เราได้ยินกันอยู่เป็นประจำว่าทุกวันนี้คนติดสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือเรามักสงสัยว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ล่ะเรียกว่าติดหรือเปล่า
R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น ชวน ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว มาค้นให้ลึกลงไปว่าในโซเชียลมีเดียมันมีอะไรที่ตอบสนองความต้องการความรู้สึกคน จนสามารถทำให้ติด พร้อมร่วมกับสังเกตอาการทางใจและทางกายที่บ่งชี้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินไป
โซเชียลมีเดียมีอะไรทำไมคนถึงติด
มีงานวิจัยทางจิตวิทยามากมายที่พยายามหาคำตอบว่าทำไมคนถึงติดโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลส่วนใหญ่มักได้คำตอบที่ใกล้เคียงกันคือ
1. การเข้าโซเชียลมีเดียทำให้รู้สึกว่าเรากำลังได้รับรางวัล เช่น เราโพสต์รูปรูปหนึ่งก็จะมีทั้งคนกดไลก์ ความคิดเห็นชื่นชม สิ่งเหล่านี้เมื่อทำในชีวิตประจำวันก็จะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบสนอง เมื่อรู้สึกอยากรับรางวัล คนจึงเข้าโซเชียลมีเดียเพื่อให้ได้ความรู้สึกนี้มา
2. การเข้าโซเชียลมีเดียทำให้รู้สึกว่าได้รับการยอมรับ เพราะเราสามารถเขียนโปรไฟล์เอง เลือกมุมที่ดีให้คนมองเห็นแล้วรู้สึกชื่นชม
3. การเข้าโซเชียลมีเดียทำให้มีคนมาชอบ ทั้งในฐานะเพื่อนร่วมโลกออนไลน์หรือในฐานะที่พิเศษจนเป็นความสัมพันธ์ต่างๆ นำมาซึ่งความสุขที่บางครั้งเราไม่สามารถหาได้ในชีวิตประจำวัน
เมื่อพิจารณาดูแล้วไม่ว่าความรู้สึกที่ได้รับรางวัล การได้รับการยอมรับ และมีคนมาชื่นชอบนั้นต่างเป็นความรู้สึกขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ต้องการ จึงค่อนข้างถือเป็นเรื่อง ‘เมกเซนส์’ ที่คนคนหนึ่งจะติดโซเชียลมีเดียเพราะในนั้นมีการตอบสนองทางความรู้สึกที่มนุษย์อยากได้ แถมยังเป็นรูปธรรมเพราะเราเห็นคำชื่นชมเป็นตัวหนังสือและในรูปแบบของการกดไลก์เป็นจำนวนตัวเลขที่ชัดเจน
สิ่งสำคัญที่สุดที่โซเชียลมีเดียตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์คือการทำให้รู้สึกว่า ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ที่เชื่อมโยงไปเมื่อไรก็ติดต่อกันอย่างทั่วถึง หรือบางครั้งก็ได้รับปฏิกิริยาโต้ตอบในทันทีซึ่งต่างกับชีวิตจริงที่บางครั้ง พูดอะไรไปก็ไม่ได้รับการตอบสนอง หรือใช้เวลานานกว่าจะตอบกลับ โซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมือยืนยัน ‘ตัวตน’ ของมนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
และเพราะมันสามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความสุขให้กับมนุษย์นี้เอง ทำให้เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ ความรู้สึกเพียงพอก็จะน้อยลง แต่กลับต้องการปฏิกิริยาตอบสนองมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้ติดโซเชียลมีเดียในที่สุด
แค่ไหนถึงเรียกว่าติดโซเชียลมีเดีย
1. ใช้เวลาอยู่กับมันมากขึ้นเรื่อยๆ ลองสังเกตตัวเองตอนเวลาว่างว่าใช้เวลาเล่นโซเชียลมีเดียนานแค่ไหน บางคนจาก 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง กลายเป็นค่อนวัน บางครั้งวันหยุดตื่นขึ้นมาไถสมาร์ทโฟนไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็บ่ายคล้อยแล้วก็มี
2. รู้สึกกังวลเมื่อโทรศัพท์มือถือไม่อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด
3. คอยเช็กการแจ้งเตือน (Notification) ทั้งที่เมื่อสักครู่เพิ่งเช็กและเคลียร์ไปเรียบร้อยแล้ว หรือหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูบ่อยๆ แบบไม่มีสาเหตุ
4. ลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเองตอนตื่นนอนและก่อนเข้านอน คนที่ติดโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่สิ่งแรกที่ทำหลังจากตื่นนอนคือเช็กโทรศัพท์ ก่อนนอนก็เช็กโทรศัพท์ ด้วยการไถวนๆ อยู่อย่างนั้นโดยที่ไม่มีข้อความอะไรใหม่หรือไม่มีความจำเป็น บางครั้งแม้แต่ลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางดึกก็ยังต้องแวะเช็กอยู่ดี
5. เมื่ออยู่ในที่อับสัญญาณหรืออินเทอร์เน็ตหมด จะเริ่มแสดงอาการทางกายภาพ เช่น มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ บางคนรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่เป็นตัวของตัวเอง และเริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ มีอาการลงแดงคล้ายการติดสุราหรือสารเสพติด เพราะเป็นลักษณะของการติดบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน
6. เริ่มห้ามตัวเองไม่ได้ รู้สึกว่าต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาตลอดเวลาทั้งๆ ที่ก็รู้สึกว่าเป็นการไม่เหมาะสมหรืออยู่ในที่ที่ไม่ควรเล่นอย่างสถานที่ทำงาน หรือห้องประชุม แต่ก็มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะยกโทรศัพท์ขึ้นมาเช็ก
7. เริ่มครุ่นคิดและวางแผนว่าจะมีการโพสต์อะไรตอนไหน ถึงจะเรียกไลก์ได้มากที่สุดหรือมีคนคอมเมนต์มากที่สุดโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน
8. เริ่มใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้ลืมปัญหาบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น มีปัญหาเรื่องความรัก อกหัก เรื่องงานก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเพื่อให้ผ่านเวลาเหล่านั้นไปอย่างเร็วๆ เพราะรู้สึกว่าในโลกเสมือนนั้นมีความสุขอยู่มากมายเต็มไปหมด
9. ใช้โซเชียลมีเดียจนส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ เช่น ในเวลางานก็แอบเล่นเฟซบุ๊กทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นข้อห้ามของบริษัทแต่ว่าอดใจไม่ได้ หรือบางครั้งก็ก้มหน้าก้มตากับจอมือถือโดยที่ไม่สนใจคนรอบข้าง แต่กลับเลือกที่จะเชื่อมโยงกับคนในอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่จะพูดคุยกับคนที่อยู่ตรงหน้า สร้างความรู้สึกไม่พอใจ น้อยใจ เพราะการที่เราเลือกที่จะเชื่อมโยงกับโลกเสมือนแต่ไม่ใส่ใจกับคนที่อยู่รอบข้างแสดงว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับเขาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นี่ก็อาจจะเป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการติดโซเชียลมีเดีย
การใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินไปจนถึงขั้นติด นอกจากจะทำให้ตาเสีย นิ้วเสีย สุขภาพจิตเสีย ยังทำให้ความสัมพันธ์เสียอีกด้วย นึกภาพว่าเรากำลังประสบปัญหาหนักใจต้องปรึกษาเพื่อนคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อออกไปเจอกับเพื่อนต่างก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์มือถือพลางบอกว่าให้เราเล่าปัญหา เขากำลังฟังอยู่ แน่นอนว่าเราจะไม่อยากเล่าอย่างที่อยากเล่า ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงความไว้วางใจหรือการให้ความสำคัญก็ลดน้อยลงไปด้วย
นอกจากนั้นแล้วงานวิจัยยังบอกอีกว่าการติดโซเชียลมีเดียนั้นทำให้เรามีความยอมรับนับถือตัวเอง (Self-Esteem) ต่ำลง เพราะเราต่างเห็นชีวิตดีๆ ของคนอื่น เห็นคาเฟ่ที่เพื่อนในอินสตาแกรมเพิ่งไป เห็นทะเลสวยๆ ของคนที่เพิ่งไปมัลดีฟส์ในเฟซบุ๊ก ตัดภาพมาที่ตัวเองกำลังเดินไปกินผัดกะเพราไก่หน้าปากซอยกลายเป็นเรื่องที่อวดไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่นี้ดีไม่พอ
ในเมื่อการติดโซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อชีวิตและความสัมพันธ์ขนาดนี้ ถ้ารู้ว่าตัวเองติดการหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดก็เป็นเรื่องที่ควรทำ หลายคนคิดว่าการแค่ติดมือถือไม่ต้องพบจิตแพทย์ แต่ในความจริงการปรับความคิดเป็นเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่ง การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก็อาจช่วยให้เราหลุดพ้นจากภาวะที่ไม่พึงประสงค์เร็วขึ้นกว่าการทำด้วยตัวเองก็ได้
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com