×

กู้เงินก้อนใหญ่สร้างกิจการเพื่อครอบครัวจนจัดการไม่ไหวและมองไม่เห็นทางรอด

10.09.2018
  • LOADING...

มันนี่โค้ช หยิบเคสที่น่าสนใจจากอีเมลมาเล่า เป็นสองเคสที่มีจุดร่วมเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ ว่าด้วยการกู้เงินก้อนใหญ่ การบริหารจัดการหนี้และดอกเบี้ย การใช้เงินลงทุนสร้างกิจการ เพื่อหวังจะเลี้ยงดูครอบครัว แต่สุดท้ายสู้แทบไม่ไหว และเหมือนจะไปไม่รอด เพราะอะไร และควรหาทางออกอย่างไร ติดตามได้ใน The Money Case by The Money Coach

   


 

CASE: ทำงานประจำเงินเดือน 100,000 บาท แฟนเปิดร้านอาหารได้ประมาณ 6 เดือน ก่อนเปิดร้านเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่แล้ว 3 ล้านบาทจากการลงทุนอย่างอื่น พอเปิดร้านก็เป็นหนี้เพิ่ม ปัจจุบันเป็นหนี้อยู่ 5 ล้านบาท จากที่คาดว่าร้านจะสร้างรายได้เพื่อมาใช้หนี้ ปรากฏว่ารายได้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายร้าน ทำให้ต้องกดเงินจากบัตรเครดิตมาหมุนมากขึ้น ตอนนี้ร้านอาหารเปลี่ยนเป็นแบบบุฟเฟต์ เพื่อเรียกลูกค้าให้มากขึ้น แต่ปัญหาคือ เริ่มจ่ายบัตรเครดิตได้ไม่หมดทุกใบ ธนาคารเริ่มโทร.มาทวงแล้ว เพราะไม่จ่ายขั้นต่ำก็ไม่ได้ ตอนนี้ตันมาก จะเลิกทำร้านอาหารก็ไม่รู้จะหารายได้จากไหนเพิ่ม ถ้าหาเงินลงทุนทำธุรกิจได้ คิดว่าจะเบาขึ้น เช่น ถ้าสามารถกู้เงินได้ 5 ล้านบาท เอามาปิดหนี้ และผ่อนจ่ายระยะยาว 10-15 ปี จ่ายเดือนละ 50,000-60,000 บาท แต่ตอนนี้เครดิตเต็มกู้ไม่ได้แล้ว ขอคำแนะนำด้วยค่ะ คิดจะหยุดจ่ายบัตรแต่กลัวเรื่องฟ้องร้องที่จะมีผลต่องานประจำ ป.ล. ทางบ้านยังไม่ทราบเรื่อง เพราะว่าไม่กล้าบอก

 

จากเคสนี้มีเรื่องที่อยากจะเตือนและฝากไปถึงหลายๆ ท่านด้วย คือการไฟแนนซ์เงินมาลงทุนหรือเปิดกิจการ เคสนี้มีหนี้เดิมอยู่ 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้บัตรเครดิตจากการเอาเงินไปลงทุน บัตรเครดิตในเมืองไทยอัตราดอกเบี้ยอย่างต่ำๆ ก็มี 18% ต่อปี บางธนาคารไปถึง 20-24% ต่อปี ถ้าเป็นของนอน-แบงก์ก็ไปได้ถึง 28% ต่อปี

 

การไฟแนนซ์เงินโดยมีต้นทุน 18-24% ต่อปี เราต้องลงทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนเอาชนะตรงนี้ได้ ลองนึกภาพ เราขายของราคา 100 บาท เราก็ต้องหักจ่ายค่าต้นทุนไป เหลือเป็นกำไร กำไรจะต้องมากกว่า 18-24% ก่อนเป็นอันดับแรก ถ้ากำไรเราเท่ากับ 18-24% เท่ากับว่าเหนื่อยฟรี และไม่ได้อะไรเลย ทำงานใช้หนี้ธนาคารและสถาบันการเงินไปเรื่อยๆ ผลตอบแทนที่ควรจะได้น่าจะต้องมีประมาณหนึ่งเท่าตัว

 

ที่หนักหน่อยของเคสนี้ก็คือ เคยมีหนี้บัตรเครดิต 3 ล้านบาทอยู่แล้ว ผมคิดว่าผ่อนต่อเดือนก็สูง และเราไปกู้มาเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท เมื่อฐานของดอกเบี้ยสูง ทำให้เราเครียดในการหารายได้ ถ้าสามารถหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อย่างน้อยที่สุดต่ำกว่า 18-24% ดอกเบี้ยไม่ควรเกิน 10% ถ้าได้ดอกเบี้ยตรงนี้มาก็จะช่วยได้  หลายๆ คนเวลาที่ปัญหารุมแบบนี้ จะรู้สึกว่าหนี้เยอะ และจะทิ้งธุรกิจนี้ไปก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีธุรกิจนี้ยิ่งไปกันใหญ่ แต่อยากให้ตั้งสติแบบนี้ครับ หยิบธุรกิจของเรามามองดีๆ สิ่งที่อยากให้ทำมากที่สุด ลองทำงบกำไร-ขาดทุน ทำการค้าขายควรจะมีตัวเลขตรงนี้ รายได้ต่อเดือนเท่าไร ต้นทุนต่อเดือนเท่าไร รายรับหักลบรายจ่ายและลองมาดูกำไร อย่าเพิ่งเอาหนี้หรือเงินส่งหนี้มาหัก

 

สิ่งที่คนส่วนใหญ่มึนกับการแก้ปัญหาหนี้ เพราะคิดว่าโจทย์มีอยู่ทางเดียว คือหาเงินกู้มาเคลียร์ แต่จริงๆ ต้องดูว่าการหาเงินกู้มาเคลียร์นั้นได้ประโยชน์หรือเปล่า ผมจึงแนะนำให้ทำงบตรงนี้เพื่อดูว่าธุรกิจนี้ถ้าไม่ต้องส่งหนี้เลยอยู่รอดได้ด้วยตัวเองไหม กำไรมากพอหรือเปล่า สมมติว่าหักลบกันแล้วติดลบ ยังไม่ได้กำไร การที่คุณจะไปกู้เงินมาเพิ่ม การรีไฟแนนซ์เปลี่ยนจากหนี้เก่าเป็นหนี้ใหม่ด้วยดอกเบี้ยต่ำกว่า อาจไม่แก้ปัญหาได้เท่าการหยุดทำธุรกิจนี้ ถ้ามันมีกำไรเกินมา แต่ไม่พอเลี้ยงหนี้ เราต้องดูว่ามันรอดจริงหรือเปล่า ถ้ามันรอดและมีโอกาส แหล่งทุนที่พอทำได้ต้องลองหาดู หลายๆ คนจะท้อและไม่พยายาม เวลาช้อปปิ้งยังเดินเปรียบเทียบราคา ทำไมในส่วนสินเชื่อที่มีภาระต่อเนื่องยาวนาน ไม่พยายามค้นหาดู

 

ถ้าเกิดกู้สถาบันการเงินไม่ได้ ผมแนะนำสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหยิบยืมจากเพื่อนก็ยังดีกว่า 18-24% ที่เป็นการไฟแนนซ์ที่ผิดวิธี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำงบรายรับ-รายจ่าย ถ้าทำงบการเงินแล้วธุรกิจมันไปไม่ได้ การหยุดจ่ายหรือการขายสินทรัพย์เพื่อลดหนี้ลงอาจจะเป็นทางออก เพราะว่าเราเป็นหนี้เขา สุดท้ายก็ต้องจ่าย การหยุดจ่ายชั่วคราวทำแบบนี้นะครับ ตอนหยุดจ่ายกลไกที่จะเกิดขึ้นก็คือ สถาบันการเงินจะโทร.หาเรา เราอย่าไปหนี ขอเจรจากับเขาว่าสถานการณ์ของเราหนักมาก พอจะมีทางช่วยอะไรได้บ้าง ยื่นข้อเสนอไปเลย แต่อย่าไปยื่นมั่ว อาจจะขอลดดอกเบี้ย อาจจะหยุดจ่ายต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยชั่วคราว หรือแม้กระทั่งขอหยุดจ่ายชั่วคราว และทำเรื่องปรับโครงสร้างหนี้

 

ตอบเรื่องที่ว่าจะกระทบกับงานประจำไหม ไม่มีผลกระทบ การที่คนอื่นจะมารู้เรื่องของเราได้ มีอยู่อย่างเดียวคือ หลบ ไม่รับโทรศัพท์ พอหยุดจ่ายแล้วให้เก็บสะสมเงินด้วย สมมติเมื่อก่อนเงินเดือน 1 แสนบาท ต้องเอามาจ่ายหนี้บัตรเครดิตเกือบทั้งหมด พอไม่ได้จ่ายเขา จะมีเงินเหลือออม เงินเหลือออมตรงนี้ก็ห้ามเอาไปกินไปใช้ เก็บสะสมไว้ เพื่อเตรียมที่จะเจอและคุยกับเขา

 

บทเรียนจากเคสนี้

 

  1. การไฟแนนซ์เงินที่มีต้นทุนและดอกเบี้ยสูงเกินไป อาจไม่เหมาะกับการทำกิจการหรือการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณประเมินไม่เป็นว่ารายรับที่คุณจะได้มีผลกำไรกี่เปอร์เซ็นต์

 

  1. ให้ดูว่าเงินที่เรากู้มา เอาไปใช้ประโยชน์หรือเปล่า ทำให้กิจการโตขึ้นหรือเปล่า เงินเราจ่ายไปกับอะไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองทำงบกำไร-ขาดทุน และประเมินสถานการณ์ดูว่า ธุรกิจไปได้จริงหรือเปล่า มันคู่ควรกับการที่จะกู้เงินมาอีก เพื่อสู้กับมันไหม

 

  1. ตราบใดที่ยังไม่เป็นหนี้นอกระบบ ถือว่ายังโอเคอยู่ ลองใช้วิธีการหยุดจ่ายชั่วคราว ไม่หลบ ไม่หนี รับโทรศัพท์ทุกเคส เก็บเงินสะสม รอคอยวันเจรจา ปลายทางไกลที่สุดก็คือ ขึ้นศาล ถ้าธนาคารรอไม่ไหว เขาอาจจะขอคุยก่อนขึ้นศาล เปิดฉากเจรจากัน บางทีทางตรงอาจจะเป็นทางลัดที่ดีที่สุดสำหรับใครหลายๆ คน การหลบเลี่ยงอาจจะทำให้เรื่องยาวขึ้น

 

CASE: ตอนนี้อายุ 28 ปี เป็นหนี้ 6 ล้านบาท ตั้งแต่อายุ 24 ตอนนั้นต้องซื้อบ้านที่อยู่อาศัย เพราะอากงเสีย ลูกฝั่งภรรยาน้อยก็ฟ้องศาลเพื่อแบ่งมรดก บ้านอยู่ในทำเลที่ดี สามารถขึ้นตึกมาเพื่อปล่อยเช่าได้ เลยกู้เงินมาเพิ่ม 2 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารให้เช่า ได้เงินค่าเช่า 75,000 บาทต่อเดือน แต่ว่าต้นกับดอกอยู่ที่ 83,000 บาท ติดลบประมาณ 8,000 บาท จึงกู้เงินนอกระบบมา 8 ล้านบาท ดอกเบี้ย 8.5% ต่อปี (กู้จากคนที่รู้จักกันจึงเสียดอกเบี้ยไม่แพง)

 

ปัจจุบันทำงานเป็นเซล รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาท ต้นปีที่ผ่านมาลงทุนเพิ่มซื้ออาคารพาณิชย์มาต่อเติมเป็นหอพัก ราคา 5.5 ล้านบาท ต่อเติมซื้อของอีก 2.5 ล้านบาท รวมทั้งหมด 8 ล้านบาท ผ่อนนอกระบบเดือนละ 30,000 บาท ในระบบ 17,000 บาท ตอนนี้ที่ไม่ไหวเกิดจากปัญหาคนในครอบครัว เรื่องหนี้สินไม่เคยหวั่นเลย แต่ติดตรงที่คุณพ่อ น้องชาย ลูกพี่ลูกน้องที่ต้องดูแล และลูกน้องชาย รวมทั้งหมด 4 คนที่ต้องดูแล ทุกวันหางานหาลูกค้า เอาอาชีพเก่าของพ่อคือรับเหมาก่อสร้างมาปัดฝุ่นใหม่เพื่อหาเงิน 28 ปีที่โตมา เห็นมาตลอดว่าพ่อเป็นบุคคลที่ล้มเหลวทางด้านการเงิน เป็นผู้รับเหมาสไตล์โบราณ คือขาดทุนย่อยยับ แต่ก็ต้องขอบคุณเขาที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ พยายามเก็บเงิน รู้ค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ ทำให้พอมีวิกฤตเข้ามา ก็สามารถพลิกให้เป็นโอกาสได้ น้องชายยังไม่รับผิดชอบพอ ทำงานช้าบ้าง แล้วแต่อารมณ์บ้าง ตอนนี้รู้สึกเครียดกับพวกเขาที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว และมาหวังพึ่งคนอื่นอย่างเดียว

 

คำถามคือ จะขายบ้านขายทรัพย์สินและออกจากครอบครัวนี้ไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียว จะเป็นลูกอกตัญญูไหม คนข้างๆ ไม่มีใครพร้อมจะไปด้วยกันกับเรา ไม่เห็นเหตุผลที่เราจะต้องสู้ต่อไป

 

เคสนี้มีไม่น้อยในบ้านเมืองเรา ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ค้ำจุน คนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ ถ้ามีลูกหลายคนจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่า จะรักและเป็นห่วงคนที่ไม่ได้เรื่อง ห่วงจนบางทีคนที่ได้เรื่องน้อยใจ คือคนที่ได้เรื่องก็ทำมาหากินเก็บหอมรอมริบ มีเวลาว่างก็แวะมาเยี่ยม ซื้อของมาไหว้ ซื้อของมาฝาก แต่สุดท้ายพ่อแม่ก็พูดถึงคนที่ไม่ได้เรื่องมากกว่าอยู่ดี ผมฝากบอกคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ ลูกก็คือลูก เขาก็อยากได้รับกำลังใจจากพ่อแม่ ไม่ว่าวันนี้เขาจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

 

ผมชอบคำว่า ‘การเงินส่วนบุคคล’ เมื่อเราโตขึ้น เรียนจบ มีรายได้หาเลี้ยงตัวเองได้ ต้องทำให้เงินเป็นเรื่องส่วนบุคคล เราต้องดูแลตัวเองให้ได้ บางทีคนที่ถูกประคบประหงมมากๆ อย่างที่เจ้าของเรื่องเล่าให้ฟัง ผมเรียกว่า ‘อาการเสพติดภาวะพึ่งพิง’ ถึงเวลาที่เขาเดือดร้อนก็มีคนช่วย มีคนจัดการให้ อันนี้เป็นเรื่องที่พบเห็นมาตลอด 10 ปีที่ทำงานตรงนี้

 

สำหรับเจ้าของเรื่อง ถ้าจะให้พูดแบบตรงไปตรงมา เราเองเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะนี้ขึ้นที่บ้าน พวกเขาไม่ต้องคิดอะไร เพราะเมื่อไรที่เดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมา เขาก็แค่โยนปัญหาเข้ามาตรงกลาง เสร็จแล้วจะมีคนที่รับเรื่องนี้ไม่ได้ก็คือตัวเรานั่นแหละ เราก็ต้องสู้และแก้ปัญหา

 

ตอบคำถามแรกก่อนว่า ถ้าทิ้งทุกคนไปจะอกตัญญูไหม จากที่เล่ามาก็เห็นว่าเราทำหน้าที่อย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว การที่เราจะออกไปตั้งตัว ดูแลการเงินของตัวเอง มีเหลือก็ส่งมาให้เขาใช้จ่ายบ้าง ไม่ถึงกับอกตัญญูหรอก เพราะในมุมของผมจะพูดเสมอว่า คนที่จะเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ ต้องคิดว่าแก่ตัวแล้วจะดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่คิดว่าจะทำตัวให้เป็นภาระของลูก และก็อ้างความกตัญญูว่าลูกต้องดูแล ผมเชื่อว่าลูกทุกคนอยากดูแลพ่อแม่อยู่แล้ว แต่ที่บอกว่าอยากจะขายทุกอย่างทิ้งให้หมดและหนีไป อันนี้ไม่เห็นด้วยที่จะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ควรเปลี่ยนและปรับโดยกระบวนการดังนี้

 

  1. ชวนทุกคนในครอบครัวมานั่งคุยกันและเล่าปัญหาทุกอย่าง เล่าให้เห็นเลยว่า ตึกที่ปล่อยเช่าอยู่ตอนนี้ติดลบ และที่ไปลงทุนเพิ่มก็มีติดลบอยู่ แต่ถ้าไม่ต้องดูแลคนอื่นก็จะมีเงินเดือนที่ดูแลตัวเองได้ ชี้แจงปัญหาให้ทุกคนเห็น มาฟังสถานการณ์ที่แท้จริง ดังนั้นถ้าจะอยู่กันเหมือนเดิมแบบนี้ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

 

  1. ออกมาตรการให้ทุกคนช่วยกัน จำกัดสิทธิบางอย่าง เช่น ถ้าเราเคยให้พ่อ น้องชาย และลูกพี่ลูกน้องเท่านี้ ต้องเปลี่ยนเป็นให้เงินเดือนช่วยเหลือ ให้เดือนละเท่านั้นเท่านี้ ใครไม่มาช่วยก็ไม่ได้เงิน ถ้าเราไม่มีก็ไม่ให้แล้ว น้องชายและลูกพี่ลูกน้องให้ออกไปทำงานอย่างอื่น ไปเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเอง เราต้องเด็ดขาดในเรื่องนี้

 

  1. มีบทลงโทษ ถ้าใครไม่ช่วยก็จะตัดสิทธิ ผมเองเคยเป็นแบบนี้ ครอบครัวเคยเจอสถานการณ์แบบนี้เหมือนกัน ทำงานอยู่คนเดียว คนอื่นก็ไม่ต้องห่วงอะไร ในครอบครัวผมเขามีงานทำกันหมด แต่ไม่รับผิดชอบเรื่องหนี้ ผมบอกว่าให้รับผิดชอบงานตัวเองให้ดี เงินที่ได้มาในแต่ละเดือนกินให้พอ ไม่ได้ช่วยก็อย่างสร้างภาระ ซึ่งภาระที่มีอยู่ก็มีมากอยู่แล้ว

 

ในส่วนของเจ้าของเรื่อง อยากให้ลองหาช่องทาง โดยเฉพาะหนี้ 2 ตัว หาช่องทางที่ทำให้เก็บค่าเช่าได้มากขึ้น หรือสามารถรีไฟแนนซ์บางส่วนได้ไหม เพื่อให้เราผ่อนชำระต่อเดือนได้น้อยลง ในมุมหนึ่งถ้าเอาฐานรายได้เราเป็นตัวตั้ง เงินเดือนประมาณ 30,000 บาท เข้าใจว่าตั้งใจอยากเอาเงินมาช่วยคนที่บ้าน แต่หนี้ทั้งหมด 16 ล้านบาท น้องลงทุนหนักเกินไปเหมือนกัน

 

ถ้าเราให้ทุกคนดูแลตัวเขาเองแล้ว ผมอยากให้คิดถึงเรื่องการสร้างรายได้เพิ่มจากทักษะความสามารถที่เรามี เราอาจจะได้เพิ่มมา 10,000-20,000 บาท มันก็ทำให้เรากินอยู่ใช้จ่ายมีความสุขมากขึ้น หรือจะเอามาเก็บและเคลียร์หนี้บางส่วนก็ได้ เรื่องที่เราอยากไปอยู่คนเดียวนั้นไม่ผิด แต่ถ้าขายทุกสิ่งทุกอย่าง ผมคิดว่ายังเป็นสินทรัพย์ที่ยังพอบริหารจัดการได้ ลองคิดหาช่องทางแก้ไขดีกว่า

 

บทเรียนจากเคสนี้

 

  1. สภาวะอุปถัมภ์ของคนในครอบครัว คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่จะดูแลครอบครัวไม่ควรทำเกินกำลัง บางคนรักครอบครัวมาก อยากให้เขาได้ทุกสิ่งทุกอย่าง และเราก็ต้องเกินตัวเกินกำลัง แบบนี้เป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน เราต้องคิดเรื่องพอประมาณเป็นลำดับแรกเสมอ เพราะฉะนั้นแต่ละคนต้องดูแลเรื่องการเงินของตัวเองให้ดี อย่าปล่อยให้ใครไม่ต้องมีภาระดูแลด้านการเงินเลย อย่างน้อยที่สุดการเงินตัวเขาเองต้องไม่เดือดร้อนคนอื่น

 

  1. บางทีเราอยากได้เงินก้อนโตเข้ามาเพื่ออุ้มชูทุกคน แต่กลายเป็นว่านำเราไปสู่ภาวะเสี่ยงทางการเงิน ด้วยรายได้ 30,000 บาทที่บอกมา กู้ไปถึงระดับ 16 ล้านบาท ค่อนข้างสาหัสอยู่เหมือนกัน และมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะห้องพักหรือตึกแถวมีโอกาสที่จะไม่มีคนเช่า

 

  1. เวลาที่เราแบกอะไรไว้มากเกินไป หลายคนเลือกวิธีที่จะตัดปัญหา คือการหยุดความเหนื่อยไป วิธีนี้ไม่ดี กลายเป็นว่าทำลายทุกสิ่งทุกอย่างด้วยมือ อยากให้ลองคิดดูแบบเป็นขั้นเป็นตอน เราสามารถแก้ปัญหานี้แบบเป็นขั้นเป็นตอนได้อย่างไร ซึ่งขั้นตอนที่แนะนำไปก็คือ เรียกทุกคนมาคุย วันนี้เขาไม่ช่วย ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี แต่เขาอาจไม่รู้ว่าที่เราแบกมันหนักเกินไป และรับมือไม่ไหวแล้ว เพราะเขาคิดว่าเราไหวอยู่ตลอด เขาจึงไม่ต้องพยายามที่จะขยันหรือทำอะไรมากขึ้น เมื่อเปิดเผยเรื่องทั้งหมดแล้ว กำหนดหน้าที่ สิทธิ และความช่วยเหลือให้มีความชัดเจน และยื่นคำขาดว่าเราจะไม่ช่วย ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่เราบอก

 

สุดท้ายเราอยากจะย้ายออกไปก็ย้ายได้ แต่ทุกคนต้องทำตามที่ตกลงกันไว้ เราจะได้ไปเริ่มต้นชีวิตของเราในแบบที่ต้องการ

 


ฟังพอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Spotify, Podbean, SoundCloud, YouTube หรือแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) 



Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์


Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Show Producer & Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Shownote อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising