×

จอยลดา สุ่มเสี่ยง หมิ่นเหม่หรือไม่ โลกของนิยายออนไลน์มีอะไรให้ต้องระวังบ้าง

01.09.2020
  • LOADING...

จอยลดา คือแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะผู้อ่านวัยรุ่น เพราะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความสนใจ แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่เข้าใจว่านิยายออนไลน์มีรูปแบบอย่างไร จึงเต็มไปด้วยความเป็นห่วง

 

R U OK ชวนนักอ่าน นักเขียนจอยลดา จากโครงการ dtac Safe Internet และ Community Manager จากจอยลดา มาร่วมทำความเข้าใจกันว่าความเสี่ยงในการใช้แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์มีอะไร และจะสร้างให้เกิดความเข้าใจกันในครอบครัวได้อย่างไรบ้าง

นิยายออนไลน์มีความต่างหรือเหมือนกับนิยายที่เป็นเล่มๆ อย่างไร
อย่างที่เราทราบกันดีว่าปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีไปเร็วมาก ทุกอย่างเปลี่ยนจากกระดาษมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์เกือบทั้งหมด เพื่อให้เกิดความสะดวกและทั่วถึงมากกว่าเดิม เพราะออนไลน์สามารถเข้าถึงได้แทบจะทุกเพศทุกวัย ที่สำคัญเด็กๆ ส่วนใหญ่ต่างก็มีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงจึงทำได้ในทุกที่และทุกเวลา แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์อย่าง ‘จอยดลา’ ก็เช่นกัน จอยดลาเป็นเสมือนพื้นที่ที่เปิดให้คนทั่วไปซึ่งเป็นนักเขียนหรือนักอ่านสามารถเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานของตนเองได้อย่างอิสระ ทุกคนสามารถเขียนงานได้ทุกแนวจากจินตนาการของตนเองภายใต้นโยบายของเรา จอยลดาเองมีการแสดงเนื้อหาแบบบรรยายตามปกติเหมือนแอปพลิเคชันนิยายออนไลน์ทั่วไป แต่จุดเด่นที่ทำให้จอยลดาเปิดตัวมาและเป็นกระแสเลยก็คือ การเขียนนิยายในรูปแบบแชตแห่งแรกในประเทศไทย เป็นในลักษณะเหมือนกับการที่เราเห็นเพื่อนคุยแชตกับใครสักคน แล้วเราไปแอบอ่านแชตของเพื่อนทีหลัง เป็นการจำลองสถานการณ์แชตขึ้นมาเองตามจินตนาการ ทำให้ใครๆ ก็เป็นนักเขียนได้ในจอยลดา

ช่วยยกตัวอย่างเคสที่สุ่มเสี่ยงจากการให้อิสระในการสร้างสรรค์ผลงานในจอยลดา
ที่พบบ่อยที่สุดก็คือการคัดลอกนิยาย เป็นธรรมดาที่น้องๆ ที่เป็นเด็กหรือวัยรุ่นอาจจะอินกับนิยายหรือหนังเรื่องหนึ่งมากๆ จนอยากที่จะถ่ายทอดออกมาในผลงานของตนเอง เลยทำให้มีเนื้อหาบางส่วนในเรื่องที่คล้ายกับต้นฉบับมาก ในส่วนนี้ก็ต้องอาศัยการแบ่งแยกว่าเป็นการคัดลอกหรือแรงบันดาลใจ อีกเคสที่พบคือ ผู้เขียนบางคนไม่ได้มีวิจารณญาณเพียงพอในการถ่ายทอดทัศนคติหรือค่านิยมออกมา ทำให้ทัศนคติที่เขาคิดว่ามันดี แต่จริงๆ แล้วเป็นค่านิยมที่ไม่เหมาะสม ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานเขียนของเขาด้วย เช่น เรื่องสิทธิสตรี ที่มีการสร้างตัวละครให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชายมากๆ จึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างล่อแหลมสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่นิยาย และเป็นความเสี่ยงที่ผู้อ่านจะเข้าใจผิดได้ง่าย เพราะอานุภาพของภาษาเขียนสามารถพาเราจินตนาการไปได้ถึงไหนต่อไหน ถ้าผู้ที่เข้ามาอ่านไม่มีวิจารณญาณมากพอก็จะเข้าใจว่า แม้แต่ตัวละครยังมีมายด์เซตว่าเรื่องพวกนี้ไม่ผิด ดังนั้นตัวเขาเองก็ทำได้ในชีวิตจริงเช่นกัน จึงเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสมขึ้น เช่น พระเอกในเรื่องที่เคยอ่อนแอ แล้ววันหนึ่งก็กลับมาแก้แค้นอีกฝ่ายด้วยความรุนแรง เด็กที่เจอสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันในชีวิตจริงเลยรู้สึกว่าตัวเองต้องทำแบบพระเอกให้ได้ กลายเป็นความรุนแรงในสังคมขึ้นมา นอกจากนี้การอ่านนิยายออนไลน์ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะเด็กบางคนอินกับนิยายเรื่องนั้นมากๆ จนเสพทั้งวันทั้งคืน ทำให้นอนดึก ไม่ทำการบ้าน รวมถึงการจ้องจอสมาร์ทโฟนนานๆ ก็ทำให้เสียสุขภาพสายตาได้

จอยลดามีมาตรการอะไรบ้างที่ช่วยลดความเสี่ยงในการใช้แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์
ด้วยความที่นิยายในจอยลดามีหลายหมวดหมู่มากๆ ผู้ที่เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานก็มีหลากหลาย ดังนั้นการใช้รูปภาพคนมาประกอบนิยายจึงติดเรื่องของลิขสิทธิ์อยู่แล้ว เพราะไม่น่าจะมีใครไปขออนุญาตศิลปินมา แต่ถ้าไม่ได้มีการเขียนพาดพิงหรือสร้างความเสื่อมเสีย ทางเราก็อนุโลมได้ แต่หากเป็นการนำรูปภาพเหล่านั้นมาใช้เพื่อแสวงหากำไร ทางเราจะไม่อนุญาต โดยเราจะมีทีมงานของจอยลดาคอยมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่เราให้อิสระกับนักเขียน เนื้อหาจึงถูกเผยแพร่ขึ้นไปในแพลตฟอร์มโดยไม่ผ่านการกรองในครั้งแรก เมื่อทีมงานของเราที่คอยมอนิเตอร์พบความไม่เหมาะสมที่เข้าข่าย เราจะทำการแบนนิยายเรื่องนั้นทันที ผ่านขั้นตอนการคัดกรองที่เราตั้งเอาไว้อย่างชัดเจน และหากทางผู้อ่านคนอื่นๆ พบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมก็สามารถแจ้งมาที่แอดมินของเราเพื่อให้ดำเนินการได้เช่นกัน ซึ่งทางจอยลดาก็มีนโยบายชัดเจนที่ระบุไว้อยู่แล้วว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้

 

ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่มีเด็กอยู่ในบ้านสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงในการอ่านนิยายออนไลน์
แพลตฟอร์มจอยลดามีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเนื้อหาอะไรที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่ด้วยความที่เราอยากให้อิสระกับเด็กๆ เพราะมันเป็นเสมือนเวทีสำหรับแสดงศักพภาพของเขา การคัดกรองจึงไม่ได้เข้มงวดอะไรมากมาย เราจึงใช้การผลักดันและรณรงค์ในประเด็นต่างๆ เข้ามาเสริม เช่น ในประเด็นความสุ่มเสี่ยงด้านเนื้อหาในสื่อออนไลน์ เราก็มีการทำแคมเปญ Cyberbullying ซึ่งเป็นปัญหาที่พบกันมากในยุคนี้ เพื่อที่จะเกิดเป็นแรงกระเพื่อมให้ทุกคนตระหนักในเรื่องนี้ และเราก็มีแนวโน้มที่จะทำประเด็นอื่นๆ ต่อไปเพื่อรณรงค์ปัญหาต่างๆ ในโลกโซเชียล ในส่วนของผู้ปกครองที่คิดว่าน่าจะสามารถดูแลเด็กๆ ได้ก็คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเขา ช่วยให้เด็กมีวิจารณญาณในการรับสื่อมากขึ้น โดยเราอาจจะอยู่ใกล้ชิดเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมและคอยแนะนำเขา ไม่ควรใช้วิธีปิดกั้นไม่ให้เขารู้ เพราะสักวันเขาก็ต้องเข้าไปในพื้นที่ออนไลน์อยู่ดีเพราะมันเป็นยุคของเขา เป็นอะไรที่ห้ามไม่ได้ ในทางกลับกัน ฝั่งของเด็กก็สามารถก้าวเข้าไปหาผู้ใหญ่หรือพ่อแม่เองได้ ไม่ต้องรอให้ท่านเข้ามาหา เพราะนิยายและสื่อต่างๆ เป็นอะไรที่ต้องใช้วิจารณญาณทั้งนั้น ดังนั้นหากสงสัยอะไรก็ให้เดินเข้าไปถามดีกว่า อย่าคิดเองเออเอง อย่างน้อยเราจะได้แนวทางว่าสิ่งนี้ทำได้ไหม ถ้าทำแล้วสุ่มเสี่ยงเราจะได้รู้ทัน ทางฝั่งของพ่อแม่หรือผู้ปกครองเองก็ควรให้เวลากับเด็ก การทำงานจนไม่มีเวลาอาจเป็นการสร้างช่องว่างระหว่างกัน เพราะเด็กก็มีโลกอีกใบหนึ่งที่เขาเชื่อมต่ออย่างเหนียวแน่น หากปล่อยให้เขากระโจนไปตรงนั้นเพียงลำพัง เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเสี่ยงอยู่กับอะไร การพูดคุยกันจึงสำคัญ นอกจากจะทำให้เราได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ยังถือเป็นหัวใจของความเข้มแข็งในบ้าน เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน


 

สามารถฟังพอดแคสต์ R U OK

ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 

Marriage Story

Marriage Story

Marriage Story

Marriage Story

joox

 


 

Credits


The Host ดุจดาว วัฒนปกรณ์

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X