5 บทเรียนสำคัญเรื่องเงิน จากชีวิตและประสบการณ์จริงของมันนี่โค้ช ที่จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง ให้ไอเดีย เพื่อให้คุณอยู่กับเงินได้อย่างมีความสุข (สามารถติดตาม บทเรียน 5 ข้อแรกจากเอพิโสดที่แล้ว ได้ที่ ความรู้ สู่การปลดหนี้ ลงทุน สร้างคุณค่า ให้เงินวิ่งเข้าหาเรา)
ทรัพยากรทั้งโลกเป็นของเรา
ทรัพยากรทั้งโลกเอื้อให้เราเข้าถึง และสร้างประโยชน์แบบที่พอเหมาะพอสมได้ ทรัพยากรในที่นี้หมายถึงเงินด้วย แม้เราจะไม่มีเงิน แต่สามารถหาเงินจากช่องทางต่างๆ ได้ เช่น เงินกู้ โดยการเขียนแผนธุรกิจไปหาธนาคารแล้วขอเงินกู้ หลังๆ ยังมีทั้งการระดมทุน หุ้นส่วน ฯลฯ
บางครั้งทรัพยากรก็ไม่ใช่เงิน แต่เป็นข้าวของเครื่องใช้ เช่น ถ้าเราจะเปิดธุรกิจทำเครื่องสำอาง เราไม่ต้องเปิดโรงงานเอง แต่ใช้เอาต์ซอร์สอาศัยคนเก่งๆ มาช่วยผลิตให้งานของเราก็ไปได้เร็วขึ้น
นอกเหนือจากเงินทุน ทรัพยากรเครื่องจักรต่างๆ แล้ว ความรู้ความสามารถก็ถือเป็นทรัพยากรหนึ่งที่นำมาใช้ได้ แทนที่เราจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง อยากจะทำอะไรสักเรื่องต้องไปศึกษาตั้งแต่ต้น ลองคิดใหม่ว่า เราสามารถขอความร่วมมือ ว่าจ้าง หรือเอาเขามาเป็นหุ้นส่วน เพื่อทำในสิ่งที่เราต้องการให้เร็วขึ้นได้หรือไม่
ในยุคก่อนที่โค้ชทำธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา ยังเชื่ออยู่ว่าจะต้องทำอะไรเองทุกอย่าง อย่างการทำเว็บไซต์ซึ่งตอนนั้นเป็นสิ่งใหม่มาก ก็ถึงกับเรียนการสร้างเว็บไซต์ เรียนเขียนโค้ด แล้ววุ่นวายมาก แล้วก็คิดได้ว่า ทำไมเราไม่ใช้ความรู้ความสามารถคนอื่น สุดท้ายก็เลยจ้าง แป๊บเดียวงานเสร็จ และเดินหน้าต่อไปได้ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเรามักใช้เรื่องทรัพยากรที่ขาดแคลนเป็นข้ออ้าง เราไม่มีเงิน ไม่มีเครื่องจักร ก็ลงทุนอะไรไม่ได้ ไม่มีความรู้ก็ทำกิจการนั้นไม่ได้ ไม่มีคอนเน็กชันก็ทำในสิ่งที่คิดฝันไม่ได้
เราต้องคิดใหม่ด้วยการมองสิ่งที่ขาดให้เป็นโจทย์ เราจะหาความร่วมมือทางการเงินได้จากที่ไหน เราจะหาเครื่องจักรอุปกรณ์มาซัพพอร์ตเราได้อย่างไร เราขาดความรู้ ประสบการณ์ เราจะถามหรือเรียนรู้จากใคร ที่ไหน อย่างไร ถ้าเราเริ่มปรับความคิดได้แบบนี้
คนที่มีไอเดียแล้วไม่ได้ทำอะไร มีชีวิตที่จมอยู่ ไม่ได้เดินไปข้างหน้า สิ่งที่เขาโฟกัสคือสิ่งที่เขาขาด ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่มาเป็นว่า เมื่อไรไม่มี เราก็ต้องมองหา และทำในแบบที่เราทำได้
CASE: ลูกศิษย์คนหนึ่งที่สนิทกัน เห็นกันมาตั้งแต่เริ่มปรึกษาที่บ้าน เขามีความฝันว่า อยากจะทำธุรกิจฟิตเนสและสุขภาพ ลองนึกภาพว่าเด็กคนหนึ่งที่บ้านไม่มีเงิน ไม่ได้เรียนดีมาก แต่มีความฝัน โค้ชบอกเขาว่า ถ้าเกิดเรามีทรัพยากรมาทำความฝันให้เป็นจริงไม่พอ เราก็ต้องหยิบยืมคนอื่น ลูกศิษย์คนนี้อยากทำธุรกิจอาหารเสริม สิ่งที่เขาทำคือ เขาไปตามฟิตเนสต่างๆ เห็นคนไหนนั่งพักก็เข้าไปคุย ว่าอยากจะทำธุรกิจอาหารเสริม เล่าไอเดียให้ฟัง เหมือนเอาแผนธุรกิจไปคุยกับคนที่เราไม่รู้จักเลย เขาไม่รู้เลยว่าจะมีคนร่วมมือไหม แค่รู้ว่าถ้าไม่พูดก็ไม่ได้ พูดไปอย่างมากก็โดนปฏิเสธ สุดท้ายเขาเจอเทรนเนอร์คนหนึ่งที่ยินดีมาร่วมงานด้วยเพราะฟังไอเดียแล้วชอบ พร้อมด้วยคุณหมออีกท่านที่เก่งด้านโภชนาการก็มาร่วมงานกัน สุดท้ายได้ทั้งเงินทุนและทีมงาน จนทุกวันนี้เป็นธุรกิจ Plan For Fit ที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน
นี่คือการมองว่าทรัพยากรทั้งโลกเป็นของเรา เราเข้าไปถึงได้ นี่คือโอกาสที่เราจะเปลี่ยน ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไอเดียให้เป็นความจริง หรือเปลี่ยนแปลงสถานะทางการเงินให้เติบโตขึ้น
กติกาพิเศษมีไว้สำหรับคนพิเศษ
โลกใบนี้มีกติกาทั่วไปซึ่งทุกคนที่อยากประสบความสำเร็จก็ต้องทำตามกติกานี้ แต่บางทีมันก็มีกติกาพิเศษที่มีไว้สำหรับคนพิเศษ โค้ชเคยคุยกับรอง MD ธนาคารใหญ่ในประเทศธนาคารหนึ่ง เขาเล่าว่า รู้ไหม คนเราฝากเงินได้ดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ต่อให้จะฝากเงินเท่ากันก็ตาม มันอยู่ที่ว่าคนคนนั้นพึงพอใจกับดอกเบี้ยที่เขาได้หรือเปล่า บางคนไม่พอใจก็เดินเข้ามาขอเพิ่มตรงๆ ที่น่าสงสัยก็คือทำไมธนาคารไม่เพิ่มให้กับทุกคน MD คนนั้นตอบว่า ธนาคารมีเงินฝากกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มแค่ 25 สตางค์ให้กับทุกคน ก็มีต้นทุนเพิ่ม 2,500 ล้านบาท เพราะฉะนั้นคนที่ไม่พอใจแล้วเข้ามาเจรจาถึงจะได้สิ่งที่พิเศษกลับไป
ในโลกใบหนี้มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่คิดเจรจาอะไรเลย ซึ่งเสียประโยชน์ เสียโอกาสพอสมควร อย่าลืมว่า กติกาพิเศษมีไว้สำหรับคนพิเศษ เรามีสิทธิจะเลือกลองเจรจาดูได้
ในชีวิตจริงเราซื้อกางเกงตัวหนึ่งยังต่อเลย แต่บางสิ่งบางอย่างที่มีผลกับการจัดการชีวิตเรากลับไม่พูดคุยเจรจา
CASE: ลูกศิษย์คนหนึ่งขี้กังวลมาก โค้ชบอกเขาทุกครั้งว่า ถ้าไปเจรจาเรื่องหนี้ มีอะไรที่เราอยากพูดหรือสื่อสาร อะไรที่เราทำได้ หรือไม่ไหว บอกไปตรงๆ แต่พอไปถึงเจอธนาคารบอกว่าเบี้ยวบ่อยมาก ต้องจ่ายเท่านั้นเท่านี้ ปรากฏว่าเขากลัว เซ็นรับทราบ สุดท้ายก็ส่งไม่ไหวแล้วมีปัญหาภายหลัง โค้ชเองก็เคยมีประสบการณ์เจรจาแบบนี้ในศาล นายธนาคารให้ส่งเดือนละ 5,000 บาท โค้ชบอกว่าไหวแค่ 2,000 บาท ถ้าเกินจากนี้ก็ผิดสัญญาหนี้อยู่ดี ฉะนั้นเอาตามจริงที่ไหวคือ 2,000 บาท ถ้าช่วยยืดเวลาและเปิดโอกาสว่าถ้ามีมากก็จะโปะมาก แต่ถ้าไม่ไหวขั้นต่ำอยู่ที่ 2,000 บาท แทนที่จะ 5,000 บาทเท่ากันทุกเดือน และสุดท้ายก็เจรจาประสบผลสำเร็จ
CASE: ในบางเรื่องเราอาจใช้ในทางบวกบ้างก็ได้ เช่น ลูกศิษย์คนหนึ่งทำโรงเรียนสอนฟุตบอลให้เด็ก เงินก็ไม่ค่อยมี แต่ปัจจุบันมีสนามฝึกให้เด็ก 4 สาขา เริ่มต้นง่ายๆ ว่าเขาเดินไปยกมือไหว้เจ้าของ บอกว่ารักฟุตบอล อยากสอนฟุตบอลให้เด็ก ปัญหามีอยู่นิดเดียวคือไม่มีเงิน ถ้าขอว่าจองสถานที่ไว้ และขอลองทำช่วงหนึ่ง และถ้ามีเงินจะใช้คืน คนส่วนใหญ่อยู่เฉยๆ ไม่กล้าไปขอแบบนี้ ปรากฏว่าเจ้าของใจดีให้โอกาส เขาเริ่มทำโฆษณาบนเฟซบุ๊ก เริ่มมีลูกศิษย์มาเรียน และมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใหญ่ใจดีหลายคนเขาเองก็ได้รับโอกาสจากบางคนมา และทำให้เขาสร้างเนื้อสร้างตัวจนเขามีชีวิตที่ดีในวันนี้ วันหนึ่งถ้าเขาเจอเด็กสักคนที่มีความมุ่งมั่นและอยากได้โอกาส ถ้าเขาจะหยิบยื่นให้โดยไม่เสียอะไรมากมาย เขาก็พร้อมจะหยิบยื่นให้
ยิ่งแชร์ยิ่งมั่งคั่ง
จากเคยเชื่อว่า ทำอะไรควรทำคนเดียว จะได้กินคนเดียว รวยคนเดียว แต่สุดท้ายคือเหนื่อยมาก และหลายเรื่องมันไปไม่ได้ไกลเท่าที่คิด เลยคิดใหม่ว่า ถ้าเราเหนื่อยหนักเต็มที่ มียอดขาย 1 ล้านบาท เราอาจจะได้กำไร 1 ล้านบาท แต่ถ้าเราแชร์ความร่วมมือ อาจจะมียอดขายเพิ่มเป็น 10 ล้านบาท แล้วแบ่งกัน 4-5 คน อาจจะมีรายได้มากกว่าการทำคนเดียวด้วยซ้ำไป เวลาจะทำอะไรให้คิดเลยว่า ต้องมีความรู้ความสามารถ ทรัพยากรอะไรบ้าง เราขาดอะไร จะดึงใครเข้ามาร่วมในฐานะหุ้นส่วน Supplier หรือ Outsource
ถ้าจำได้ว่า ทรัพยากรทั้งโลกเป็นของเรา แล้วผนวกกับความคิดและหัวใจ แชร์ให้ทุกคนมาเข้าร่วม สิ่งที่เราคิดจะไปได้ไวขึ้น เราจะพบว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยโอกาส นี่คือสิ่งสำคัญมากของการดำรงชีวิตคนคนหนึ่ง บางคนเจออะไรขัดขวางก็คิดว่าเป็นอุปสรรค แต่บางคนเรียกสิ่งที่เขาไม่มีว่าโจทย์ แล้วหาจิ๊กซอว์มาเติมเป็นภาพใหญ่ คนแบบนี้ก็จะมีแต่โอกาส และเมื่อมีชีวิตอยู่ท่ามกลางโอกาส ความมั่งคั่งของเราก็เป็นไปได้ง่ายและเร็วขึ้น
อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริง คือสิทธิในการเลือก
ตอนที่เริ่มศึกษาเรื่องการเงินเพราะอยากรวย และอยากมีเงินให้ได้มากที่สุด ตั้งโจทย์ว่าถ้ามีเงินเยอะ เราก็จะมีชีวิตที่มีอิสรภาพทางด้านการเงิน และเราจะหยิบใช้อะไรก็ใช้ได้ เมื่อมีเงิน เราก็ไม่ต้องทำงาน พอไม่ต้องทำงานเราก็มีเวลาไปใช้กับสิ่งที่รักที่ชอบ แต่เวลาผ่านไปนานเข้า เริ่มเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ก็พบความจริงว่า นิยามของอิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงแล้ว คือสิทธิในการเลือก ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมเงินที่มากมาย เรามีเงินแค่เลี้ยงดูชีวิต เก็บออม ต่อยอดได้อย่างพอเหมาะพอสม เหมาะกับชีวิตที่เราอยากได้อยากเป็น และทุกสิ่งทุกอย่างในการดำรงชีวิต ถ้าเราเป็นคนเลือกเองทั้งหมด มันก็จะเป็นรูปแบบที่เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น
ความรู้ด้านการเงินสูงสุด คือการรู้จักและเข้าใจตัวเราเอง
เราต้องรู้ว่าอะไรคือความสุขของเรา ตอนที่เจ็บป่วยโค้ชรู้ตัวเองเลยว่า ชีวิตคนเราอาจเกิดมาครั้งเดียว ถ้าตลอดชีวิตเราไม่มีความสุข ต้องแลกหรือเสียอะไรบางอย่าง เพื่อแลกกับระยะยาว ทำไมถึงไม่มีความสุขทุกชั่วขณะไปเลย ลองมาคุยกับตัวเองว่า ต้องการบ้านหลังใหญ่เหมือนคนอื่นไหม ก็ไม่ รถคันใหญ่ไหม ก็ไม่ ต้องการกินอะไรหรูหรา ก็ไม่ แล้วอะไรที่อยากได้เป็นพิเศษ พบว่าตัวเองอยากมีเวลาอ่านหนังสือ ฉะนั้นถ้าเราได้ทำงานที่จัดสรรเวลาได้ เราก็จะมีความสุข อยากมีช่วงหนึ่งของทุกๆ ปีที่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ก็จะพยายามเก็บเงินเพื่อให้ไป
โค้ชมองว่าชีวิตที่เอาเงินตั้งนั้นผิด แต่ชีวิตที่เอาชีวิตเราตั้งคือสิ่งที่ถูกต้อง เราค่อยๆ ถ่ายจากไลฟ์สไตล์เราเป็นเงิน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สุดท้ายเงินคือสิ่งที่สนับสนุนให้ชีวิตมีความสุข ดูค่าใช้จ่ายตัวเองทั้งหมดแล้ววางแผน รู้ว่าแบบไหนคือชีวิตที่อยากใช้ ความสุขแบบไหนที่อยากจะมี เมื่อรู้จักและเข้าใจตัวเองก็จะจัดสรรเรื่องเงินได้ง่ายขึ้น
ฟังรายการ The Money Case by The Money Coach พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com