×

มีคนมาชอบแล้วอึดอัด มีความรักแล้วประหม่า จะทำอย่างไรกับอาการกลัวความสัมพันธ์นี้ดี

14.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

04:00 อาการกลัวความสัมพันธ์

08:36 ที่มาของอาการกลัวความสัมพันธ์

09:43 ประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ดีก่อให้เกิดอาการกลัวความสัมพันธ์ได้

11:22 ถ้าอยากก้าวข้ามความกลัวนั้นทำอย่างไร

14:20 ถ้าก้าวข้ามไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่เรารู้จักตัวเอง

15:40 อยากมีความรักแต่ก็กลัวความสัมพันธ์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัดช่วยได้

ความรัก ความสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ปรารถนาของใครหลายคน แต่สำหรับบางคนเมื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์กลับมีอาการเครียด ประหม่า จนบางครั้งชิ่งหายไปเสียดื้อๆ เลยก็มี

 

​R U OK เอพิโสดนี้จะมาแชร์ประสบการณ์ของความกลัวเมื่อต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์ว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอะไร และถ้าอยากเริ่มต้นใหม่จะบอกตัวเองอย่างไรให้ก้าวข้ามความกลัวที่มี

 

อาการกลัวความสัมพันธ์

 

ความรักเป็นสิ่งสวยงาม เป็นวลีที่ได้ยินกันจนเคยชิน แต่สำหรับบางคนแล้ว แม้จะเข้าใจว่าถ้ามีความรักจะชื่นชูจิตใจได้ขนาดไหน แต่พอมันเกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ กลับผลักไสให้ออกห่าง พาตัวเองหนีออกจากสถานการณ์ตรงนั้น เพราะกลัวความสัมพันธ์ที่มันกำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งอาการที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่

 

  1. เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ใกล้เคียงความรักเกิดขึ้น หรืออีกฝ่ายกำลังยื่นมือมาสานความสัมพันธ์มากกว่าคนรู้จักทั่วไป ก็จะเกิดความเครียดขึ้น แม้ว่าจะต้องการแต่ก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้ตัวเองรู้สึกเครียด และหาสาเหตุของความวิตกกังวลนั้นไม่เจอ

 

  1. สำหรับบางคนอาจไปได้ดีในความสัมพันธ์ระดับหลวมๆ แต่เมื่อไรที่อีกฝ่ายต้องการคำยืนยันจริงจัง จะรู้สึกเริ่มหวงแหนอิสระที่เสียไป เริ่มรู้สึกถูกผูกมัด พยายามเอาตัวออกห่าง และสำหรับบางคนก็เลือกที่จะตัดความสัมพันธ์นั้นทิ้ง แม้ว่าจะเสียดายหรือต้องการความรักนั้นแค่ไหนก็ตาม

 

  1. มักจะประเมินความรู้สึกของคนที่มีความสัมพันธ์กับตัวเองอยู่เสมอว่าเขาให้ความรู้สึกมาระดับไหนก็จะให้กลับไปในระดับเดียวกัน เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม กลัวว่าตัวเองถลำลึกหรือให้ใจที่มากเกินไปตัวเองจะเสียใจกลับมาทีหลัง

 

  1. เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่โรแมนติก เช่น เริ่มมีการสัมผัสมือกัน หรืออีกฝ่ายแสดงความรัก จะเริ่มรู้สึกกลัว รู้สึกถูกคุกคาม บางคนมือสั่น เหงื่อแตก ใจสั่น ร้องไห้ หายใจแรง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล

 

ที่มาของอาการกลัวความสัมพันธ์

 

อาการกลัวความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีที่มาแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นสาเหตุใหญ่ๆ ได้คือ

 

  1. เคยมีประสบการณ์ที่รู้สึกลบกับความรัก อาจเป็นความเครียดกังวล อึดอัด จากความสัมพันธ์ที่เคยสร้างไว้ แล้วเมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับความรู้สึกแบบเดิมอีกครั้ง ร่างกายและจิตใจที่เป็นเหมือนหน่วยความจำจึงแสดงอาการต่อต้านเพื่อเป็นสัญญาณป้องกันตัวเองไม่ให้กลับไปตกอยู่ในความรู้สึกที่ไม่ดีอีกครั้ง

 

  1. เกิดจากครอบครัว ในสมัยเด็กเราอาจมีพ่อหรือแม่ที่ตกเป็นเหยื่อของความสัมพันธ์ หนีไปไม่ได้ และต้องอยู่รับความรุนแรงนั้นตลอดเวลา เลยเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าถ้าเราเข้าไปมีความสัมพันธ์กับใครสักคนแล้วอีกฝ่ายไม่ดีจริงๆ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเจอแบบนั้นซ้ำๆ หรือบางคนเคยมีประสบการณ์เห็นว่าพ่อแม่แยกทางกัน แล้วต้องอยู่กับคนใดคนหนึ่ง และพบเห็นว่าพ่อหรือแม่ที่เราอยู่ด้วยนั้นพยายามมีรักครั้งใหม่แต่ไม่สมหวัง และทุกข์ทรมานอยู่กับความรักนั้น สภาพแวดล้อมเหล่านี้อาจสั่งสมให้มีทัศนคติว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องน่ากลัว แม้แต่คำว่า ‘รัก’ ที่เป็นที่ต้องการของมนุษย์ยังทำให้คนที่ตกอยู่ในวงจรของความรักต้องเจ็บปวด เลยส่งผลมาถึงปัจจุบันให้เรารู้สึกปฏิเสธหรืออยากเอาตัวออกห่างจากความสัมพันธ์ก็ได้

 

จะทำอย่างไรถ้าจิตใจเริ่มกลัวหรือต่อต้าน

 

แม้อาการกลัวความสัมพันธ์จะไม่ถึงกับเป็นโรคอย่างที่หลายคนกังวล แต่ความกลัวที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เราต้องเสียความดีๆ ในชีวิตจริงไปโดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มมีอาการต่อต้านความสัมพันธ์ ให้พิจารณาตัวเองเบื้องต้นว่า

 

  1. ตั้งสติและบอกตัวเองว่าอย่าเพิ่งหนี แต่ให้รับรู้สัญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางกายทั้งอาการตื่นเต้น เหงื่อแตก ประหม่า และอาการทางใจ เช่น ความเครียด วิตกกังวล บอกตัวเองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนไม่ใช่ความป่วยไข้ และอย่าเพิ่งโทษว่าเป็นความผิดตัวเอง เพราะเป็นเรื่องสมเหตุสมผลถ้าเราเคยเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับความรักมาก่อน

 

  1. อย่าเพิ่งรีบสรุปว่าความสัมพันธ์จะเป็นเหมือนเดิมไปทุกครั้ง ลองถามตัวเองดีๆ ว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับความสัมพันธ์ที่ผ่านมาไหม ถ้าคำตอบคือไม่ก็ลองยอมรับความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้น

 

  1. สำรวจความสัมพันธ์ครั้งใหม่อย่างระมัดระวัง เพราะไม่ว่าจะครั้งนี้หรือครั้งไหนเราก็มีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จกับมันทุกครั้ง

 

  1. ถ้ารู้สึกว่าข้อ 1-3 เป็นเรื่องยากสำหรับการก้าวข้ามผ่านความกลัว ลองบอกตัวเองว่าไม่ต้องข้ามมันไปเสียทุกครั้งก็ได้ แต่อย่างน้อยการยอมรับตัวเองว่ามีสัญญาณของความกลัว ก็ทำให้เรามีปฏิกิริยาต่อต้านกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นลดลง ยั้งคิดมากขึ้น ถึงตอนนั้นเราอาจมีทักษะในการจัดการความสัมพันธ์โดยเราไม่ต้องทำร้ายใคร

 


 

Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising