×

‘ไม่รอเดินตามใคร’ ชาญศิลป์ ปตท. แกนนำแห่งความเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Disruption

10.11.2019
  • LOADING...

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. จะปรับตัวอย่างไร ในวันที่ทั้งโลกหันมาให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของการเลือกใช้พลังงานทดแทน ทั้ง Shale Oil, Solar และ Renewable ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมากระทบกับสินค้าหลักอย่างน้ำมันโดยตรง

 

ปตท. ในยุค Digital Transformation ภายใต้การนำทัพของ ชาญศิลป์ จะเดินหน้าไปทางไหน มุมมองต่อทางเลือกที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคจะเป็นเช่นไร อุปสรรคและความท้าทายอะไรที่กำลังเผชิญ

 

สุทธิชัย หยุ่น คุยกับ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในรายการ The Alpha

 


 

รับชม THE ALPHA: Era of Digital Transformation EP.8 ในรูปแบบวิดีโอสัมภาษณ์

 

 

คุณชาญศิลป์มารับตำแหน่งซีอีโอ ปตท. ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ทั้งเทคโนโลยี การเมือง เศรษฐกิจโลก กำลังเจอกับ Disruption เช่นเดียวกับวงการพลังงาน ที่มารับตำแหน่งนี้กลัวไหม

ผมอยู่ที่นี่มาเป็นปีที่ 38 ครับ ในช่วงต้นๆ ก็มีวิกฤตมากระทบ ปตท. เกิดมาปีนี้เป็นปีที่ 41 เราเกิดมาจากการไม่มีน้ำมันในประเทศ เวลานั้นมีเฉพาะ 3 บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกเท่านั้น ปตท. ก็คือการเกิดจากองค์การเชื้อเพลิงรวมกับองค์การก๊าซธรรมชาติ

 

ช่วงนั้นแหละผมเริ่มทำข่าว ปตท. ความจริงผมทำข่าว ปตท. ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง 

ครับผม ก็ใกล้เคียงกัน

 

ช่วงนั้นโชติช่วงชัชวาลใช่ไหม ใกล้เคียงกัน

ใกล้เคียงกัน เราผ่านนายกรัฐมนตรีมากว่า 17-18 ท่าน ผ่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรมในช่วงแรก ตอนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ สำนักงานกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วผ่านรัฐมนตรีพลังงานมารวมๆ กัน 30 กว่าท่าน

 

เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ น่าจะตุลาคม 2544 หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง การเข้าตลาดหลักทรัพย์มีความหมายมาก เพราะว่าหลังจากที่เราเกิดวิกฤตเรื่องของการเงิน ค่าเงินบาทจาก 25 บาทกลายเป็น 45-50 บาท หนี้สินที่กู้มามากมาย โรงกลั่น โรงปิโตรเคมีหลายโรง ต้องแฮร์คัตและดำเนินการต่างๆ ในเวลานั้น ประเทศวุ่นวายมาก ปตท. ก็วุ่นวายเช่นกัน แต่ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ ผู้ว่าการ พนักงาน รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ ทำให้ผ่านวิกฤตตอนนั้นมาได้

 

ฉะนั้นกำลังจะบอกว่าจริงๆ ปตท. ก็เจอกับ Disruption มาตลอดใช่ไหม

ใช่ครับ

 

แต่เรากำลังพูดถึง Disruption ที่เกิดจากเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงว่ามันจะมาทดแทนสิ่งที่เป็นพลังงานปัจจุบัน อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดของพนักงาน ปตท. ทั้งหมด สิ่งที่ ปตท. เคยประสบความสำเร็จอาจไม่ใช่ความสำเร็จในอนาคต คำถามคือพนักงานพร้อมจะเปลี่ยนไหม แล้วตัวซีอีโอจะต้องเปลี่ยนอะไรก่อน
เป็นคำถามที่เราถามกันมาประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ตั้งแต่มี Tesla, Shale Oil, Shale Gas, Solar และ Renewable ต่างๆ ประเด็นนี้มันกระทบกับธุรกิจที่เราเป็นอยู่ปัจจุบัน เพราะเราเป็นธุรกิจของโรงกลั่นน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน แต่ว่าเวลาเราเจอวิกฤต เราก็เจอผลกระทบจากข้างนอก เราจะอยู่รอดได้อย่างไร พวกเราจะต้องคิดระดมสมอง ตั้งแต่ระดับบนลงล่าง เราเลยคิดว่าคงต้องมี Resource Base ให้เป็น Knowledge Base มากขึ้น

 

อีกเรื่องคือการไปทำพวก Digitalization ตัวเอง ผมคิดว่าเราคงพัฒนาตัวเองไม่ได้ง่ายนัก เราก็เลยต้องไปหาว่าใครเก่งเรื่องนี้ เราควรจะร่วมมือกับเขา เราคิดว่ากลุ่มธนาคารจะเก่งเรื่องนี้ เลยร่วมมือกับ 9 ธนาคาร ใครมี Blockchain ใครมีระบบการจ่าย e-Payment ต่างๆ ใครมีระบบพร้อมเพย์ ใครมีระบบ e-Wallet เราเอามาใช้ในกลุ่มของเราได้หมดเลย

 

แต่นั่นคือส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Payment เกี่ยวข้องกับเรื่องผู้บริโภค แต่ต้นน้ำ กลางน้ำเราก็เจอกับ Disruption ด้วย

เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟัง อีกเรื่องหนึ่งคือการมีสิ่งอื่นมาทดแทนน้ำมัน ในช่วงแรกๆ ปตท. ขายน้ำมันเตาให้การไฟฟ้า แต่วันนี้น้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นศูนย์ และที่ใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมก็เกือบจะเป็นศูนย์เช่นกัน เพราะคนออกมาบอกว่าเผาแล้วมีปัญหา Pollution เราก็ปรับตัวครับ เราทำแก๊สเกือบ 40 ปี เพื่อมาทดแทนน้ำมันเตา เรามีท่อแก๊สบนบก 2,000 กว่ากิโลเมตร ในทะเลอีก 2,000 กว่ากิโลเมตร มีโรงแยกแก๊สอยู่ 6 โรง เราเอาแก๊สในทะเลแยกมาเป็นปิโตรเคมีเพิ่มมูลค่าให้ประเทศ อีกอันหนึ่งคือ C1 ไปทำไฟฟ้า ไปทำโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมต่างๆ วันนี้เราเป็นเมเจอร์ในการทำอย่างนี้นะครับ นี่คือเราปรับด้วยกันมาประมาณสัก 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราพยายามขยายตรงนี้ออกไป ขอบเขตนะครับ นั่นคือจุดที่ 1 น้ำมันเตาแก้ปัญหาได้แล้ว อันที่ 2 ที่คุณสุทธิชัยพูดก็คือ ต่อไปแบตเตอรี่มา รถ EV มา ตอนนี้เริ่มมา หลายๆ ยี่ห้อเริ่มมา โดยเฉพาะเมืองจีนเริ่มมา แล้วปั๊มน้ำมันเราทำอย่างไร ปั๊มน้ำมันเราวันนี้ เราดีไซน์วันนี้มี Non-oil Amazon นี่ก็เป็นจุดหนึ่ง

 

กาแฟมา สามารถมาสร้างรายได้ให้กับน้ำมัน

มาขายอาหาร วันนี้เราก็มีการร่วมลงมือกับรัฐบาล ทำสินค้าชุมชนไปอยู่ เป็นร้านไทยเด็ด เราก็มีร้านสะดวกซื้อไปอยู่ คือปั๊มน้ำมันผมไม่ค่อยจะเป็นห่วง เพราะว่าคนเดินทางไม่ว่าจะมาด้วยรถ ด้วยเชื้อเพลิงอะไร ก็ต้องแวะปั๊มน้ำมัน เพราะคนต้องการเข้าห้องน้ำ ต้องการทานกาแฟ เพราะฉะนั้นปั๊มน้ำมันต่อไปเราก็ดีไซน์ให้มันเป็น

 

ปั๊มน้ำมันอีกหน่อยเราก็จะไม่เรียกปั๊มน้ำมัน

ปั๊มเติมพลังงาน มีที่ชาร์จอะไรก็ได้ หรือเติมน้ำมันก็ได้ ปั๊มเติมพลังงาน ซึ่งดีไซน์ใหม่เราก็มีจุดที่เติมพลังงาน แต่วันนี้รัฐบาลต้องไปแก้ว่าเราสามารถขายไฟฟ้าได้ วันนี้ไม่มีใครขายไฟฟ้าได้นะครับ 

 

ผมว่าต้องไปแก้ให้ขายไฟฟ้าได้ รถไฟฟ้ามาก็ดี Environmental ก็ดี แต่คำถามคือ รถไฟฟ้ามา แล้วอุตสาหกรรมรถแบบเดิมจะทำอย่างไร อันนั้นก็จะเป็นอีกโจทย์หนึ่ง ในเรื่องของ Tier 1 Tier 2 Tier 3 ในการผลิตรถยนต์ ในการผลิตเครื่องยนต์ต่างๆ อันนั้นก็เป็นอีกโจทย์หนึ่ง แต่เรื่องของน้ำมันที่เป็นโรงกลั่น เราตัดสินใจลงทุนไปแล้วครับพี่สุทธิชัย เดิมเรามีน้ำมันเตา เราก็ Convert น้ำมันเตาให้กลายเป็นปิโตรเคมีแล้ว เสร็จแล้วที่ IRPC นะครับ แล้วก็เสร็จแล้วที่ GC แต่น้ำมันเตาบางส่วนที่อยู่ไทยออยล์ เราก็จะ Convert ตรงนี้ เทคโนโลนีในการลงทุน ต้องกลับกลายเป็นน้ำมันเครื่องบิน กลายเป็นปิโตรเคมี ซึ่งอันนี้จะเสร็จอีก 3-4 ปีข้างหน้า เราตัดสินใจลงทุนหมดแล้วนะครับ ตรงนี้เราก็แก้ไขปัญหาตรงนี้ไปนะครับ ไม่ใช่ผมเก่งคนเดียวนะครับ มีการระดมสมองกัน แล้วก็ลงมือกันทำ อันนี้เราก็เตรียมการสำหรับการจะมาของตรงนี้แล้ว

 

มองไป 5 ปีข้างหน้า ปตท. จะเป็นรูปแบบไหน ถ้าน้ำมันไม่ใช่เป็นสินค้าหลักอีกต่อไป เป็นไปได้ไหมว่า ปตท. จะไม่ขายน้ำมันเลย จะเป็น Non-oil เกิน 30-40% เลย

5 ปียังไม่กระทบหนักขนาดนั้น ด้วยวอลุ่มยังเป็น Oil Base ยังเป็น Gas Base แต่ถ้าไปมอง 10-15 ปี แก๊สจะมา Non-oil เริ่มมา Oil ก็ค่อยๆ เฟดลง ยกเว้นบางตัวก็คือน้ำมันเครื่องบิน น้ำมันที่ใช้กับเรือสินค้าระหว่างประเทศขนาดหนักอะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้คือยังอยู่นะครับ เพราะว่าการทดแทนนั้นแบตเตอรี่มันไม่สามารถไปดันเรือขนคอนเทนเนอร์ใหญ่ๆ ได้ มันไม่ไหว

 

ใช่ครับ ฉะนั้นเตรียมการอย่างไร สมมติไม่ใช่ 5 ปี 10 ปี มันก็จะเปลี่ยนไป โฉมหน้าของ ปตท. มันก็จะเปลี่ยนไปหมดเลย เรื่องของคนมีการปรับสกิลทักษะเขาอย่างไรหรือเปล่า ที่จะตั้งรับกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ในฐานะที่เป็นซีอีโอ เรามองว่าคนของเราปรับตัวทันหรือไม่ทันอย่างไร มีปัญหาไหมสำหรับพนักงานที่มองขึ้นไปบอกว่า ทำไมฉันต้องปรับ ก็ที่ทำมากำไรก็ดี ปตท. ฉะนั้นทำไมฉันต้องปรับ

อาจจะเรียนว่าอย่างนี้ครับ เราเองเราเกิดมาจากการที่มีปัญหา แล้วเราก็ปรับตัวมาตลอด วันนี้กับเมื่อ 41 ปีที่แล้วคนละเรื่อง 41 ปีที่แล้วเรามีเงินนิดเดียว เรามีบริษัทในประเทศบริษัทเดียว และเราก็มีเพียงแต่นโยบายว่าให้มีน้ำมันในประเทศ แต่วันนี้เรามีบริษัทที่เป็นบริษัทแฟลกชิปขนาดใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด 7 บริษัท กำลังเข้าอีกบริษัทหนึ่งนะครับ ก็จะมี ปตท. ที่จะทำเรื่องแก๊ส เรื่องการค้าระหว่างประเทศ และก็ทำเรื่องของ New S Curve การก่อสร้างใหม่ๆ ตอนนี้ ปตท. กำลังปรับตรงนั้นอยู่ อันที่ 2 ก็คือสำรวจและผลิต ก็คือตัวของ Exploration ซึ่งโดยหลักเราจะเน้น Exploration ในจุดที่เป็นแก๊ส เราจะไม่เน้นการ Explore จุดที่เป็นน้ำมัน ต้องเป็น Associated Oil ไม่ใช่ Associated Gas เป็นหลักของแก๊ส อันที่ 3 ก็เป็นเรื่องของ LNG ที่เราเน้นเรื่อง LNG แล้ว LNG นี่เป็นแก๊ส ที่แทนที่จะขนทางท่อ อันนี้ขนทางเรือตู้เย็นมาได้ ไม่ว่าที่ไหนในโลกที่มีราคาดีแล้วขนโดยเรือตู้เย็นมาได้ อันที่ 3 เราก็จะมีเรื่องของปิโตรเคมี ทั้ง GC เป็นปิโตรเคมี ปิโตรเคมีต้องใช้ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลาสติกทางด้านหีบห่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า Home Appliances Electronics ทั้งหลาย หรือรถยนต์ก็ต้องใช้ปิโตรเคมีนะครับ แล้ว IRPC ก็เป็นปิโตรเคมีที่เป็นจาก Oil Base GC จาก Gas Base แล้วก็ไทยออยล์ ไทยออยล์ก็จะเป็นโรงกลั่น แต่เป็นโรงกลั่นที่เน้น Clean Fuel

 

พลังงานสะอาด

พลังงานสะอาดเป็นโรงกลั่นที่เน้นเรื่องการเอาฐานน้ำมันไปเป็นปิโตรเคมี ไปทำฐาน ไปทำอะไรต่างๆ Solvent ต่างๆ นะครับ แล้วก็จะมี GPSC ซึ่งอันนี้เราก็จะเน้นเรื่องทำไฟฟ้า แต่ไฟฟ้าของเราไม่เหมือนไฟฟ้าปกติ ที่อยู่ในประเทศไทยเป็นไฟฟ้าสำหรับโรงงาน โรงงานต้องการไฟฟ้า 100% Reliability แล้วก็มีทั้งน้ำร้อนน้ำเย็น แล้วอีกอันคือ OR คือ Oil Retail ก็คือปั๊มน้ำมัน ขายน้ำมันให้อุตสาหกรรม LPG น้ำมันหล่อลื่น เหล่านี้ก็วางขาไว้ 6 ขา 6 ขาเวลามีอะไรมากระแทก

 

จุดไหนอ่อนที่สุด กับโอกาสที่…

แล้วแต่ช่วงเวลา

 

แต่ว่าในระยะกลาง ระยะยาว มันจะต้องหดหายไปพอสมควร

เราปรับแล้ว แล้วแต่ช่วงเวลา ถ้าเกิดในระยะ 10 ปีแล้วน้ำมันยังอยู่ได้ แล้วน้ำมันอาจจะลงไปเยอะ อาจจะเป็นบางจุดที่เป็นโรงกลั่น โรงปิโตรเคมี แต่ว่าตอนนี้เรา Diversify นะครับ แล้วแต่ช่วงเวลา เวลาในช่วง 10 ปีเราปรับตัวได้อยู่แล้วนะครับ วันนี้เราปรับตัวไปแล้วระดับหนึ่ง 3 ปี 5 ปี เราปรับตัวแล้ว แก๊สเราก็จะแข็งแรงมากขึ้น แก๊สแต่ก่อนตะวันออกมาตะวันตกไม่ได้ ตอนนี้เราเชื่อมโยงท่อใหม่แล้ว ตะวันตกเชื่อมตะวันออกได้ แล้วเรามีคลัง LNG ที่รับแก๊ส LNG จากต่างประเทศได้ ไม่ว่าจากมาเลเซีย กาตาร์ ที่ไหนในโลกที่ราคาดีแล้วได้มาตรฐาน เรามาที่คลังแก๊สเรา โดย LNG คลัง 1 เสร็จแล้ว คลัง 2 กำลังทำอยู่ อีก 3-4 ปีก็เสร็จ เป็น 19 ล้านตัน แล้วเราก็มีคลัง 3 เพราะฉะนั้นความมั่นคงกับการค้าขายทำธุรกิจ เราก็จะไปอย่างนี้

 

ฉะนั้นไม่มีส่วนไหนในธุรกิจ ปตท. ที่กำลังถูกคุกคามโดยเทคโนโลยีหรือ Digital Disruption เลย

มี แต่เรากำลังปรับตัว เช่น สมมติว่ารถมันหายไปโดยเร็ว เบนซินมันหายไปโดยเร็ว พอมันจะหายปั๊บ วันนี้เราเริ่มทำ Solar เราเริ่มทำเรื่อง Energy Storage เราเริ่มทำ Charger แล้วนะครับ ร่วมมืออะไรต่างๆ

 

ปตท. เข้าไปใน Solar Energy เข้าไปใน Wind Energy

เราร่วมมือกับคนอื่น เราไม่ได้เข้าไปเองทั้งหมดนะครับ อย่างแบตเตอรี่ เราร่วมมืออยู่ที่อเมริกา รวมมืออยู่ที่วังจันทร์ แล้วตัวของจากที่แสงอาทิตย์แปลงมาเป็นไฟฟ้า เราทำอุปกรณ์ของเราขึ้นมา ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ตอนนี้เราก็ทำสำเร็จแล้ว ใต้ตึกนี้ครับ ชั้นใต้ดิน มีตัวชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถผู้บริหารทั้งหมด เราก็ใช้อยู่แล้ว ตอนนี้เราทดสอบมา 4-5 ปีแล้วครับ ในจุดนี้เราพร้อมนะครับ เตรียมพร้อม เราไม่ประมาท

 

อันนั้นเป็น Area ที่ 1 ที่จะโดนคุกคาม อันที่ 1 

ใช่ครับ

 

ต่อมามีอะไรอีกไหมครับที่จะต้องเป็นห่วง

เมื่อกี้พี่สุทธิชัยถามได้ดีมากในเรื่องของคน เรื่องคน ผมเข้ามา ผมคิดว่าสิ่งที่จะ Disruptive แล้วเราจะปรับตัวได้ไม่ได้อยู่ที่คน เพราะคนเจเนอเรชันของผมที่มาไม่มีแล้วครับมือถือ iPad ที่เรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ไม่มี เรายัง Punch Card อยู่ เรายังใช้ Main Frame อยู่ ถ้าคนยุคอย่างผม อายุ 50 กว่าขึ้นไปปรับตัวไม่ได้ ไม่ยอมปรับตัว ก็จะเกิดปัญหา เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามา มีแต่ iPad มีแต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าองค์กรยังล้าสมัย ไม่เข้าใจ เขาก็จะเกิดปัญหา สิ่งหนึ่งที่ผมมี เขาเรียกว่าแท็กติก หรือว่าเชิงนโยบายก็คือว่าเราจะต้องมี Excellent Teamwork คำว่า Excellent Teamwork ไม่ว่าคุณจะยุคไหนในดิจิทัล เราต้องเป็นทีมเดียวกัน เราถือว่าถึงแม้เราจะไม่ได้เกิดมาในยุคนี้ แต่เราก็มีประสบการณ์บางเรื่อง บอกกับคนยุคใหม่ที่อยู่ในยุคนี้ เราจะทำงานร่วมกันอย่างไร

 

ตรงนี้แหละที่สำคัญว่า เราต้องบริหารตรงนี้อย่างไร คนเก่าที่อยู่มานานเปอร์เซ็นต์กับคนใหม่ตอนนี้ครึ่งๆ ได้ไหม ตอนนี้พนักงานทั้งหมดเท่าไร ปตท.

ถ้าทั้งหมดเกือบๆ 4 หมื่นคน

 

4 หมื่น ปตท. อย่างเดียว

ใน ปตท. 3,000 กว่าคน

 

3,000 กว่าคน จาก 3,000 กว่าคน รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่แบ่งอย่างไร

เดิมแล้ว Baby Boomer เยอะ แต่วันนี้มันเริ่มออกไปแล้ว ผมนี่เป็น Baby Boomer ภายใน 5 ปีนี้ Baby Boomer จะไม่เหลือแล้ว Gen X ก็จะตามมา Gen Y ก็ตอนนี้ Majority แล้ว 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ เราดีไซน์หลายเรื่องครับพี่สุทธิชัย คือเราให้คนที่เป็น Baby Boomer เข้าใจคนข้างล่าง เรามีสถาบันของเรา เราเรียกสถาบันพัฒนาผู้นำ เรียกว่า PTT Leadership and Learning Institute (PLLI) คนที่จะขึ้นมาเป็นเมเนเจอร์ต้องมาเรียนสถาบันนี้ และสถาบันนี้ก็จะมีการสอนการเป็นลีดเดอร์ การเข้าใจเรื่องดิจิทัล นอกเหนือจากการเข้าใจ Accounting มาร์เก็ตติ้งอะไรต่างๆ เหล่านั้น Legal ต่างๆ แล้วคนกลุ่มนี้เขาจะมีหลายคนที่มามิกซ์กัน มันไม่ใช่ว่าจะต้องเป็น Baby Boomer หรือเป็นอะไร แต่ถ้าใครเป็นเมเนเจอร์ 

 

คือทุกวัย ทุกแผนก 

ทุกวัย ทุกแผนกที่มามิกซ์กัน ก็มีตั้งแต่เลเวลต้น เขาเรียกว่า LDP1 มี LDP2 แล้วก็มี LDP3

 

สอนอะไรบ้าง

มีหลายเรื่อง ถ้าเกิดเป็น LDP1สอนฟังก์ชันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเขาเป็นเมเนเจอร์อันดับต้น ถ้าเป็น LDP2 เริ่มจะเป็น Visionary เป็นอะไรที่คุณต้องเป็น Leadership มี Presentation Negotiation การตลาด Accounting การดูแลเรื่องบริษัทจะทำอย่างไร แล้วพอ LDP3 คนที่เตรียมขึ้นมาเป็น SEVP หรืออนาคตจะเป็นซีอีโอ เพราะฉะนั้นเราก็ทำมาอย่างนี้ แล้วก็มีพัฒนาการมา อันนี้คือข้อที่หนึ่งที่ทำ ข้อที่สองคือเด็กรุ่นใหม่ถ้าเราไม่ให้เขาแสดง จะมีปัญหา เราต้องให้เขาแสดง เราก็จัดเลยให้มันเป็นคล้ายๆ Tech Savvy

 

Tech Savvy ที่เล่นดูมือถืออย่างเดียว

ใครคิด เรามีโจทย์ให้ สมมติโจทย์ว่า ถ้าเกิดคุณจะต้องให้คนมาเข้าสถานีบริการของเราให้ดีกว่านี้ ควรจะมีแอปฯ อย่างไร จะทำอย่างไร ให้เขาไปดีไซน์ ให้เขาทำ แล้วเราก็มีการประกวด เราประกวดเป็นปีที่ 2 แล้วนะครับ ก็ได้รับการชื่นชมดีมาก แล้วก็เราเอา Commentator ที่เป็นมืออาชีพของ Tech พวกนี้มา แล้วพอได้รางวัล เราส่งไปเซี่ยงไฮ้ ไปดูงาน Expo ต่างๆ เรื่อง Tech อะไรอย่างนี้ เราแล้วกำลังเอาเด็กพวกนี้มาช่วยสร้างอะไรบางอย่างให้เรา นี่คือ Tech Savvy อันที่ 2 เราเรียกว่า ExpresSo ก็คือ Express Solutions

 

Express เร็ว

เร็ว Express Solutions สมมติว่ากลุ่มนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ เด็กทุนเรา ไปจบในอเมริกา ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยดีๆ คุณไปดูในพื้นที่ เขามีปัญหาอะไร แล้วคุณคิดว่าจะแก้อย่างไร อันที่ 2 คือคุณไปดูสิว่าจะมี Venture Capital ที่ไหนที่เป็นสตาร์ทอัพ

 

อ๋อ นี่เราลงไปดูสตาร์ทอัพด้วย 

ดูสตาร์ทอัพด้วย

 

เพื่อไม่ให้สตาร์ทอัพมา Disrupt เรา เราก็ต้องไป

ไปดูสตาร์ทอัพก่อน แล้วไปดูว่ามีอะไรบ้าง แล้วทีนี้เราก็ทำตรงนั้น จะเรียนว่า ไม่รู้ว่าพี่สุทธิชัยทราบหรือเปล่าว่าเรามีบริษัทที่สามารถทำโดรนได้ ที่บินขึ้นไปข้างบน แล้วก็สามารถลงไปใต้น้ำได้ ปตท.สผ. กำลังทำ Plant ในการผลิตโดรนพวกนี้ อยู่ที่วังจันทร์ของเรา เราภาคภูมิใจในกลุ่มเราที่เราช่วยกัน เวลามีพระบรมราชพิธีเฉลิมพระเกียรติที่บินขึ้นไป แล้วก็มีภาพแปรอักษรเป็นโดรน

 

นั่นเป็นของ ปตท.

เป็นกลุ่มเราร่วมกับคนไทย ไม่ต้อง Import ทำกันเองด้วยงบประมาณของพวกเรา

 

สตาร์ทอัพอะไรที่เราสนใจ เพราะเรากลัวว่าถ้าไม่เข้าไปร่วมกับเขา เขาอาจจะมา Disrupt เราในอนาคต มีอะไรบ้างตอนนี้ที่ ปตท. เข้าไปสนใจ

Energy Storage System Integrator เวลามีไฟฟ้า จะ Integrate อย่างไร ถ้ามาจากหลาย Source ไบโอ อันที่ 4 คือ Smart Material อันที่ 5 คือ AI Robotics

 

เราเข้าไปทำอะไร เราลงทุนกับเขา หรือว่าเราเป็นคนทำสตาร์ทอัพ แล้วก็ชวนคนข้างนอกมาร่วม  

ส่วนใหญ่เรา Collaboration ต้องยอมรับเราไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง เรามี VISTEC ที่วังจันทร์ อันนี้เราก็มีความหวังว่ากลุ่มเรา VISTEC เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำนะครับ มี 4 คณะ มีคณะ Material Science มีคณะ AI Robotics มีคณะ Bio Technology แล้วก็มีคณะพลังงาน เราเอาเด็กที่เก่งๆ ของเรา ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียนที่นั่นแล้วมีอาจารย์ต่างๆ มีเครื่องไม้เครื่องมือ ตอนนี้ก็ประมาณปีที่ 4 แล้ว แล้วก็มีการจบไป 3 รุ่น เราก็คาดหวังว่าจะเป็นฐานในการผลิตสิ่งต่างๆ ที่เป็นสิ่งใหม่ๆ ร่วมกับเรามีการทำโครงการร่วมกับรัฐบาลด้วย เรียกว่า EECi อยู่บริเวณใกล้เคียงกันนะครับ EECi ร่วมกับ สวทช. ตอนนี้กำลังทำโครงสร้างพื้นฐานอยู่ อีกสัก 3 ปีคงเสร็จเรียบร้อย

 

ฉะนั้นในแวดวง Energy ปตท. จะเป็นแกนนำของความเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่รอให้เกิด Disruption จะอยู่แถวหน้าด้วย หมายความว่าจะนำ Disruption ด้วยไหมครับ

เราไม่กล้าพูดขนาดนั้น แต่เราพยายามทำ ไม่กล้าพูดแต่พยายามทำ 

 

เพราะว่าใหญ่พอ ใหญ่พอที่จะเป็นคนนำไม่ใช่ตามอย่างเดียว

ไม่ใช่ตามอย่างเดียว

 

พอเราไม่ต้องการนำเข้าเทคโนโลยีต่างๆ จากต่างประเทศทุกอย่าง ฉะนั้นเราต้องสร้าง การสร้างหมายถึงว่า ถ้าผมเป็นเด็กอยู่ที่มหาวิทยาลัย VISTEC ของ ปตท. ผมมองไม่เห็นอนาคตผม ถ้าผมไม่สามารถทำอะไรใหม่ๆ ที่ตื่นเต้นได้ เพราะฉะนั้นผมต้องมาเสนอ ผมจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ปตท. บอก มันจะเร็วไปไหม มันจะมากไปไหม คุณแน่ใจได้อย่างไรว่ามันจะเวิร์ก ท่าทีของเราเป็นอย่างไรต่อเด็กพวกนี้

เรามีโครงการสนับสนุนไปอีก 10 ปี ตั้งแต่หลังจากปี 2564 เราอยากจะเอาผลงานที่เขามีทั้งหลายขึ้นรูป จากหิ้งสู่ห้าง จากน้อยสู่ใหญ่ เป็นของใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะที่เรามั่นใจว่าเราทำได้เนื่องจากว่ากลุ่มเรามี Use Case มี Pain Point มากมาย แล้วเราอยู่ใกล้กัน เราเอาของกลุ่มเราที่ไปลงทุน R&D กลุ่มเราจะไปลงทุน R&D บางอย่างในนั้นด้วย ซึ่งก็เราจะ Selected ว่าอันนี้ สมมติเราอยากทำแบตเตอรี่ สำหรับ GC มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกเกี่ยวข้องกับเรื่องเปลือกแบตเตอรี่ ชั้นในแบตเตอรี่ บางบริษัทมีข้างในเป็นเรื่องของส่วนผสมข้างใน เป็น Cathode เป็น Anode เป็นอะไรอย่างนี้ หรือเป็น Separator ต่างๆ เราร่วมมือกันในนั้น แล้วก็ทดลองขึ้นมา ทำขึ้นมา แล้วมีโอกาส ผมเรียนว่า โชคดีที่ ปตท. เป็นองค์กรที่เราเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีมานาน ใครบอกว่าข้างนอกในพาร์ต Sector อื่นอาจจะเป็นไทยแลนด์ 1.0 นะ แต่ว่าในเรื่องเทคโนโลยีของ ปตท. เราคิดว่าอยู่ใน 3 หรือ 3.5 แล้ว เพราะว่าเทคโนโลยีทางการผลิตของโรงกลั่นต่างๆ โรงปิโตรเคมี มันเป็นแผง Advance Process Control อยู่แล้ว ระบบของ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition System) คุมแก๊สของเรามาจากทะเลในอ่าว จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค มันคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรามีฐานตรงนี้ และสำคัญที่สุดคนเราโดยพื้นฐานเป็นช่าง เป็นวิศวกรโดยส่วนใหญ่ ซึ่งการที่เขาเข้าใจเมื่อไร เขาจะไปได้เลย เราเพียงแต่ว่าทำให้เขาเข้าใจแล้วทำงานร่วมกันได้ แล้วเขาจะไปได้เลย

 

ทักษะของพนักงานส่วนใหญ่ยังใช้ได้ไหม ในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง ต้องสอนให้คนทำอะไรซ้ำๆ อยู่ เปลี่ยนวิธีการทำงาน เขายอมรับไหมครับ 

ยอมรับครับ คุณสุทธิชัยเห็นภาพผมใช่ไหม อันนี้คือ SPIRIT คือ Core Value ของ ปตท. ตัว S ก็คือ Synergy คือการร่วมมือกัน ไม่ว่าคุณจะยุคไหน ตรงไหนอยู่ในหน่วยงานไหน ร่วมมือกัน เพราะว่าเราเป็น Value Chain กัน การร่วมมือกันคือใช้สมองร่วมก็ได้ ใช้แรงก็ได้ ใช้ความร่วมมือทางความคิดก็ได้ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ตัว P ก็คือ Performance Excellence ชงกาแฟก็ต้องทำให้ดีที่สุด กลั่นน้ำมันให้ดีที่สุด ทำคลังให้ดีที่สุด ขนส่งก็ต้องให้ดีที่สุด

 

ความเป็นเลิศ

ความเป็นเลิศ ดีที่สุด ดูแลสิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆ ตัว I ก็เป็น Innovation ทุกคนต้องมีฝังอยู่ในหัวแล้ว ต้องมีความคิดใหม่ๆ อันนี้คือ SPI แรก นั่นคือความเก่ง แต่ RIT หลังนี่คือ Responsibility Society and Environment OR ตัว I ตัวที่ 2 ที่ 2 อันหลังก็คือ Integrity มีความซื่อสัตย์สุจริต แล้วตัว T คือ Trust สร้างความไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน พวกนี้มันเป็น Core Value เรามานาน แต่ผมมา ผมบวกด้วยคำว่า D Dog

 

D

D Digitalization หรือภาษาไทยมันดีด้วยนะ ต้องเป็นคนดีด้วย อันนี้มันเสื้อเก่า ยังไม่มีบวก

 

ต้องมี D เติมมาทีหลัง ตอนหลัง SPIRIT D เหรอฮะ

SPIRIT บวก D

 

SPIRIT บวก D

บวก D ทุกคนมีดีอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นทุกคนต้องใช้เป็น แม้กระทั่งผม Baby Boomer ผมก็ต้องใช้พวกนี้ให้เป็น ถ้าผมไม่เป็น ผมก็ไม่ทันน้องๆ สอนหน่อย ทำอย่างไร ผมต้องปรับตัว ถ้าผมใช้ไม่เป็น เสร็จเลย

 

การบริหารเปลี่ยนไหม ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวนี้มี LINE มีอะไร การสั่งงานเราเหมือนแต่ก่อนไหมครับ สมัยที่คุณชาญศิลป์ทำ

เมลเกือบจะไม่ได้ใช้เลย ใช้แต่ LINE แล้วมือถือ

 

วิธีการบริหาร วิธีการประชุมมันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

เปลี่ยนไปเลย เวลาการประชุม เดี๋ยวนี้ไม่มีเปเปอร์แล้ว ใช้บนนี้ เรามีเขาเรียกว่า D Join เข้าไปใน D Join เลย คุณมี MC Management Meeting Group, Management Meeting Board มี D Join หมด แล้วก็มีแชร์ไฟล์ เรียกว่า One Drive สามารถแชร์ไฟล์ได้ ผมสั่งงานทาง LINE ผมไม่มีเปเปอร์ สั่งงานเลยทาง LINE โทรศัพท์ทาง LINE มือถืออะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้คล่องตัวมากขึ้น แล้วก็งานมันก็ คือถ้าเรามีตรงนี้ สร้าง Trust กันแล้ว มันไม่จำเป็นต้องมีเปเปอร์ลายลักษณ์อักษร 

 

การรายงาน โครงสร้างการรายงานเปลี่ยนไปไหม แต่ก่อนนี้จะมีขั้นมีตอนอะไรต่างๆ นานา เมื่อมันมีเทคโนโลยีอย่างนี้เข้ามาแล้ว การบริหารมันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างสำหรับซีอีโอ

เปลี่ยนไปเยอะมากคุณสุทธิชัย ถ้าเป็นซีอีโอ Stakeholder มันเยอะ แล้ว Stakeholder มันเร็ว แล้วอะไรมันเกิดขึ้นไม่รู้ ผมยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบีย ช่องแคบฮอร์มุซ มาปั๊บถามเลยนะ 

 

เราต้องรีแอ็กชัน

มีแอ็กชัน เราต้องบอก LINE ที่ลูกน้อง ลูกน้อง LINE ที่ผม ผม LINE ไปถึงผู้อำนาจเหนือ ตอบทันที่อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันต้องแอ็กชันถึงขนาดนั้น แล้ววันนี้ถ้าเกิดเรายิ่งใช้ไม่เป็น เราช้า ท่านคิดว่าคนที่ต้องการข้อมูลจากเราคิดอย่างไรครับ อีกมุมเลยนะ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัว อันนี้คือสิ่งที่เป็นข้างบน สิ่งที่เป็นข้างล่าง น้องๆ คุณไปจุกจิกจู้จี้อะไรกับผม สมมติวันนี้ทำไมคุณไม่ใช่ดิจิทัล วันนี้ผมสามารถให้น้องๆ เช็กอินโดยไม่ต้องมานั่งเซ็น หรือไม่ต้องมานั่งรูดการ์ดแล้ว ถ้าเข้ามาบริเวณนี้ปั๊บ มี Wi-Fi ปั๊บ ขึ้นเช็กอินเลย เข้าทำงานเลย คุณจะเข้างานมา 7 โมง 15  ก็ได้ ออกให้มันได้ 8 ชั่วโมง วันนี้ทำงาน 8 โมงก็ได้ระบบ Flexi Time 7 โมง ถึง 10 โมง เพราะเดี๋ยวบางคนรถติด อาจจะมา 9 โมงครึ่งก็ได้ อะไรอย่างนี้ Flexi Time นั่นคือข้อที่ 1 ข้อที่ 2 ผมให้เขาทดลองทำเรื่อง Work at home

 

อ๋อเหรอ ทำงานที่บ้านได้

ใช่ครับ เพราะว่าเราไม่รู้หรอกว่าบ้างครั้งพ่อแม่อาจจะแก่ไม่มีคนดูแล หรือเกิดลูกไม่สบายหรือเกิดอะไรขึ้น เราก็ เฮ้ย! คุณ Work at home ได้ แล้วก็คุณลิงก์กับผู้ใหญ่ คือผมไม่ให้เมเนเจอร์ Work at home นะ ผมให้เด็กๆ Work at home ให้เด็กๆ เขาฝึก นั่นคืออีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้เขาฝึกตรงนี้ แล้วก็หลายๆ เรื่องในระบบ HR Human Resource เรา ก็ใช้อยู่ในระบบของฐานข้อมูลหมดแล้ว เช่น ประเมินผล ประวัติตนเองต่างๆ ใช้ฐานข้อมูลพวกนี้หมดแล้ว เวลาผมจะรู้เรื่องอะไรอย่างไร ผมเข้าไปก็รู้หมดแล้วว่าน้องๆ พวกนี้เป็นอย่างไร

 

คนรุ่นใหม่เขาบอกว่ามีพฤติกรรมของการทำงานแตกต่างออกไปจากรุ่น Baby Boomer มาก ความอดทนน้อยลง เปลี่ยนงานบ่อย ไม่ชอบความจุกจิกจู้จี้ ไม่ชอบขั้นตอนมาก บริหารคนเหล่านี้อย่างไร 

โชคดีที่ ปตท. เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้ คนก็อยากเข้า แต่คนบางคนเข้ามาก็อาจจะทนไม่ไหว เพราะว่าเหมือนกับพลังตัวเองมีสูง อาจจะอดทนกับระบบใหญ่ไม่ได้ ใช่ไหมครับ มีการออกไปอยู่ข้างนอกบ้างเวลานี้ แต่บางคนออกไป ไปชนกับข้างนอกก็อาจจะไม่ไหว เพราะอาจจะไม่ได้เก่งจริง ก็เริ่มอยากจะกลับมาก็มีนะครับ ไม่ใช่ไม่มี แต่บางคนก็ไปรอดได้ดี สำหรับคนภายใน ผมมีวิธีการอย่างนี้ครับ วันนี้เราพยายามสร้างเรือลำเล็ก วันนี้เราเป็นเรือลำใหญ่ มีเรือลำใหญ่อยู่ 6 ลำ เมื่อมีสตาร์ทอัพใหม่ๆ เราเจอสิ่งใหม่ๆ เรามีวิเคราะห์วิจัยที่วังน้อยด้วย วังจันทร์ด้วย เราจะเอาเรื่องนี้ให้คนรุ่นใหม่ไปสร้างธุรกิจเลย 

 

แยกไปเลย

แยกไปเลย

 

ไปทำเรือลำเล็กสร้างไปเลย มีเสรีภาพแค่ไหน มีอิสระแค่ไหน

มีเสรีภาพ มีอิสระโดยที่เรายังมีบอร์ด ที่เป็นบอร์ดที่รู้

 

เข้าใจ

เข้าใจ แล้วก็จะมี Enable Platform เพราะบริษัทที่คุณไป อย่างน้อยคุณก็ต้องมีบัญชีการเงิน คุณต้องมีการตลาด คุณต้องมี Legal บ้าง แต่คุณต้องไปทำเรื่องนี้เราจะมีแพลตฟอร์มเรื่องนี้ให้ คุณไปทำ Market Development, Service, Design Product ทำเรื่อง Value Chain คุณ เพื่อขายตรงนี้ให้ได้ แล้วเรามีสินค้าอย่างนี้อยู่หลายตัว ยังต้องอุบไว้ก่อน (หัวเราะ) 

 

แสดงว่าเริ่มทำแล้ว

เริ่มทำแล้ว

 

ฉะนั้น

แต่อาจจะไม่ได้ชื่อ ปตท. นะครับ

 

ก็ถูกต้อง เพราะว่าเราต้องการสร้างวัฒนธรรมใหม่อีกแบบหนึ่งใช่ไหมครับ

แล้วเดี๋ยวปีหน้าผมใกล้เกษียณ คุณสุทธิชัยมาคุยกับผม ผมจะเอาโปรดักต์พวกนั้นมาให้คุณสุทธิชัยดู

 

น่าสนใจมาก อันนี้คือวิธีการปรับตัวขององค์กรใหญ่

ใช่

 

ของประเทศไทยที่ผมสนใจเพราะว่า เราเห็นยักษ์ใหญ่หลายๆ ประเทศก็อยู่ไม่รอดเพราะว่าไม่สามารถปรับตัว ของเราคลื่นของความเปลี่ยนแปลงอาจจะมาช้าหน่อย แต่เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ช้ากว่าใครแล้ว ถ้ามันเกิดในต่างประเทศ ภายในไม่กี่เดือนมันก็จะมาถึงที่นี่แล้ว ดังนั้นคุณชาญศิลป์มั่นใจว่า ปตท. ปรับตัวทันกับความเปลี่ยนแปลงแล้วจะไม่ถูกคลื่นสึนามินี้กระทบอย่างแรง

ถูกกระทบแน่นอน แต่กระทบแล้วเรือลำนี้ยังเดินได้หรือเปล่า เรามั่นใจว่าเดินได้

 

ทั้ง 6 ลำเลยนะ

ทั้ง 6 ลำ

 

แล้วลำเล็กล่ะ

คือลำเล็กตัวโตขึ้นมาไหม ได้หรือไม่ พวกเราต้องไปพยุงนิดหน่อย เมื่อมันโตได้ในบางเรื่อง ผมว่ามันโตได้เยอะด้วย แต่ว่ายังบอกไม่ได้มันคืออะไร เพราะมันอาจจะล้มเหลวได้

 

ก็แน่นอน เขาบอกว่าคุณต้องคาดหวังว่ามันอาจจะล้มเหลว เพราะมันไม่สามารถจะบอกว่า 100% มันจะได้แค่บางวงการเขาบอก ได้ 20% 30% ก็เก่งแล้ว

แต่บางเรื่องเราทำมา 8 ปีแล้วคุณสุทธิชัย แต่เรายังบอกไม่ได้ ในเรื่องไบโอ ในเรื่องของพืชพันธุ์อะไรต่างๆ บางเรื่องเราทำมา 5 ปี บางเรื่องเราทำมา 2 ปี เรื่องพวกนี้ถ้าเกิดเรายกระดับมันขึ้นมา แทนที่จะขายเฉพาะกลุ่ม ไปขายทั้งประเทศ ไปขายทั้ง Region ขายทั้งโลก ถ้าเรื่องนั้นมันชนะ เราก็จะขายได้ และเราก็ไม่กลัวแล้วในการไปขายข้างนอก

 

ความใหญ่ของ ปตท. เป็นอุปสรรคหรือเป็นข้อได้เปรียบในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้

แล้วแต่ว่าจะเอาไปใช้มุมไหน

 

ในภาพรวมว่า

ผมว่าได้เปรียบ

 

ได้เปรียบ

ได้เปรียบ ผมว่าได้เปรียบ แล้วแต่ว่า Leadership มี Leadership ที่ร่วมมือขนาดไหน คุณสุทธิชัยเห็น Amazon ใช่ไหมครับ Amazon เป็นแบรนด์ที่น่ารัก เวลาเรานำไปต่างประเทศ เรานำ Amazon ไป สมมติว่าคุณสุทธิชัยเป็นรัฐมนตรีในต่างประเทศ เอา Amazon ไปเปิดที่ในต่างประเทศ เขารัก Amazon ก็หมายถึงรัก ปตท.

 

เราเอา Amazon ไปนำทาง

ไม่แน่ คนรัก Amazon ทัพใหญ่มีอะไรบ้างที่จะเข้าไปได้ เราตามมาทีหลังได้

 

แต่ก่อนนี้ไม่ใช่อย่างนี้ แต่ก่อนนี้ต้องเอา ปตท. ออกเลย เพราะว่าแบรนด์ดัง คนรู้จัก

แบรนด์ดังในประเทศไทย แต่มันอาจจะไม่ได้ดังในต่างประเทศ

 

ใช่ ดังนั้นปรับยุทธวิธีเหมือนกัน

แล้วก็ไปในจุดที่เขาต้องการ ร่วมมือกับเขาในประเทศเขา ไม่ใช่ไปคนเดียวในหลายประเทศ อินโดนีเซีย จีน เราก็ร่วมมือกับคนที่อยู่ในประเทศที่เป็นนักธุรกิจในประเทศ

 

ความใหญ่ได้เปรียบ แต่ขณะเดียวกันคนก็จะกลัวว่า ใหญ่ๆ นี่แหละ ตัวเล็กๆ ที่เป็นสตาร์ทอัพข้างนอกอาจจะมา Disrupt ยักษ์ใหญ่ได้ เพราะมันมีตัวอย่างในหลายประเทศแล้ว ตรงนี้ไม่กลัว เตรียมตั้งรับอย่างไร

คืออย่างนี้ครับ วันนี้คำว่าใหญ่ของเรา ถ้าเกิดเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ ที่เป็นเรื่องของ Oil Non-oil เราร่วมมือกับคู่ค้าอยู่แล้ว ปั๊มน้ำมันเกือบ 80% ในเมืองไทย หรือแม้แต่ในต่างประเทศ เราร่วมมือกับคนที่เป็นคู่ค้า เป็นเอกชน แล้วไม่ได้เป็น 100% เรามีโมเดล เรามีการซัพพลายของ Amazon ก็เหมือนกัน ประมาณเกือบ 90% เป็นของข้างนอก เป็นของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นผู้ที่เก่งมาก เป็นผู้ที่จะพัฒนาตรงนี้ขึ้นมา ยกเว้นฐานจริงๆ กับทางเรื่องของการผลิตแก๊ส ผลิตโรงกลั่น ผลิตอะไรอย่างนี้ อันนี้แหละเราต้องปรับจากการผลิตในรูปแบบใหม่ ถ้าเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับอนาคต จากน้ำมันเป็นปิโตรเคมี ปิโตรเคมีไปใช้กับรถยนต์สมัยใหม่ ก็ต้องใช้ปิโตรเคมี ในนั้นมี PP ในนั้นมี ABS ของปิโตรเคมี ก็ยังต้องใช้อยู่ ในนั้นมียางสังเคราะห์ ก็ยังต้องใช้ยางสังเคราะห์ Butadiene อยู่ มันก็ยังต้องใช้อยู่ ก็คือสอดรับกับเทรนด์ข้างหน้า แบตเตอรี่ที่ต้องใช้ มีพาร์ทของพลาสติกอยู่ข้างนอกอยู่ ไม่มีประเด็นอะไร แล้วก็ไปพวกนั้น

 

แต่ว่าจุดแข็งที่ ปตท. มีมาตลอดที่บอกว่าความใหญ่นั้นได้เปรียบ เป็นเพราะว่า ปตท. ได้ส่วนแบ่งตลาดที่สูง บางคนบอกว่าเป็นการผูกขาดด้วยซ้ำไป

แต่ว่าไม่ได้มาจากความฟลุกนะครับ มาจากการทำงานครับ แล้วการที่คำว่าผูกขาดบางเรื่อง ใน Sector ของน้ำมัน มันเป็น Sector แข่งขันอยู่แล้วครับคุณสุทธิชัย เราน่าภูมิใจที่มีคนไทยสามารถชนะแบรนด์ต่างชาติ ที่อยู่ในต่างชาติใหญ่โตมาก วันนี้มีทั้ง ปตท. มีทั้งบางจาก มีทั้ง PT น่าภูมิใจ มากกว่า 60-70% ตอนที่ผมมาอยู่เป็นเซลล์ใหม่ๆ เมื่อ 38 ปีที่แล้ว มาร์เก็ตแชร์เราเกือบจะ 0 นะ แต่วันนี้น่าภูมิใจ นี่คือตลาดแข่งขัน คนไทยแข่งขันดี เก่ง วันนี้เราถึงจะเอาออกไปที่อินโดนีเซีย จีน ประเทศใน AEC ได้ อันนี้คือความที่เราเก่ง เราพยายามออกไป แล้วพยายามอดทน เราไม่ใช่ไปปั๊บสำเร็จนะ ล้มลุกคลุกคลาน พี่สุทธิชัยแต่ก่อนปั๊มเราห่วยมาก จนมี Jiffy มามีอะไรมา ตอนหลังมันก็ยกระดับต่างๆ ขึ้นมา นั่นคือพาร์ตของการแข่งขัน พาร์ตของคำว่าผูกขาดคือคนทำคนเดียว ผมถามว่าปี 2528 ในเวลานั้นเกิดโชติช่วงชัชวาล สมัย พลเอก เปรม มีใครกล้าลงทุนท่อแก๊ส โรงแยกแก๊สไหมครับ ใครจะรู้ว่าปิโตรเคมีจะมา ไม่มีใครรู้ ปตท. ถูกสั่งให้ลง วันนี้ท่อแก๊สในทะเล 3 ท่อแล้วครับ โรงแยกแก๊สมี 6 โรง ไปถึงมีท่อบนบกเชื่อมตะวันตก ตะวันออกอีกเกือบๆ 2,000 กิโลเมตร เชื่อมไปกับนิคมต่างๆ เกือบ 30-40 นิคม เชื่อมไปที่โรงไฟฟ้าร้อยกว่าโรงไฟฟ้า พี่สุทธิชัยคิดดูว่า เราอดทนทำ แล้วอันนี้ต้องทำคนเดียว เพราะเวลามันเกิดอะไรขึ้นพี่สุทธิชัย เวลาพายุมา เกิดท่อแก๊สมีปัญหา Single Command สำคัญมาก เราไม่ต่างกับการท่าอากาศยานที่ต้องมีคนทำคนเดียว และคนดูแลเรา คนทำคนเดียวต้องมี Regulator แล้วเราเป็นรัฐ ทำคนเดียวไม่แปลก แล้ว Regulator ดูแล ก็คือคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงาน กระทรวงพลังงานที่ต้องดูแลเหมือนกับสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมืองที่จะมีกรมการบินพาณิชย์ดูแล

 

ถูกต้อง

คำว่าผูกขาดไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

 

ผูกขาดคือมี Single Command

ใช่ครับ

 

แล้วก็เป็นบริการประชาชน ฉะนั้นต้องมีหน่วยกลาง แต่ว่าถ้าเราเทียบอย่างนี้ รัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. เทียบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เทียบกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เทียบกับการบินไทย เดี๋ยวนี้เขาถูก Disrupt โดยมีการแข่งขัน เดี๋ยวนี้คนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง ไม่จำเป็นต้องซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้ว ผมไปคุยมาเขาก็บอกอันนี้คือ Disruption การบินไทยก็เคยคิดว่า อย่างไรฉันเป็น National Airline ตอนที่เกิดสายการบินประหยัด ไม่เชื่อ Budget Airline ไม่มากระทบเราหรอก แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าความประมาท หรือวิธีการประเมินสถานการณ์ของรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ ที่เคยเป็นผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกือบเต็มที่ค่อยๆ ถูกเซาะกร่อน ปัญหาอย่างนี้ไม่เกิดกับ ปตท. เหรอ

เกิดในพาร์ตน้ำมัน

 

บางส่วน

บางส่วน น้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันเตา กับน้ำมันเบนซิน ในอนาคต เพราะว่า

 

ในอนาคตนี่ไกลแค่ไหน

อนาคตถ้าเป็นน้ำมันเบนซินที่จะมาแทน ถามว่าคนเปลี่ยนรถบ่อยไหม คนที่มีรถก็คือคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงใช่ไหม ไม่ใช่คนที่เป็นแมส ที่เป็นชาวนาชาวไร่ ผมว่าพวกนั้นเราคิดว่าการจะ Growth จนกระทั่งมันติดลบเลย อีกประมาณเกือบ 10 ปี ถ้าเป็นเบนซินนะ แต่น้ำมันเตามันไปแล้วอย่างที่ผมบอก อย่างที่เรียนพี่นะครับ กระทบแน่นอน ดูเหมือนใช่แต่ไม่ใช่ ธุรกิจบางธุรกิจไม่เหมือนกัน

 

นั่นสิ กำลังจะถามว่ามันมีความแตกต่างอย่างไร

แตกต่างกันเยอะมาก การบินไทยไม่เหมือนเรา การบินไทยเป็น Flag Carrier การบินไทยเติบโตใหญ่มาก่อน การบินไทยมี Freedom ในการบอกว่าใครจะเข้ามาไม่เข้ามา ตอนหลังเขาเปิด Freedom หมดเลย ใครเข้ามาก็ได้

 

ทุกวันนี้ก็จะเปิดให้มาแข่งขันกับ ปตท. ก็ได้ ถ้าสมมติว่าคิดแบบเดียวกัน

ถ้าน้ำมันแข่งขันอยู่แล้ว พาร์ตน้ำมัน

 

พาร์ตอื่นล่ะ

พาร์ตอื่นโดยเฉพาะพาร์ตแก๊ส มันเป็นเรื่องฐานของความมั่นคง

 

นั่นมันเกี่ยวกับเรื่อง National Security 

แล้วก็วันนี้พาร์ตอื่นเป็นแก๊สที่อยู่บนบก วันนี้เขามี 3rd Party Asset ให้ใครเอาแก๊สมาได้ แต่ต้องมีโรงไฟฟ้า ไม่ใช่ใครเอาแก๊สมาทำให้แก๊สเมืองไทยแพง อันนี้ประชาชนรับค่าไฟแพง

 

ไม่ได้

แล้วฐานของแก๊ส วันนี้การไฟฟ้าเอามาใช้กับโรงไฟฟ้าตัวเอง ตอนราคาถูกใช้โรงไฟฟ้าตัวเองได้ แล้วตอนโรงไฟฟ้าราคาแพงล่ะ จะเอาเข้ามาหรือไม่ อันนี้เป็นอีกประเด็นนะ เพราะว่าโดยส่วนใหญ่แก๊สในประเทศ 70% มาจากอ่าวไทย มันมาทางท่อ เพราะฉะนั้นอันนี้คือประเด็น แต่ว่าการทำท่อแก๊สเหมือนสายส่งไฟฟ้า ไม่ควรจะให้เอกชนเข้ามา มันเป็นความมั่นคงของประเทศ เกิดเอกชนท่านนั้นเป็นฐานทุนอะไรบางอย่างทำให้ไฟดับได้เลยนะ ไฟดับมันเกิดปัญหาเยอะมากกับประเทศ

 

แต่สิ่งที่มัน Disrupt ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม และในโลกนี้กำลังพูดถึงเรื่อง Sustainable Development สหประชาชาติก็ออกมา ส่วนนั้นมากระทบ ปตท.

กระทบมากเลยครับ โดยเฉพาะเชื้อเพลิง วันนี้แต่ก่อนเราใช้ ยูโร 1 ยูโร 2 ยูโร 3 วันนี้เป็น ยูโร 4 อนาคตเราต้องลงทุน ลงทุนรวมๆ กันเป็นหมื่นล้านเพื่อทำเป็นยูโร 5 แต่เราต้องทำ ถ้าเราไม่ทำเราก็รอดไม่ได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็เอาพวกไบโอมาผสม ถ้าเกิดเป็นเอทานอล ก็เอาเอทานอลมาผสมน้ำมันเบนซิน เป็นไบโอเอนาทอล ก็เป็น E20 E85 ถ้าเกิดเป็นปาล์มก็เอามาผสม กำลังจะเป็น 7 มาเป็น 10 นะครับ แล้วก็มี B20 อันนี้เราก็ต้องสนับสนุนนโยบายรัฐ เพราะว่าจริงๆ แล้วตรงนี้มันดีสำหรับประเทศ ไม่ต้องไป Import น้ำมันดิบมา 90% เราสามารถปลูกน้ำมันบนดินเราได้ ก็ปลูกจากปาล์ม ปลูกจากอ้อย ปลูกจากมัน

 

แต่นั่นมันมากระทบต้นทุน กระทบกระบวนการทำงานของ ปตท. มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

อ่อ เราปรับตัวได้เยอะแล้วครับ ประเทศไทยเป็นประเทศที่สมบูรณ์มากในเรื่องของพลังงานพวกนี้ เชื่อไหมครับผมไปอังกฤษมา ในปั๊มน้ำมันมีโปรดักต์อยู่ 2 ตัว แต่ในประเทศไทยท่านสุทธิชัยลองนับมีกี่ตัวครับ มีประมาณ 8 ตัว

 

วันนี้รัฐมนตรีกับนโยบายรัฐเข้าใจแล้วว่าเป็นต้นทุนของปั๊ม คุณควรจะลดลง แต่เผอิญรถเรามีหลายประเภท มีทั้งรถเก่ารถใหม่ บางทีก็เลยต้องตามใจรถเป็นหลัก จริงๆ แล้วควรจะยุบลงมา สัก 4 ตัวหรือ 6 ตัวก็ยังดี เพื่อลด Cost เรื่องถัง เรื่องเด็กเติม เรื่องหัวจ่าย เรื่องอะไรอย่างนี้นะครับ ถ้าเราลดตรงนี้ลงมาได้ แล้วเราช่วยสินค้าเกษตรได้ เพราะฉะนั้นการ Growth ของน้ำมันที่เป็นน้ำมันจากฟอสซิล มันจะ Growth ไม่เยอะแล้ว เราทำใจอยู่แล้ว เราเตรียมการอยู่แล้ว 

 

มันจะ Growth ไม่เยอะ หรือมันจะนิ่งแล้วเริ่มลง มันถึงจุดนั้นไหม

ยังไม่ถึงจุดนั้น อย่างน้อยอีก 10-15 ปี นิ่งแล้วจะลดลง 

 

ประมาทไปไหมคิดอย่างนั้น

อ๋อ ไม่เลยครับ เพราะว่าคุณสุทธิชัยครับ การเปลี่ยนรถ เปลี่ยนเครื่องบิน มันไม่ได้ใช้เวลาง่ายๆ ไม่เหมือนมือถือครับ (หัวเราะ) ไม่เหมือนมือถือ โทรศัพท์มือถือ เป็นไปไม่ได้ครับ อันนี้คือสถิติที่เราคิดกันนะครับ

 

Worst-case Scenario แล้วใช่ไหม

ครับ มันจะลงประมาณปี 2036 นั่นคืออีกประมาณ 14-15 ปี 

 

โดยจากปัจจัยปัจจุบัน ถ้าเกิดมีเทคโนโลยีใหม่ที่มันมาระหว่างทางนี้ แล้วมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลันขึ้นมา เตรียมเผื่อไว้ไหม

เตรียมเผื่อครับ คือเราเตรียมเรื่อง Energy Storage อยู่แล้ว เราเตรียมทำปั๊มน้ำมันให้มี Solar อยู่แล้ว แล้วเตรียมปั๊มน้ำมันเพื่อเติมไฟฟ้าได้อยู่แล้ว อันนั้นเราเตรียมเผื่ออยู่แล้ว แล้วเราคิดเลยว่าน้ำมันเครื่องบิน ท่านดูสิครับ แต่ก่อนมันไม่เคยมันเป็นสัดส่วนแค่ 10% เศษๆ มันขึ้นเป็นสัดส่วนเยอะมากแล้วน้ำมันเครื่องบิน เราทำน้ำมันเครื่องบิน เราคิดน้ำมันเครื่องบิน คงไม่มีใครกล้าบิน Solar 

 

ไฟฟ้า (หัวเราะ)

ไฟฟ้า ไม่มีใคร เราไปอย่างนั้นเลยครับ

 

แต่ว่าไม่แน่นะ อีลอน มัสก์ ก็อาจจะคิดก็ได้นะ

เป็นไปได้ แต่ว่ามัน What Price ในแง่ค่าโดยสาร วันนี้ไปในท่องอวกาศได้ แต่คุณต้องไปด้วยไฮโดรเจน ซึ่งตั๋วทีหนึ่งหลายล้านบาท แล้วมีคนในโลกที่สามารถซื้อตั๋วอย่างนั้นกี่คน มันไปได้ แต่ว่า What Price

 

แต่ว่า ปตท. กล้าไหมที่จะเป็นผู้นำทางด้านนี้ บอกว่าเราไปไฟฟ้าเร็วกว่าที่กำหนด เราจะลดการพึ่งพาฟอสซิลเร็วขึ้น แทนที่จะเป็น 15 ปีที่วางเอาไว้ ในฐานะที่เราควรจะเป็นผู้นำ เรามาคิดใหม่เลย ลงทุนวิจัยพัฒนาเองเลย ไม่ใช่ปล่อยไปตามแนวโน้มปกติที่เราเห็นอยู่นี่

เราส่งเสริมกับภาครัฐอยู่แล้วในเรื่องของการเอาไบโอมาทำ เราส่งเสริมมาตลอด เราเป็นผู้นำในการลดสารตะกั่วในน้ำมัน ถ้าจำได้ เราเอาไบโอมาเป็นผู้นำ ซึ่งรัชกาลที่ 9 ทดสอบในวังสวนจิตรลดามาตั้งนานแล้ว เอทานอล ไบโอดีเซล เราส่งคนของเราไป ไปช่วยกันพัฒนาต่างๆ เราทำมานานแล้ว แล้ววันนี้เราก็จะทำ เพราะมันได้แมสของประเทศ ซึ่งมีการหมุนเวียนมัลติพลายเออร์ในประเทศ คุณสุทธิชัยลองคิดดู ถ้าเราทำแบตเตอรี่ ถามว่ามีส่วนไหนที่ได้กับประเทศบ้าง วันนี้ Rare Earth เรามีไหม Cobalt เรามีไหม แมงกานีสเรามีไหม เราก็มีเฉพาะเปลือกแบตเตอรี่ (หัวเราะ) ที่จะมาทำพลาสติกตรงนั้น เราต้อง Import หมดไหม ก็เหมือน Import น้ำมันไหม

 

ถูกต้องครับ แต่นโยบายรัฐบาลก็ส่งเสริมให้บริษัทรถยนต์ทั้งหลายผลิตรถไฟฟ้า ฉะนั้นแนวโน้มมันก็เป็นอย่างนั้น

ต้องใช้เวลาระดับหนึ่ง

 

Strategy ที่เราวางเอาไว้ เวลาที่ว่ามันยาวนานแค่ไหน

อย่างที่ผมบอก 10-15 ปี แล้วถึงแม้จะมีมา มันจะมาในจีนก่อน ทำไมครับ จีนประชากรเยอะ ประชากรที่จะต้องขึ้นเป็น Urbanization ชนชั้นกลางมีมากกว่าเยอะ เขาขึ้นแค่ปีเดียวอาจจะเท่ากับประเทศไทยทั้งปีก็ได้ ทั้งประเทศก็ได้

 

มณฑลเดียวก็เท่ากับเราแล้ว

ใช่ครับ แล้วประเทศไทย ผมว่าการจะเปลี่ยนโมเดลรถ 5-10 ปีควรจะเปลี่ยนรถคันหนึ่งสำหรับชนชั้นกลางนะครับ ผมไม่ได้พูดถึงชนชั้นสูงนะครับ เขาสามารถมีรถเป็นของเล่นได้ อันนั้นทำไม่ได้

 

ถ้าคิดถึงจุดว่ามันเป็น Share Economy คนจะซื้อรถน้อยลงเพราะว่ามันแชร์กันได้

ถูกต้อง

 

ถึงจุดนั้นไหม คิดต่อไหมครับ ปตท.

ถึงจุดนั้น คนในเมืองก็จะใช้แมส โดยเฉพาะรถไฟฟ้า แต่ระหว่างสถานีเพื่อไปบ้าน มันก็จะมีจุดที่เป็นแชร์พอยต์ มีรถแท็กซี่ แต่ว่ามันก็ยังมีรถยนต์อยู่

 

คนไทยพร้อมหรือยัง อาจจะต้องเปลี่ยนคำถามไปว่า คนไทยจะทำตัวให้พร้อมเมื่อไรมากกว่า 

ควรถามว่า ภาครัฐพร้อมหรือยังในแง่ Infrastructure แม้กระทั่งผมผลิตไฟเอง ขายเอง ยังทำไม่ได้ในวันนี้ ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นรัฐก็ต้องเปลี่ยน สมมติในปั๊มมี Solar  แล้วผมมี Storage และจุดเติม ผมทำอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะมันผิดกฎหมาย ผมต้องทำเป็นเซอร์วิส อันนี้ไม่ถูก มันควรจะกระจายอย่างนี้


ฉะนั้นอะไร ณ วันนี้ มองไปข้างหน้า 10 ปี อะไรเป็นภัยคุกคามที่สุดสำหรับ ปตท.

Mindset ของคน Mindset ของผู้นำที่ต้องเข้าใจและมีแผนพัฒนาเรื่องพลังงานและการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมของการใช้พลังงาน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พวกนี้ต้องเป็นแผนยาว ทุกภาคส่วนมาช่วยกันวาง เพราะเรากระจัดกระจายไปเยอะมาก ถ้ารัฐบาลไม่แข็งแรงหรือเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  มันถึงขั้นทำให้บางคนล้มลงหรือบางคนรวยขึ้น มันมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถูก เหมือนต้องมีแผนสัก 20 ปี  

 

ซึ่งวันนี้ไม่มี

มี แต่ว่าปรับเปลี่ยนบ่อยเกินไป 

 

แต่จริงๆ แผนมันก็ต้องปรับอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเทคโนโลยีมันก็มาใหม่ๆ ใช่ไหมครับ

ถูกครับ แต่มันไม่ใช่การปรับจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบ ในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย มันต้องมีแบบแผนชาติระดับหนึ่ง สำหรับพลังงาน 

 

Mindset ที่ว่าคืออะไร ที่บอกว่ามันเป็นภัยคุกคามหนักที่สุด

Mindset ที่ว่าคือต้องเป็น Mindset ของคนที่รู้เรื่องพลังงานจริงๆ ไม่ใช่เอา Mindset ของคนมีความรู้สึกว่า ปตท. รวย ปตท. ผูกขาดเลยรวย แล้วก็ ปตท. ไปทำให้คนจน ไปทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่ง Mindset นี้มันใช้ไม่ได้ ปตท. ไม่ได้รวยเรื่องการขายน้ำมันที่ปั๊มนะครับ แล้วก็ไม่ได้รวยเพราะการขายแก๊สผูกขาด ไปดูเรื่องของการขายแก๊สขายอะไร เราแยกบัญชีเรียบร้อย ไม่ได้รวยเพราะอันนั้น เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วตรงนั้นถูกคอนโทรลโดย กกพ. ทั้งหมด แล้วการที่ขายน้ำมัน เราก็ขึ้นลงตามราคาตลาดโลก เราไม่อยากให้ประเทศไทยเหมือนเวเนซุเอลา ซึ่งฟิกราคาน้ำมันไว้ เหมือนบางประเทศที่เอาใจ ประชานิยม แล้วก็เซตน้ำมันต่ำ พอคนได้ความต่ำของราคาน้ำมัน ถามว่าเขาเซฟไหมครับ ไม่เซฟ ไม่เซฟเสร็จปั๊บ เวเนซุเอลาเคยเป็น OPEC เคยขายน้ำมันส่งออกอย่างดี วันนี้เวเนซุเอลาล่มจมแล้ว ประชากรมีนิสัยที่จะต้องไม่ยอมทำงาน ราคาน้ำมันถูก นี่คือประเด็น

 

ขนาดเป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน ขนาดมีน้ำมันมากมายกลับกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจล่มสลายได้

ต้องชื่นชมกระทรวงพลังงาน แล้วก็วิสัยทัศน์ของผู้นำในอดีต ตั้งแต่สมัย พลเอก เกรียงศักดิ์ พลเอก เปรม จิตสาธารณะที่ท่านทำ วางพื้นฐานตรงนี้ ทั้ง JBA ร่วมกับมาเลเซีย เป็นเคสดีที่สุดของโลกเลย ซึ่งตรงนี้ถ้าเราสามารถขยายไปตรงอื่นได้ เราก็จะเกิดประโยชน์มาก แต่ว่าเผอิญรัฐบาลเราในอดีตมันเปลี่ยนแปลงบ่อย แล้วคนที่รู้เรื่องพลังงานจริงไม่ได้มีโอกาสไปดูแล แล้วก็เป็นคนที่ไม่รู้ แต่ก็มักจะมีภาพติดลบแล้วก็มันจะมาตี ปตท. เพื่อตัวเองขึ้นมาโดดเด่น แล้วก็ไปเอาภาพนี้ใส่ให้กับคนที่เป็นคนที่ยากจนหน่อย ให้เขามามีความคิดที่ไม่ถูกต้อง แล้วมันก็ทำให้เดินไปข้างหน้าไม่ได้ อันนี้คือภาพที่ลำบาก และ Digitization หรือ Disruptive ที่มาจากตัวทุกคนเป็นนักข่าวได้ เหมือนคุณสุทธิชัยก็โดน Disruptive อย่างนี้ นี่คือ Disruptive ที่เป็นจริง อันนี้ผมว่าน่ากลัวมาก เพราะว่าไม่รู้มันไปที่ไหน แล้วอยู่ๆ คุณพูดไปได้ โดยที่คุณไม่ต้องรับผิดชอบ

 

อันนี้คือตัว Disruption ไม่เกี่ยวกับน้ำมันไม่เกี่ยวกับพลังงานเลย

อันนี้สำคัญมาก เรื่องน้ำมัน เรื่องโจทย์พลังงาน เรื่องโจทย์บนโต๊ะ

 

จัดการได้

แก้ได้

 

แต่เรื่องข้อมูลข่าวสาร

อันนี้แก้ยากมาก

 

แล้วในฐานะเป็นซีอีโอของ ปตท. แก้อย่างไร

โอ้โห พี่สุทธิชัยถามดีมากเลย สมมติว่าเรามีปลาอยู่หลายตัว อย่างพี่สุทธิชัย ผมสบายใจ เพราะพี่ฟังและเข้าใจ สื่อบางคนอาจจะไม่เข้าใจ ผมก็เข้าหาและอธิบาย

 

ฉะนั้นการมาเป็นซีอีโอในภาวะ Disruption มากมายหลายด้าน สนุกไหม

สนุกมาก ท้าทายมาก ในขณะเดียวกันผมมีพี่ๆ น้องๆ ที่ช่วยกันบริหาร แล้วก็รู้จักกันตั้งแต่ระดับกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐยุคนี้ก็รุ่นๆ เดียวกันหมด ใกล้ๆ เกษียณกันหมดแล้วนะครับ ก็เป็นภาพที่มีความร่วมไม้ร่วมมือดีมาก


ตื่นเช้าทุกเช้านี่สนุกกับการมาทำงาน ไม่มีวันไหนที่ไม่ไหวแล้ว ไม่น่ารับเลยตำแหน่งนี้ 

ไม่มีครับ ไม่มี เพราะว่ามันท้าทาย แล้วผมเป็นคนที่ผ่านความท้าทายมา 19 ตำแหน่ง ใน 38 ปี

 

ในตำแหน่งนี้ท้าทายที่สุด

ตอนนี้ท้าทายที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่า Stakeholder มาด้วยรูปแบบไหน แล้วมันมี Stakeholder หลายคนมาก เวลาเราอยู่ตำแหน่งเล็กลงไป มันจะมี Stakeholder ที่จำกัด และจัดการได้ 

 

อันนี้เราอยู่ที่สูง เราก็ต้องหนาวเป็นธรรมดา

แต่ผมไม่หนาวครับ ผมมีพี่ มีน้อง มีเพื่อน ยังอบอุ่นอยู่ (หัวเราะ)

 


 

Credits

 

The Host สุทธิชัย หยุ่น

The Guest ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

 

Show Producers อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

พิสูจน์อักษร พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising