“ยิ่งท้าผมยิ่งรับพิสูจน์ คนบอกว่าราชการทำ Agile ไม่ได้ ผมกำลังรับคำท้านี้อยู่” เอกนิติกับการพากรมสรรพากรเข้าสู่ยุคใหม่ หันมาใช้ Data Analytics คิดแบบ Design Thinking จัดโครงการ Hackathon และนำบล็อกเชนมาใช้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มในการท่องเที่ยวที่แรกของโลก
สุทธิชัย หยุ่น คุยกับ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ในรายการ The Alpha
รับชมในรูปแบบวีดีโอสัมภาษณ์
ภารกิจคือจะต้องทำให้หน่วยราชการแห่งนี้ทันกับความเปลี่ยนแปลง Digital Transformation ก่อนมาที่นี่ตั้งเป้าเอาไว้ พอผ่านมา 2 ปี คิดว่าคิดผิดหรือเปล่า
ไม่ผิดครับ เพราะว่ายังต้องทำอีกเยอะ แต่ว่ายิ่งช่วงโควิด-19 เกิดขึ้นมานะครับ มันเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจนเลยว่าที่เราเดินทางมา เราเดินมาถูกทาง โชคดีที่เราเริ่มทำมา 2 ปีก่อนล่วงหน้า เรื่อง Digital Transformation ทำให้ช่วงโควิด-19 หลายอย่างเราสามารถมาขับเคลื่อนได้ก็เพราะสิ่งที่เราวางรากฐานไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่สรรพากรเขามีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เราก็สามารถที่จะมาขับเคลื่อน เอา Digital Transformation มาเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนกระบวนคิด เพราะ Digital Transformation มันไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นดิจิทัลนะ มันคือการเปลี่ยนกระบวนการและการทำงาน
หลายแห่งบอกผมนะ บริษัทเอกชนบอกผมว่าโควิด-19 มาช่วย ช่วยตรงที่มาเร่งให้กระบวนการที่คิดมาหลายปีแล้ว เป็นนโยบายบริษัทด้วย แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งโควิด-19 มาปั๊บ ทุกคนถูกบังคับให้ต้องอยู่ที่บ้าน ถูกบังคับให้ต้องประชุมออนไลน์ ก็เลยทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่ามันจะตัดตอนได้มากมายขนาดนี้ ที่นี่เกิดอย่างนี้ไหมครับ
ที่นี่ต้องบอกว่าพอโควิด-19 มาปุ๊บ มันทำให้สิ่งที่เราวางไว้ว่าเราเตรียมจะมาใช้ มันเอามาใช้ได้เร็ว ก็เลยทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเดินไปได้เร็วขึ้น อย่างเช่นในเรื่องคืนภาษี ตอนออกนโยบายภาษีช่วงโควิด-19 เราทำไปหลายอย่างนะครับ อันหนึ่งที่เราทำคือเร่งคืนภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คนมาขอคืนภาษี เราเร่งคืนได้เร็วเพราะกระบวนการ Digital Transformation ภายในช่วง 3 เดือน ผมคืนเงินไปแล้ว 3 หมื่นกว่าล้าน
เราวางรากฐานไว้ก่อน รากฐานอันที่หนึ่งก็คือเราทำเรื่อง Data Analytics เราแยกระหว่างเวลาคนมายื่นแบบบุคคลธรรมดา เรามีระบบในการแยกว่าอันนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง อันนี้เป็นกลุ่มดี เราก็จะมีข้อมูลแยก เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ดี รายงานข้อมูลครบ มีรายได้ครบ เราผ่านการ Data Analytics แล้ว เราคืนเลยทันที แล้วคืนผ่านระบบพร้อมเพย์ เข้าบัญชีเลย ตอนนี้กว่า 90% ใช้พร้อมเพย์ มันทำให้คืนได้เร็ว เพราะฉะนั้นตอนนี้นะครับ คนมาขอคืนภาษีบุคคลธรรมดานะ เราคืนไปแล้วประมาณ 3 ล้านกว่าคน ก็คือ 95% แล้วที่เหลืออีก 5% ที่ไม่ได้คืนไม่ใช่อะไรนะครับ เพราะ Data Analytics ของเรามันแยกออกมาบอกว่ากลุ่มนี้รายงานรายได้ไม่ครบ ข้อมูลในการยื่นบริจาคไม่ครบถ้วน อะไรอย่างนี้เป็นต้น พวกนี้เราก็คืนไม่ได้ มันสามารถแยกระหว่างกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กับกลุ่มคนที่ไม่เสี่ยง
มีข้อมูลแล้ว พอเรามี Data เราก็ทำ Analytics ฉะนั้นกลุ่มที่ไม่มีปัญหาก็น่าจะเร็วไปเลย สมัยก่อนนี่เท่ากันหมด คุณกรอกฟอร์มมา เขียนผิดต้องกรอกใหม่อีก แต่ตอนนี้เรารู้ประวัติการจ่ายภาษีของแต่ละคนเลยใช่ไหม
ใช่ครับ เพราะฉะนั้นคนที่บ่นตอนนี้ ที่ไม่ได้คืนคือ 5% ที่รายงานไม่ครบ มีรายได้หลายทาง อาจจะลืมโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจจะตั้งใจก็ได้ พวกนี้ระบบเราแยก คือออนไลน์ยิ่งได้คืนเร็ว เพราะมันเข้าระบบเลย มันไม่ต้องมานั่งคีย์อีก มันเข้าระบบ Data Analytics ของเราเลย อันนี้ก็คือตัวอย่างเช่นได้ชัด มันทำให้นโยบายภาษีสามารถช่วยประชาชนได้เร็ว อันนี้คือสิ่งที่เริ่มทำกันมา ผมต้องบอกว่าอันนี้เป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่อง การยื่นแบบต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต สมัยก่อนเรายื่นแบบอินเทอร์เน็ต คนก็ยื่นเยอะแล้วนะครับ กรมสรรพากรพัฒนาเอง แต่เราเปลี่ยนแนวคิดเรื่อง Digital Transformation เราบอกว่ากรมสรรพากร หน่วยงานภาครัฐ ข้อจำกัดเยอะแยะ งบประมาณก็ไม่มี จะพัฒนาเว็บไซต์ทั้งทีก็ต้องไปรองบประมาณ ผมก็เลยบอกว่าส่วนหนึ่งของ Digital Transformation คือเปลี่ยนกระบวนการการทำงาน ทำไมเราไม่เป็นเหมือนแพลตฟอร์ม ทำไมเราไม่เป็นเหมือน Airbnb หรือ Uber คือเราเป็นคนกำหนดกติกา แล้วใครทำตามกติกาเราได้ก็มาเชื่อมต่อกับเรา เราก็เลยเอา Open API (Open Application Programing Interface) เปิดเลยครับ แทนที่กรมสรรพากรต้องมายื่นแบบอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว เราก็พัฒนาของเราไปเรื่อยๆ นะครับ แต่ว่าสตาร์ทอัพหรือองค์กรเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติ มีการตรวจสอบ เราก็ไปร่วมมือกับ ETDA (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ตรวจสอบว่าคุณมีระบบความปลอดภัยของข้อมูลดี คุ้มครองต่างๆ ระบบดี แล้วคุณสามารถทำตามกฎกติกาที่เรากำหนด ก็มาเลย ก็เชื่อมต่อมา ก็เลยมีสตาร์ทอัพชื่อ iTAX ที่มาจอยกับเรา ตอนนี้ถ้ายื่นภาษีบุคคลธรรมดา ไม่จำเป็นต้องยื่นกรมสรรพากรอย่างเดียวนะ ไปยื่นผ่านเขา แล้วเราเชื่อมโยงข้อมูล
เป็นเรื่องที่แปลกใหม่มากสำหรับข้าราชการระดับสูงก็ตามแต่ ที่ว่าอยู่ดีๆ คุณจะเอาระบบเอกชนมาเหรอ ของเรามันราชการนะ เราเป็นคนคอนโทรลระบบนะ ท่านอธิบดีที่มาใหม่กำลังจะทำให้กรมสรรพากรกลายเป็นกรมที่เปิดกว้าง ประชาชนเข้ามาทำอะไร พูดอะไรก็ได้อย่างนี้เหรอ
คุณสุทธิชัยเหมือนรู้เองเลย เจออุปสรรคเยอะครับ อันแรกก็คือทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง อย่างแรกก็คืออย่างที่ผมบอก เพราะคน 2 หมื่นกว่าคน เราต้องขับเคลื่อนที่หัวก่อน ให้หัวเขาเข้าใจก่อน ผู้บริหารทั้งหมดมาทำ Design Thinking ไม่ใช่รอบเดียวนะ รอบแรกทำเรื่องการบริการผู้เสียภาษี จะทำยังไงให้ตรงใจเขามากขึ้น รอบที่สองทำเรื่อง Data Analytics มีข้อมูลเยอะแยะจะมาใช้ ทำยังไง อันนี้ทำ 2-3 รอบจนเขาเข้าใจ ตอนแรกก็มีเสียงบ่นอย่างคุณสุทธิชัยว่าเลย ทำไม่ได้หรอก เป็นของเล่นท่านอธิบดี ผมบอกไม่ใช่เลย ผมทำทุกอย่างเนี่ย แล้วผมทำไม่ได้ออกสื่ออะไรใดๆ ผมทำเงียบๆ เพราะว่าต้องการให้เขาเข้าใจจริงๆ แล้วหลายสิ่งหลายอย่างเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง
แต่ผมเชื่อว่าท่านอธิบดีคิดอย่างนี้ว่า ถ้าจะให้เขายอมขับเคลื่อน เราต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าเขาจะได้อะไร จะดีกว่าชีวิตที่เขาผ่านมา ถ้าเขาทำอย่างนี้ ยอมที่จะปรับตัว มันจะดีขึ้น สำหรับเขาก่อนนะ แล้วถึงสำหรับประชาชน
สิ่งแรกเลยก็คือว่าวันนี้มันเริ่มเห็นชัด คนถามผมว่าทำไม อธิบดีก็สั่งมาสิ เดี๋ยวเขาก็ทำ ผมบอกว่าผมไม่ต้องการทำแบบเดิม เพราะว่าถ้าทำแบบเดิม จริงๆ ผมทำง่ายกว่านะ สั่งให้เขาทำก็จบ แต่ผมต้องการสร้างกระบวนการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร อย่างผมนอกจากทำเรื่องนี้ วิธีการ คุณสุทธิชัยอาจจะแปลกใจว่าจะขับเคลื่อนคน 2 หมื่นคนอย่างไร พอผมให้ผู้บริหารตั้งแต่สรรพากรภาค ผู้อำนวยการกอง มาทำ Design Thinking ด้วยกัน แล้วผมอยู่ด้วยตลอด เขาจัดนวดสปาให้ ไม่ไป อยู่กับเขาตลอดเลย เพื่อให้เขารู้ว่าเราให้ความสำคัญ แล้วก็ทำไปกับเขา อันนี้คือเราไปจัดกันที่ต่างจังหวัดเพื่อให้โฟกัส ช่วงเสาร์-อาทิตย์นะครับ นั่นคือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คราวนี้พอมาขับเคลื่อน ผมก็เอาสิ่งที่สตาร์ทอัพเขาทำกัน ด้วยความที่เราสนใจในเรื่องนี้ รู้ว่าสตาร์ทอัพเขาทำเรื่อง Pitching มีการทำ Incubator เอาคนมาช่วยสอน ผมก็เลยบอกว่าเอาแบบนี้แล้วกัน ให้ทีมงานจัดโครงการเรียกว่า Idea I do จริงๆ คือโครงการ Pitching ที่สตาร์ทอัพเขาทำ ก็ให้คนทั้งประเทศมาพิตช์แข่งกัน มาเสนอไอเดีย เอางานอะไรก็ได้ที่คุณอยากจะใช้นวัตกรรมมาพัฒนา
ผมเชื่อว่าคนที่ขายออนไลน์มีความกลัวอันเดียวกันว่า เดี๋ยวสรรพากรจะมาเล่นงานคุณ ทำยังไงถึงให้เขาสบายใจว่าถ้าคุณขายของออนไลน์ มีที่ปรึกษาสรรพากรให้คุณ
อันนี้จริงๆ ต้องขอบคุณทางสรรพากรด้วยนะครับ หลายคนช่วยผมขับเคลื่อนนโยบาย คือตอนที่ผมมากรมสรรพากรใหม่ๆ ผมก็มาคิดอันนี้ คิดจริงๆ ว่าจะทำยังไงให้ขับเคลื่อนคน 2 หมื่นคนไปในทิศทางเดียวกัน ผมก็เลยบอกทำเอาง่ายๆ เรามีสรรพากร เราทำหน้าที่อะไรแล้วบ้าง หนึ่งคือตรงเป้า คือเก็บภาษีให้ตรงเป้า เพราะว่าเราเก็บภาษี 80% ของรายได้ประเทศ ถ้าเราพลาดเป้าก็สามารถกระทบเสถียรภาพทางการคลังได้เลย สอง ออกนโยบายจัดเก็บภาษีให้ตรงกลุ่ม แยกกลุ่มดีกับกลุ่มไม่ดีอย่างที่บอกเมื่อสักครู่ สามคือตรงใจของผู้เสียภาษี จริงๆ ตรงใจมี 2 คน ของผู้เสียภาษีและคนทำงาน อันนี้เป็นเป้าหลักๆ จากเดิมสรรพากรรู้แหละว่าทำยังไงให้เก็บให้ตรงเป้า แต่เราเพิ่มเรื่องตรงกลุ่มกับตรงใจ อันนี้มาเป็นเป้าอย่างชัดเจน แล้วเราก็มีเรื่อง Tax Ambassador
ไปทุกพื้นที่สาขาเลย เป็น Tax Ambassador ตอนนี้อีกโปรเจกต์หนึ่งทำโปรเจกต์ชื่อ Digital Tax Legacy เป็นลักษณะเกม เข้ามาเล่นได้เลย เขากำลังทำกับสตาร์ทอัพอยู่ตอนนี้เลย กำลังพัฒนาขึ้นมา
ผมจำได้ว่าหลายปีก่อนที่อเมริกา IRS ผมไปเองเลย พอดีไปกับลูกด้วย IRS ก็ยังต้องไปนะ เพราะตอนนั้นยังไม่มีดิจิทัล แต่เจ้าหน้าที่ตรงนั้นเขาจะดูๆ เราเสร็จ เขาจะแนะนำเรา บอกว่าถ้ายูทำอย่างนี้ ยูลดภาษีตรงนี้ได้นะ ยูไม่ต้องทำอย่างนี้ก็ได้ ยูส่งพ่อแม่ยูใช่ไหม อันนี้หักได้นะต่างๆ นานา เราคาดหวังว่าในการทราส์ฟอร์มมันจะนำไปสู่ Consultation Consultancy มากขึ้นไหม
แน่นอน เพราะว่าผมเชื่อเลยว่าจริงๆ แล้วถ้าเราทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย กฎหมายมันไม่ง่ายนะ ทำยังไงให้เราช่วยแนะนำเขาให้มันง่ายในทางปฏิบัติ แล้วผมใช้คำว่าเป็นหุ้นส่วน เพราะว่าเราคือพาร์ตเนอร์ที่สำคัญ อย่างกระบวนการ Digital Transformation ผมต้องบอกคุณสุทธิชัยเลยว่าภาครัฐยากมาก เพราะงบประมาณก็จำกัด แต่ละปีผมขออะไรสักอย่างหนึ่ง จะมาพัฒนาแอปฯ อะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่มีเลย แต่เราไม่ยอมแพ้
ผมถึงบอกว่าเราต้องเปลี่ยนกระบวนการคิด เพราะผมก็จะไม่ยอมทำผิด จะไปทำผิดกฎก็ไม่เอา อย่างที่ผมยกตัวอย่าง บอกว่าถ้าอย่างนั้นผมเปิดเป็น Open API เอาสตาร์ทอัพมาจอย แต่ผมเขียนกติกาได้ ผมบอกได้ว่าใครจะมาร่วมกับผม แต่ผมเปิดทุกคนไง แล้วผมก็เป็นกฎกติกา ผมก็เปิด Open API ถ้าคุณทำได้เข้ามาเลย ผมยกตัวอย่าง เล่าให้คุณสุทธิชัยฟัง อันนี้เสียดาย เราเป็นสรรพากรที่แรกของโลกที่เอาบล็อกเชนมาใช้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มในการท่องเที่ยว อันนี้เป็นที่แรกของโลก แต่เสียดายเปิดตัวเดือนมกราคม เจอโควิด-19 พอดี แต่ตอนนี้ก็เริ่มใช้อยู่นะ แต่ว่ามันไม่มีนักท่องเที่ยวใช้
แล้วผมก็เชื่อว่าท่านอธิบดีก็เห็นแล้วล่ะว่าพอเราทำ Digital Transformation สิ่งหนึ่งที่แก้ปัญหา Pain Point ประชาชนได้คือเรื่องคอร์รัปชันใช่ไหม มีผลตามมาชัดเจนไหม เมื่อมันเป็นระบบ มีข้อมูลโปร่งใส ถ้าคนของเราคิดจะทำอะไรแบบที่เราเคยได้ยินมาตลอดนะว่าหน่วยราชการก็จะมีใต้โต๊ะ อย่างนี้มันน่าจะสกัด ลดเรื่องของสิ่งที่ผิดกฎหมาย
คือผมตั้งใจจะเป็นอย่างนั้น และคิดว่าเรื่องนี้เทคโนโลยีจะช่วยได้ แต่ต้องบอกว่ายังมีอีกหลายโครงการที่ตั้งใจทำอยู่ ประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่กรมสรรพากร เรื่องคืนภาษี มันก็ต้องใช้ดุลพินิจนะ พอใช้ดุลพินิจมันก็ทำให้คนดีทำงานลำบาก เพราะบางทีคนดีอนุมัติไป โดนกลั่นแกล้งมาก็เดือดร้อนอีก ส่วนคนที่ไม่ดีก็เป็นช่องทาง แต่ระบบ Data Analytics ซึ่งผมกำลังทำอยู่ตอนนี้จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วยลดการใช้ดุลพินิจไปเยอะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่กำลังทำอยู่ มันจะช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ไปด้วย
สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ตอนนี้ ผมพยายามวางรากฐาน คือไม่ว่าใครจะอยู่ ใครจะไป ใครจะเกษียณไปอยู่ที่ไหน ถ้าระบบมันยังอยู่ มันยังเดินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมบอกคุณสุทธิชัยแต่แรก ผมถึงบอกว่าถ้าโครงการแต่ละอัน ผมสั่งทำ คนสรรพากรก็ดี เขาก็ช่วยขับเคลื่อนมาทำได้ แต่ถ้ามันทำด้วยระบบ และเขาร่วมมือกันทำเอง แล้วช่วยกันคิดหา Pain Point เอง ตอบโจทย์เอง มันจะยั่งยืน
เริ่มใหม่ๆ เจอแรงต่อต้านเยอะไหม ถึงวันนี้วิธีการที่ท่านอธิบดีตั้งรับแรงต่อต้านยังไง
ต้องบอกว่าอย่างนี้ครับ ผมว่าผมโชคดีที่คนกรมสรรพากรเป็นคนที่น่ารัก พร้อมจะขับเคลื่อนกับอธิบดี การต่อต้านต้องบอกตรงๆ ว่ายังไม่ได้เจอนะครับ แต่อาจจะเป็นเสียงบ่นบ้างว่างานเขาก็เยอะอยู่แล้ว ต้องมานั่งทำอะไรพวกนี้อีก แต่ผมเชื่อว่าเมื่อเวลามันผ่านไป แล้วอย่างโควิด-19 มา เขาจะเห็นว่ามันจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อน แล้วเราจะทำให้เห็นว่า หนึ่ง เราทำเป็นตัวอย่างก่อน อย่างโปรเจกต์ผมก็ทำเองบางอัน ผมก็ไม่เคยไปเปิดแล้วหนี เราต้องทำ เราถึงเข้าใจมันจริงๆ เพราะฉะนั้นหลายโครงการ อย่างระบบต่างๆ ที่เราสร้าง มันถึงสร้างหลายระบบขึ้นมา แล้วพอตรงนี้ผมเชื่อว่าพอเขาเห็น เขาภูมิใจ อย่างผลงานต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ใช่ของผมคนเดียว เป็นของคนกรมสรรพากรที่ช่วยกันทำ เพราะฉะนั้นตรงนี้เขาก็จะเกิดความภูมิใจ ในช่วงโควิด-19 มันพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าอันนี้คือสิ่งที่ออกดอกออกผล แต่มันต้องใช้เวลาในการสร้าง เพราะคนเราเยอะ กรมเรามีขนาดที่ใหญ่
จะมีแรงจูงใจอะไรให้เขาเรียน ที่จะ Reskill เขา Upskill ตัวเอง ต้องมีแรงจูงใจว่าถ้าเรียนแล้วฉันจะได้โอกาสเรื่องเงินเดือน เรื่องรายได้ เรื่องตำแหน่งแห่งหนยังไง
ต้องเรียนคุณสุทธิชัยว่าอันนี้เป็นความตั้งใจเลย หนึ่ง ณ วันนี้ใช้แรงจูงใจคือสร้างให้หลักสูตรมันน่าสนใจ พอหลักสูตรน่าสนใจ คนอยากมาเรียน อย่างที่เราเอายูทูเบอร์มาสอน เอาออนไลน์มาสอน เอาคนดังๆ มาสอน คนสมัครล้นหลาม เราก็ให้แข่งผลงานกัน คุณทำงานมาพิสูจน์ด้วย อันนี้ก็เกิดแรงจูงใจ แต่ว่าในท้ายที่สุดมันจะต้องใส่แรงจูงใจไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการประเมินผล ไม่อย่างนั้นคนที่สนใจก็จะสนใจอยู่ดี อยากพัฒนาความรู้ของตัวเอง แต่เราในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน เรายอมอย่างนั้นไม่ได้
ผมเชื่อว่าราชการ สิ่งที่จะช่วยได้คือเอามาเกี่ยวข้องกับการประเมิน เลื่อนขั้นทั้งหลาย พวกนี้มันก็ต้องเข้ามา แล้วระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ มันช่วยได้ ใครเข้าเรียนเมื่อไร มันศึกษาได้หมด เพราะฉะนั้นตรงนี้กำลังวางระบบนี้อยู่
ตัวอย่างที่นี่สามารถที่จะแชร์กับกรมอื่นๆ ยังไง สมมติกรมสรรพากรทำได้สำเร็จระดับหนึ่งแล้ว น่าจะเป็นแรงจูงใจ แรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอื่นในราชการ
หน่วยงานต่างๆ ที่จะมาขอดูงานที่เรา เรายินดีเต็มที่ หลายอันผมลงเข้าบรรยายเองหมด เล่าให้ฟังว่าแนวคิดเป็นยังไง ส่วนใครจะเอาไปทำยังไงก็แล้วแต่ อย่างแม้แต่เรื่องโควิด-19 นะครับ ต้องขอบคุณทางสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ให้เราเป็นหน่วยงานต้นแบบ อันนี้ก็อีก Digital Transformation หนึ่ง ก็คือไทยชนะเราไปทำเวอร์ชันแรกแล้วครับ แต่เราทำภายในหน่วยงาน คือผมเป็นห่วงลูกน้อง เพราะตอนนั้นเรายังเดินทางกันอยู่ ใครไปไหนมาไหน ก็ให้ทางไอทีเราช่วยคิดระบบขึ้นมา เราบอกว่าอันนี้เราจะต้องผ่านวิกฤตไปด้วยกัน เราก็ทำระบบ ทุกวันนี้ต้องภายในเที่ยง เราขอความร่วมมือทุกคนมากรอกว่าใครมีความเสี่ยงอะไรบ้าง แล้วมาช่วยดู อันนี้ผมเรียกว่าไทยชนะเวอร์ชันแรก แต่เราทำกันในกรมของเราเอง เพราะว่าทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ พ่อแม่เรา พี่น้องเรา ใครเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ อันนี้คือสิ่งที่ทำไป แล้วอันนี้ผมอยากจะเรียนว่าในเรื่องนี้เราคงต้องทำต่อเนื่อง แล้วผมคิดว่าอันนี้มันจะเป็นการที่เราตั้งรากฐานให้กับกรมอื่นๆ แล้วก็เรื่องของการทำ BCP กระบวนการขั้นตอน อย่างตอนนี้ผมมาขอร้องเลย บอกว่าที่เรา Work from Home เราบอกว่าตอนนี้อย่าเพิ่งการ์ดตก จริงๆ เราแบ่งทีมเป็นทีม A ทีม B ตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้วนะ เพื่อลดความเสี่ยงของคน อันนี้วางระบบไว้เลย ทีมงานต้องขอบคุณ เราตั้งทีม COVID Crisis Management ขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม แล้วก็ให้ Work from Home เพื่อให้ทดสอบระบบ แล้วผมทำเหมือนกัน นายต้องทำก่อน ผมก็ต้องบังคับตัวเอง Work from Home เพื่อดูระบบ ไม่ใช่กลับไปอยู่บ้านเฉยๆ นะ นัดประชุมเพื่อทดสอบระบบให้รู้ว่ามีงานไปส่งที่บ้านได้ แล้วตอนนี้ก็ให้ระดับภาค ระดับกอง พออธิบดีและรองอธิบดีทำหมดแล้ว ให้รู้ว่าถ้าเกิดใครติดโควิด-19 ขึ้นมา หรือว่ามีความเสี่ยงต้องหยุด 14 วัน งานเรายังเดินไปได้ คนปลอดภัย ไม่ต้องไปแพร่เชื้อคนอื่น ตอนนี้ก็ขอให้กองทำหมดแล้ว ต่อไปผมบอกว่าภาคต้องทำ แล้วเขาให้ทำทุกระดับ ทีม A ทีม B จะได้ทดสอบระบบว่าเราทำงานกันได้ไหม
โอกาสที่เราจะเห็น คาดหวังว่าระบบราชการจะเข้าสู่ Digital Transformation ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร
ผมคิดว่าความพิเศษของกรมสรรพากรคือเป็นกรมที่มีขนาดใหญ่มาก 2 หมื่นกว่าคนทั่วประเทศ ก็ต้องเรียนตรงๆ ว่าก็มีอุปสรรคเยอะในการขับเคลื่อนคน 2 หมื่นกว่าคน เช่น อุปสรรคในการขับเคลื่อนคนทั้ง 2 หมื่นคนอยู่ต่างจังหวัด อำเภอไกลๆ เขาจะมาขับเคลื่อนยังไง ก็ยังต้องทำต่อเนื่อง วัฒนธรรมองค์กรสำคัญมาก ผู้นำสำคัญมาก ผู้นำต้องมุ่งมั่น ทุกระดับ ผมถึงบอกว่าไม่ใช่ผมคนเดียวนะ ผมถึงเอาสรรพากรภาคมาช่วย มาทำด้วย ขณะเดียวกันหน่วยราชการที่ผมว่าเหนื่อยคือเรื่องกฎกติกา ทำ Agile คนท้าผมเยอะ ยิ่งท้าผมยิ่งรับพิสูจน์ บอกว่า Agile ราชการทำไม่ได้ ผมกำลังรับคำท้านี้อยู่ ถามว่าท้อไหม ไม่ท้อ แต่เหนื่อยไหม เหนื่อยมาก เพราะว่าราชการเราเป็น Silo ครับ จริงๆ เป็นทุกหน่วยงาน แต่ว่าราชการ Silo หนัก เพราะมันสร้างมาด้วยเป็น Silo คุณมีหน้าที่อะไร คุณสุทธิชัยหน้าที่อะไร ผมหน้าที่อะไร เราก็จะเป็น Silo ของเรา อย่ายุ่งกันนะ ผมไม่แตะ Silo คุณ คุณอย่าแตะ Silo ผม แล้วอย่างนี้มันจะ Agile ได้ยังไงล่ะครับ แต่ผมบอกว่า Agile คือ New way of work เราต้องทำได้ เราก็ทำงานร่วมกัน เอาโปรเจกต์เป็นที่ตั้ง เอา Design Thinking มาทำ แต่แน่นอนว่าอุปสรรคมันมี อีกอันคือนอกจากกฎระเบียบต่างๆ แล้ว งบประมาณ ผมจะทำอะไร งบไม่มี แต่ก็ไม่ยอมแพ้ ก็พยายามใช้วิธีการ
แต่กฎเหล่านี้มีทางแก้ไหม เราพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 หนึ่งในการจะบรรลุถึง 4.0 ของประเทศไทยต้องแก้ตรงนี้แหละ กฎกติกา
ในกรมสรรพากรผมถึงทำ Tax Sandbox อย่างที่ผมบอก ผมทำกับสตาร์ทอัพอยู่หลายอัน หลายโปรเจกต์เลย อันไหนที่อยู่ในอำนาจกรมสรรพากร ผมแก้ได้ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แก้เพื่อตอบโจทย์ให้บริการประชาชนดีขึ้น ผมทำเลย การแก้หน่วยราชการถึงบอกว่าเหนื่อยกว่าเอกชนนะ เพราะว่างบประมาณเราก็กว่าจะไปขอได้
ไม่น่าเชื่อนะครับ ผมเก็บรายได้ 80% ของประเทศ แต่งบประมาณได้นิดเดียวเอง แค่คอมพิวเตอร์จะไปเปลี่ยน จอตู้ปลาสมัยก่อนเราคงไม่เห็นแล้ว จะขอให้เป็นแล็ปท็อป ขอไป 5,000 เครื่อง จากคน 2 หมื่นคนนะ อายุเฉลี่ยคอมพิวเตอร์เรา 8 ปีนะ ถูกตัดมาเหลือพันกว่าเครื่อง ก็เข้าใจ ประเทศเราเขาต้องพิจารณาภาพรวม แต่อยากเล่าให้ฟังถึงข้อจำกัดของหน่วยราชการ ผมถึงบอกความมุ่งมั่นสำคัญมาก ต้องทำงานบนข้อจำกัด แต่ว่าก็ต้องจัดลำดับความสำคัญ
อย่างน้อยต้องถือว่าปักหมุดแล้ว แล้วมันก็จะเดินได้ ถ้าทุกคนเห็นว่ากลับไปสู่แบบเก่าไม่ได้แล้ว และมีแต่จะดีขึ้นสำหรับตัวเอง ประสิทธิภาพตัวเอง โอกาสตัวเอง และประชาชนบอกว่าสุดยอด สรรพากรแบบนี้สิ ใช่ไหม นี่คือความภูมิใจ จะเกิดขึ้นถ้าทำสำเร็จถึงจุดนั้นได้
ครับ สิ่งหนึ่งที่อยากให้ ก็พยายามบอกกับลูกน้องว่าสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือสร้างความภูมิใจ เราเป็นข้าราชการ สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือ เรารู้อยู่แล้วว่าเงินเดือนเราไม่ได้มาก แต่สิ่งที่เราทำได้มากกว่าคนอื่นคือทำประโยชน์ให้ประเทศ มันคือความภูมิใจที่เราจะสร้างให้กับประเทศ แล้วเราทำได้ และถ้าเราทำสำเร็จมันจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นอีกเยอะ หลายอันผมบอกเลยว่าดีกว่าทำบุญอีก
สามารถฟังพอดแคสต์ The Alpha ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ
Credits
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-producer อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Account Executive ภัทรลดา พุ่มเจริญ
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admin สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์
Archive Officer ชริน จำปาวัน