ช่วงวัยเรียน นักเรียนกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสถูกบูลลี่มากเป็นอันดับต้นๆ คือกลุ่มเพศหลากหลาย เนื่องจากความไม่เข้าใจและไม่เคารพในความแตกต่าง ทั้งที่ในช่วงวัยนั้นคือการตามหาเอกลักษณ์และความรับรู้ทางเพศ และบางคนอาจดำเนิน เลื่อนไหลไปทั้งชีวิต
R U OK ชวน กรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ชี้ให้เห็นว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่เพศกำเนิด แต่ยังมีเพศสภาพ สำนึกทางเพศ และเพศที่อยากให้คนอื่นรับรู้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงตามอวัยวะเพศ และสามารถเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลได้เสมอ และนั่นคือความงดงามในความหลากหลายของมนุษย์
ทำไมเพศที่หลากหลายจึงตกเป็นเป้าของการบูลลี่ และ Cyberbullying
การที่เด็กกลั่นแกล้งหรือล้อเลียนกัน ไม่ว่าจะในสังคมออฟไลน์หรือออนไลน์ ด้วยความที่เขาไม่ได้เข้าใจถึงความแตกต่างของเพื่อน เพราะในสังคมหมู่มากเราจะสังเกตเห็นว่า เด็กมักจะรักเพื่อนต่างเพศมากกว่าเพศเดียวกัน และมองว่าความแตกต่างคือความแปลกแยกที่อาจไปสั่นคลอนความรู้สึกที่มีในตัวของเขา เขาเลยเลือกวิธีการแสดงออกด้วยการบูลลี่ หรือ Cyberbullying เพราะฉะนั้นคนที่ดูแตกต่างจากคนอื่นจึงตกเป็นเป้าหรือเป็นเหมือนแกะดำในฝูงของแกะขาว ถ้าเราสามารถทำให้เขาเข้าใจได้ว่า สิ่งที่เขาเห็นมันไม่ใช่ความแตกต่าง แต่มันคือธรรมชาติของมนุษย์ ก็จะช่วยลดการเกิดพฤติกรรมที่เป็นการรังแกกันในกลุ่มเด็กๆ ได้
ทุกวันนี้ยังมีหลายๆ คนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศว่ามีแค่ชายกับหญิง ไม่ได้มีพื้นที่สำหรับการยอมรับในความหลากหลายทางเพศ ทำให้เด็กบางคนรู้สึกสับสนได้เหมือนกันว่าจะจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างไร ในเมื่อเพศตามกำเนิดของตัวเองไม่ได้ตรงกับเพศที่รู้สึกจากข้างในจริงๆ
เราต้องเข้าใจก่อนว่า ความหลากหลายทางเพศหรือความหลากหลายในเรื่องต่างๆ มันเป็นธรรมชาติของโลกใบนี้อยู่แล้ว ดังนั้นความเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลาย แม้แต่สีผม สีผิว หรือลักษณะร่างกายยังแตกต่างกันมาตั้งแต่เกิด เรื่องของเพศก็เช่นเดียวกัน ตอนที่เราเกิดมาหมอจะบอกว่าเรามีอวัยวะเพศแบบไหน เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย พอเราโตขึ้นมา ก็จะถูกครอบครัวสอนให้อยู่ในกรอบของความเป็นเพศว่า ถ้าเป็นผู้หญิงจะต้องแต่งตัวแบบนี้ จะต้องเรียบร้อย ส่วนถ้าเป็นผู้ชายก็จะต้องทำผมแบบนี้ ต้องเข้มแข็ง ห้ามอ่อนแอ เพราะในโลกที่เราเคยเข้าใจมันมีแค่ 2 เพศ นั่นคือเพศชายและเพศหญิง
SOGIESC คืออะไร
โมเดลโซจี้ใช้ในการอธิบายความหลากหลายในเรื่องทางเพศ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานที่ว่ามนุษย์มีความหลากหลายของอัตลักษณ์ โดยแต่ละตัวอักษรมีความหมายดังนี้
1. Sex Characteristics (SC) ตอนที่เราเกิดมาเราจะรู้เพศของตัวเองอยู่แล้ว โดยดูจากเพศสรีระว่าเป็นชายหรือหญิง หรืออาจจะมีเพศที่กำกวมอยู่ด้วย
2. Gender Expression (GE) เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาก็จะมีเรื่องของการแสดงออกทางเพศภาวะมาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนเรามา ว่าเราต้องเป็นผู้หญิงแบบนี้ เป็นผู้ชายแบบนี้ เราต้องแต่งตัวแบบไหน มีท่าทางแบบไหน นั่นคือเราจะถูกหล่อหลอมจากสิ่งที่สังคมบอกให้ทำ
3. Sexual Orientation (SO) หรือรสนิยมเพศ มนุษย์ทุกคนมีรสนิยมทางเพศของตัวเอง เป็นธรรมดาที่ตอนเรายังเป็นเด็ก เรามักจะรู้สึกชอบเพื่อนบางคน และจะเริ่มรู้ว่าเรามีความต้องการทางเพศแบบไหน เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ที่อาจจะถูกกรอบของสังคมแบบเก่าเซตไว้เบื้องต้นแล้วว่า หญิงจะต้องรักชาย ชายจะต้องรักหญิงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะบางคนอาจจะรู้สึกชอบเพศเดียวกันก็ได้ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกและเป็นธรรมชาติของการเข้าใจตัวเองของคนคนหนึ่งเท่านั้น
4. Gender Identity (GI) เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ หรือสิ่งที่เราระบุเกี่ยวกับความเป็นเพศของเรา และเป็นสำนึกรับรู้เกี่ยวกับความเป็นเพศของเราด้วยเช่นกัน เราทุกคนมีเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น เราจะเริ่มเข้าใจว่า จริงๆ แล้วตัวเราเองเป็นเพศอะไร หลายคนอาจรู้สึกว่าจะต้องเอาเพศกำเนิดมาเป็นตัวตั้งในการใช้ชีวิต และเอาสำนึกรับรู้มาระบุความเป็นเพศของตัวเอง ซึ่งการระบุเกี่ยวกับสำนึกทางเพศและความเป็นตัวเองก็อาจมีความหลากหลาย และเป็นเรื่องส่วนบุคคล ดังนั้นเรื่องแบบนี้เราให้ใครมาระบุให้เราไม่ได้ รวมถึงใครจะมาบังคับให้เรารู้สึกในสิ่งที่เราไม่รู้สึกก็ไม่ได้เช่นกัน เราเท่านั้นที่ต้องนิยามเกี่ยวกับความเป็นเพศของตัวเราเอง
โมเดลโซจี้ซึ่งอธิบายความหลากหลายในเรื่องทางเพศใน 4 ระดับที่กล่าวมา มันสามารถเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้หรือไม่
ความหลากหลายทางเพศ จะมาพร้อมกับคำว่า ความลื่นไหลทางเพศ อธิบายง่ายๆ คือ คำว่า Sex Characteristics อาจจะเปลี่ยนยาก เพราะมันเป็นเรื่องของสรีระที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่ทุกวันนี้มันก็เปลี่ยนได้แล้วถ้ามีเงิน ส่วนคำว่า Gender Expression เปลี่ยนได้แน่นอน เพราะเป็นเรื่องของรสนิยม เราสามารถเลือกแต่งตัวหรือเลือกแสดงออกได้แตกต่างกันไปในแต่ละวัน มันเป็นการลื่นไหลตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ดังนั้นความลื่นไหลของวิถีทางเพศก็เช่นกัน บางคนอาจบอกว่าฉันไม่มีทางชอบเพศเดียวกันหรอก แต่ก็มีหลายคนที่ค้นพบตัวเองว่าชอบเพศเดียวกันในช่วงที่มีอายุมากขึ้น เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก และเรื่องของหัวใจมันฝืนกันไม่ได้ เราจึงควรซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง วันนี้เราอาจจะรักผู้ชาย พรุ่งนี้เราอาจจะรักผู้หญิง อีกวันเราอาจจะรักทั้งสองเพศก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันลื่นไหลได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
แม้ในสังคมทุกวันนี้เราจะได้รับอนุญาตให้เป็นหรือชอบอะไรได้อย่างหลากหลาย แต่ด้วยความคาดหวังจากสังคม หลายๆ คนก็ยังคงรู้สึกผิดและละอายใจที่จะแสดงออกทางเพศอย่างเต็มที่ เพราะมันขัดกับศีลธรรมที่เคยถูกสอนมา เราจะมีวิธีจัดการในเรื่องนี้อย่างไร
1. เราต้องเข้าใจธรรมชาติของชีวิตเราก่อน เพราะเมื่อเราเข้าใจตัวเอง โอบกอดตัวเองเป็น เราจะรักตัวเองในแบบที่เราเป็น
2. เข้าใจธรรมชาติของความเป็นพ่อแม่ ที่เติบโตมากับกรอบของสังคมแบบเดิมที่ถูกสอนว่าผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น ผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ ถ้าเราเคารพในความเชื่อที่ท่านเคยได้รับมา เราก็จะมีความอดทนในสิ่งที่พ่อแม่ไม่เข้าใจมากขึ้น ในหลายๆ ครอบครัวอาจจะมีแนวคิดที่ปิดกั้นลูกในเรื่องความหลากหลายทางเพศไปเลยก็ได้ แต่อยากจะให้กำลังใจน้องๆ ทุกคนว่า พ่อแม่ทุกคนรักลูกและอยากให้ลูกมีความสุขอยู่แล้ว
3. หาพื้นที่ในการพูดคุย หากเรากล้าที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่หรือคนที่อยู่ใกล้ชิดเราตรงๆ สักวันหนึ่งเขาเหล่านั้นจะเข้าใจว่ามันเป็นความสุขของเรา มันอาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก เพราะมันขึ้นอยู่กับวิถีหรือความยืดหยุ่นทางความคิดของแต่ละบ้านด้วย
เราควรจะอธิบายอย่างไร หากมีคนมาถามว่า Gender Identity หรืออัตลักษณ์ทางเพศของเราเป็นแบบไหน
สำนึกทางเพศเป็นเรื่องที่อธิบายยาก และมนุษย์ก็รู้สึกว่าเราไม่เห็นจำเป็นต้องไปอธิบายให้คนอื่นฟังว่าตัวเราเป็นอะไร เพราะในเด็กบางคน เขาไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นเพศอะไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปรู้คำตอบก็ได้ เพราะสำนึกทางเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ตายตัว รวมถึงตัวเราเองก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้เกี่ยวกับสำนึกทางเพศของใคร เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราสามารถที่จะเคารพซึ่งกันและกันได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นเพศอะไร ขอให้เราเคารพกันบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ก็เพียงพอแล้ว
เราจะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเองอย่างไรได้บ้าง เมื่อมีความรู้สึกสับสนทางเพศเกิดขึ้น
จริงๆ แล้ว เราไม่ได้รู้สึกสับสนทางเพศ แต่เรารู้สึกสับสนว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรดี ระหว่างสิ่งที่เราเป็น กับสิ่งที่สังคม เช่น พ่อแม่ โรงเรียน คาดหวังให้เราเป็น เพราะเราทุกคนต่างรู้ธรรมชาติของตัวเองอยู่แล้วว่าเราเป็นอะไรและรู้สึกกับตัวเองอย่างไร เพียงแต่สังคมรอบข้างมาทำให้เราสับสน และในบางครั้งเราก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรให้คนรอบข้างมีความสุขกับคำอธิบายของเรา ทั้งๆ ที่ความเป็นเราโดยธรรมชาติก็อยากจะอธิบายแบบนี้ แต่เรารู้ว่าถ้าอธิบายแบบนี้ออกไป คนคนนั้นจะต้องรู้สึกไม่โอเคแน่ๆ มันจึงเกิดเป็นแรงปะทะที่ทำให้เด็กรู้สึกสับสน ดังนั้นถ้าสังคมมีแนวคิดที่เปิดกว้าง และเคารพในตัวตนของกันและกันมากพอ เด็กจะไม่รู้สึกสับสนแน่นอน เพราะเขารู้จักตัวเองและสามารถรักตัวเองมากขึ้น เขาก็จะสามารถใช้ชีวิตในสังคมนี้ได้โดยไม่ตกเป็นเป้าของการถูกรังแกหรือถูกตัดสินจากคนอื่น
สำหรับพ่อแม่หรือโรงเรียน สามารถนำหลักการนี้ไปปรับใช้อย่างไรได้บ้าง
จริงๆ แล้วเราควรเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ถ้าเรายอมรับในตัวเองได้ เราก็จะยอมรับในตัวคนอื่นได้ เพราะมนุษย์มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย การที่เรายอมรับและเข้าใจในความแตกต่างเหล่านั้น จะทำให้เราไม่ไปตัดสินคนอื่นก่อน เป็นการ ลด ละ เลิก การรังแกและล้อเลียนกันทั้งในพื้นที่ออฟไลน์และออนไลน์ สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่ อยากให้เข้าใจก่อนว่า เราเลี้ยงลูกได้แค่ร่างกายของเขา แต่เรื่องอื่นๆ เราควรปล่อยให้เขาเลือกใช้ชีวิตด้วยตัวของเขาเอง เราอาจจะลองถามตัวเองว่า การบังคับให้ลูกต้องแสดงออกตามที่เราคาดหวัง มันเป็นไปเพื่อความสุขของใคร มันเป็นไปเพื่อความสุขของเราหรือเป็นไปเพื่อความสุขของลูก ถ้ามันเป็นไปเพื่อความสุขของลูก เราก็ควรให้เขามีโอกาสได้เลือกว่าเขาอยากจะแสดงออกแบบไหน เพราะโลกในตอนนี้เปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นแล้ว รวมถึงมีตัวอย่างมากมายที่ทำให้เห็นว่า คนที่มีวิถีทางเพศที่หลากหลายก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ พ่อแม่ที่ยอมรับได้อย่างรวดเร็วว่านี่คือธรรมชาติของลูก และคิดถึงความสุขของลูกเป็นหลัก ในระยะยาวลูกก็จะเป็นเด็กที่มีความสุขและเป็นประชากรที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน สำหรับโรงเรียนซึ่งเป็นพื้นที่แรกๆ ที่เด็กต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ควรจะมีการจัดพื้นที่ให้มีความปลอดภัย เป็นมิตร และทำให้เด็กรู้สึกเท่าเทียมกันทุกคน โรงเรียนก็จะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กทุกคนจะได้รับการเคารพในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับหลักสูตรของโรงเรียนที่มาด้วย ซึ่งในความเป็นจริง เราสามารถบอกเด็กได้ว่า ครอบครัวมีองค์ประกอบที่หลากหลายมาก อาจมีพ่อกับพ่อ แม่กับแม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อกับแม่เท่านั้น หรืออาจเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรืออยู่กับตายายก็ได้ เพราะองค์ประกอบสำคัญของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบขึ้นอยู่กับความรักความห่วงใยและการดูแลกันของคนในครอบครัว ถ้าโรงเรียนสามารถสื่อสารให้เด็กเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเล็กได้ เขาก็จะมีมุมมองต่อคนอื่นๆ ว่าทุกคนสามารถเลือกที่จะเป็นอะไรก็ได้
ทุกวันนี้เราเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศจริงๆ หรือเปล่า เพราะไม่มีอะไรที่ทำแล้วเวิร์กเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะยังคงเวิร์ก 100% ในตอนนี้ การปรับตัวและเปิดกว้างในเรื่องเพศจะเอื้อให้เด็กๆ เห็นถึงความถ่องแท้ที่เป็นธรรมดา ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะใช้สิ่งที่พ่อแม่หรือโรงเรียนสอนไปทาบทับคนอื่น ตรงกันข้าม หากเราไม่ได้ไปตีกรอบหรือสร้างมาตรฐานเอาไว้ เด็กจะยอมรับในความแตกต่างของเพื่อนได้ รวมถึงจะไม่มีใครตกเป็นเป้าในการถูกทำร้ายทั้งในรูปแบบการบูลลี่และ Cyberbullying จนท้ายที่สุดแล้วมันอาจจะช่วยให้การบูลลี่หายไปจากสังคมได้เช่นกัน
สามารถฟังพอดแคสต์ R U OK
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host ดุจดาว วัฒนปกรณ์
The Guest กรองแก้ว ปัญจมหาพร
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