×

ชอบออกคำสั่ง บังคับคนอื่นจนเป็นนิสัยถือว่าป่วยไหม และทำอย่างไรถ้าต้องอยู่กับคนแบบนี้

19.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:51 ภาวะความเป็นผู้นำและการชอบออกคำสั่งคนอื่น

05:52 เราเองก็ชอบออกคำสั่งกับบางคน และบางเวลา

10:27 ชอบออกคำสั่งเป็นบุคลิกภาพหรือเป็นโรค

14:06 เลิกใช้คำว่า ‘ทำไม’ แต่ลองเปลี่ยนเป็น ‘อะไร’

19:34 เพราะอะไรคนถึงชอบออกคำสั่งคนอื่น

23:35 ถ้าเราอยู่ร่วมกับคนชอบออกคำสั่งจะทำอย่างไร

26:06 วิธีแก้นิสัยชอบออกคำสั่ง

หันไปทางไหนเราก็มีโอกาสเจอคนออกคำสั่ง เราเจอพ่อแม่สั่งให้ทำโน่นทำนี่ บางครั้งก็โดนบังคับทั้งที่เราเองไม่อยากทำ พอเข้าโรงเรียนก็เจอรุ่นพี่ เจอครู ที่บังคับขู่เข็ญ จนถึงโตเป็นผู้ใหญ่เรายังมีสิทธิเจอเจ้านายจอมบงการที่ไม่ฟังลูกน้อง

 

R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น ชวน ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว มาหาคำตอบว่าภายใต้คำสั่ง ในด้านจิตวิทยาเกิดขึ้นจากอะไร เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรเขาได้ไหม และถ้าเราต้องอยู่ร่วมกับคนที่ ชอบออกคำสั่ง เป็นประจำจะทำอย่างไรให้สงบสุข

 


 

เจ้ากี้เจ้าการ ชอบออกคำสั่ง ที่บางครั้งเรายังเป็น

ชีวิตเราเจอคำสั่งตั้งแต่จำความได้ เพราะถ้าย้อนกลับไปสมัยเด็กเรามักมีพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่บอกให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยความหวังดี แต่ในบางครั้งคำสั่งนั้นก็อาจไม่ถูกใจและรู้สึกไม่สมเหตุสมผล เช่น คำสั่งที่ห้ามเราคบเพื่อนคนนั้นคนนี้ บังคับให้เรากินอาหารที่มีประโยชน์ จนถึงตามมาด้วยการลงโทษด้วยวิธีต่างๆ หรือในกรณีที่หนักข้อขึ้นพ่อแม่บางคนที่บังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่ลูกไม่อยากเรียน จนเป็นปัญหาตามมา หลายครั้งที่สถานการณ์เหล่านี้จบด้วยความไม่เข้าใจ เพราะคนที่เป็นพ่อแม่ก็คิดว่าลูกคือสมบัติของพ่อแม่ คิดว่าอำนาจการตัดสินใจส่วนหนึ่งต้องเป็นของพ่อแม่ แต่กลับไม่เคยถามความต้องการของอีกฝ่าย

 

ขยับขึ้นมาอีกหน่อย ลองนึกภาพตัวเองเวลาอยู่กับเพื่อนหรือแฟน เราอาจโดนเพื่อนบอกให้ทำสิ่งต่างๆ เมื่อไม่ทำตามก็เกิดอาการหงุดหงิดหรือพาลไม่คุยกันไปนาน ส่วนแฟนอาจจะหนักหน่อยที่คอยควบคุมเราไปเสียทุกอย่าง บังคับไม่ให้กินของอ้วนบ้าง บังคับให้ตอบไลน์ทันทีบ้าง หรือตอนเวลาขับรถก็ออกคำสั่งให้เลี้ยวทางนั้นทางนี้โดยที่คนขับรถแทบไม่เป็นตัวของตัวเองเลยก็มี

 

แม้แต่ทำงานอยู่ออฟฟิศ เราก็ยังเจอคนที่ออกคำสั่งบังคับ ซึ่งคงหนีไม่พ้นเจ้านายของเรา เจ้านายบางคนไม่ได้มีภาวะผู้นำ แต่เป็นคนที่อยู่มาก่อนแล้วได้เลื่อนลำดับขึ้น บางครั้งเลยออกคำสั่งที่เรารู้สึกไม่ค่อยสมเหตุสมผล มีตรรกะการตัดสินใจที่เรารู้สึกแปลกประหลาด หรือบางครั้งก็แก้ไขปัญหาด้วยวิธีการซึ่งแตกต่างจากเรา ที่แย่ไปกว่านั้นคือเมื่อเราเสนอความคิดเห็น หรือหาทางออกใหม่ๆ เจ้านายกลับเกิดอาการไม่พอใจที่เราไม่ทำตามคำสั่ง เจ้านายบางคนถึงขั้นประกาศิตขึ้นมาว่าความคิดของเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดและไม่มีใครมาค้านได้ เราเลยต้องมีหน้าที่ก้มหน้าก้มตาทำตามด้วยความขัดใจ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นเรื่อยๆ ก็เกิดเป็นปัญหาหมักหมมเพราะไม่ถูกพูดคุยกันให้เข้าใจ จนบางครั้งถึงจุดแตกหักมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ลาออกกันไปเลยก็มี

 

แต่อย่าเพิ่งรัวโทษคนอื่นว่าทำไมชอบออกคำสั่ง ลองย้อนกลับมาดูตัวเองดีๆ เราจะพบว่ามี ‘บางครั้ง’ และ ‘บางคน’ เหมือนกันที่เรารู้สึกว่าทนไม่ได้ รู้สึกว่าเขาทำไม่ถูกต้องจนเราต้องออกปากบังคับหรือสั่งเขาด้วยเหมือนกัน เราอาจจะหงุดหงิดทุกครั้งที่แม่วางของไม่เป็นที่เลยสั่งให้แม่ทำตามที่เราต้องการ เราอาจเป็นเพื่อนที่เห็นว่าเพื่อนคนหนึ่งใช้ชีวิตไม่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น จึงแนะนำแกมบังคับให้เขาทำตามที่เราต้องการโดยในความเป็นจริงเพื่อนคนนั้นอาจกำลังพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ หรือแม้กระทั่งในที่ทำงาน เรารู้สึกว่าคำสั่งเจ้านายไม่ ‘เมกเซนส์’ เพราะเราคิดว่าเรามีวิธีที่ดีกว่า ทั้งๆ ที่เจ้านายคนนั้นอาจผ่านน้ำร้อนมาก่อนและรู้ว่าวิธีไหนที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาก็ได้

เพราะฉะนั้นเราทุกคนต่างเป็นคนชอบออกคำสั่งกับบางคน หรือบางสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าไม่ไว้ใจ หรือรู้สึกว่าเรารู้ดีกว่าเสมอ

 

ทำไมถึงชอบออกคำสั่งคนอื่น

พฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่เราแสดงออกอยู่ทุกวันนี้ ในทางจิตวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากการเลี้ยงดูและการหล่อหลอมอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่วัยเด็ก อาจเกิดจากคนในครอบครัวปฏิบัติระหว่างกัน แล้วค่อยๆ ซึมซับส่งผลต่อสมาชิก รวมถึงนิสัยที่ชอบออกคำสั่งและบังคับคนอื่นนี้ด้วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่สาเหตุจะมาจาก

 

1. การเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว ที่ให้ความสำคัญกับบางสิ่งบางอย่างไม่เหมือนกัน เมื่อเราอยู่ที่บ้านเราอาจปฏิบัติอย่างนี้มาตลอดชีวิต และเข้าใจว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อออกไปสู่สังคมภายนอก และเจอวิธีอื่นที่เราไม่คุ้นเคย เลยอาจเหมาเอาทันทีว่าการกระทำแบบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมดีงาม เช่น บางบ้านยึดถือมารยาทเรื่องการส่งของให้ผู้อื่นว่าต้องให้ด้วยความเคารพ สบตา เพราะถือเป็นการให้เกียรติ แต่สำหรับบางบ้านก็ยึดถือเพียงแอ็กชันของการให้ ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่โตเพียงยื่นให้ก็พอแล้ว เมื่อเราเจอเพื่อนที่ส่งเงินให้เราด้วยวิธีการแบบนี้ก็จะรู้สึกว่าเพื่อนคนนั้นไม่มีมารยาท เราเลยบังคับให้เขาทำอย่างที่เราต้องการ เพราะเรารู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น โดยที่เราลืมไปว่าวิธีการยื่นเงินให้คนอื่นนั้นมีหลายวิธี เพราะเรายึดถือมารยาทบ้านเราเป็นสำคัญ โดยมองไม่เห็นความสำคัญถึงมารยาทของบ้านอื่นๆ

มารยาทจึงไม่ใช่เรื่อง ‘คอมมอนเซนส์’ ที่รู้กันทั่วไปหรือต้องปฏิบัติตามกัน แต่เป็นเรื่องความเชื่อของแต่ละครอบครัวที่ยึดถือโดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเหมือนกันก็ได้

2. วัยเด็กของบางคนอาจอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องบังคับสิ่งต่างๆ ให้อยู่ภายใต้ความควบคุมของตัวเองถึงจะรู้สึกอุ่นใจ ซึ่งนิสัยการบังคับสิ่งต่างๆ รอบตัวจะนำพาไปสู่บุคลิกภาพตอนโตอย่างไม่รู้ตัว เช่น เด็กบางคนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อน เด็กคนนั้นอาจค่อยๆ เรียนรู้ว่าการออกคำสั่งเพื่อนให้ทำตามเป็นการได้มาซึ่งอำนาจ ได้พรรคพวกซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้รู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน หรือสร้างความอุ่นใจว่าไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป

 

3. เด็กบางคนอาจมีแบบอย่างจาก พ่อ แม่ ครู ที่แสดงให้เห็นว่าการบังคับออกคำสั่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสามารถทำกับใครก็ได้ บวกกับเขาเหล่านั้นเป็นบุคคลที่ชื่นชมของเด็ก เลยทำให้เด็กค่อยๆ หล่อหลอมและรับรู้ว่าการออกคำสั่งคือสิทธิอันชอบธรรมจนสร้างนิสัยออกคำสั่งคนอื่น

 

4. ในวัยเด็กของบางคนอาจเคยตกเป็นเหยื่อของการบงการมาทั้งชีวิต ตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ เมื่อถึงเวลาที่เด็กคนนั้นได้แสดงออก เขากลับเลือกวิธีการบังคับขู่เข็ญคนอื่นทั้งๆ ที่เขาเองเคยเป็นเหยื่อ เพราะเขาเชื่อว่านั่นคือวิธีเอาตัวรอด สาเหตุทั้ง 4 ข้อ เป็นเรื่องทางจิตวิทยาที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่ละคนอาจมีสาเหตุแตกต่างกันไป เราอาจนึกไม่ออกว่าเกิดขึ้นจากอะไร จึงเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดที่จะค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมนี้เป็นรายบุคคลในห้องบำบัดต่อไป

 

คนที่ชอบออกคำสั่งคนอื่นถือว่าเป็นโรคไหม

พฤติกรรมที่ชอบบังคับและออกคำสั่งคนอื่นนั้น ไม่ได้ถือเป็นโรคทางจิตเวชเสียทีเดียว เป็นเพียงบุคลิกภาพเฉพาะบุคคล แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญหรือไม่ควรพบแพทย์ เพราะบางครั้งบุคลิกภาพบางอย่างอาจนำพาให้ไปเจอสถานการณ์เดิมซ้ำๆ หรือพาตัวเราไปเจอปัญหาซ้ำๆ ก็อาจพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการบำบัดให้บุคลิกภาพเหล่านี้ค่อยๆ น้อยลงไปตามลำดับ

 

เช่น คนที่ชอบออกคำสั่งคนอื่นจนเป็นนิสัย เบื้องหลังของคนคนนั้นอาจจะรู้สึกว่าโลกทั้งใบที่เขามองเห็นเต็มไปด้วยความขัดใจและไม่มีใครทำอะไรได้ดั่งใจสักอย่าง บางครั้งเขาอาจเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วทำไมคนอื่นๆ ถึงอยู่ได้ ทำไมถึงโอเค เลยมองกลับมาที่ตัวเองแล้วรู้สึกว่าปัญหาทั้งหมดอาจเกิดจากความไม่พอใจของเรา หรือบางคนเวลาอยู่ที่บ้านเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ แต่เวลาอยู่ที่ทำงานเจอแต่เรื่องขัดใจและรู้สึกว่าใครต่อใครทำอะไรไม่ถูกไม่ควรไปหมด เลยต้องคอยออกคำสั่งให้ทำอย่างที่เราต้องการอยู่ตลอดเวลา การที่มีลักษณะนิสัยอย่างนี้แม้ว่าไม่เป็นโรคก็จริง แต่ก็อาจสร้างปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงานที่รู้สึกว่ามีวิธีการทำงานที่ไม่เข้ากับคนอื่น หรือไม่ให้เกียรติการตัดสินใจคนอื่น จนนำพามาซึ่งปัญหาที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพบว่าตัวเองมีบุคลิกลักษณะแบบนี้ก็สามารถพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาได้

 

และถึงแม้ว่าการออกคำสั่งคนอื่นจะไม่ใช่โรค แต่คนที่มีบุคลิกแบบนี้ก็ต้องคอยเช็กตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งพฤติกรรมออกคำสั่งอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ Narcissistic) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ชอบคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง ชอบพูดถึงแต่เรื่องตัวเองอยู่บ่อยๆ คิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญที่สุดของโลก คิดว่าตัวเองเป็นคนเก่งและต้องได้รับแต่สิ่งดีๆ ไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกของคนรอบข้าง เอาแต่ใจตัวเอง ต้องการมีอำนาจ ไม่ค่อยยอมรับความผิดของตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นอยู่เสมอ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าคนที่เป็นโรคหลงตัวเองนั้นจะเป็นเพียงการหลงรูปร่างหน้าตา แต่ในทางจิตวิทยาจะรวมอาการเหล่านี้เข้าไปด้วย ซึ่งถ้าหากสงสัยและคิดว่าการไปพบจิตแพทย์ยังไม่ใช่ทางเลือกแรก ก็สามารถทำ แบบคัดกรอง เพื่อให้รู้อาการคร่าวๆ ก่อนได้ แต่อย่างไรก็ตามการพบผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

วิธีอยู่ร่วมกับคนที่ชอบออกคำสั่ง

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็มีสิทธิที่จะเจอคนชอบออกคำสั่งอยู่เสมอ ถ้าอยู่ในภาวะเลี่ยงได้เราก็จะเลี่ยง แต่บางครั้งเราก็อยู่ในสถานะที่ยากจะหลบหนีอย่างเช่นเจ้านายกับลูกน้อง สิ่งที่เราต้องถามตัวเองอย่างแรกคือ เรายอมรับได้ไหมที่จะไม่เปลี่ยนเขา เพราะเราไม่มีสิทธิที่จะไปเปลี่ยนแปลงใครในโลก ไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีบุคลิกหรือนิสัยที่แย่แค่ไหน ถ้าเขาไม่อยากเปลี่ยนมันด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเราเลี่ยงไม่ได้ เราก็เอาสิ่งที่เป็นปัญหากับเราเฉพาะด้านไปคุยกับเขาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น ถ้าเรารู้สึกว่าเจ้านายที่ออฟฟิศเป็นคนที่ชอบออกคำสั่งจนกระทบกับการทำงาน เราก็เอาเฉพาะเรื่องวิธีการทำงานเข้าไปคุยกับเขาว่านี่คือสิ่งที่เรากำลังรู้สึก และสร้างปัญหาให้กับเรา จะทำอย่างไรดีที่จะทำให้สื่อสารกันได้เข้าใจโดยที่ไม่ต้องออกคำสั่ง ที่สำคัญคือต้องหาทางออกร่วมกันไม่ใช่เป็นการยื่นข้อเสนอหรือเราเตรียมทางออกไว้ก่อน

 

อีกด้านหนึ่ง ถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นคนชอบออกคำสั่งหรือบังคับคนอื่นเสียเอง เราเพียงแค่ หยุด บางคนอาจไม่เห็นว่าการหยุดบังคับคนอื่นเป็นทางเลือกเพราะเห็นว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องของตัวเองที่ต้องเข้าไปจัดการเสียทั้งหมด โดยลืมไปว่าบางเรื่องเราไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการ หรือไปทำให้มันรู้สึกว่าถูกต้องตามความรู้สึกก็ได้ เพราะบางอย่างที่คนอื่นทำไปแล้วนั่นก็ถือเป็นทางเลือกในการจัดการของเขาเหมือนกัน

 

และเชื่อไหมว่าคำบางคำก็เปลี่ยนโลกได้ ถ้าเราเริ่มเห็นว่าบางเรื่องขวางหูขวางตา ไม่ถูกต้องดีงามและกำลังจะเข้าไปถามหาเหตุผล โดยเรามักจะพุ่งเข้าไปถามด้วยการเริ่มต้นประโยคว่า ‘ทำไม’ เช่น ทำไมถึงไม่ทำแบบนี้ล่ะ ทำไมถึงมาสาย ทำไมถึงไม่เชื่อกันบ้าง ฯลฯ จากคำว่าทำไม ลองเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘อะไร’ เช่น อะไรทำให้เลือกตัดสินใจแบบนั้น อะไรเป็นเหตุผลของการมาสาย อะไรทำให้เลือกที่จะไม่ทำตามกัน เพราะการเริ่มต้นประโยคคำถามด้วยคำว่าทำไม มันจะเป็นคำที่ดึงทัศนคติของผู้พูดออกมาเร็วกว่าคำว่าอะไร ที่จะมีความยั้งคิดมากกว่า ฉะนั้นเวลาเห็นอะไรที่ไม่เข้าท่าแล้วอดรนทนไม่ได้ ลองโยนคำว่าทำไมออกจากพจนานุกรมชีวิต เหลือเพียงคำว่าอะไร อาจทำให้พฤติกรรมที่ชอบชี้นิ้วสั่งคนอื่นของเราลดลง เผลอๆ อาจทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยความสุขสงบกว่าที่เคยเป็นก็ได้

 


 

Credits

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising