มันนี่โค้ช คุยกับ รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของแบรนด์ ศรีจันทร์ ที่ปกติจะแชร์เรื่องมาร์เก็ตติ้งหรือแง่มุมเชิงธุรกิจเป็นหลัก แต่วันนี้เขามาพูดคุยเรื่องเงินแบบเน้นๆ ทั้งในแง่การดูแลเงินของครอบครัว การสอนลูกเรื่องเงิน ไปจนถึงเรื่องเงินของลูกน้อง การทำงาน และการบริหารเงินของบริษัท
(สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฟัง/อ่าน The Money Case เอพิโสดที่แล้ว สามารถติดตามได้ที่ คุยเรื่องเงินกับ รวิศ หาญอุตสาหะ ในฐานะลูกเถ้าแก่ อดีตพนักงานแบงก์ และเจ้าของกิจการ)
มองจากภายนอก คุณไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเรื่องเงิน กับครอบครัวมีทะเลาะกันเรื่องเงินบ้างไหม
มีบ้างครับ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องใหญ่ เช่น การย้ายโรงเรียนลูกไปอีกที่แล้วแพงขึ้นจะคุ้มค่าไหม หรือปีนี้จะไปเที่ยวที่ไหนกันดี เพราะการไปเที่ยวจะใช้เงินเยอะ หรือการซื้อประกัน ประกันสุขภาพไม่ค่อยมีปัญหา ประกันชีวิตประมาณหนึ่งก็พอแล้ว ผมเถียงกับภรรยาเรื่องวิธีคิดดอกเบี้ยบ่อยมาก ปกติภรรยาผมเป็นคนน่ารักมาก แต่พอเถียงเรื่องดอกเบี้ยนี่ต้องขึ้นกระดานเลยนะ เขาบอกว่าได้ผลตอบแทน 8% แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นไง สุดท้ายอาจจะเหลือแค่ 2.5% เลยทะเลาะกัน หรือการผ่อนรถก็ต้องนั่งอธิบายว่า 2.5% มันก็ไม่ได้คิดเต็มตลอดเสมอไป ต้องอธิบายว่ามันไม่เหมือนกันอย่างไร
บางอย่างที่ไม่สามารถวัดได้ อย่างเช่น การย้ายโรงเรียนลูก ควรย้ายดีไหม เราก็นั่งคุยกันว่าผลการเรียนที่ดีขึ้นกับเงินที่แพงขึ้นมันคุ้มค่าไหม ไม่ได้หมายความว่าอยากเอาชนะกับภรรยา แต่เราถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริงกัน
คุณเองได้รับการถ่ายทอดจากพ่อมาเยอะ ตอนนี้เป็นพ่อเองแล้ว กับเรื่องลูกตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง
ผมมีลูก 2 คน ตอนนี้ 6 ขวบ กับ 3 ขวบ คนโตเนื่องจากเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เพราะผมอ่านหนังสือให้ฟังทุกวันตอนเขาเด็กๆ ผมเลยสอนทุกเรื่องผ่านหนังสือ รวมถึงเรื่องเงินด้วย ผมสั่งหนังสือให้ลูกจากเว็บ Book Depository เดือนละหลายสิบเล่ม ผมอ่านหนังสือให้ลูกเยอะมาก ทุกวันนี้เขาเริ่มอ่านเอง เขานั่งอ่านหนังสือได้นานมาก เขาอยากจะศึกษาด้วยตัวเองว่าเรื่องที่เขาอยากรู้เป็นอย่างไร เราก็เป็นฝ่ายแนะนำหนังสือให้อ่าน ผมดีใจมากที่ปลูกฝังนิสัยนี้ให้เขาได้ ส่วนคนเล็กลำบากนิดหนึ่ง เพราะกำลังซน
เริ่มให้เงินลูกแล้วหรือยัง
เริ่มได้เงินไปโรงเรียนแล้ว ถ้าเขาทำงานอย่างกวาดบ้าน มานวดคุณพ่อก็จะได้ค่าขนมเพิ่ม เขาจะมีกระปุกเก็บไว้ อันหนึ่งที่พยายามทำก็คือ เวลาออกไปข้างนอกให้เขามีเหรียญติดตัวไปด้วย เวลาเจอที่ทำบุญก็ให้เขาหยอด สอนเขาให้รู้จักแบ่งคนอื่นด้วย คุณแม่เขาจะพาเขาไปที่บ้านเด็กด้อยโอกาสบ่อยๆ ให้เขาเห็นว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนโชคดี ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่เข้าใจว่าคนที่โชคดีคืออะไร เขาจะได้รู้สึกอยากช่วยเหลือคนอื่น
วาดไว้ไหมว่าอยากให้ลูกเป็นอะไร
ไม่เลย ไม่จำเป็นต้องมาเป็นนักธุรกิจเหมือนผมเลย แล้วผมก็ไม่คิดว่าเขาจะต้องมาสานต่อธุรกิจ ควรทำอะไรที่ตัวเองมีความสุข นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด แค่เขาดูแลตัวเองได้ ถ้าโตขึ้นเขาหาเงินได้ไม่เยอะ เขาก็ต้องใช้เงินน้อยหน่อย แต่เงินก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต อย่างวันก่อนผมไปหาหมอฟันเพราะปวดฟันมาก ตอนนั้นเอาอะไรมาแลกก็ยอมขอแค่หายปวดฟัน มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมกำลังบอกว่าการลงทุนมีหลายมิติ อย่าลืมลงทุนเรื่องสุขภาพ วันหนึ่งเราไปนอนอยู่โรงพยาบาล เอาเงินมาร้อยล้านก็ทำอะไรไม่ได้
ผมเคยอ่านงานวิจัยเรื่องหนึ่ง เขาบอกว่าเมื่อคุณหาเงินได้เกินจุดที่ซื้อของพื้นฐานได้หมดแล้ว ความสุขจากเงินมันจะค่อยๆ เข้าหาศูนย์ คือมันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามแล้ว
ถามถึงอีกลูกหนึ่งบ้าง คือลูกน้อง คุณมีลูกน้องลูกจ้างเต็มไปหมดเลย ดูแลพวกเขาอย่างไรบ้าง
ทีมผมเราจะมี 2 อย่างที่ทำตลอดเวลาคือ ทุกเดือนจะมี Feedback Session คือการพูดคุยกัน เราจะมี Matrix ให้ สิ่งที่เราอยากได้แล้วเราได้ อันนี้ดี สิ่งที่เราไม่อยากได้แล้วได้ อันนี้ไม่ดี สิ่งที่เราไม่อยากได้แล้วไม่ได้ คือดี มันจะมี 3 ช่องนี้ที่เขียนกันไว้ ลูกน้องเขียนฟีดแบ็กผม ผมเขียนฟีดแบ็กลูกน้อง ซึ่งมันต้องเปิดใจพอสมควร เราเรียกกิจกรรมนี้ว่าเป็น Safe Zone คุยกันเสร็จจะไม่มีการออกไปเจาะยางรถกัน เสร็จแล้วคือจบ
แรกๆ ลูกน้องเขาจะไม่ค่อยพูดตรงๆ แต่พอทำไปเรื่อยๆ แล้วมันรู้สึกโอเค มันทำให้ผมเองได้ปรับปรุงตัว ถ้ามาพูดเวลาอื่นเราอาจจะโมโห แต่เวลานี้เราทำใจมาแล้ว เข้าห้องนี้จะรู้กันว่าทุกคนจะเปิดใจรับฟัง แต่บางทีก็มีฉุนๆ เหมือนกัน แต่โอเคไม่เป็นไร (หัวเราะ) บางทีคุยกันไปมาแล้วจะร้องไห้เพราะอินมาก
อีกสิ่งที่ทำทุกวันตอนนี้คือ Stand Up Meeting ต้องยืนด้วยนะ เราจะให้ทุกคนพูดว่า คุณจะทำงานอะไร และมีงานอะไรค้างอยู่ 1-2 นาทีไม่เกินนี้ ทำกันภายในทีม มันไม่มีสาระสำคัญของการพูด แต่คุณได้ทบทวนสิ่งที่อยู่ในหัวว่า การจัดลำดับความสำคัญของเรานั้นถูกต้องหรือยัง และได้รู้ว่าคนอื่นทำอะไรอยู่ งานที่เราทำอยู่ทำให้คนอื่นรอเราอยู่หรือเปล่า ทำให้ทีมได้เห็นภาพเดียวกันตลอดเวลา
อันหนึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ และทุกคนชอบมาก คือผมเป็นคนบ้าอ่านหนังสือก็อยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือดีๆ ด้วย ถ้าผมเจอหนังสือดีๆ จะซื้อแจกเป็นประจำอยู่แล้ว แต่สวัสดิการอันหนึ่งของศรีจันทร์คือ พนักงานสามารถซื้อหนังสือเดือนละ 1 เล่ม แล้วเอามาเบิกบริษัทได้ จะเป็นการ์ตูนก็ได้ เพราะเราถือว่าการได้เริ่มอ่านหนังสือก็เป็นการฝึกการอ่าน ซึ่งพวกเขาก็ซื้อกัน
ถ้าเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ คุณดูแลอย่างไร
เรื่องนี้ผมจะจัดเทรนนิ่ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็จะมาช่วยให้ความรู้แก่พนักงาน เพราะผมเองคงเล่าเก่งสู้ไม่ได้ เขาก็จะให้ความรู้ว่าควรบริหารเงินส่วนตัวอย่างไร ควรซื้อกองทุนอย่างไร LTF RMF คืออะไร
ในองค์กรมีปัญหาทางการเงินบ้างไหม
บางคนมีปัญหาเหมือนกัน ผมก็คุยเป็นเคสๆ ไป บางคนมีเจ้าหนี้บุกมาถึงออฟฟิศก็มี คือพยายามช่วยเขา แต่ผมเชื่อว่าการเงินมันเรื่องทัศนคติ มันไม่ได้เกี่ยวกับจำนวนเงินเสียทีเดียว ผมค่อยๆ คุยกับเขา บางทีก็ไม่ได้คุยเอง เพราะเขาจะรู้สึกว่า ก็แน่ล่ะ นายสบาย ผมก็จะหาคนที่พวกเขารับฟังมาพูดแทน ส่วนใหญ่ทีม HR จะควบงานนี้ไปด้วย
คุณน่าจะมีลูกน้องที่อยู่ด้วยกันมานานๆ มีเคสไหนที่อยากเล่า ที่เขาดูแลชีวิตตัวเองดี ชีวิตการเงิน ครอบครัวเขาก็มีความสุข
มีหลายคนนะครับ คนที่อายุเยอะที่สุดที่อยู่กับเราอายุ 75-76 ปี เขายังทำงานไหว ผมรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ที่อายุเยอะหน่อยเขาเข้าใจชีวิตมากเลยนะ หมายถึงว่าเวลาเห็นเขามาทำงานหรือไปนั่งคุยกับเขา เขามีความสุข เราสงสัยเหมือนกันว่าทำไม สุดท้ายผมมาค้นพบว่า สุขภาพต้องดี และเรื่องภาระทางการเงินก็มีผล คือต้องไม่มีปัญหาใหญ่ทางการเงิน แต่ที่เขายังทำงานอยู่เพราะเบื่อ ไม่อยากอยู่บ้าน และนอกจากนั้นแล้วถ้าเขาออกมาทำงานแล้วจะมีสังคมที่จะคอยเติมชีวิตเขาให้รู้สึกมีอะไรทำมากขึ้น บริษัทเราเลยไม่มีเกษียณอายุ ทำกันไปเรื่อยๆ
การบริหารเงินกิจการกับเงินตัวเราเอง มันแตกต่างกันอย่างไร
จริงๆ ผมว่าแนวคิดจะคล้ายกันมาก แต่เงินของกิจการมันจะซับซ้อนกว่า มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ และมันจะดูน่าตระหนกมากกว่าเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เพราะก้อนมันใหญ่ แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ อย่าเอาสเกลของเงินส่วนตัวกับกิจการมาเทียบกัน เช่น การจะจ่ายเงินก้อนหนึ่ง 5 ล้านบาทของบริษัท เราจะรู้สึกเยอะมาก ฉะนั้นเราจะมองในมุมของบริษัท ไม่อย่างนั้นเราจะคิดตัดสินใจผิดไปหมด ต้องคิดว่าเป็นผู้บริหารไม่ใช่บุคคล ต้องแยกให้ออก
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ผมเห็นกิจการหลายที่ไปได้ดี แต่เอาเงินไปปนกัน เจ๊งทุกเรื่อง นี่คือข้อห้ามเลย ผมจะเคลียร์คัตชัดเจน ผมจ่ายเงินเดือนตัวเอง จ่ายเท่าไรใช้เท่านั้น เราเป็นเหมือนพนักงานคนหนึ่ง เงินส่วนตัวสเกลจะเล็กลงและอยู่ในความควบคุมเราได้มากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องกันเงินไว้เลยคือสำหรับสุขภาพ ต่อให้เรามีประกันก็ช่วยแค่ส่วนหนึ่ง แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพแพงมาก ดีที่สุดคือการไม่ป่วย แต่มันยากมาก เราต้องกันให้เยอะที่สุด
จนถึงตรงนี้คุณคิดว่าเงินสำคัญกับชีวิตไหม
ต้องบอกว่ามันก็สำคัญแน่นอน เพราะมันเป็นเหมือนสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทุกอย่าง เราจะไปหาหมอก็ต้องมีเงิน แต่ผมคิดว่าเราต้องอยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุข ต้องเข้าใจมัน อย่าให้มันเป็นนายเรา เราต้องเป็นนายมัน ต้องควบคุมมันให้ได้ ควบคุมมันก็คือควบคุมความอยากและวิธีคิดตัวเองนั่นแหละ คนส่วนใหญ่ถ้าไม่เสียเงินกับการซื้อของเยอะเกินไป ก็โลภ โลภนี่อันตรายกว่าซื้อของเยอะอีก เละเทะได้เลย บางคนได้ยินอะไรที่ล่อตาล่อใจ น่าลงทุน จำนองบ้านไปลงทุนก็มี อันนี้อันตรายมาก
คุณคิดว่าเงินซื้อความสุขได้ไหม
เงินเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่ทุกข์มากกว่าถ้าเราบริหารจัดการมันได้ ถามว่าซื้อความสุขได้ไหม ถ้าเราทุกข์อยู่ก็คงซื้อไม่ได้ แต่ช่วยให้เราไม่ทุกข์ได้ เช่น แม่เราป่วยเข้าโรงพยาบาลเราก็มีเงินจัดการได้ เราอยากให้ลูกเรียนที่นั่นที่นี่เพราะชอบสังคมที่นี่ก็มีเงินให้ลูกไปเรียนได้ หรือพื้นฐานสุดๆ อย่างบางวันที่เราอยากกินอะไรอร่อยๆ มันก็ช่วยให้เราไม่ทุกข์ได้ แต่ผมคิดว่าความสุขจริงๆ มันเกิดจากตัวเรามากกว่า เงินเป็นปัจจัยหนึ่ง แค่เราต้องมี
สำหรับศรีจันทร์แล้ว คุณวางไว้ว่าจะทำงานถึงเมื่อไร
ผมคงทำงานไปอีกนาน แต่ที่ศรีจันทร์หรือเปล่าไม่รู้ เคยลองอยู่บ้านแป๊บหนึ่งแล้วเบื่อสุดๆ เลย ไม่ไหว ต้องทำงาน เรารู้สึกว่าเป็นคนชอบสังคม ไม่ได้บ้าทำงานนะ ถึงเวลาเลิกก็เลิก แต่ผมชอบออกไปทำงาน ก็คงทำงานไปเรื่อยๆ แต่จะทำที่ศรีจันทร์อีกนานไหมไม่รู้จริงๆ อาจจะให้มันอยู่ของมันได้ ใจผมเองอยากสอนหนังสือ เชื่อว่าวันหนึ่งจะไปสอนหนังสือเป็นอาชีพหลัก คือตอนนั้นไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปเยอะแล้วก็ไม่รู้เหมือนกัน คงเป็นเรื่องอนาคต
แสดงว่าคุณไม่ใช่คนประเภทหยุดทำงานแล้วมีเงินใช้ไปตลอด
ผมคงไม่หยุดทำงานแน่นอน คงทำไปเกือบตาย ผมไม่ได้รู้สึกว่าการทำงานแล้วมันเหนื่อย รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราชอบทำ ได้คุยกับคนนั้นคนนี้ พยายามคิดอะไรใหม่ๆ มันสนุก ทำให้เรามีชีวิตชีวา แล้วเราก็รู้สึกว่าเหมือนมันได้ทำอะไรใหม่ๆ ออกมาทำให้ชีวิตเรามีความหมาย
อยากจะฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ทั้งการทำงาน ชีวิต และการเงิน
ผมว่ายุคนี้ การเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เล็กมากๆ ของเส้นทางการหาความรู้ ทัศนคติอย่างหนึ่งที่ทำให้เราอยู่ในโลกอย่างประสบความสำเร็จและมีความสุข คือการไม่หยุดหาความรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา การเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัยมันเป็นจุดเริ่มต้น ครึ่งหนึ่งที่คุณเรียนอาจล้าสมัยไปแล้วเมื่อเรียนจบ ที่สำคัญต้องหาตัวเอง หาให้เจอ บางคนไม่ชอบอ่านหนังสือก็ไม่เป็นไร แต่ต้องหาวิธีหาความรู้ของตัวเอง มันจะทำให้เราทำได้ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่หมดแรงไปตลอด หรือการทำงานด้วยการหาความรู้จากเจ้านายก็เป็นทางที่ดี เจ้านายทุกคนบนโลกนี้อยากถ่ายทอดอยู่แล้ว เพียงแต่มีใครอยากจะรับมันไปมากกว่า ผมว่าทัศนคตินี้จะทำให้เราเติบโตเร็วและมีความสุข
เรื่องเงิน อย่าประมาทพลังของดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินฝากมันน้อย แต่ดอกเบี้ยฝั่งบัตรเครดิตยังเต็มเหนี่ยวอยู่ และใครเริ่มก่อนชนะก่อน เวลาเป็นสิ่งเอากลับมาไม่ได้ เริ่มลงทุนทีละนิด เวลาจะช่วยให้มันเพิ่มพูนขึ้นมาได้ ต่อให้ตลาดหุ้นขึ้นๆ ลงๆ แต่ในระยะยาวเงินทบไปก็จะมีมูลค่ามหาศาล
ฟังรายการ The Money Case by The Money Coach พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
The Guest รวิศ หาญอุตสาหะ
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic