การหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทำอย่างไร พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน และมีเทรนด์อะไรอีกบ้างที่คนทำธุรกิจควรเริ่มนำมาประยุกต์ใช้ทันที
รวิศ หาญอุตสาหะ คุยกับ เอิร์ธ-อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานกรรมการบริหาร Adapter Digital Group ในรายการ Super Productive
การหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เจอสำคัญอย่างไร
ลองถามกลับกันว่า ถ้าไม่รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเองจะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนธุรกิจจะเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลไปกับการหว่านแหสื่อสารกับคนที่ไม่ต้องการซื้อสินค้าจริงๆ หรือเรียกง่ายๆ คือการคุยกับคนผิดกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยตรง เหมือนปรากฏการณ์ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง คนกดไลก์กดแชร์จำนวนมาก แต่สวนทางกับยอดขาย เพราะคนกลุ่มนั้นไม่ใช่คนซื้อ
คำถามต่อมา แล้วเราจะหากลุ่มลูกค้าของตัวเองเจอได้อย่างไร
1. ลองทำ Marketing Map เพื่อดูว่าเราอยู่จุดไหนของตลาด หรือมีแบรนด์ไหนอีกบ้างที่อยู่จุดเดียวกัน จากนั้นค่อยหาต่อว่าลูกค้าของแบรนด์ที่อยู่จุดเดียวกับเราคือใคร การใช้วิธีนี้เหมือนเป็นการมองจากมิติคู่แข่งเปรียบเทียบกับตัวเอง แต่ก็ต้องถามต่อด้วยว่า ลูกค้ากลุ่มนั้นใช่กลุ่มที่เราวางไว้แต่แรกหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่อาจต้องปรับธุรกิจให้ขึ้นหรือลงตามไปด้วย วิธีนี้ทำให้เห็นตำแหน่งของเราและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น
2. ใช้เครื่องมือวัดผลที่ตรวจสอบได้ว่า ‘กลุ่มคนที่เราตั้งใจสื่อสารด้วย’ กับ ‘กลุ่มคนซื้อจริง’ ใช่กลุ่มเดียวกันหรือไม่ เช่น ถ้าคนซื้อกับคนที่เราตั้งใจสื่อสารคือคนกลุ่มเดียวกันเกิน 40-50% นั่นแปลว่าคอนเทนต์การตลาดที่ทำอยู่มีประสิทธิภาพดีแล้ว แต่หากไม่ถึง 10% นั่นแปลว่าคอนเทนต์ยังไม่ดีพอ ต้องหาวิธีปรับปรุงแก้ไขต่อไป
ลูกค้าที่เราเลือก หรือลูกค้าที่เลือกเรา
คำถามต่อมาสำหรับคนทำธุรกิจ ควรเลือกลูกค้าที่ตัวเองอยากขาย หรือทำสินค้าออกมาแล้วค่อยดูว่าใครที่น่าจะถูกใจสินค้าชิ้นนั้น
เรื่องนี้มองได้สองด้าน ถ้าเราต้องการจับกลุ่มไหนโดยเฉพาะ อาจต้องมาพิจารณาดูให้ดีว่าแล้วสินค้าที่เราทำออกมาตอบโจทย์คนกลุ่มนี้จริงหรือเปล่า ถ้ายังไม่ใช่ ค่อยมาคิดต่อว่าจะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายหรือเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจริงๆ แล้ว การเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายทำได้ง่ายกว่า เพราะการพัฒนาสินค้าต้องใช้เวลา ความคิดและต้นทุนค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราจะเปลี่ยนอาจมีการแข่งขันสูง ทำให้ต้องใช้พลังและเงินทุนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ดังนั้นหาตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยมีการแข่งขันเท่าไร และสร้างสินค้าเข้ามาตอบโจทย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย
‘ชอบความรวดเร็ว ซับซ้อนไม่ซื้อ ยาวไปไม่อ่าน’
สื่อโซเชียลมีเดียและความเร็วอินเทอร์เน็ตทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันคนเราใช้สมองประมวลคอนเทนต์ที่เลื่อนผ่านฟีดเพียง 0.3 วินาที เพื่อพิจารณาดูว่าคอนเทนต์นั้นคืออะไรและสนใจจะคลิกต่อหรือไม่ ส่งผลให้คนตัดสินใจง่ายขึ้น ซื้อของเร็วขึ้น บางคนเริ่มกระบวนการตั้งแต่เห็นสินค้าจนถึงการชำระเงินในเวลาไม่ถึง 5 นาที เพราะฉะนั้นยิ่งขั้นตอนต่างๆ มันง่ายขึ้น ในฐานะคนทำธุรกิจ ยิ่งต้องอำนวยความสะดวกพวกเขาให้ได้มากที่สุด
ถามว่าอำนวยความสะดวกที่ว่าทำอย่างไร ธุรกิจออนไลน์ต้องปรับตัว ไม่ซับซ้อน ลดขั้นตอน ธุรกิจควรให้ลูกค้าสั่งของได้ทุกช่องทาง บางแบรนด์ลูกค้าทักผ่านเฟซบุ๊ก เจอแอดมินตอบว่าให้ไปสั่งที่ไลน์แอด ลูกค้าหนีทันที เพราะเขาขี้เกียจแล้ว
เชื่อมโยงมาที่คนทำคอนเทนต์ เดี๋ยวนี้ยาวไปคนไม่อ่านแล้ว เพราะเวลาดูคอนเทนต์สั้นลงมาก สมัยก่อนคอนเทนต์ยาวคือ 5-10 นาที เดี๋ยวนี้เหลือแค่ 30 วินาที ทั้งนี้แล้วแต่แพลตฟอร์ม คนอาจชอบดูอะไรสั้นๆ ผ่านเฟซบุ๊ก แต่กับยูทูบเขาโอเคที่จะดูคลิปยาวได้
LINE MAN เติบโตขึ้น 250% แม้กระทั่งชานมไข่มุก คนยังขี้เกียจไปต่อคิว ร้านอยู่หน้าปากซอยแค่ 300 เมตร หลายคนยังเรียก LINE MAN ไปส่งเลย
เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค
1. On demand society
คนชอบอะไรที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองและกดสั่งซื้อได้ในไม่กี่ขั้นตอน หลายแบรนด์เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ ทั้งการทำเดลิเวอรี การทำธุรกรรมออนไลน์ และกำลังพัฒนาไปอีกหลายส่วน
2. E-commerce
อีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง คนพร้อมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ตั้งแต่ชิ้นเล็กไปจนถึงชิ้นใหญ่
3. Mobile Payment
โลกเรากำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ทำให้คนไทยหันมาใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น จนปัจจุบันมีอัตราสูงกว่าธนาคารที่เป็นสาขาไปแล้ว เพราะฉะนั้นร้านค้าควรหันมาใช้ระบบเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกของลูกค้า
4. Urbanization
มีงานวิจัยเปิดเผยข้อมูลว่า ในประเทศไทย อัตราการเติบโตของกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในหัวเมืองจะไปเร็วกว่าในชนบท ดังนั้นถ้าต้องการโปรโมตสินค้า คนทำธุรกิจควรทำให้ไปถึงคนกลุ่มเมืองมากกว่าแค่คนในกรุงเทพฯ
5. Senior Citizen
สังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคล้ายประเทศญี่ปุ่น ทำให้ต้องเริ่มมีสินค้าและบริการเข้ามาตอบโจทย์คนกลุ่มนี้มากขึ้น
6. Premiumness
ภาพรวมของตลาดทั้งหมด กลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตมากขึ้นคือกลุ่มพรีเมียม ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่เริ่มถดถอยคือกลุ่มสินค้าราคาประหยัด หรือกลุ่มที่เป็นแมสไปเลย ฉะนั้นแปลว่าคนยอมตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างไปซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงกลุ่ม Health Trend ที่คนยอมจ่ายเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องแต่งกาย และทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง
ตอนนี้เมืองนอกเลิกใช้คำว่า Micro Influencer และหันมาโฟกัส Nano Influencer แทน เป็นคนที่ใกล้ตัวมากขึ้นและมีอิทธิพลสูงในการตัดสินใจซื้อของกลุ่มลูกค้า
ฝากถึงคนทำธุรกิจในยุคนี้ ความสนใจของลูกค้าเปลี่ยนไปค่อนข้างเร็ว สิ่งที่เราเคยรู้ในอดีตอาจะไม่การันตีว่าจะได้ผลในปัจจุบัน ฉะนั้นหมั่นอัปเดตทำความเข้าใจลูกค้า สร้างปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา และทำอย่างไรให้เขาเลือกแบรนด์เราอย่างยั่งยืน
สามารถฟังพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host รวิศ หาญอุตสาหะ
The Guest อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์
Show Creator รวิศ หาญอุตสาหะ
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์