×

เรื่องภาษีที่คนทำธุรกิจส่วนตัวต้องรู้ กับ พรี่หนอม TaxBugnoms

16.07.2018
  • LOADING...

พอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach เคยคุยเรื่องภาษีมาบ้างแล้ว แต่คราวนี้เน้นเฉพาะภาษีของคนทำธุรกิจส่วนตัว หรือเจ้าของกิจการรายเล็กๆ อย่างคนที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือขายของออนไลน์ ที่มักปวดหัวและกลัวมากกับเรื่องภาษี  

 

มันนี่โค้ช ชวน พรี่หนอม TaxBugnoms มาตะลุยโจทย์คำถามเรื่องภาษีอีกครั้ง เอากันตั้งแต่ อยากเป็นคนดีเริ่มยื่นภาษีต้องทำอย่างไร? สรรพากรจะเล่นเราย้อนหลังไหม? เวลาได้ค่าจ้างมาแล้วโดนหัก 3% คือจบแล้วใช่ไหม? หรือถึงขั้นโดนหมายเรียกแล้วต้องทำอย่างไร?    

 


Q: ทำธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นฟรีแลนซ์มา 1-2 ปี เริ่มมีรายได้ แต่ไม่เคยยื่นภาษีเลยควรทำอย่างไร

ถ้าคิดจะยื่นภาษีเป็นเรื่องที่ถูกแล้วครับ เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นฟรีแลนซ์แล้วไม่ต้องยื่นภาษี แต่ความจริงแล้วใครก็ตามที่มีรายได้ต้องเสียภาษีทุกคน

 

Q: ลูกอายุ 5 ขวบไปเป็นแบบถ่ายรูปแล้วมีรายได้อย่างนี้ต้องเสียภาษีไหม

เสียสิครับ ไม่เกี่ยวกับอายุเลย ไม่ว่าใครที่มีรายได้จากประเทศไทยต้องเสียภาษีทุกคน ถ้าใครอยากจะเสียภาษีต้องเริ่มจากการรู้ข้อมูลรายได้ตัวเองก่อน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีรายได้เท่าไร ต้องเริ่มแยกว่ามีรายได้จากธุรกิจหรือการทำงานเท่าไรบ้าง จดไว้หรือแยกบัญชียิ่งดี

 

เริ่มจากรู้ว่าเรามีรายได้จากไหนบ้าง

ใช่ครับ ต้องตอบให้ได้ว่าตัวเองมีรายได้เท่าไร ข้อดีของการมีข้อมูลรายได้คือ ความกลัวที่จะถูกตรวจสอบจะหมดไป เพราะเรามีข้อมูลจริง ถ้าไม่มีข้อมูลรายได้แล้วสรรพากรมาตรวจ เขาบอกให้เราเสียเท่าไรก็ต้องเสีย เพราะไม่มีอะไรไปยืนยันเขา มีเคสหนึ่งที่ผมเคยเจอเป็นแม่ค้าออนไลน์แล้วมีบัญชีผูกไว้ พอสรรพากรมาตรวจก็บอกว่าไม่เคยมีรายได้จากตรงนี้เลย ก็ยืนยันด้วยการโชว์บัญชีที่ผูกไว้ว่าไม่มีรายได้เข้าเลย มันเป็นการจัดระเบียบตัวเองน่ะ การมีข้อมูลพวกนี้จะทำให้รู้ว่าธุรกิจมีกำไรหรือเปล่า บางคนขายของมาตลอดแต่ขาดทุนไม่รู้ตัว ยิ่งขยันทำข้อมูลค่าใช้จ่าย มันจะเห็นขาดทุนกำไร จากนั้นเราจะจัดการเรื่องภาษีได้

 

จากนั้นต้องมาแยกว่ารายได้ของเราเป็นประเภทไหนตามกฎหมาย บางคนเป็นฟรีแลนซ์อาจเป็นรายได้ประเภทที่ 2 หักได้แค่เหมาปีละ 100,000 บาท แต่บางคนขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไป กลายเป็นประเภทที่ 8 หักเหมาได้ 60% หรือจะหักจริงก็ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายพวกใบเสร็จมา เห็นไหมว่ามันต่างกัน และถ้าคุณเป็นทั้งฟรีแลนซ์และขายของออนไลน์พร้อมกัน คุณก็ต้องเอารายได้แต่ละประเภทมาหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของมัน แล้วมาคำนวณภาษีต่อ เราต้องเริ่มจากคำถามที่ว่าธุรกิจที่เราทำแบ่งเป็นตามประเภทไหนตามกฎหมาย จะทำให้คุณแบ่งประเภทรายได้ถูก จากนั้นค่อยไปวางแผนลดหย่อน ซื้อกองทุน LTF/RMF ต่อ ประเด็นคือเราต้องรู้รายได้ ค่าใช้จ่าย และมีเงินเหลือ ค่อยมาวางแผนภาษี นี่คือเรื่องที่ต้องทำเบื้องต้น

 

บางคนกล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้ายื่นเพราะก่อนหน้านั้นไม่เคยยื่นเลย กลัวว่าเขาจะรู้และโดนลงโทษ ถ้าตอบตามความคิดเห็น ผมว่านโยบายแรกของรัฐเขาไม่มายุ่งกับย้อนหลังมาก เพราะเขาอยากให้คนนอกระบบเข้ามาในระบบ การเข้าระบบมันทำให้รัฐตรวจสอบง่าย โดยเฉพาะ 2-3 ปีนี้มีนโยบายนิรโทษกรรมทางภาษี ที่ผ่านมาว่าไม่ว่ากัน อยากให้ทุกคนมาลงชื่อแล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หรือบางนโยบายก็สนับสนุนให้คนธรรมดามาเป็นบริษัทเพื่อกระตุ้นการทำธุรกิจ พูดต่อถึงข้อกฎหมายถ้าวันนี้คุณยื่นภาษี ต่อให้ถูกหรือผิด อำนาจตรวจสอบของรัฐจะลดลงเหลือแค่ 2 ปี มากสุดไม่เกิน 5 ปี นี่แค่ยื่นนะครับ ในทางกลับกันถ้าคุณไม่ยื่นภาษี อำนาจในการตรวจสอบจะกลายเป็น 10 ปี เท่ากับว่าถ้าคุณยื่นภาษีวันนี้คุณตัดอำนาจการตรวจสอบย้อนหลังไปครึ่งหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณปวารณาตัวได้ว่าคุณยื่นภาษีอย่างถูกต้องแล้ว ตรงนี้เราดราม่าชีวิตได้ (หัวเราะ) ว่าอุตส่าห์ทำให้ถูกต้องแล้วจะเอาอะไรอีก แต่ถ้าคุณไม่ยื่นภาษี คุณไม่มีเหตุผลจะไปต่อสู้อะไรเลย

 

Q: สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่าใครทำอะไรมาก่อนย้อนหลัง

ขอใช้คำว่าดิจิทัลฟุตพรินต์ ทุกคนมีหลักฐานในอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว บางคนเคยไปหาสรรพากร เขามีข้อมูลหมดว่าเราเคยเช็กอินที่ไหน กินข้าวร้านไหน ถอยรถร้านไหน เขาสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ บางคนไม่เคยยื่นภาษีแต่มีรายได้เก็บไว้ พอจะไปซื้อทรัพย์สินอย่างบ้านราคา 10 ล้าน ปรากฏว่ากรมที่ดินส่งข้อมูลไปสรรพากร มันก็เลยน่าสงสัยว่ามีเงินมาจากไหน บางเฟซบุ๊กกรุ๊ปสรรพากรแฝงตัวอยู่ก็มี เจ้าหน้าที่เขาต้องทำแบบนี้แหละเพื่อให้คนเข้าระบบถูกต้อง

 

Q: รับงานในนามตัวเอง เขาออกหลักฐานหักภาษี 3% 5% นี่คือจบเลยใช่ไหม

ไม่จบครับ พูดอย่างง่ายที่สุดนี่คือหลักฐานที่สรรพากรจะรู้ว่าคุณมีรายได้ เพราะคนที่เอาเงินให้เรายื่นเอกสารให้สรรพากรแล้ว มันเป็นรายจ่ายของเขา

 

Q: วัตถุประสงค์ของการหัก 3% ตรงนี้คืออะไร

ถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์คือรัฐมีรายได้สม่ำเสมอ ช่วยบรรเทาภาระภาษี สมมติหักไปเรื่อยๆ คุณก็จะมีเครดิตเก็บไว้ พอนำมาคำนวณภาษีทั้งปีจริงๆ เราอาจจ่ายเพิ่มอีกไม่เท่าไร อย่างนี้ความรู้สึกมันดี เพราะถูกหักไปบ้างแล้ว พูดอย่างนี้ก็เป็นหลักฐานในการตรวจสอบความถูกต้องด้วย อันนี้กฎหมายไม่เคยบอกด้วยว่าต้องหัก 3% เช่น ผมไปบรรยายแล้วได้เงิน วิธีการคิดก็คูณจำนวนครั้งของปีนั้น สมมติว่าบรรยายครั้งละ 30,000 บาท แปลว่าจริงๆ เขาไม่ต้องหักภาษีเพราะไม่ถึงฐานต้องเสียภาษี กฎหมายกำหนดแบบนี้ แต่การปฏิบัติที่ง่ายและทุกคนมีความสุขคือหักไว้แล้วทุกคนรู้สึกดี 3% จริงๆ 3% ใช้กับบริษัทต่อบริษัท ซึ่งถือเป็นการบริการ หรืองานจ้างที่ต้องลงแรง เช่น จ้างช่างรับเหมาที่เป็นธุรกิจถึงหัก 3% แต่ถ้าจ้างคนไปใช้แรงปกติ ในทางปฏิบัติสรรพากรก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่มันยากตรงที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าหักแล้วจบและเข้าใจว่าตัวเองเสียภาษีถูกต้องมาตลอด เป็นเรื่องน่ากลัวกว่าคนที่หนีภาษีเสียอีก

 

Q: เพื่อให้เป็นระบบและทำเรื่องภาษีให้ง่ายขึ้น จดเป็นบริษัทไปเลยอย่างนี้ดีไหม

ดีครับ จดบริษัทอย่างไรก็ประหยัดภาษีกว่าบุคคล เพราะเรตภาษีบริษัทมันต่ำกว่า บุคคลเสีย 5-35% ยกเว้น 150,000 บาทแรก ถ้าเป็นบริษัทกำไร 300,000 บาท ยกเว้นให้ รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ทุนชำระไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนที่เกินมาเสีย 10% ภาษีบุคคลจะเสียเป็นขั้นบันได แต่นิติบุคคลเสียสูงสุด 20% ถ้าบริษัทคุณมีกำไรเยอะการจดบริษัทจะเสียภาษีน้อยกว่า แต่คำถามสำคัญคือ การจดบริษัทคุณจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งค่าทำบัญชีเดือนละหลายพันบาทแล้วแต่ขนาด และความยุ่งยากของกิจการ ค่าสอบบัญชีหลักหมื่นหลักแสนบาทแล้วแต่กรณี นอกจากนั้นคุณต้องดูแลเรื่องเอกสาร รวมกันแล้วเหล่านี้คือต้นทุนแฝงที่ทำให้ต้องเสียเพิ่ม ถ้าธุรกิจคุณไม่ได้ใหญ่พอก็อาจไม่คุ้ม เช่น ปีหนึ่งคุณมียอด 3 ล้าน กำไร 3 แสน คุณจดบริษัทไม่เสียภาษีสักบาท แต่คุณต้องเจอทั้งค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าจ้าง การเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดาอาจคุ้มกว่าก็ได้

 

Q: ทุกธุรกิจเลยหรือที่ต้องเสียภาษี มีธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นไหม

ไม่มีหรอกครับ คำพิพากษาฎีกาอันหนึ่งบอกว่ารายได้จากการพนันยังต้องเสียภาษีเลย เพราะกฎหมายภาษีไม่สนใจว่าเป็นรายได้ถูกหรือผิดกฎหมาย กฎหมายภาษีคือถ้ามีรายได้ต้องเสียภาษีเท่านั้น อย่างโต๊ะบอลนอกจากจะถูกจับแล้วยังโดนภาษีอีก จริงๆ มันมีน้อยมากที่ไม่ต้องเสียภาษี อย่างการทำบุญให้พระ พ่อแม่ให้เงินลูก หรือให้เงินกันโดยเสน่หาปีละไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่ถ้าพูดว่าการทำงานแลกเงิน ร้อยเปอร์เซ็นต์คือต้องเสียภาษีหมด

 

Q: บางคนมีอาชีพเสริมขายหมูปิ้ง ขายบะหมี่ไม่เคยเห็นต้องเสียภาษี แบบนี้ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน

ถ้าพูดแบบนี้มนุษย์เงินเดือนจะหงุดหงิดมาก เพราะตัวเองอยู่ในระบบแล้วต้องเสียภาษี ส่วนคนขายของบางคนได้เงินเยอะกว่าแต่ไม่ยอมเสียภาษี อย่าลืมว่าสรรพากรมีวิธีสำรวจของเขา วิธีเก่าๆ สรรพากรให้ประเมินรายได้มาแล้วยื่น แต่มันไม่ถูกต้องหรอก อย่าลืมว่าถ้าวันหนึ่งหมูปิ้งที่เราขายเกิดขยายกิจการ มีแฟรนไชส์ ส่งไลน์แมน การเข้าระบบมันจะทำได้ง่ายกว่า

 

Q: เจอหมายเรียกจากสรรพากรแล้วต้องทำอย่างไร

อันดับแรกอย่าตกใจกับตราครุฑ ให้ดูว่าเขาพูดเรื่องอะไร เพราะเดี๋ยวนี้จะมีการเข้ามาตรวจแนะนำ คือการเข้ามาดูกิจการและให้ความรู้ หรือถ้าเป็นการเชิญไปพบก็ให้ดูว่าเรื่องอะไร บางครั้งอาจเป็นการเชิญไปเป็นพยานก็ได้ ไม่ใช่เป็นคนผิดอย่างเดียว บางทีอาจเป็นการยื่นข้อมูลผิด เราก็แค่เข้าไปชี้แจง มันเหมือนการคุยปกติไม่ได้น่ากลัวอะไร  ดีกว่าการเจอหนังสือประเมินคือต้องชำระเลย เหมือนเราต้องถือหนังสือฉบับนี้ไปเสียภาษี ถ้าจะอุทธรณ์ต้องทำภายใน 30 วัน และถ้าไม่จ่ายก็จะมีการฟ้อง ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่เขาแจ้งมาแล้วไม่สนใจ เราต้องดูความหนักเบาคือถ้าเป็นหมายเรียกอาจหนักหน่อย แต่เชิญไปให้ข้อมูลอาจไม่ใช่เรื่องหนักหนา

 

Q: มีเพจเฟซบุ๊กทักเข้ามาว่าอยากให้คำแนะนำในการประหยัดภาษี ควรระวังไหม

เราต้องคิดอย่างหนึ่งว่าความรู้เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนอาจหวังประโยชน์จากเรา โดยเฉพาะเรื่องภาษีน่ากลัวตรงที่ว่ามันเป็นเรื่องของกฎหมายที่ต้องตีความ มันไม่มีกลยุทธ์ที่เหมาะสมตลอดไป บางเรื่องอาจใช้ไม่ได้ในอนาคต บางเรื่องผิดแต่ปฏิบัติกันจนเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ พอเราไม่มีความรู้ก็จะโดนชักจูงได้ง่าย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องระวังก็คือ คุณจ้างเขาเป็นที่ปรึกษาแต่ถ้าคุณต้องเสียภาษีเพิ่มเขาไม่ได้จ่ายให้คุณนะ ไม่มีใครรับผิดชอบคุณแต่เขาได้เงินจากคุณแน่ๆ

 

Q: คนขายของออนไลน์สงสัยว่าสรรพากรจะเอาจริงหรือเปล่า

จริงๆ อยู่ในโรดแมป ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2555 มีเรื่องพร้อมเพย์ที่ค่อยๆ ดึงคนเข้าระบบ หรือมีร่างกฎหมายว่าคนที่ได้รับโอนเงินเกินปีละ 3,000 ครั้ง หรือเกิน 200 ครั้งและยอดเงินเกิน 2,000,000 บาท ก็ให้ธนาคารแจ้งสรรพากร กฎหมายเหล่านี้แสดงว่าเขากำลังจะเอาจริงและมาแน่

 

Q: ไปรับงานและเขาไม่ได้ออกใบหักภาษี แสดงว่าเขาไม่ได้หักภาษีและเราไม่ต้องยื่นภาษีส่วนนี้ใช่ไหม

ก็ลองถามตัวเองว่าเราเป็นคนดีแค่ไหน แต่อันนี้ต้องระวังว่าบางทีเขาหักไว้แต่ไม่ได้บอก คือไม่ได้ให้เอกสาร เพราะบางกรณีจะจ่ายเงินเต็มตามที่ตกลงกันไว้ แต่เพิ่มรายได้ให้พอดีกับที่หักภาษีไปโดยที่ไม่ได้แจ้งเรา แบบนี้พินาศมาหลายคนแล้ว เพราะรวมๆ กันจะกลายเป็นยอดที่ค่อนข้างเยอะ หน้าที่เราคือการไปทวงใบหัก​ ณ ที่จ่าย มาให้ได้ เพราะบางคนก็ปากหนักเกรงใจไม่กล้าทวงแต่ต้องไม่ลืมว่านี่คือชีวิตของเรา

 

Q: ภาษีกับทะเบียนการค้าคืออันเดียวกันหรือเปล่า

มันไม่เกี่ยวกันเลย เพราะการมีรายได้เขาไม่สนว่าคุณจดอะไร ไม่จดทะเบียนก็ยื่นภาษีได้ เพราะบุคคลธรรมดาก็เสีย มันคือผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียน ไม่ผิดกฎหมาย เพิ่มความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ บางคนเข้าใจว่าตัวเองเสียภาษีถูกต้องทั้งที่ไม่เคยเสียภาษีเลย กรมการค้าอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ ส่วนสรรพากรอยู่กระทรวงการคลัง แยกส่วนกัน

 

แสดงว่าทำธุรกิจหนึ่งอย่างไม่ได้มีภาษีเดียว แต่มีทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เราจะรู้ได้อย่างไร

ถ้าเกี่ยวกับรายได้ ก็จะมีภาษีเงินได้ ถ้าเก็บจากการขายหรือบริการเรียกว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งสองตัวนี้คือของกรมสรรพากร รายได้มีเท่าไรก็ต้องยื่น เสียไม่เสียไม่รู้ แต่ถ้าธุรกิจเกิน 30,000 บาทต่อปีก็ต้องยื่น และถ้าเกิน 1,800,000 บาท แล้วไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องไปจด VAT เป็นการบังคับโดยกฎหมาย นี่คือภาษีหลักที่เกี่ยวกับชีวิต

 

จากนั้นต้องไปดูว่าคุณทำธุรกิจอะไร ถ้าเป็นธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ขายเครื่องดื่มชูกำลัง ก็ต้องสรรพสามิต ถ้าเป็นการนำเข้าก็ต้องเสียภาษีศุลกากร ถ้าคุณมีป้ายร้านก็ต้องเสียภาษีป้าย ขึ้นอยู่กับว่าทำธุรกิจอะไร

 

ผมดีใจอย่างหนึ่งตรงที่เด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มเปิดกิจการ เขาต้องการข้อมูลธุรกิจจริงๆ เขายอมเสียภาษี เขาต้องการรู้ว่ามีรายได้เท่าไร ต้องเสียภาษีเท่าไร เพื่อเอาไปจัดการบริหารธุรกิจเขา ถามตัวเองว่ารักกิจการแค่ไหน ถ้าอยากให้มันเติบโตคุณก็ต้องมีข้อมูลตรงนี้เยอะๆ ผมไม่ได้บอกว่าต้องมีเพื่อการไปยื่นภาษีที่ถูกต้อง แต่เพื่อธุรกิจของคุณเอง

 

Q: มีอะไรอยากฝากถึงเจ้าของกิจการมือใหม่บ้างไหม

หนึ่งคือขอให้มีความรู้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด เพื่อที่จะได้เลือกทางถูก ต่อให้คุณเลือกทางที่ผิดอย่างน้อยคุณควรรู้ว่าจะต้องเสียภาษีตอนที่โดนตรวจเท่าไร เพราะมันมีผลกับการล้มของกิจการ ต้องรู้ว่ากฎหมายกำหนดไว้อย่างไร จะทำถูกหรือผิดมันเรื่องของคุณ ต้องรับความเสี่ยงทั้งสองฝั่ง ทำถูกก็สบายใจ แต่เสียภาษีเยอะหน่อย กับอีกด้านที่ไม่จ่ายเงินเลย แต่ถ้าวันหนึ่งโดนขึ้นมาคุณรับได้ไหมว่าต้องจ่ายอะไรบ้าง นี่คือสิ่งที่ต้องเลือก ต่อมาคุณต้องหาเครื่องมือที่ช่วยเหลือคุณได้ อาจหาพาร์ตเนอร์ที่ดีอย่างคนทำบัญชีที่ดีที่ช่วยแบ่งเบาคุณได้ แต่คุณทำธุรกิจคนเดียวคุณต้องรู้ให้เยอะเพราะมันมีโอกาสเติบโตกันทั้งนั้น และคุณจะเก่งขึ้นมาก

 

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าความรู้ในการทำธุรกิจมันยากกว่าความรู้ด้านภาษีอีก ขอแค่ยอมเรียนรู้เรื่องภาษีเท่านั้นเอง


ฟังพอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Spotify, Podbean, SoundCloud, YouTube หรือแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) 


 

Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
The Guest ถนอม เกตุเอม


Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Show Producer & Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

FYI

The Money Case by The Money Coach เคยชวน พรี่หนอม มาคุยเรื่องภาษีเบื้องต้นแล้ว 2 ตอน คือ

• สนทนา ภาษี กับ พรี่หนอม เจ้าของเพจ ภาษี สุดฮิต TaxBugnoms

• ภาษีฟรีแลนซ์ VAT ภาษีกองทุน มรดก ที่ดิน และช้อปช่วยชาติ

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising