×

ASEAN Outlook จับเทรนด์อาเซียน โอกาสของธุรกิจอยู่ตรงไหน

07.12.2022
  • LOADING...

ห่วงโซ่อุปทานของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ทำให้ ‘อาเซียน’ เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีโอกาสจะได้อานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและฐานการผลิตทั่วโลก และขนาดตลาดของอาเซียนมีแนวโน้มจะขยายใหญ่ขึ้นหลังจากนี้

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยถึงอนาคตของตลาดในอาเซียนว่าจะเป็นอย่างไรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และฉายภาพให้เห็นว่าโอกาสของภาคธุรกิจอยู่ตรงไหน

 

ภาพรวมเศรษฐกิจและพัฒนาการโดดเด่นในตลาดอาเซียน 

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี โดยเฉพาะช่วงปี 2017-2018 เป็นต้นมา ช่วงแรกผลอาจจะไม่เด่นชัด แต่เมื่อผ่านมาสัก 2-3 ปี การย้ายฐานการผลิตจากจีนสู่อาเซียนของบริษัทต่างๆ ก็เริ่มเห็นผลยิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน บริษัทอเมริกันก็ไม่กล้าทิ้งตลาดจีน บริษัทจีนก็ไม่กล้าทิ้งตลาดอเมริกัน จึงต้องหาประเทศที่สามที่เป็นมิตรกับจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อวางตำแหน่งตัวเองให้อยู่ในลักษณะของการเป็นตลาดร่วม เป็นฐานการผลิตร่วม ที่สามารถใช้ชิ้นส่วนต่างๆ มีห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง นโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด และเป็นมิตรกับทุกประเทศ ก็เลยทำให้ประเทศในอาเซียนมีความโดดเด่น

 

จุดเด่นของอาเซียนแม้อยู่ท่ามกลางสมรภูมิสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี

สงครามการค้าคงยังไม่หยุดง่ายๆ เพราะยุทธศาสตร์ชาติของอเมริกาที่เรียกว่า National Security Strategy ที่ทำในปี 2017 มองไปถึงปี 2050 ว่าจีนยังเป็นภัยคุกคามในทุกมิติ ปัจจัยเสริมที่ทำให้อาเซียนโดดเด่นในด้านสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ดังนั้นเงินจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งจากยุโรป อเมริกา จีน ก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะไหลเข้าสู่อาเซียน ปัจจัยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนต้องดูเป็นรายประเทศ

 

ประเทศที่มีโอกาสมากที่สุด ในปี 2023-2024 คือ อินโดนีเซีย เนื่องจากทุกบริษัทที่ปรึกษามองไปในทิศทางเดียวกันว่าถ้าจะทำธุรกิจในอนาคตต้องมีฐานที่มั่นที่อินโดนีเซีย เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่สุด มีประชากร 270 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก หากมองประชากรบวกกับศาสนา อินโดนีเซียคือประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และคือประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและอเมริกา ถ้ามองที่ทรัพยากรธรรมชาติ ภูเขาไฟซึ่งมีลาวาอยู่ใต้พื้นโลกมันคือแร่ธาตุ ทุกครั้งที่มีแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด แร่ธาตุเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนเป็นสินแร่ที่อุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะสินแร่ที่เกี่ยวข้องกับอนาคต เช่น Rare Earth (กลุ่มแร่หายาก) หรือเรื่องของพลังงาน เหล็ก ก็อุดมสมบูรณ์มาก เป็นแต้มต่อของอินโดนีเซีย เรื่องของทรัพยากรมนุษย์ อินโดนีเซียเป็นสังคมมุสลิม จึงห้ามคุมกำเนิด ในขณะที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่อายุเฉลี่ยวัยแรงงานของอินโดนีเซียยังอยู่ในช่วง 19-20 ปี และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพประชากร

 

แต้มต่อด้านสังคม อินโดนีเซียผ่านกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพแล้ว ระหว่างนี้กำลังเร่งปฏิรูประบบกฎหมาย จึงกลายเป็นพื้นที่เนื้อหอม และการเล่นเกมการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เน้นสร้างบทบาทให้อินโดนีเซียในระดับโลก ทำให้เป็นที่รู้จัก และหลายประเทศมองว่าถ้าจะมาลงทุนต้องมาที่นี่

 

ปัจจัยบวกของประเทศอินโดนีเซีย

ความเสี่ยงของอินโดนีเซียคือเรื่องภัยธรรมชาติ แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ เราเห็นความพยายามของอินโดนีเซียในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องของการเชื่อมโยงเกาะต่างๆ จากเดิมที่เคยโฟกัสพื้นที่ชายฝั่ง แต่การเข้ามาของ โจโก วิโดโด (ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบัน) เปลี่ยนวิธีคิด นำไปสู่นโยบายหลักที่เรียกว่า Maritime Fulcrum มีทะเลเป็นจุดเปลี่ยน มองทะเลเป็นโอกาส เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจประมง เศรษฐกิจการท่องเที่ยว พลังงานสะอาด การบริหารจัดการขยะ และเรื่องการใช้ประโยชน์จากทะเล กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่าโดดเด่นมากในศตวรรษที่ 21 ทำให้จุดอ่อนของอินโดนีเซียกลายเป็นจุดอ่อนที่กลับมาบริหารจัดการได้ ขณะเดียวกัน GDP ของอินโดนีเซียสูงขึ้นตลอด แม้ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ระดับเดียวกันกับประเทศไทยเมื่อปี 1990 แปลว่าอินโดนีเซียโตเร็วและมีช่องว่างให้โตได้อีกเยอะ

 

‘เวียดนาม ไทย มาเลเซีย’ จุดเด่นและจุดอ่อนที่ต้องจับตามอง 

เวียดนาม ไทย มาเลเซีย อยู่ในกลุ่มเดียวกัน จุดเด่นของสามประเทศนี้คือ มีตลาดภายในประเทศที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ มาเลเซียรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูง แต่ปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้ง สำหรับประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดี ทำเลที่ตั้งดี ตลาดขนาดใหญ่กว่ามาเลเซีย มีประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน และ Expat เข้ามาทำงานมากขึ้น แต่จุดอ่อนของไทยคือเรื่องการเมือง และจุดอ่อนของมาเลเซียและไทยคือยังไม่มีการปฏิรูปกฎหมาย

 

ฝั่งเวียดนามมีจำนวนประชากร 100 ล้านคน แต่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีต่ำกว่าไทยและมาเลเซีย แต่มีแต้มต่อคือ FTA (Free Trade Area) เนื่องจากเวียดนามปฏิรูปกฎหมาย ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) จึงสามารถเจรจากับประเทศที่มีกฎหมายแบบเดียวกันได้ แต่เวียดนามยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง และเรื่องของการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

 

กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอาเซียน 

ทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่มีข้อจำกัด เพราะทุกประเทศในอาเซียนเติบโตแบบ K-Shaped คนรวยก็รวยขึ้น แต่กระจุกตัว คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายสินค้าลักชัวรี สินค้าแบรนด์เนมจึงขายได้ในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นล่าง ตลาด C ลงมาก็ยังขายได้อยู่ ส่วนตลาดชนชั้นกลางยังขยายตัวตามโครงสร้างประชากรเรื่อยๆ ทำให้ภูมิภาคนี้น่าสนใจ เพราะมีโครงสร้างทางสังคมที่เป็นเหมือนขั้นบันได มีตั้งแต่ท็อปสุดจนถึงตลาดล่าง ดังนั้นทำสินค้าอะไรออกมามีตลาดรองรับในภูมิภาคอาเซียนหมด แต่มันอาจไม่ได้ดีที่สุดในเรื่องของการกระจายรายได้ และไม่ได้ดีที่สุดในเรื่องของการมีกำลังซื้อสูง แต่ยังน่าสนใจที่จะเข้ามาทำตลาด เพราะไม่ใช่แค่การซื้อสินค้า แต่เป็นเรื่องของการซื้อบริการด้วย

 

อาเซียนในมุมมองตลาดโลก และโอกาสการเติบโตในเวทีโลก 

อาจจะแยกเป็น 2 กลุ่มคือ การเมืองและเศรษฐกิจ เรื่องของการเมืองที่อาจจะลุกลามช่วงปี 2023-2024 คือเมียนมามีแนวโน้มว่าถ้าถูกบีบคั้นต่อไป และเริ่มถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศต่อเนื่อง ปัญหาเมียนมาจะลุกลาม อาจเห็นการอพยพคนจากเมียนมาเข้าสู่ภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

 

ถ้าในเวทีโลกปลายปี 2022 มีการประชุมครั้งสำคัญหลายเวทีทั้ง APEC, G20 และ East Asia Summit การประชุมที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ แต่เกิดขึ้นเพราะความตั้งใจ เพราะความจริงแล้วการประชุม G20 ไม่ควรจะเกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย แต่ควรจะเป็นอินเดีย ปีหน้าถ้าตามลำดับที่ควรจะเป็น อินโดนีเซียจะต้องจัดทั้ง G20 และ East Asia Summit รวมถึงต้องเตรียมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี มันเยอะเกินจนไม่สามารถบริหารจัดการได้ อินโดนีเซียจึงคุยกับอินเดียไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าขอจัด G20 ปีนี้ แล้วปีหน้าจัดอาเซียนอย่างเดียว ปรากฏว่าสามการประชุมใหญ่ท้ายปีสำเร็จมาก อินโดนีเซียกับอินเดียเริ่มเห็นแนวโน้มว่าปีหน้าถ้าอยากให้มีอิมแพ็กระดับโลก ควรจัด G20 ที่อินเดีย แล้วจัด East Asia Summit ที่อินโดนีเซีย ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน แล้วยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มหาสมุทรอินเดียเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกก็น่าจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

 

คงเห็นชัดเจนว่าในเวทีโลก สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยียังคงดำเนินต่อไป ยังมีบางภาคส่วนที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ก็ยังแตกตัวกันอยู่ดี เรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายยังคงมีอยู่ต่อไป เพื่อการันตีว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเวทีการค้าการลงทุนของทั้งโลก เราทำงานหนักมาตลอด ปี 2019 ประเทศไทยผลักดันจนการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ประสบผลสำเร็จ ในที่สุดมาลงนามได้ ก็คงจะต้องขยายความสามารถในการใช้ประโยชน์ของมัน เผลอๆ อาจจะพูดถึงการขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วย

 

เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยและพันธมิตรอาเซียนอีก 9 ประเทศผลักดันกันมาโดยตลอดช่วงปีที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จมากๆ คือเรื่องของการอัปเกรดข้อตกลงการค้าที่เรามีอยู่แล้ว โดยเฉพาะข้อตกลงการค้าสินค้า ASEAN Trade in Goods Agreement ให้ครอบคลุมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีมาตรฐานสูงมากยิ่งขึ้น และจะเป็นแม่แบบให้ภูมิภาคอื่นๆ เป็นต้นทางในการเชื่อมโยง

 

ประเทศไทยถึงแม้จะผลักดันเสร็จแล้ว แต่ก็ยังไม่หยุดในเรื่องของ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยผลักดันในการประชุม APEC วางแผนล่วงหน้า 4 ปีต่อจากนี้ว่าจะมีรูปธรรมอย่างไรได้บ้างที่จะทำให้ 2 ใน 3 GDP ของทั้งโลก 21 เขตเศรษฐกิจเดินหน้าจัดตั้งเขตการค้าเสรีตรงนี้  

 

ฝากถึงนักธุรกิจไทยที่อยากไปตลาดต่างประเทศ

อย่างแรกสุดคือต้องมี Mindset ที่ถูกต้อง คือ ต้องมองสภาพของประเทศนั้นๆ ในรูปแบบที่เป็นจริง อย่ามองโลกสวย และมองด้วยเลนส์ที่ถูกต้อง คงจะต้องไปดูให้เห็นจริง ต่อมาคือ Mindset ที่มองว่าประเทศเหล่านี้ในที่สุดคือคู่ค้า ไม่ใช่คู่แข่ง เขารวย เราก็ดีด้วย เพราะถ้าเขารวยก็ใช้ของเรามากขึ้น ซื้อบริการเรามากขึ้น

 

วิธีการมองประเทศเหล่านี้คงจะไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศเขาเท่านั้น แต่คงต้องมองตลาดในประเทศเขา บวกกับความสามารถของเขาในการที่จะเป็นสะพานไปสู่ประเทศอื่นๆ หลายคนเลือกลงทุนในกัมพูชา เพราะกัมพูชามีแต้มต่อพิเศษกับประเทศพัฒนาแล้วในรูปแบบของ GSP สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีมากกว่าประเทศอื่นๆ

 

และต้องจำไว้เรื่องของกระแสเงินสด เรื่องของระบบการชำระเงิน การวางแผนธุรกิจที่ดี บวกกับเรื่องของการหาตัวแทน หาคนที่จะคบด้วย คนที่รู้จัก อันนี้ต้องทำการบ้านหนักมาก มันไม่มีโมเดลตายตัวว่าจะไปตั้งเป็นผู้แทนการค้า เป็นคนจัดจำหน่าย หรือจะเป็นพาร์ตเนอร์ร่วม 

 

อีกเรื่องที่สำคัญคือ เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าคุณมีของดีอะไรอยู่ต้องจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จะเป็นสิทธิบัตร ความลับทางการค้า ตราสินค้า ลิขสิทธิ์ หรืออะไรก็ตาม ทำให้ถูกต้องให้มีการคุ้มครองให้ได้ เพราะในที่สุดแล้วเรื่องที่มักจะผิดใจกันบ่อยๆ คือ คนที่เราให้เขาเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย เขาเอาตราของเราไปจดทะเบียนในประเทศเพื่อนบ้าน จึงเกิดความเสียหายมานักต่อนัก

 

และพยายามใช้บริการของภาครัฐ หลายคนอาจจะมองข้ามไป ใน 10 ประเทศอาเซียน เรามีสำนักงานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถานทูต ตัวแทนของสภาอุตสาหกรรมหอการค้า สมาคมนักธุรกิจ และเครือข่ายนักวิชาการต่างๆ นานา ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้คุ้ม

 


 

Credits

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน,พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster พงศกร เพ่งพิศ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising