×

Political Economy ทิศทางลมของธุรกิจที่ไม่อาจมองข้าม

23.11.2022
  • LOADING...

ธุรกิจที่กำลังจะก้าวออกไปบุกตลาดต่างประเทศ หากจะออกไปโดยที่ไม่ได้เหลือบมองเกี่ยวกับการเมือง กฎหมาย และเศรษฐกิจของประเทศนั้น ก็อาจเป็นเหมือนการออกเรือไปหาปลาโดยไม่ทันได้ดูทิศทางลม ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามักจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไม่มากก็น้อย 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ เฟิร์น ศิรัถยา อิศรภักดี ชวนอาจารย์สมชนก ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือด้านธุรกิจ อาทิ อาเซียน เซียนธุรกิจ: ASEAN Mastering มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความท้าทายด้าน Political Economy ที่คนทำธุรกิจไม่อาจมองข้าม หากคิดจะบุกตลาดต่างประเทศ

 

กฎหมายและการเมือง โอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจระหว่างประเทศ 

สำหรับนักธุรกิจในประเทศย่อมทราบดีว่าการเมืองและกฎหมายมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจระหว่างประเทศก็เช่นเดียวกัน แต่ความยุ่งยากจะมีมากกว่า ตรงนี้อยากให้มองใน 3 บริบทคือ การเมือง กฎหมาย และเศรษฐกิจ หรือเรียกรวมๆ ว่า Political Economy แต่ละบริบทย่อมกระทบกันไปมา ซึ่งความยากของการทำธุรกิจระหว่างประเทศอยู่ตรงนี้ 

 

แต่ผลกระทบจากบริบทดังกล่าว สำหรับในบางประเทศอาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะกฎหมายบางแห่งก็เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น นโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพื่อลงทุนในเขตอุตสาหกรรม สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ กฎหมายการลงทุน กฎหมายการค้า นโยบายด้านการต่างประเทศ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษี หรือการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใดบ้าง การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา 

 

เบื้องต้นแนะนำว่าว่านักธุรกิจที่อยากจะเข้าตลาดต่างประเทศ ควรเริ่มจากเล็กๆ ก่อน เช่น การส่งออก แล้วค่อยๆ ดูทิศทางลมว่าผู้บริโภคอีกฝั่งเขามีความต้องการแบบไหน เป็นไปอย่างที่เราคิดหรือเปล่า หลังจากนั้นหากอยากจะลงทุนเพิ่มก็ค่อยๆ ขยับไปทีละสเตป  

 

เช็กลิสต์ต้องรู้ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่เส้นทางใหม่ในต่างประเทศ 

เรื่องนี้อาจจะขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ เพราะทุกอย่างมันเป็น Industry Specific แต่สิ่งที่ทำได้เลยการศึกษาโครงสร้างทางการเมืองของประเทศนั้นๆ ก่อน มีกฎหมายอะไรที่ควรต้องรู้ เขาเป็นสังคมนิยมหรือประชาธิปไตย แล้วตามดูต่อว่าอุตสาหกรรมของเราเกี่ยวข้องกับกระทรวงทบวงกรมใดบ้าง เราต้องดีลกับหน่วยงานรัฐมากน้อยแค่ไหน หรืออาจจะต้องติดต่อหน่วยงานเอกชนต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ตรงนี้ก็เป็นอีกมุมหนึ่งในการหาข้อมูล  

 

แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จริงๆ แล้วหน่วยงานของไทยก็สามารถช่วยได้ อย่างเช่นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ปัจจุบันมีการปรับบทบาทตัวเองมากขึ้น สมัยก่อนอาจจะแค่ดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย แต่ตอนนี้จะมีหน่วยงานที่ดึงนักลงทุนไทยไปที่ต่างประเทศได้ด้วย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ในเว็บไซต์ toi.boi.go.th  

 

นอกจากนี้ ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศก็มีบทบาทมากเช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้เขาพร้อมจะเป็นแขนขาเพื่อเชื่อมเราให้ไปเจอกับพันธมิตรที่ต้องการ และอาจจะมีข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ ที่เราหาไม่ได้ในอินเทอร์เน็ต 

 

นักธุรกิจที่อยากจะเข้าตลาดต่างประเทศ ควรเริ่มจากเล็กๆ ก่อน เช่น การส่งออก แล้วค่อยๆ ดูทิศทางลมว่าผู้บริโภคอีกฝั่งเขามีความต้องการแบบไหน 

 

อยากเจาะตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เริ่มจากที่ไหนดี 

10 ประเทศอาเซียนที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน บางคนอาจจะรู้สึกว่าคุ้นเคย น่าจะทำธุรกิจร่วมกันง่าย แต่ความจริงแล้วอาเซียนเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างมาก ไม่ว่าจะด้านการเมือง กฎหมาย หรือเศรษฐกิจ อย่างกัมพูชาที่มีการปกครองในระบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกับไทย แต่ถ้ามองไปถึงกลุ่มลูกค้าก็อาจจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะให้ฟันธงว่าประเทศใดเหมาะจะลงทุนมากที่สุดคงสรุปได้ยาก 

 

ทั้งนี้ หากอยากจะลงหลักปักฐานในประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียน คงต้องพิจารณาตามประเภทของอุตสาหกรรม ถ้าเป็นอุปโภคบริโภค ลาวและกัมพูชาก็น่าสนใจ เพราะคนที่นั่นนิยมชมชอบสินค้าของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าเริ่มจากการส่งออกก็เชื่อว่าจะโตได้ง่าย 

 

ส่วนธุรกิจประเภทอื่น เช่น ภาคการผลิต ต้องขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้นผลิตอะไร เป็นแรงงานเข้มข้นไหม ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือเปล่า ในการมองหาแหล่งลงทุนต่างประเทศ จะมองแค่ว่าเขาคล้ายกับเราไม่พอ ต้องดูด้วยว่าเขาเก่งอะไร แล้วเราต้องเข้าไปทำในสิ่งที่เขาไม่เก่ง สร้างในสิ่งที่เขาไม่มี หรืออาจจะเป็นการศึกษาให้ลึกลงไปอีกว่าเขาเก่งอะไร แล้วเราเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุนก็ได้ 

 

นอกจากนี้ยังต้องมองปัจจัยในแง่ภูมิศาสตร์ด้วย เช่น อินโดนีเซีย แม้จะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่การทำธุรกิจกับเขาอาจจะไม่ง่าย เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ การขนส่งลำบาก ทำให้ผู้ผลิตอาจจะต้องมีผู้กระจายสินค้าหลายรายเพื่อให้เข้าถึงในแต่ละเกาะ เป็นต้น

 

ในการมองหาแหล่งลงทุนต่างประเทศ จะมองแค่ว่าเขาคล้ายกับเราไม่พอ ต้องดูด้วยว่าเขาเก่งอะไร

 

10 ประเทศอาเซียน จุดเด่นและความน่าสนใจในแง่การทำธุรกิจระหว่างประเทศ


กัมพูชา มีการคอร์รัปชันสูง แต่รัฐบาลค่อนข้างเปิดเสรีในเรื่องการลงทุนของต่างชาติ ยกเว้นแค่เรื่องการถือครองที่ดิน ผู้บริโภคชื่นชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิม ทรัพยากรเยอะ แต่แรงงานอาจไม่ค่อยดีเท่าไร 

 

ลาว ประชากรไม่เยอะ ผู้บริโภคชื่นชอบสินค้าจากไทยอยู่แล้ว เหมาะกับธุรกิจประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค และคลินิกเสริมความงาม

 

เมียนมา มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะมาก ทั้งป่าไม้ พลอย หยก ฯลฯ แต่จะต้องได้สัมปทานจากภาครัฐ คอนเน็กชันต้องดี แต่ช่วงนี้ยังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

 

เวียดนาม มีธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนเยอะมาก ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร อุปโภคบริโภค และยังไปได้อีกหลายอย่าง แรงงานเวียดนามค่อนข้างขยัน

 

บรูไน เป็นประเทศที่ค่อนข้างเล็กเกิน เน้นการส่งออกน่าจะเหมาะกว่า ข้อดีคือคนบรูไนอยู่ดีกินดีเพราะมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ข้อด้อยคือทำอะไรไม่ค่อยเป็น ซึ่งเป็นโอกาสที่เจ้าของธุรกิจจะมองหาเพนพอยต์จากตรงนี้ได้

 

อินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ มีความหลากหลายของเชื้อชาติสูง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไปได้อีกไกล ทรัพยากรเยอะ แต่โนว์ฮาวยังมีจำกัด โอกาสในการทำธุรกิจค่อนข้างเยอะ  

 

มาเลเซีย ประชาชนมีการศึกษาที่ดี เรื่องของโนว์ฮาวและเทคโนโลยีดีมาก การจะเข้าไปลงทุนต้องดูว่าเราจะใช้ประโยชน์จากคนของเขาได้ไหม การส่งออกทั่วไปยังมีโอกาสหลายอย่าง 

 

ฟิลิปปินส์ คล้ายอินโดนีเซีย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไปได้ เครือโรงแรมต่างชาติหลายแห่งที่ไปลงทุนก็ประสบความสำเร็จ คนฟิลิปปินส์ชอบความสนุกสนานรื่นเริง สินค้าประเภทอาหารการกินและความบันเทิงน่าจะไปได้ดี

 

สิงคโปร์ สินค้าประเภทอาหารน่าจะไปได้สวย เพราะอาหารไทยมีความหลากหลาย บวกกับคนสิงคโปร์มีไลฟ์สไตล์ชอบกินข้าวนอกบ้าน เพราะทำเองแพงกว่า หรือจะเลือกเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนประเภทอาหารก็ได้

 

การลงทุนเป็นเรื่องของการวิเคราะห์จังหวะเวลา เจ้าของธุรกิจต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าตลาดที่จะไปนั้นสำคัญแค่ไหนกับบริษัทเรา

 

มองอาเซียนในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทาย การลงทุนจะยังคุ้มเสี่ยงหรือไม่

ถ้าศึกษาข้อมูลแล้วยังรู้สึกไม่มั่นใจ มันก็ยังไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องไปตอนนี้ ถ้าดูแล้วไม่คุ้มเสี่ยงก็เบรกไว้ก่อน ชั่งน้ำหนักดูว่าสิ่งที่ได้มานั้นคุ้มกับสิ่งที่เสียไปหรือเปล่า 

 

แต่อีกมุมที่ชวนให้คิดคือ เวลาเจอที่ที่ดูแตกต่างทางจากเรามากๆ อย่าเพิ่งคิดว่าต้องเป็นประเทศที่ไม่น่าเข้าแน่นอน ซึ่งไม่ใช่เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น เวียดนาม ที่มีความต่างจากไทยค่อนข้างมาก แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ด้วยความที่เป็นประเทศสังคมนิยม กฎหมายจึงค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รัฐบาลดูแลประชาชนอย่างดี ซึ่งตรงนี้ก็มองเป็นโอกาสได้เช่นกัน  

 

แต่ถ้าถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจในวันนี้ ตอนนี้ทุกที่ถูกลดความน่าสนใจไปหมด หากมองอาเซียนด้วยกันเองจะพบว่าการทำตลาดนี้ยังสามารถโตไปได้อีก ถ้าเราผนึกกำลังทำให้การค้าในอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นได้ก็น่าจะเป็นสิ่งดี เพราะเรามี AEC ซึ่งมีแรงผลักดันและนโยบายหลายอย่างที่จะทำให้กลุ่มอาเซียนเติบโตขึ้น เช่น การลดข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม เฟรมเวิร์กเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้อาเซียนยังเป็นโซนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ในอาเซียนเช่นกัน

 

การลงทุนเป็นเรื่องของการวิเคราะห์จังหวะเวลา (Timing) เจ้าของธุรกิจต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าตลาดที่จะไปนั้นสำคัญแค่ไหนกับบริษัทเรา ถ้าสำคัญมาก แต่เข้ายาก กฎระเบียบเยอะ คู่แข่งเยอะ เราอาจจะเริ่มจากการส่งออกที่มีความเสี่ยงน้อยๆ ก่อน ถ้าดูมีแนวโน้มที่ดีลองพยายามหาพันธมิตรในประเทศนั้นๆ มาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ เมื่อมั่นใจแล้วค่อยไปสู่การลงทุนอย่างจริงจังก็ได้ 

 

เรื่องของคอนเน็กชันก็สำคัญ ไม่ว่าจะคนไทยเอง ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมหอการค้า สภาธุรกิจ ซึ่งเจ้าของธุรกิจที่สนใจสามารถเข้าไปขอคำปรึกษาหน่วยงานเหล่านี้ได้ หลักๆ จะเป็นข้อมูลที่เราต้องศึกษา ออกไปเห็นตลาดด้วยตาตัวเอง ด้วยประสบการณ์จริง ถึงแม้จะมีบทเรียนที่ต้องจ่ายบ้าง ก็ต้องทำใจยอมรับและข้ามผ่านมันไปให้ได้

 


 

Credits

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน,พฤกษา แซ่เต็ง
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster วิศิษฏ์ นิติพัฒนาภิรักษ์
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising