R U OK เอพิโสดนี้จะมาชวนคุยกันถึงพฤติกรรมการเข้าไปแก้ไขข้อมูลหรือคำผิดของคนอื่น ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกฝ่ายผิดจริงๆ แต่บางครั้งจังหวะหรือวิธีการอาจสร้างความรู้สึกเสียหน้าและอับอาย
เราไม่ได้ตัดสินว่าใครผิดหรือถูก แต่จะมาร่วมค้นหากันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ผลักให้คนคนหนึ่งไปแก้ไขคนอื่น ส่วนอีกฝ่าย อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่รู้ตัวว่าสะกดผิดหรือให้ข้อมูลผิด และทั้งสองฝ่ายจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เข้าใจกัน
เราต่างมีสิทธิ์ถูกและผิดอยู่เสมอ
ทุกวันนี้ถ้าลองสังเกตสถานการณ์รอบตัวโดยเฉพาะตอนเล่นโซเชียลมีเดีย เราจะพบคนที่สะกดคำผิดหรือให้ข้อมูลผิดๆ อยู่เสมอ และสิ่งที่ตามมากับเรื่องนี้คือมักพบเห็นข้อความที่เข้าไปแก้คำหรือข้อมูลที่ผิดเหล่านั้น นอกจากในโซเชียลมีเดียเราก็อาจพบเหตุการณ์ลักษณะนี้ในห้องประชุม ขณะที่บางคนกำลังนำเสนอข้อมูลอยู่ ก็จะมีบางคนค้านเพื่อเสนอชุดข้อมูลที่ถูกต้องของตัวเอง บางครั้งเหตุการณ์ก็จบลงด้วยดี แต่มีบางครั้งเหมือนกันที่ฝ่ายที่ถูกแก้ไขข้อมูลรู้สึกไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่าเป็นการเสียหน้าในที่สาธารณะ และเป็นการไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
เราเองในฐานะผู้เฝ้าดูที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเองเราจะทำอย่างไร จะอยู่เฉยเพื่อปล่อยให้ความผิดนั้นผ่านไปหรือว่าแก้ไขให้ถูกต้องเสียเดี๋ยวนั้น
เรื่องนี้ไม่มีใครผิดใครถูก เพราะแต่ละเหตุการณ์หรือแต่ละกรณีจะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่เพื่อมองให้รอบด้านเราควรเข้าใจว่าทั้งฝ่ายเข้าไปแก้ไข และฝ่ายถูกแก้ไข ต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง
ลองเข้าใจฝ่ายที่ชอบแก้ไขคนอื่น
1. คนที่ชอบแก้ไขคนอื่นอาจผ่านประสบการณ์การกล่อมเกลาทางสังคมมาเป็นลำดับ ทำให้รู้สึกว่าการเข้าไปแก้ไขเป็นความถูกต้องชอบธรรมที่ตัวเองสามารถทำได้ ตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่เลี้ยงดูมาภายใต้ความรักความเป็นห่วง แต่แสดงออกด้วยการติเตียนและแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนในครอบครัวซึมซับว่าการแก้ไขคนอื่นคือการแสดงความห่วงใย ซึ่งวิธีการนี้ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เพราะแต่ละครอบครัวเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน
เมื่อเข้าสถาบันการศึกษาก็ถูกกล่อมเกลาให้เด็กในชั้นเรียนมีสิทธิ์ในการจดชื่อนักเรียนคนอื่นที่ทำผิดกฎบ้าง ไม่ยกเก้าอี้บ้าง คุยกันในชั้นเรียนบ้าง วิธีนี้ทำให้เด็กสั่งสมว่าการทำดีสามารถมีอำนาจเหนือผู้อื่น เมื่อพบเห็นคนอื่นที่ทำไม่ดี ไม่ถูกต้องก็สามารถใช้อำนาจของความดีนั้นเข้าไปแก้ไขคนอื่นได้
2. คนที่ชอบแก้ไขคนอื่นซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง เพราะเขามีทัศนคติที่สั่งสมมาว่าเขามีความชอบธรรมในการเข้าไปแก้ไขความไม่ถูกต้องอื่นๆ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความผิด บางครั้งเขาเหล่านั้นอาจจะจัดลำดับของความถูกต้องไว้เหนือกว่าสิ่งอื่นก็ได้
ลองเข้าใจฝ่ายที่ถูกแก้ไข
1. สำหรับคนที่วางความถูกต้องไว้เป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง ลองนึกถึงใจของคนที่ถูกแก้ไขว่า ไม่ใช่ทุกคนเสมอไปที่ยอมรับการแก้ไขตรงหน้าได้ บางคนอาจไม่ได้มีทักษะในการรับมือในลักษณะนี้ เพราะการแก้ไขอาจถูกสงวนไว้สำหรับบางคนที่สนิทและรู้สึกไว้ใจเท่านั้น
2. ความจริงไม่ได้มีเพียงชุดเดียวเสมอไป เพราะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว แทบไม่มี ‘ความจริงที่แท้’ ในโลกนี้ ทุกคนต่างมีชุดความจริงของตัวเอง ที่ผสมด้วยประสบการณ์และการรับรู้ต่อโลกใบนี้เสมอ
3. แม้แต่เรื่องที่มีบรรทัดฐานอย่างการสะกดคำหรือการใช้วรรณยุกต์ที่ถูกแก้ไขให้เห็นจนชินตา ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการเขียนผิดก็คือเขียนผิด แต่ไม่เท่ากับความไม่ดี
สำหรับบางคนการผันวรรณยุกต์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะวรรณยุกต์คือการเปลี่ยนเสียงมาอยู่ในรูปที่จับต้องได้ ซึ่งบางคนไม่สามารถเชื่อมโยงจุดนี้ได้ หรือบางคนที่ใช้ภาษาถิ่นเป็นหลัก คำบางคำที่ใช้กันอย่างเคยชินก็ไม่ได้ออกเสียงตรงกับรูปวรรณยุกต์ภาษากลางเสมอไป เพราะฉะนั้นการใช้ให้ถูกต้องจึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ในทันที แต่เป็นเรื่อง ‘ทักษะ’ ที่ต้องคอยฝึกฝน บางคนไม่ได้บริหารทักษะนี้จึงยังสะกดผิดอยู่แม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
หรือสำหรับบางคนที่ยังสะกดคำหรือใช้วรรณยุกต์ผิด อาจเป็นเพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้จัดลำดับความสำคัญ (Priority) ของการสะกดไว้เทียบเท่าเนื้อความ แต่เน้นเนื้อความที่อยากสื่อสารเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับการสะกดคำไว้เป็นลำดับท้ายๆ ก็ได้
เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
แม้ว่าเราจะพยายามเข้าใจความรู้สึกของทั้ง 2 ฝ่ายแล้วก็ตาม แต่ในสถานการณ์จริงเราสามารถถูกแก้ไข โดยบางครั้งก็ไม่ได้รับการยินยอมอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้หลายความสัมพันธ์ต้องเสียไป เราสามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ คือ
1. แสดงความขอบคุณอีกฝ่ายเพื่อเป็นการแสดงความเข้าใจในเจตนาว่าอีกฝ่ายปรารถนาดี
2. อธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่าแก้ไขความผิดต่อหน้านั้นทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ หรือขณะนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมอาจทำให้เรารู้สึกเสียสมาธิ ลองขอร้องว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ให้บอกกันทีหลังหรือบอกกันส่วนตัว
3. ยอมรับความผิดนั้น และแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องให้ที่ทำงานหรือที่ประชุมทราบ แต่ถ้ายังเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกให้ถือว่าเราได้แก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ควรเหวี่ยงคืน โกรธ หรือหาทางจ้องเล่นงานกลับ เพราะจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปในที่สุด
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com