×

From Tradition to Transformation: เตรียมพร้อมธุรกิจเพื่อก้าวสู่น่านน้ำที่ใหญ่กว่า

25.10.2023
  • LOADING...

หากผู้ประกอบการอยากเปลี่ยนแปลงจากระบบการทำงานแบบดั้งเดิมสู่ความเป็นมืออาชีพอีกระดับ หัวใจคือการตั้งเป้าหมายทำ Transformation องค์กรให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะการทรานส์ฟอร์มผู้นำ บุคคลากร และวัฒนธรรม ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PACRIM มาเล่าถึงแนวคิดในการทำ Transformation สำหรับธุรกิจ SMEs เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน พร้อมเคสตัวอย่างความสำเร็จ และ Keytakeaways ปรับใช้ได้จริงที่นี่ที่เดียว

 

PacRim ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 31 ปี ได้ช่วยเหลือดูแลลูกค้าในด้านใดบ้าง 

PacRim เริ่มต้นจากการเป็น Recruitment Advertising Agency แห่งแรกในประเทศไทย เพราะย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้วไม่มีเอเจนซีไหนที่มาช่วย HR ดูแลในเรื่องของ Employee of Choice แล้วมาช่วยปรับให้องค์กรมีเสน่ห์ในการดึงดูดคนดีและคนเก่งมาทำงาน ซึ่งเราก็ทำได้ดีมากมาตลอด จนกระทั่งในปี 97 ที่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งบริษัทต่างๆ ก็มีแต่จะลดการจ้างงานคนลง ในปีนั้นเลยต้องคิดว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าหากไม่เริ่มทรานส์ฟอร์มตัวเอง

 

จากจุดนั้นจึงทำให้เราทรานส์ฟอร์มตัวเองจาก Recruitment Advertising

Agency มาเป็น Leadership Development ซึ่งก็ถือว่าเป็น Training Company ที่ทำให้เราต้องสร้างทีมใหม่และเรียนรู้ทุกอย่างจากศูนย์เลย แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือความไว้วางใจที่เราสร้างไว้กับลูกค้านั้นสำคัญมาก เพราะก่อนหน้านั้นเรามีลูกค้าองค์กรใหญ่ๆ 200-300 คน เมื่อเรามีเซอร์วิสตัวใหม่ ลูกค้าเขาก็ไว้ใจว่าเราจะต้องเอาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้เขาอย่างแน่นอน เราก็เลยได้รับโอกาสให้มาทำในสิ่งที่เราอาจจะยังไม่ได้ถนัดมากนัก แต่เพราะว่าเรามีโปรดักต์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก มันก็เลยทำให้เราเติบโตขึ้นมาได้อีกครั้ง

 

มาจนถึงวันนี้ PacRim ทรานส์ฟอร์มอีกรอบหนึ่งจาก Training Company สู่การเป็นพาร์ตเนอร์ให้กับลูกค้าในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนเพื่อทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรมองค์กร เพื่อช่วยเขาสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า Break-through Result โดยการเป็น Consulting Partner ให้กับลูกค้านั่นเอง

 

นิยามของธุรกิจดั้งเดิม (Traditional Business) คืออะไร มีข้อแตกต่างจากธุรกิจที่ทรานส์ฟอร์มแล้วอย่างไรบ้าง

คำว่า Traditional Business คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเก่าๆ เดิมๆ แต่ส่วนตัวแล้วมีความรู้สึกว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่เดิมๆ จะไม่ดีไปทั้งหมด แล้วก็ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่ใหม่ๆ มันดีไปหมดเช่นกัน แม้ว่าทุกอย่างมันมีสิ่งที่ดีและไม่ดีอยู่รวมกัน แต่อย่างน้อยสิ่งเดิมๆ ก็ถูกพิสูจน์มาแล้วว่ามันทำให้เราประสบความสำเร็จและมีชีวิตรอดมาถึงวันนี้ได้

 

แต่แน่นอนวันนี้โลกไม่เหมือนเดิม ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนไปเยอะมาก ถ้าเราจะหวังทำแต่เรื่องเดิมๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งทำเท่าเดิมก็คงไม่พออีกต่อไป เชื่อว่านักธุรกิจทุกคนเขาจะรู้อยู่แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่เขาต้องรักษา แล้วอะไรคือสิ่งที่ยังขาด และเขาต้องหามาเติมเต็ม นั่นหมายความว่าเราต้องกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แล้วก็ต้องมีความกล้าเสี่ยงบ้าง แม้จะมีความไม่มั่นใจ แต่ก็ต้องเปิดใจและกล้าที่จะลอง

 

4 สัญญาณที่จะช่วยบางบอกว่าธุรกิจถึงเวลาต้องทรานส์ฟอร์ม 

  1. Stakeholder เป็นสิ่งแรกที่เรามักจะถามผู้นำก่อนเลยว่าใครคือ Stakeholder หรือลูกค้าขององค์กร เพราะคนกลุ่มนี้ล่ะที่จะเป็นคนกำหนดว่าเราคู่ควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปบนโลกใบนี้หรือเปล่า ลูกค้าที่ใช้สินค้าและบริการเขายังพอใจกับเซอร์วิสของเราแค่ไหน ซึ่งสังเกตได้จากสิ่งที่เขาซื้อว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง รับฟังฟีดแบ็กจากลูกค้าอยู่เสมอ 
  2. Employee ซึ่งถือว่าพวกเขาก็เป็นหนึ่งใน Stakeholder เช่นกัน ควรจะตรวจสอบดูว่าวันนี้เขารู้สึกมีส่วนร่วมกับบริษัทแค่ไหน เพราะทุกวันนี้หลายๆ องค์กรก็มีปัญหาเรื่องของ Talent Retention ฉะนั้นถ้าเมื่อไรเราสูญเสียคนกลุ่มนี้ไปมากๆ นี่ก็จะเป็นสัญญาณอีกตัวหนึ่งที่บอกว่าเราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงได้แล้ว 
  3. Shareholder วันนี้พวกเขายังมั่นใจกับอนาคตขององค์กรเราแค่ไหน เขายังอยากลงทุนกับบริษัทอยู่หรือเปล่า และเขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเราแค่ไหน  
  4. Social เป็นสัญญาณสำคัญที่เราพบว่าหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะ SMEs อาจจะคิดว่าไม่สำคัญ นั่นก็คือ ‘สังคม’ ที่เราทำธุรกิจ คอมมูนิตี้ที่เราอยู่ คนในสังคมเหล่านั้นดีใจแค่ไหนที่มีเราอยู่บนโลกใบนี้ แล้วเวลาที่เกิดปัญหาต่างๆ สังคมจะปกป้องเราเหมือนกัน เพราะโลกในวันนี้ ถ้าธุรกิจไหนที่ทำแล้วสังคมรังเกียจก็อยู่ยาก 

 

โลกวันนี้ไม่เหมือนเดิม ถ้าเราจะหวังทำแต่เรื่องเดิมๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งทำเท่าเดิม ก็คงไม่พออีกต่อไป 

 

เมื่อถึงจุดที่ต้องทรานส์ฟอร์ม เราควรต้องเริ่มจากตรงไหน 

คำหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 3-4 ปีนี้คือ Digital Transformation หลายบริษัทกำลังมุ่งมั่นทำเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเราก็พยายามติดตามผลว่าเป็นอย่างไร อะไรคืออุปสรรค หรืออะไรคือความท้าทายที่ทำให้ผลลัพธ์มันไปได้ไม่ดีเท่าที่อยากจะได้ และแน่นอนว่าสุดท้ายมันมาติดขัดอยู่ที่ 2 เรื่องคือ ‘คน’ กับ ‘วัฒนธรรม’ ไม่ว่าจะบริษัทไหน หรืออยู่ในอุตสาหกรรมใด เจอเหมือนกันหมด

 

ดังนั้นเราต้องเริ่มจากการตีความว่า ‘วัฒนธรรม’ นั้นแปลว่าอะไร PacRim นิยามว่ามันคือพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในองค์กร เช่น เวลาอยู่ด้วยกันแล้วเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ของคนในองค์กร พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกัน หรือไว้ใจซึ่งกันและกันมากแค่ไหน ภาษาที่ใช้พูดกันเป็น Positive หรือ Negative Energy เหล่านี้คือภาพสะท้อนของวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน

 

เมื่อเข้าใจคำว่าวัฒนธรรมองค์กรแล้ว แต่คำถามต่อมาคือมันสำคัญอย่างไรกับ Business Direction ขององค์กร ซึ่งต้องบอกว่าทุกวันนี้หลายๆ องค์กรมีเรื่องของวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ทำไมมันไม่สามารถลงไปสู่ขั้นตอนปฏิบัติได้สักที เหตุผลอาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมที่คุณสร้างเอาไว้มันดีพอไหมที่จะทำให้กลยุทธ์เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จนั้น

 

ซึ่งเท่าที่เคยร่วมงานกับหลายๆ บริษัท ต้องยอมรับว่าหลายๆ ที่ต้องปรับเยอะเลยทีเดียว เพราะบางองค์กรก็อาจจะสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีโดยไม่ตั้งใจ เช่น ทำงานแบบรอคำสั่ง พูดความจริงไม่ค่อยได้ หรือถ้าทำเกินหน้าที่อาจจะถูกเข้าใจผิดว่าก้าวก่าย สิ่งเหล่านี้เป็นความไม่ตั้งใจที่เกิดขึ้นได้บ่อยในองค์กร ดังนั้นวัฒนธรรมต้องเปลี่ยน และคนที่สร้างแรงกระเพื่อมได้มากที่สุดก็คือ ‘ผู้นำองค์กร’

