×

DCA ทางเลือกการลงทุนที่เหมาะกับมือใหม่และมนุษย์เงินเดือน

08.10.2018
  • LOADING...

มันนี่โค้ช ชวน ต้าร์ กวิน บล็อกเกอร์การเงินจากเพจ TarKawin และเว็บไซต์ aomMONEY ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average) และการออมหุ้น

 

เข้าใจให้ทะลุปรุโปร่งสักทีว่า DCA มันคืออะไร เจ๋งแค่ไหน มีข้อเสียบ้างไหม ซัดกันทุกแง่ทุกมุม พร้อมวิธีการเริ่มต้นสำหรับมือใหม่ และคำแนะนำในการอยู่กับ DCA อย่างมีชั้นเชิง

 

  

 

การออมไม่ควรมีความเสี่ยงจริงหรือเปล่า

พอเปลี่ยนคำว่า ออมเงิน เป็น ออมหุ้น หรือ DCA บางคนจะรู้สึกว่าการออมไม่ควรมีความเสี่ยง แต่ที่อยากบอกคือ การออมเป็นพฤติกรรมที่ดีและอยู่ในเชิงบวกเสมอ เพียงแค่เปลี่ยนเป็นออมในทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

DCA มีฐานสะสมมาจากการออม บางคนออมเงิน บางคนออมเป็นสินทรัพย์อื่นๆ แต่รูปแบบคล้ายกันคือการทยอยเอาเงินมาซื้อเรื่อยๆ เพื่อสะสมความมั่งคั่ง สุดท้ายต้องมองไปที่เป้าหมายเรื่องการเงินว่าคืออะไร อยากให้มองยาวๆ ก่อน ต้องมีเงินเกษียณไหม และถ้าการออมด้วยเงินอย่างเดียวพอหรือเปล่า ถ้าไม่พอจะออมอย่างไรให้ผลตอบแทนมากขึ้น ถ้าวันนี้ใครยังสะสมด้วยวิธีการออมอยู่ จากการทยอยเก็บเงินก็แปลงเงินตรงนั้นเป็นสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อยากแนะนำ

 

แนะนำคนเริ่มต้นอย่างไร

ต้องเริ่มก่อนว่ารู้จักเรื่องความเสี่ยงไหม เพราะแต่ละทรัพย์สินมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น อะไรคือความเสี่ยงของการลงทุนทองคำ อะไรคือความเสี่ยงของการลงทุนในคอนโดฯ ในหุ้น หรือกองทุนรวม ฯลฯ เรารับความเสี่ยงตรงนั้นได้ไหม จะออมหุ้นก็ต้องเข้าใจก่อนว่าหุ้นคืออะไร หุ้นคือการลงทุนในธุรกิจ และถ้าเกิดธุรกิจนั้นมีการเติบโตมากขึ้น ถ้าซื้อและสะสมไว้ก็จะเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเรา   

 

เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีเงินก้อนหรือมีเงินเดือนพอจะสะสมได้ อยากจะทยอยไป DCA หรือลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ อันดับแรกเข้าใจความเสี่ยงก่อน พอเข้าใจความเสี่ยงและรู้ว่าพอรับได้ ก็มาดูกันว่าทรัพย์สินนั้นมีโอกาสเติบโตอย่างไรได้บ้าง เพราะทรัพย์สินแต่ละอย่างมีโอกาสเติบโตแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าชอบแบบไหน ยกตัวอย่าง บางคนอยากเอาเงินไปลงทุนในคอนโดฯ โดยการผ่อนรายเดือน บางคนถนัดแบบนี้ ชอบแบบนี้ และด้วยทำเลตรงนี้ก็มีโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้นในอนาคต การทยอยผ่อนแบบนี้ก็คือการสะสมเหมือนกัน ส่วนคนที่ลงทุนในหุ้นก็อาจจะไม่สนใจในคอนโดฯ แต่อาจจะชอบศึกษาเรื่องธุรกิจ เช่น อยากจะลงทุนในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ศึกษาโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต ก็ลองดูว่าจะสะสมตรงนั้นไปได้หรือเปล่า

 

การทยอยซื้อแบบ DCA ดีกว่าการซื้อเป็นก้อนอย่างไร

การทยอยซื้อคือการยืดความเสี่ยงของเวลา เพราะเราไม่รู้ว่าในช่วงระยะสั้นในการลงทุนจะมีความผันผวนขนาดไหน ราคาหลักทรัพย์เปลี่ยนทุกวัน ถ้าลงทีเดียวโดยที่ไม่มีความรู้ ประเมินมูลค่าไม่เป็นก็เกิดความเสี่ยงได้ ถ้าไม่มีความรู้ก็จะใช้อารมณ์ ยกตัวอย่าง ทำไมซื้อแล้วราคาตก มือใหม่หลายๆ คนมาเจอหุ้นตกลง 10% สมมติลงเงินไป 100,000 บาท เหลือ 90,000 บาท คำถามแรกที่จะเกิดขึ้นคือขายก่อนเลยดีไหม ซึ่งต้องตัดสินใจเอง ถ้าทนไม่ได้ก็ขาย พอขายเสร็จราคากลับดีดขึ้น เรื่องนี้ไม่สามารถฟันธงได้ เพราะเรื่องราคาผันผวนอยู่ตลอดเวลา แต่อยากให้มองในระยะยาวว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทน

 

อีกอย่างที่ DCA ช่วยได้คือ สร้างโอกาสการลงทุนที่มากขึ้นเวลาที่หุ้นราคาลง เช่น เรากำหนดเงินเท่าเดิม ราคาหุ้นหรือราคากองทุนรวมลดลง เราก็ซื้อได้ในจำนวนที่มากขึ้น หุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางทีลงแล้วก็ยังลงอีกได้ จุดหมายปลายทางของการซื้อแบบทยอยสะสม คือให้มองที่จำนวนทรัพย์สินที่เราสะสมได้ และเป็นทรัพย์สินที่ดี อย่าไปมองว่าทำไมราคาถึงขึ้น-ลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ให้มองว่าเดือนนี้หุ้นขึ้นก็ซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยหน่อย พอหุ้นราคาลงก็ได้หน่วยลงทุนที่มากขึ้น

 

การซื้อแบบ DCA ในช่วงหุ้นขึ้นก็ทยอยลดความเสี่ยงที่จะซื้อหุ้นจำนวนเยอะได้เหมือนกัน เพราะเราไม่รู้ว่าหุ้นมันจะขึ้นอีกหรือเปล่า หรือที่เราซื้อคือราคาดีที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นจะทั้งลดความเสี่ยงในขาขึ้น ทำให้เราไม่ต้องซื้อหุ้นเยอะจนเกินไปด้วยเงินก้อนเดิม ไม่ว่าขาขึ้นหรือขาลง วิธีนี้มองว่าสามารถใช้ได้ทั้งสองขา

 

ข้อเสียของ DCA มีไหม

มี คือการไป DCA ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น คิดว่าจะลงทุนบางอย่างแต่ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง หรืออาจจะศึกษามาดีแล้วแต่ทรัพย์สินตัวนั้นอยู่ในจุดที่ไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ ยิ่งเรา DCA ไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเจ๊ง บางคนอาจจะมองภาพไม่เห็น ยกตัวอย่าง ถ้าเกิดวันนี้มีคนมาชวนลงทุนเปิดบริษัทขายแผ่นซีดี คือธุรกิจแบบตะวันตกดินไปแล้ว เราก็ไม่มีโอกาสที่สร้างกำไรได้เลย

 

สมมติมีเงิน 5,000 บาท จะเอาไป DCA ในกองทุนรวมหุ้นหรือไปออมหุ้นเองเลยดีกว่า

ความเสี่ยงฝั่งออมหุ้นเยอะกว่า ถ้าลงในกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ สำหรับมือใหม่เราได้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยยังไงก็เก่งกว่าเราอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดเรามีความรู้ การซื้อหุ้นด้วยตัวเองและเราศึกษาด้วยตัวเองได้ มันก็เป็นโอกาสอีกแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน

 

ซื้อ LTF/RMF แบบ DCA กับซื้อปลายปีทีเดียวหนึ่งก้อนอะไรดีกว่ากัน

บอกไม่ได้ เพราะแต่ละปีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน บางปีลงทั้งปี การซื้อในเดือนธันวาคมครั้งเดียวอาจจะดีกว่า แต่บางปีมันขึ้นตลอด ตรงนี้เลยตอบไม่ได้ในเชิงของราคา เพราะแต่ละปีไม่เหมือนกัน และเรากำลังคุยกันในเรื่องอนาคตซึ่งไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นการทยอยซื้อทำให้เราไม่ต้องมากังวล ยกเว้นจะมีรายได้ปลายปีและไม่ได้ซื้อตอนต้นปี อันนั้นก็คือเรามีทางเลือกเดียวคือซื้อปลายปี

 

จะอยู่กับ DCA อย่างไร

อยากให้มองอย่างต่ำ 5-10 ปี หรือตั้งเป้าคือเกษียณเลย มองให้เหมือนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

นิยาม DCA ในแบบของ TarKawin

ทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับมนุษย์เงินเดือนหรือคนที่ต้องการเริ่มต้นการลงทุน ผมอยากให้มองว่าเป็นหลักประกันในชีวิต ต่อให้เจ๊งอย่างอื่นแต่ตรงนี้ไปยาวถึงเกษียณได้ คนเราควรมีการลงทุนหลายๆ แบบ จัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่ง และเลือกทรัพย์สินที่เรามีความเข้าใจและมีแนวโน้มที่ดี จนกว่าเรารู้ว่าไม่ดีแล้วก็ค่อยเปลี่ยน เพราะธุรกิจบางอย่างเราคิดว่าน่าจะดี แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีหรือการดำเนินงาน เราก็ต้องดูกันว่าหุ้นตัวนี้น่าจะลงทุนต่อหรือเปล่า และบางทีเราก็ต้องตัดใจเหมือนกัน

 

จะเริ่ม DCA อย่างไร ที่ไหน

วิธีแรกอาจจะซื้อกองทุนรวมก่อน กองทุนรวมคือการซื้อผ่านธนาคาร ถ้าเป็นธนาคารจะขายในกองทุนของตนเอง ทางเลือกจะค่อนข้างน้อย ยกเว้นบางที่อาจจะขายของคนอื่นได้ แต่ว่าจะมีอีกระบบหนึ่งเรียกว่า Fund Supermart ซึ่งเปิดบัญชีเดียวและสามารถซื้อกองทุนได้ทุกตัว

 

การที่มีกองทุนให้เลือกเยอะจะยิ่งทำให้วุ่นวายขึ้นหรือเปล่า

ต้องดูที่ความน่าสนใจ ดูนโยบาย ความเสี่ยง ผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม ซึ่งสมัยนี้มีสื่อที่ให้อ่านค่อนข้างมาก ที่จะมีคนวิเคราะห์จัดอันดับกองทุนรวมมาให้เรา ถ้าเกิดนึกอะไรไม่ออกจริงๆ แนะนำให้ลง Index Fund ก่อน คือกองทุนที่อ้างอิงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และดูกองทุนอื่นๆ ที่เป็นส่วนเติมเต็มทีหลัง

 

การไปเปิดพอร์ตออมหุ้น

เปิดตามโบรกเกอร์ (บริษัทหลักทรัพย์) ซึ่งมีประมาณ 4 โบรกเกอร์ ซึ่งควรดูเงื่อนไขการเปิดบัญชีของแต่ละโบรกเกอร์ด้วย เช่น บางที่ขั้นต่ำ 1,000 บาท หรือบางที่ขั้นต่ำ 5,000 บาท แต่เป็นขั้นต่ำในแต่ละเดือน คือเดือนหนึ่งต้องซื้อ 5 ตัว ตัวละ 1,000 บาท

 

บางคนบอกว่า 1,000 บาทจะเห็นผลอะไร ถ้าขาดทุนจะทำอย่างไร เวลาที่เราไปกินหรือเที่ยว เงิน 1,000 บาทแป๊บเดียวก็หมดแล้ว หรือบางคนบอกว่าจะสร้างวินัยอย่างไร แนะนำให้ตัดอัตโนมัติเลย ขนาดบัตรเครดิตยังผ่อนได้ ทำไมการลงทุนจะผ่อนไม่ได้ ผ่อนบัตรเครดิตถ้าเราจ่ายไม่ครบจะมีดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การลงทุนหุ้นจะมีเงินปันผลเข้ามาให้ด้วย

 

ปกติโครงการออมหุ้นของแต่ละโบรกเกอร์จะคัดมาให้เลยว่ามีหุ้นอะไรเด่นบ้าง เช่น มีการแนะนำหุ้นเซต 50 ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่อยู่แล้ว คือไม่อยากให้เราเสี่ยงจนเกินไป

 

คนที่มีเงินเยอะ DCA ได้ไหม

ได้ เพราะ DCA ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ 1,000 บาท จะซื้อครั้งละ 50,000-100,000 บาทก็ได้เหมือนกัน

 

ไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือนจะซื้อแบบ DCA ได้ไหม

ได้ ยกตัวอย่างฟรีแลนซ์ เงินที่ได้รับจะไม่เท่ากันในแต่ละเดือน แต่อยู่ที่การบริหารเงิน ถ้าเกิดบริหารเงินให้สามารถตัดได้ทุกเดือนตรงนี้ก็สามารถทำได้

 

อยากฝากอะไรถึงคนที่จะลงทุนแบบนี้

ถ้าเกิดตัดสินใจที่จะลงทุนแล้ว เริ่มจากการศึกษาการลงทุนก่อน และมองเรื่องการจัดการความเสี่ยง เป้าหมายของการลงทุนคืออะไร ถ้าตัดสินใจได้แล้วอยากให้เริ่มเลย                                                                                                                                                                                                                               


สามารถฟังพอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 



Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์

The Guest กวิน สุวรรณตระกูล


Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Show Producer & Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Shownote อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising