลงทุนกับคลาวด์คิทเชนทั้งหมด 10 แห่ง ซึ่งมันออกมาดีกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ ธุรกิจอาหารเดลิเวอรีของเราในเดือนเมษายนเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่าของเดือนมกราคม และเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งมาก เพราะเราดำเนินการเร็วมากในเรื่องของเทคโนโลยีและดิจิทัล ผมคิดว่านี่คือโอกาสที่เราได้แสดงออก อย่างไรก็ตาม เราระมัดระวังมากในเรื่องการสำรองเงินสด เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุดในอนาคต เรามุ่งเน้นในเรื่องการเสริมความแข็งแรง ความสมดุล และความคล่องตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

ความคล่องตัวมีความสำคัญอย่างไรกับไมเนอร์ และทำอย่างไรธุรกิจจึงจะมีความคล่องตัว

มันคือการตอบสนองที่ไวมาก และเราต้องมั่นใจด้วยว่าองค์กรของเราสามารถขับเคลื่อนไปได้ไวด้วยเช่นกัน เราเห็นทีมของเราทำงานด้วยกันในหลายวิกฤตที่ผ่านมาด้วยความรวดเร็ว พวกเขาโฟกัสกับความท้าทายที่เกิดขึ้น และสามารถปรับตัวได้เสมอ อย่างการที่เราเห็นร้านค้าและโรงแรมทั่วโลกปิดตัวลง เราจึงมุ่งประเด็นไปที่เรื่องความปลอดภัย เรามั่นใจว่าลูกค้าของเราจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี สำหรับองค์กรของเรา มันไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยของพนักงานที่จะสามารถทำให้ทุกคนมั่นใจได้ แต่มันเป็นเรื่องของความสามารถในการทำธุรกิจที่จะต้องดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นเพื่อลูกค้าของเรา ร้านอาหารของเราในจีนถูกปิดเป็นที่แรกจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นเราจึงเรียนรู้เร็วมากจากสิ่งที่เกิดขึ้น และเรายังสามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาได้ถึง 80% นั่นเป็นเพราะแผนการทำงานของเราที่ว่องไว รวมถึงคนของเราก็มีความคล่องตัวและร่วมมือกันเป็นอย่างดี

 

ใครคือคู่แข่งของไมเนอร์ในตอนนี้ และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับไมเนอร์บ้าง

เราพยายามมองไปยังผู้แข่งขันที่อยู่ในมาตรฐานระดับโลก ดังนั้นเราจึงเปรียบเทียบตัวเองกับ Marriott, Four Seasons, Amman เป็นต้น เราทำแบบเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร คือการเปรียบเทียบการทำงานของตัวเองกับ Yum, McDonald’s เป็นต้น ผมคิดว่าถ้าเราจะเป็นผู้แข่งขันในระดับโลก เราจะต้องเอาชนะระดับโลกให้ได้ เราจะมัวคิดว่าตัวเองเป็นบริษัทในไทยไม่ได้ เราต้องคิดว่าเราคือบริษัทระดับโลก ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง การที่เราเปรียบเทียบกับคนอื่นจะทำให้เราสามารถทำงานนั้นๆ ออกมาดีที่สุดและประสบความสำเร็จได้ ไมเนอร์แตกต่างจากบริษัทอื่น เรามีธุรกิจหลัก 3 อย่าง หนึ่งในนั้นเรามีธุรกิจโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเอเชีย ธุรกิจอาหาร เราก็เป็นรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้เรายังมีธุรกิจไลฟ์สไตล์อีกด้วย เราถูกผลักดันโดยผู้ลงทุน ไม่ใช่แค่ซีอีโอหรือบอร์ดบริหารที่รับเงินเดือน เราจึงรีบคว้าโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ ตอนนี้เรามีแบรนด์อยู่ทั้งหมด 8 แบรนด์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เราทำซาฟารีที่ดีที่สุดในแอฟริกา เรามีแบรนด์อนันตราที่ตอนนี้เป็นแบรนด์ติดอันดับของโลก ในส่วนของธุรกิจอาหาร เราก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพิซซ่าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ผมคิดว่า 3 ปีต่อจากนี้ เราจะโฟกัสกับ 3 ธุรกิจหลักนี้ โดยที่เราจะยังคงมองหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมไปด้วย เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและแข็งแรงขึ้นไปอีก

 

สำหรับธุรกิจโรงแรม บางคนมองว่าการที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้ ต้องใช้เวลา 2-3 ปีต่อจากนี้ อะไรคือกลยุทธ์ของไมเนอร์ที่ทำให้อยู่รอดได้ในธุรกิจกลุ่มนี้

ผมคิดว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา เพราะอย่างไรก็ตามคนก็ต้องการที่จะเที่ยว เพราะมันเป็นไลฟ์สไตล์และการพักผ่อน ทุกวันนี้คนต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่มันจะกลับมาเร็วแค่ไหนผมไม่มั่นใจเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้ทุกคนเห็นเลยก็คือ แม้ว่าจะมีวัคซีนหรือไม่ แต่เราก็เห็นตัวอย่างจากจีนหรือที่อื่นๆ ว่าพวกเขาสามารถทำธุรกิจต่อไปได้โดยที่ไม่มีวัคซีน ไทยเองก็เริ่มเปิดประเทศแล้ว และเราก็หวังว่ามันจะเป็นไปอย่างปลอดภัย เพื่อที่ธุรกิจต่างๆ จะสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าทุกคนต้องระมัดระวังกันมากกว่าเดิม เช่น ต้องยืนเว้นระยะห่าง ต้องใส่แมส หรืออื่นๆ เพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ผมกลับคิดว่าคนจะมั่นใจในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่มีมาตรฐานของแบรนด์มากขึ้น เพราะพวกเขารู้แล้วว่าแบรนด์มีความพยายามและตระหนักถึงความปลอดภัยจริงๆ นอกจากนี้ หนึ่งในเทรนด์ที่กำลังจะมาคือความปลอดภัยและการดูแลด้านสุขภาพในช่วงโควิด-19 ผมคิดว่าเราต้องหารายได้จากทางอื่น เพราะรายได้หลักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากธุรกิจสายการบิน ซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้นเราต้องอดทนกันไปก่อนในช่วงนี้ และต้องแน่ใจว่าจะสามารถเอาตัวรอดได้ เพื่อที่จะมีโอกาสในการเติบโตต่อไป

 

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คนเราต้องการอาศัยอยู่ในที่ๆ เขารู้สึกปลอดภัย คิดว่าสำหรับธุรกิจโรงแรมจะมีอะไรมาส่งผลให้เกิดการดิสรัปชัน

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโรงแรม คือการเข้าเว็บไซต์ไปจองโรงแรม คนต่างกังวลว่าตัวเองจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไหม เที่ยวบินจะถูกยกเลิกไหม ตอนนี้พวกเขาไม่ต้องการฝากชีวิตไว้กับเว็บไซต์พวกนี้แล้ว สิ่งที่เราสังเกตเห็นได้เลยก็คือ ผู้คนหันมาใช้บริการเว็บไซต์ของโรงแรมโดยตรงมากขึ้น เพราะมันรับประกันได้ว่าพวกเขาจะได้รับเงินชดเชย แม้ว่าจะจองไว้ล่วงหน้าก็ตาม นั่นทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในการท่องเที่ยว ในส่วนของร้านอาหาร ไมเนอร์ก็ได้มีบริการสั่งอาหารหรือซื้อสินค้าในแบรนด์ของเราผ่านเว็บไซต์ได้ โดยเรารวบรวมแบรนด์ทั้งหมดไว้ในที่ๆ เดียว เรามีการจัดการข้อมูลบนเว็บไซต์ที่ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น รวมถึงยังมีการออกโปรโมชันต่างๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนอีกด้วย

 

อะไรที่ทำให้ไมเนอร์ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และมีความแตกต่างจากที่อื่น

เราให้ความสำคัญกับคนในองค์กร และพยายามรักษาคนที่ดีที่สุดเอาไว้แม้ในช่วงที่ยากลำบาก ที่สำคัญเรามีความมุ่งมั่นที่จะดูแลด้านสุขภาพอย่างมาก เราทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้แบรนด์ของเราเติบโต เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นผู้ริเริ่มในเรื่องนี้ เราจะโฟกัสแค่ธุรกิจโรงแรมอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะประสบการณ์ที่เต็มรูปแบบจำเป็นต้องนำเอาสิ่งต่างๆ ที่ได้จากประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอกโรงแรมมารวมกัน ซึ่งรวมถึงด้านอาหารและสุขภาพด้วย ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เราแตกต่างจากผู้ประกอบการระดับโลกคนอื่นๆ มันคือการค้นหาประสบการณ์ที่ดีที่สุดและน่าตื่นเต้นที่สุดเพื่อตอบสนองให้กับลูกค้าของเราทุกคน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านสปา แต่ผมคิดว่าลูกค้ากำลังมองหาอะไรที่มากกว่านั้น เพราะประเทศไทยมีกลยุทธ์ทางด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่โดดเด่น คนจำนวนมากต้องการมาเที่ยวเมืองไทย เพราะมันได้ทั้งเรื่องของอากาศ อาหาร ความเป็นอยู่ที่ดี มันเป็นเรื่องของความสวยความงาม เพราะคนต้องการที่จะดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเอง ยิ่งช่วงนี้คนเรามีความเครียดมากขึ้น ผมคิดว่าการทำธุรกิจด้านสุขภาพมันเวิร์กมาก เราได้ทำการยกระดับการดูแลสุขภาพไปอีกขั้นหนึ่ง และผมไม่คิดว่าจะมีบริษัทไหนใส่ใจในเรื่องนี้เท่าเรา

 

อะไรคือกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้ไมเนอร์ประสบความสำเร็จในการขยายสาขาและการซื้อกิจการ

อย่างแรก เราโฟกัสธุรกิจหลักของเราที่มีอยู่ อย่างที่สอง เราโฟกัสที่ความยั่งยืน แม้ว่าเราจะมีสภาพคล่องที่ดีจากการระดมทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ แต่เราไม่โฟกัสกับโอกาสภายนอก เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่านั่นคือราคาที่เหมาะสม มีโรงแรมหลายแห่งในตอนนี้ที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน ซึ่งสินทรัพย์ของเขาไม่แพง ซึ่งเราต้องมาดูว่าไม่แพงในที่นี้มันอยู่ในมาตรฐานระดับไหน ผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวังให้ดี และต้องคอยสังเกตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรายังคงมีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัทต่างๆ เช่น เราลงทุนกับ BreadTalk ในสิงคโปร์ และในอีกหลายประเทศ ร้านอาหารจีน Din Tai Fung และเรายังเป็นผู้ถือหุ้นใน S&P มากว่า 20 ปี จะเห็นว่าเรามีโอกาสมากมายในระบบนิเวศทางธุรกิจ และเราก็มุ่งมั่นที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตไปพร้อมกับเรา เรามีโอกาสในการเติบโตมากมายอยู่ในมือ เราจึงโฟกัสกับสิ่งเหล่านี้ก่อนเป็นอันดับแรก

 

ไมเนอร์เป็นบริษัทที่ใหญ่มาก นักลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางต่างมองไมเนอร์เป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ แต่ด้วยความที่พวกเขามีขนาดเล็ก เขาจึงไม่สามารถนำกลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการมาใช้ได้ พอจะมีคำแนะนำสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ไหม

อย่างที่ผมบอกเสมอว่าให้อดทน หลายคนอยากประสบความสำเร็จไว เราเห็นหลายบริษัทพยายามนำธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร หรือธุรกิจไลฟ์สไตล์ของบริษัทเราไปเป็นต้นแบบ สิ่งสำคัญคือมันต้องใช้เวลา ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ภายในชั่วข้ามคืน เราเองยังใช้เวลาถึง 50-60 ปีในการประสบความสำเร็จ เราเริ่มจากโรงแรม 1 แห่ง จนตอนนี้เรามีโรงแรมมากกว่า 500 แห่ง เราเริ่มจากร้านอาหาร 1 ร้าน จนตอนนี้เรามีร้านอาหารมากกว่า 2,000 ร้าน คุณต้องอดทนมากพอที่จะสร้างโครงสร้างองค์กร สร้างคน และสร้างวัฒนธรรมของคุณ ผมในฐานะนักลงทุนจึงอยากบอกให้ทุกคนอดทนในการสร้างสิ่งเหล่านี้ และค่อยๆ ทำไป คุณไม่สามารถวิ่งเป็นร้อยไมล์ต่อชั่วโมงได้ในทันที แต่คุณสามารถเรียนรู้ที่จะเดินได้ในตอนนี้

 

คุณสร้างทุกอย่างเองตั้งแต่อายุ 17 ปี ถ้าคุณต้องเขียนกฎ 25 ข้อสำหรับผู้บริหารระดับโลกขึ้นมาตอนนี้ คุณคิดว่ากฎข้อแรกคืออะไร

ผมคิดว่า กฎข้อแรกของผมคือการทำงานด้วยความรัก ความทุ่มเท และทำมันอย่างมีความสุข ถ้าคุณไม่มีความรักในสิ่งที่ทำ คุณจะทำมันอย่างไม่มีความสุข และถ้าคุณไม่มีความสุข แสดงว่าคุณมาผิดทาง ผมคิดว่ากฎข้อนี้มันตายตัวอยู่แล้ว ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ คุณต้องขยัน ในอีก 50 ปีข้างหน้า สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือวิธีการคิดและวิธีการทำงานของคนเจนใหม่ที่เราต้องทำความเข้าใจ แต่ละคนต่างก็มีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกันออกไป และนั่นคือสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้เราต้องมีความอดทนและค่อยๆ เรียนรู้ สิ่งสำคัญคือต้องระมัดระวังในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโต การเงิน และคน ให้สามารถดำเนินไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

 

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับรัฐบาลไทยในการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพในสถานการณ์ตอนนี้

เราเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ขอให้รัฐบาลปิดประเทศ เพราะเราเห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นในจีน เราเห็นว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในโลก ผมรู้สึกดีใจที่รัฐบาลรีบเร่งที่จะปิดประเทศและควบคุมสถานการณ์เอาไว้ ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโควิด-19 แต่ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่เฟสต่อไป ซึ่งมันจะโชคร้ายมากถ้าเราไม่รู้จักปรับตัว การรักษามันแย่ยิ่งกว่าโรคระบาดเสียอีก ความเจ็บปวดจากเศรษฐกิจที่เราต้องเผชิญจากการปิดประเทศ มันเหมือนสงครามทางการค้า เพียงแต่มันเป็นเรื่องการท่องเที่ยวและสุขภาพ เราต้องมาคิดว่าเราจะเติบโตต่อไปได้อย่างไร ประเทศไทยควรจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้โลกฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปให้ได้ เพราะเรามีประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังต่อสู้กับวิกฤต โดยที่พวกเขาอาจจะแย่ยิ่งกว่าเราอีก ถ้าเราไม่เปิดประเทศ เราก็จะเห็นเศรษฐกิจถดถอยลงเรื่อยๆ และวิกฤตด้านสุขภาพที่เรากำลังประสบอยู่ก็อาจจะอยู่กับเราไปอีกหลายปี เราจะเห็นคนว่างงานจำนวนมาก รวมถึงเห็นการประท้วงที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน เราอาจใช้วิธีสนับสนุนบริษัทต่างๆ โดยการจ้างงานพวกเขาใหม่ หรือรักษาพวกเขาไว้แทนที่จะไล่ออก นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลไทยควรจะศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ และเริ่มสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

Show Producer นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Project Manager ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Channel Manager & Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Creative ภัทร จารุอริยานนท์

Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster ณฐพร โรจน์อนุสรณ์

Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising