เมื่อลองสังเกตเพื่อนในกลุ่มจะพบว่าเพื่อนบางคนสามารถจัดการตัวเองได้ แต่สำหรับบางคนมักไม่มีความมั่นใจ ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่การตัดสินใจเรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ หรือบางครั้งก็ไม่เคยแสดงความรู้สึกของตัวเองว่าจริงๆ แล้วต้องการอะไรกันแน่
R U OK เอพิโสดนี้จะมาชวนทำความเข้าใจบุคลิกภาพแบบยึดถือพึ่งพาที่ไม่ใช่โรคหรือความป่วยไข้ แต่อาจนำพาปัญหาซ้ำๆ มาให้ และจะทำอย่างไรให้มีความมั่นใจในการตัดสินใจมากขึ้น
บุคลิกภาพแบบยึดถือพึ่งพา (Dependent Personality)
“อะไรก็ได้”
คือประโยคที่เรามักได้ยินจากเพื่อนบางคนเมื่อถามถึงว่าอยากกินอาหารร้านไหน ดูหนังเรื่องอะไร หรือไปเที่ยวที่ไหน และทุกครั้งที่ถามความเห็น เพื่อนคนนั้นก็จะตอบแบบเดิมซ้ำๆ จนบางครั้งปล่อยหน้าที่ให้เราเป็นฝ่ายตัดสินใจโดยไม่อาจรู้ความต้องการที่แท้จริงของเขาเลย
พฤติกรรมข้างต้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพแบบยึดถือพึ่งพา (Dependent Personality) ซึ่งไม่ใช่โรคหรืออาการป่วยไข้ และยังไม่สามารถฟันธงได้อย่างชัดเจนว่าเป็นบุคลิกภาพที่ผิดปกติหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล แต่แน่นอนว่าการต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ตลอดเวลาอาจนำพาปัญหาซ้ำๆ มาให้ตัวเองและคนรอบข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมที่เด่นชัดของผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ ตัวอย่างเช่น
- ยอมให้คนอื่นตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต บางคนลงเรียนวิชาตามเพื่อนเพราะไม่อยากเรียนคนเดียว บางคนปล่อยให้ผู้ปกครองตัดสินใจในการเลือกที่ทำงานให้ พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นเพราะกลัวการถูกทอดทิ้ง บางคนไม่เพียงไม่มั่นใจ แต่มีความเครียดกังวลเมื่อต้องตัดสินใจอะไรในเรื่องยากๆ จึงผลักให้การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของคนอื่น
- เมื่อต้องตัดสินใจอะไรก็ตาม จะต้องหาข้อมูลหรือสอบถามความคิดเห็นของคนอื่นโดยไม่ได้ใช้ข้อมูลหรือความคิดเห็นเหล่านั้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่ลึกๆ แล้วต้องการคำยืนยันว่าตัวเองได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- พยายามหลีกเลี่ยงการเป็นผู้นำและสามารถจดจำความสุขจากการเป็นผู้ตามได้มากกว่า เพราะอาจรู้สึกว่าการเป็นผู้นำมีเรื่องต้องตัดสินใจเยอะมาก แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตัวเองก็ไม่อยากรับผิดชอบผลที่ตามมาจากการตัดสินใจนั้น
- ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่างจากคนอื่นและไม่ยืนยันในความคิดของตัวเอง เพราะกลัวว่าหากเห็นต่างจะกลายเป็นที่ไม่ยอมรับและไม่ได้เป็นสมาชิกอันหนึ่งอันเดียวกันกับกลุ่มที่ตัวเองสังกัดอยู่
พฤติกรรมของบุคลิกภาพแบบยึดถือพึ่งพาอาจมีที่มาจากพันธุกรรมที่สมาชิกในครอบครัวมียีนที่ส่งผลให้เกิดบุคลิกภาพแบบนี้ หรือบางครั้งก็เกิดจากการกล่อมเกลาทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งหมายรวมถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่ปล่อยให้ลูกตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิต พ่อแม่บางคนไม่ยอมฝึกให้ลูกเลือกวิถีชีวิตของตัวเองและปล่อยให้เรียนรู้ผลที่จะตามมา ทำให้ทักษะการตัดสินใจไม่ถูกฝึก เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วบางคนก็เลือกที่จะมีบุคลิกภาพแบบนี้ด้วยตัวเอง เพราะรู้สึกว่าการปล่อยให้คนอื่นรับผิดชอบแล้วรู้สึกปลอดภัย หรือทำอะไรที่เหมือนคนอื่นแล้วรู้สึกไม่ทอดทิ้ง เป็นต้น
จะปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพให้พึ่งพาคนอื่นน้อยลงได้อย่างไร
แม้บุคลิกภาพบางอย่างจะฝังติดอยู่กับตัวเราจนเป็นนิสัยหรือเป็นพฤติกรรมที่ทำไปอย่างไม่รู้ตัว แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้หากอยากทำ เมื่อเราพัฒนาทักษะใหม่ๆ จนเป็นกิจวัตร ทักษะเหล่านั้นก็จะถูกผลักให้กลายเป็นนิสัยได้ในที่สุด แต่ในขณะเดียวกันหากมีคนรอบตัวที่พึ่งพาคนอื่นจนเรารู้สึกว่าบางครั้งมากจนเกินไปและอยากช่วยเพื่อนปรับเปลี่ยนนิสัยก็ทำได้ สำคัญอยู่ที่เจ้าตัวต้องยินยอมและเป็นฝ่ายที่อยากปรับปรุงตัวเอง โดยที่เราไม่มีสิทธิ์จะไปตัดสินหรือปรับเปลี่ยนคนอื่นให้เป็นอย่างที่ต้องการ วิธีที่จะช่วยได้คือ
- ลองปล่อยให้เพื่อนตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิต อาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ของตัวเอง แล้วค่อยขยับมาเป็นเรื่องของเพื่อนในกลุ่ม โดยที่เราจะคอยอยู่เคียงข้างและซัพพอร์ตว่าสิ่งที่เพื่อนตัดสินใจมันเป็นสิ่งที่ไม่แย่ บอกเพื่อนว่าเราจะยอมรับผลของการตัดสินใจนี้ไปด้วยกัน แม้จะผิดพลาดบ้างมันก็เป็นเรื่องโอเคที่จะเรียนรู้ ฝึกให้เพื่อนเป็นฝ่ายตัดสินใจบ่อยๆ เพื่อนคนนั้นจะค่อยๆ กล้าตัดสินใจมากขึ้น
- ลองให้เพื่อนไปเที่ยวคนเดียวเพื่อฝึกการตัดสินใจทั้งเรื่องการเดินทาง การวางแผนเที่ยว หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ วิธีนี้จะทำให้ได้บริหารทักษะการตัดสินใจที่หลายคนอาจไม่เคยใช้มาก่อน อาจเริ่มจากจำนวนวันน้อยๆ และระยะทางใกล้ๆ การเที่ยวคนเดียวจะทำให้คนที่พึ่งพาคนอื่นมาตลอดรู้สึกว่าตัวเองสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีได้ และผลที่ตามมาก็ไม่แย่เกินไปนัก
สามารถฟังพอดแคสต์ R U OK
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงษ์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์