 

แล้วผู้นำจะทรานฟอร์มวัฒนธรรมอย่างไร อันดับแรกเราจะถามผู้นำทุกคนก่อนว่าเข้าใจคำว่าวัฒนธรรมตรงกันหรือไม่ เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะองค์กรที่ใหญ่มากๆ มีหลายสาขา แต่ละที่จะมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน  เพราะถูกซึมซับจากคนที่เป็นผู้นำในแต่ละพื้นที่ 

 

ด้วยความที่วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ถ้าหากเราตีความว่ามันคือพฤติกรรมของคนจะทำให้เราพอจับต้องได้มากขึ้น สามารถทำการสำรวจได้ว่าวันนี้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ในองค์กรของเรา และอาจจะทำให้คนในองค์กรเห็นว่าถ้าเราต้องการคนกล้าที่จะรับผิด กล้าพูดความจริง มีความมุ่งมั่นจะช่วยเหลือหรือร่วมมือกับคนอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมที่เราสามารถสังเกตการณ์ได้

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าวัฒนธรรมที่เราต้องการคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร สมมติว่าเราจะทรานส์ฟอร์มจาก A ไปสู่ B วัฒนธรรมแบบนั้นจะทำให้ไปถึงตรงนั้นได้ไหม แล้วมาสำรวจว่าวันนี้คนของเราเป็นแบบนั้นหรือยัง จากนั้นค่อยเริ่มกระบวนการของการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร

 

อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเตรียมความพร้อมของผู้นำ เพราะต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบการเปลี่ยนแปลง หลายๆ องค์กรก็ทรานส์ฟอร์มมาหลายรอบจนช้ำไปหมดแล้ว ทำให้ผู้นำวันนี้ก็ต้องมีทักษะที่จะสร้างแรงบันดาลใจและทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงอีกรอบ

 

อีกส่วนหนึ่งคือต้องเตรียมเรื่องคน โดยเฉพาะมายด์เซ็ตในการมองความเปลี่ยนแปลง อยากให้เขามีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองควรจะทำ หัวข้อที่ PacRim ทำกับลูกค้ามากที่สุดก็คือเรื่องของ Proactive Mindset คือเวลาเราเจอการเปลี่ยนแปลงต่างๆ แน่นอนว่าทุกครั้งมันไม่เพอร์เฟกต์ และอาจจะตามมาด้วยอุปสรรคที่คาดไม่ถึง ดังนั้นต้องเตรียมให้คนของเรามองการเปลี่ยนแปลงในทางบวก เช่น เราเห็นโอกาสอะไรในการเติบโต เขาต้องเห็นตรงนั้นก่อน

 

เวลาเจอปัญหาอะไรก็ตาม ให้ถามตัวเองว่าเราทำส่วนของเราดีที่สุดหรือยัง เราทำอะไรได้อีก ให้มุ่งในสิ่งที่ตัวเองทำได้ก่อน แทนที่จะคิดว่าคนนั้นยังไม่ได้ทำอันนี้ หรือองค์กรยังไม่พร้อม อยากให้ทุกคนคิดว่าภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมด วันนี้ทุกคนทำดีที่สุดหรือยัง ทำแค่นี้แล้วองค์กรจะก้าวหน้าไปเยอะเลย นี่คือ Proactive Mindset ที่ตอบสนองกับการทรานส์ฟอร์เมชัน

 

ทั้งหมดจริงๆ แล้วมันคือหลักการที่ทำให้เราเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นและอยู่รอดได้กับทุกสถานการณ์ได้ ซึ่งไม่ว่าจะยุคสมัยไหน หลักการเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยน ดังนั้นถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าโลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงยังไง เราจะอยู่ได้ดีกว่าคนอื่นและยังเป็นที่ต้องการอีกด้วย นี่จึงเป็นพื้นฐานที่เราควรจะเตรียมคนในองค์กรเอาไว้ให้พร้อม 

 

ผู้นำวันนี้ก็ต้องมีทักษะที่จะสร้างแรงบันดาลใจและทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง 

 

ช่องว่างระหว่างวัยของผู้นำแต่ละรุ่น มีผลต่อความท้าทายในการส่งต่อหรือการทรานส์ฟอร์มธุรกิจมากน้อยแค่ไหน 

เรื่องของผู้สืบทอดธุรกิจเป็นความกังวลของผู้นำเกือบทุกที่ เพราะการสร้างผู้นำรุ่นต่อไปมันคือ Long-term Thinking ไม่ใช่เรื่องที่จะมาคุยกันภายใน 2-3 ปี แต่ต้องเตรียมตัว 5-10 ปีเป็นอย่างน้อย ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือผู้นำส่วนใหญ่จะไปให้ความสำคัญกับเรื่องธุรกิจมากเกินไป แต่ไม่ค่อยให้เวลากับเรื่องของคน ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจ ต้องมองว่านี่คือความเสี่ยงของธุรกิจที่สูงมาก เพราะการเป็นผู้นำคือหน้าที่ เราจะต้องรู้สึกว่าสักวันหนึ่งจะสามารถลงจากบัลลังก์ไปได้อย่างสบายใจ เพราะเราสร้างทางเดินไว้เรียบร้อยแล้ว 

 

สิ่งแรกที่ผู้นำต้องตอบให้ได้คือคุณมองอนาคตองค์กรอย่างไร เพราะผู้นำที่เรากำลังจะสร้างเพื่อให้ไปดูแลพันล้านกับหมื่นล้าน มันคนละเกมกัน ฉะนั้นเวลาเตรียมหาผู้สืบทอดมันไม่ใช่แค่เตรียมคนอย่างเดียว แต่ภาพอนาคตต้องชัดก่อนว่าคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาต้องอยู่เลเวลไหน เราจะไม่มองแค่ปัจจุบัน ภาพของความเป็นผู้นำต้องชัดก่อน แล้วเราค่อยมาชี้ตัวอีกทีว่ามีคนในบ้านที่คุณสมบัติครบหรือยัง แต่ถ้าหากเตรียมการไว้ 5 ปีแล้วเขายังไม่สามารถไปถึงตรงนั้น เราก็ต้องมีโซลูชันอย่างอื่นเพื่อรองรับเอาไว้หลายๆ แผน

  

สิ่งแรกที่ผู้นำต้องตอบให้ได้คือ คุณมองอนาคตองค์กรอย่างไร 

 

Key Success ของผู้นำที่สามารถทรานฟอร์มวัฒนธรรมองค์กรให้สำเร็จ 

 

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการทรานส์ฟอร์มองค์กรคือ ‘ผู้นำ’ ซึ่งคนเหล่านี้เขาจะมีคาแรกเตอร์บางอย่างที่แตกต่างจากคนอื่น และทำให้การเปลี่ยนแปลงเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้  

 

  • Purposeful มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจน ต้องการอะไร อยากจะสร้างอะไรให้กับโลกใบนี้ ไม่จำเป็นต้องให้คนมาบอกว่าต้องเป็นใคร แต่เขาเลือกที่จะเป็นคนๆ นั้นด้วยตัวเอง 
  • Passionate มีแพสชันกับสิ่งที่ทำ ไม่ได้มองว่างานเป็นภาระ มีพลังงานดีๆ ในการทำงาน พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ 
  • Humble ผู้นำหลายๆ คนเก่งมาก แต่มักจะถ่อมตัวและบอกว่า “รู้ไหม ฉันยังไม่คู่ควรกับตำแหน่งนี้ แต่เขาให้โอกาสฉัน” ทำให้เขารู้สึกไม่อยากจะทำให้คนที่ไว้ใจต้องผิดหวัง เขาจะดีขึ้นกว่านี้ และพยายามพัฒนาตัวเองตลอดเวลา 
  • See Big เวลาเจอวิกฤต คนพวกนี้จะมองไม่เหมือนคนอื่น เขาไม่ได้มองแต่ปัญหา แต่พยายามมองภาพใหญ่เพื่อหาด้านบวกหรือโอกาสจากวิกฤตตรงนั้น เพราะทุกๆ ปัญหามีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ  
  • Seeing มีความคิดและเชื่อมั่นในศักยภาพของคน ลงทุนกับเรื่องของคน ไม่หยุดในการสร้างให้ตัวเองเป็นที่น่าเชื่อถือของ Stakeholder ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว
  • Build Culture แม้จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจวัฒนธรรม แต่ผู้นำจะทำและวางแผนสร้างสิ่งเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยองค์กรได้ทันเวลา เมื่อทมีวิกฤตเข้ามา
  • Peace of Mind คนยิ่งอยู่สูง ปัญหายิ่งเยอะ แต่ผู้นำจะต้องมีสติและพลังที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านั้น มีความมั่นคงจากข้างใน มีวุฒิภาวะของความเป็นผู้นำ

 


 

Credits 

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Co-Producer เจนจิรา เกิดมีเงิน

Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader Team

THE STANDARD Webmaster Team

THE STANDARD Archive Team

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising