เมื่อเกิดการบูลลี่ หลายคนจะมองเห็นแค่ผู้กระทำและเหยื่อ แต่เมื่อมองดีๆ ทุกเหตุการณ์จะมีคนที่อยู่รายรอบและมักวางเฉย
R U OK เอพิโสดนี้ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ คุยกับ นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นว่า ‘Bystander’ หรือ ‘พยานแวดล้อม’ มีผลอย่างไรกับการบูลลี่ ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นคือคนจำนวนมากที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งน่าจะคือกลุ่มคนสำคัญที่น่าจะเปลี่ยนแปลงและหยุดวงจรการบูลลี่ได้
ปัจจุบันในโรงเรียนมีการบูลลี่รูปแบบไหนบ้าง
มีหลายรูปแบบมาก ด้วยความที่เด็กยุคนี้มีความเป็นตัวเองสูง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นเพศทางเลือกหรือเพศที่สามมักจะถูกเพื่อนรอบข้างล้อเลียนหรือแซว เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่เพศที่สามบางคนที่เขาเป็นคนคิดมาก การกระทำแบบนั้นอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจเขาได้ หรือในกรณีเพื่อนคนหนึ่งสอบได้ที่โหล่ของห้อง แล้วครูก็บอกให้นักเรียนทุกคนปรบมือให้ที่โหล่ของห้อง ในมุมของคนที่คิดมาก การกระทำแบบนี้อาจทำให้เขาหมดกำลังใจในการเรียนไปเลยก็ได้ อีกกรณีของเพื่อนที่ตั้งใจเรียน เขาไม่กล้าถือหนังสือไปห้องสมุด แต่ใช้การถือไอแพดไปแทน เพราะเขาเคยโดนเพื่อนๆ แซวว่าซุ่มอ่านขนาดนี้ บทนี้เก็บเต็มหรือเปล่า เพื่อนที่คิดมากจึงเลือกที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปเลย แม้แต่ตัวเราเองที่เป็นพยานแวดล้อมยังรู้สึกไม่ดีกับสถานการณ์ลักษณะนี้ที่เกิดขึ้น จุดนี้เป็นข้อสังเกตว่าแม้แต่ Bystander ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยยังละเอียดอ่อนและทนต่อสถานการณ์บูลลี่ได้ยาก ดังนั้นคนที่เป็นผู้พูดหรือผู้กระทำยิ่งต้องละเอียดอ่อนมากกว่า สถานการณ์แบบนี้จึงจะไม่เกิดขึ้น รวมถึงเราต้องทำความเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของความแตกต่างของคนแต่ละคนในสังคม โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่ต้องการหา Identity เฉพาะของตัวเอง ที่สำคัญธรรมชาติของสมองวัยรุ่นมีวิธีคิดไปในหลายตรรกะมาก ยิ่งเขาอยู่ในวัยที่แคร์เพื่อน จึงยิ่งคิดมากขึ้นไปอีก
เคยเห็นพยานแวดล้อมหรือ Bystander ทำอย่างไรกับสถานการณ์บูลลี่บ้าง
ในกรณีที่เขามีกิจกรรมที่ทำอยู่ตอนนั้นเขาก็จะทำต่อไป เพราะรู้สึกว่าคนสองคนที่มีเรื่องกันมันไม่เกี่ยวกับเขา ดังนั้นเขาเลือกที่จะไม่เสี่ยงดีกว่า เพราะถ้าเข้าไปช่วยอาจต้องมีคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนเกลียดเขาแน่ๆ การอยู่นิ่งๆ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ได้ไม่เสีย ยังเป็นเพื่อนกับทุกคนได้ น่าสังเกตว่าในสถานการณ์นั้นๆ อยู่ที่ว่าผู้ที่ถูกบูลลี่จะแสดงสัญญาณให้ Bystander เห็นได้ชัดจนอยากจะเข้าไปช่วยหรือไม่ เช่น การส่งสัญญาณด้วยการออกเสียง ขยับปาก แววตา สีหน้า บอกเจตนาที่ชัดเจนว่าอยากให้ช่วย นี่เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่จะทำให้ Bystander คิดต่อไปได้ว่าควรจะเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้ Bystander อาจไม่ใช่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่เป็นวิธีคิดที่อยากให้ทุกคนคิดเรื่องนี้เหมือนกัน เช่น การที่ทุกคนยืนหยัดขึ้นพร้อมกันว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ดังนั้นกฎสำคัญเมื่อเกิดสถานการณ์บูลลี่คือการเคารพความแตกต่างระหว่างกัน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อนเราหรือไม่ก็ตาม โดยคนที่ถูกบูลลี่อาจใช้วิธีการโต้ตอบแบบให้วิธีคิดหรือเตือนสติกับคนที่บูลลี่ เช่น เรากับเธอก็คนเหมือนกัน หรือเราแค่ชอบไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง เป็นต้น
นอกจากพยานแวดล้อมหรือ Bystander ที่เป็นนักเรียน ต้องการให้มีอะไรมาช่วยหยุดการบูลลี่หรือ Stopbullying อีกบ้าง
ตัวแปรหลักนอกจากนักเรียนคือคุณครูที่ไม่ควรใช้วิธีซ้ำเติมหรือเหยียดเด็กเพื่อตอกย้ำปมด้อยของเด็กลงไปอีก เพราะเด็กแต่ละคนมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน ครูทุกคนควรเคารพเด็กและลดอคติส่วนตัวลง เพราะเด็กเป็นวัยที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการเติบโต ขณะเดียวกันพื้นที่นี้ก็อาจอยู่ในเกรย์โซน เพราะครูบางคนจะบอกว่าทำไปเพราะความหวังดี ดังนั้นควรปลูกฝังให้เด็กสามารถบอกความรู้สึกกับครูได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะช่วยลดทอนวัฏจักรของการบูลลี่ และเป็นการ Empathy ในเชิงระบบแทน และสำหรับผู้ที่อยู่ในฐานะ Bystander และผู้ที่ถูกบูลลี่ สิ่งแรกที่ต้องพยายามทำให้ได้คือการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองก่อน เพราะการตอบโต้แบบมีอารมณ์ร่วมอาจถูกตีความได้ว่าเราเป็นพวกของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนกลายเป็นการทะเลาะกันได้
ในโลกไซเบอร์ มีไอเดียอะไรบ้างที่จะใช้ในการหยุด Cyberbullying
อย่างแรก อย่าตกเป็นทาสของอารมณ์ สำหรับ Bystander ในโลกไซเบอร์อาจใช้วิธีพูดที่ซอฟต์ขึ้น เช่น เธอไม่ควรพูดอย่างนั้นนะ เป็นต้น เพราะแท้จริงแล้ว Bystander มีบทบาทได้มากกว่าที่คิด เพราะเขาเป็นผู้ที่สามารถทำให้วงจรนี้หมุนไปได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ทุกคนไม่ควรปล่อยให้การบูลลี่กลายเป็นเรื่องธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมโรงเรียน โดยเทคนิคการ Stopbullying ในโลกไซเบอร์ที่เคยเห็นคือการที่ Bystander หรือเพื่อนในห้องแชตช่วยกันส่งสติกเกอร์เข้าไปให้แชตที่เป็นการบูลลี่เลื่อนผ่านไปเร็วๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าห้องแชตนั้นไม่เห็นด้วยและไม่ต้องการเรื่องราวแบบนี้
โดยสรุปแล้ว การยืนหยัดในกรณีที่โดนบูลลี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เพราะมันขึ้นอยู่กับความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคนว่าสามารถรับได้กับเรื่องนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่โดนบูลลี่ไม่จำเป็นต้องยืนหยัดด้วยตัวเองคนเดียวเสมอไป คุณสามารถส่งสัญญาณหา Bystander ที่อยู่รอบข้างให้ช่วยปกป้องหรือเคียงข้างคุณได้ และสำหรับคนที่เป็น Bystander คุณก็สามารถมีบทบาทได้มากกว่าเป็นอยู่ด้วยการลุกขึ้นมายืนหยัดพร้อมกันเพื่อให้การบูลลี่ค่อยๆ จางหายไปจากสังคม
สามารถฟังพอดแคสต์ R U OK
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host ดุจดาว วัฒนปกรณ์
The Guest นรพันธ์ ทองเชื่อม
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Podcast Interns วชิรวิทย์ พิสุทธิ์วณิชย์
- เพราะในโลกใบนี้ มนุษย์ทุกคนล้วนแตกต่างกัน การเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- dtac Safe Internet มุ่งสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนและครอบครัวให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และสร้างสรรค์
- ให้ความสำคัญต่อการยอมรับถึงคุณค่าในความหลากหลายของสังคม โดยหยิบเอาเรื่องราวยองความแตกต่างมาสร้างเป็น ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ ในบทเรียน Diversity Respect to Stop Cyberbullying เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดการกลั่นแกล้งทั้งโลกจริงและโลกออนไลน์ บทเรียนใน ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ ทำให้นักเรียนได้รู้จักคุณค่าของตัวเอง เรียนรู้คุณค่าของความแตกต่าง และยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน
- ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://learn.safeinternet.camp/courses/3/info