ถ้าลองสังเกตเพื่อนรอบตัวเวลาแสดงความคิดเห็นต่อข่าวหรือสถานการณ์ต่างๆ จะมีบางคนที่แสดงอาการไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อว่าใครจะทำดี และคิดว่าโลกนี้ไม่มีความสวยงามจนบางครั้งชอบเรียกตัวเองว่าเป็นพวก ‘สายดาร์ก’ อยู่เป็นประจำ
R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว จะมาทำความเข้าใจคนสายดาร์กว่าทำไมถึงรู้สึกว่าโลกที่เขาอยู่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งร้ายๆ บางครั้งไม่เชื่อในความดีและความสามารถของใครแม้กระทั่งตัวเอง เขาป่วยไหม และทำอย่างไรถ้าคนใกล้ตัว มองโลกในแง่ร้าย ขนาดนี้
เมื่อความคิดเป็นเรื่องห้ามไม่ได้ จึงดีร้ายได้ตลอดเวลา
หากเราลองสำรวจความคิดตัวเองจะพบว่าเรามีความคิดและความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวมากมาย บางความคิดเราก็ชวนให้แปลกใจ เพราะไม่มีสาเหตุ บางความคิดก็ไม่น่าเชื่อว่าเราจะมีมุมมองแบบนั้น นั่นเพราะความคิดของเราเกิดขึ้นจากการสั่งสมประสบการณ์ที่มีต่อโลก แล้วมันทับซ้อนกันอยู่หลายต่อหลายชั้น เมื่อต้องปะทะกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ชุดความคิดจึงแสดงออกมาโดยที่เราไม่รู้ตัว
เมื่อสังเกตต่อจะพบว่าความคิดของเรานั้นมีทั้งบวกและลบ บางอย่างเราก็เลือกเชื่อว่ามันจะเป็นเรื่องดีๆ เชื่อว่าคนจะทำดี เชื่อว่าเราจะทำได้ แต่บางเรื่องเรากลับระแวงแคลงใจ คิดว่าต้องมีลับลมคมใน โดยที่เราก็ไม่สามารถหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงคิดอย่างนั้น แต่พอมองคนรอบตัว เราอาจพบว่ามีบางคนที่คิดลบอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการก่นด่าฟ้าที่ไม่มีแดดว่าเป็นวันที่หดหู่และเป็นวันที่แย่ หรือเมื่อเห็นใครสักคนที่ทำความดีเพื่อสาธารณะก็ไม่เชื่ออย่างสนิทใจว่าทำไปด้วยจิตกุศล คิดว่าต้องมีลับลมคมใน หรือบ้างก็ว่าเพื่อสร้างภาพและประชาสัมพันธ์ตัวเองก็มี ไม่เพียงแค่ไม่ศรัทธาในความดี บางครั้งคนที่คิดลบอาจเกิดความไม่ไว้วางใจในความสัมพันธ์แม้กระทั่งในระดับเพื่อน คิดว่าคนที่เข้ามาคบหากันด้วยความไม่จริงใจต้องการผลประโยชน์ หรือระแวงว่าจะใส่ร้ายกันอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นแล้วเมื่อคนเหล่านี้มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต แทนที่จะโอบรับด้วยความตื่นเต้นท้าทาย แต่กลับตั้งท่าปฏิเสธด้วยคำพูดที่ว่า ‘ไม่ดีหรอก’ ‘ไม่ได้หรอก’ โดยที่ไม่มองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ
คนที่ตั้งท่าว่าร้ายโลกแบบนี้มีทั้งที่รู้ตัวว่าคิดลบจนเป็นนิสัย แต่อาจไม่รู้ว่าทำไมถึงมีความคิดแบบนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่รู้ตัวเลยว่าความคิดที่มีต่อโลกของตัวเองนั้นมืดหม่นและร้ายสักแค่ไหน แต่ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน การมองโลกในแง่ร้ายจะมีที่มาที่ไปเสมอ
ทำไมคนถึง มองโลกในแง่ร้าย
1. เพราะเชื่อว่าความดีเป็นเรื่องของการกระทำมากกว่าศีลธรรม
บางคนคิดว่าความดีเป็นเรื่องนามธรรมเกินไปจนไม่สามารถนิยามได้อย่างชัดเจนว่าแบบไหนที่เรียกว่าดี แถมความดียังเป็นเรื่องที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามการให้ความหมาย คนกลุ่มนี้เลยมองความดีในเรื่องของการกระทำมากกว่าเรื่องของศีลธรรม และเมื่อมองเห็นเพียงแค่ตัวการกระทำจึงทำให้ตั้งข้อสงสัยต่างๆ นานา เช่น ทำไมถึงทำ ทำไปเพราะอะไร ประโยชน์ที่ได้จากการกระทำนี้คืออะไร เช่น การให้เงินขอทาน สำหรับบางคนอาจรู้สึกว่าคือการทำดี แต่บางคนที่มองเพียงแค่การกระทำและตัดเรื่องบาปบุญคุณโทษออกอาจรู้สึกว่าเป็นการต่อวงจรธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และเป็นการหวังผลให้ตัวคนให้มีความสุข คนที่มองโลกลักษณะนี้จึงกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายไปโดยปริยาย
2. เพราะเชื่อในการวิพากษ์วิจารณ์
บางคนเชื่อว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะนำไปพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงตั้งคำถามต่างๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีการทำงานในเชิงโครงสร้างอย่างไร มีผลต่อโครงสร้างอื่นของสังคมอย่างไร และเชื่อว่าการตั้งคำถามต่อทุกอย่างจะทำให้สังคมเกิดการพัฒนา คำถามเหล่านั้นจึงทำให้ดู ‘ลบ’ และ ‘ร้าย’ เพราะบางครั้งก็เป็นการทำลายความเชื่อเดิมที่เคยเชื่อกันมา เช่น เมื่อมีศิลปินคนหนึ่งลุกขึ้นมาวิ่งระดมทุนเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล สายวิพากษ์จึงพากันตั้งคำถามว่าเขาคนนั้นทำไปทำไม มันจะเป็นไปได้ไหมที่ศิลปินคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน การกระทำของศิลปินคนนี้เป็นกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบี้ยว และไม่ได้ช่วยให้ปัญหาการทุจริตลดน้อยลงไป ความคิดเหล่านี้จึงถูกแสดงออกมาดู ‘ลบ’ และ ‘ดาร์ก’ กว่าคนทั่วไป ซึ่งเขาเหล่านั้นอาจจะไม่ตั้งใจ แต่เป็นเพราะการเรียนการศึกษาที่ทำให้เขารื้อสร้างทางความคิด (Deconstruction) ทำให้เขาแสดงความคิดเห็นด้วยการตั้งคำถามแบบนั้น
หรืออีกตัวอย่างที่เห็นคือสายวิพากษ์มักจะตั้งคำถามต่อสิ่งที่ปฏิบัติต่อกันมาจนเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ผูกโยงกับความเชื่อและสิ่งที่คนยึดถือ เมื่อตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้นที่ค่อนข้างเซนซิทีฟจึงดูไม่ตรงกับความดีงามของคนส่วนใหญ่ เช่น การตั้งคำถามเกี่ยวกับความเคารพผู้ใหญ่ในสังคมไทย การเชื่อสิ่งที่ครูสอน การเคารพกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
คนที่เชื่อในการวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่จะมาจากการศึกษาเล่าเรียนที่หล่อหลอมให้มองโลกแบบนั้น แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่แม้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนด้านการรื้อสร้างทางความคิด แต่ก็เชื่อในการวิจารณ์คนอื่น ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้อยู่เป็นประจำอย่างการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตที่อาจไม่ได้เป็นความเชื่อ แต่คิดว่าเป็นสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น อาจเพราะเรื่องเหล่านั้นเป็นที่พูดถึง คนเหล่านั้นเป็นคนสาธารณะ จึงคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้
สาเหตุของการ มองโลกในแง่ร้าย
แม้ว่าความคิดของคนมองโลกในแง่ร้ายจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่เชื่อถือในความดีงาม ความสำเร็จ กับกลุ่มที่เชื่อในวิถีของการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ว่าความคิดนั้นจะแสดงออกออกมาแบบไหน สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนคนหนึ่งมีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลกจนกลายเป็นนิสัยและไม่เหลือเผื่อความดีงามมักมาจาก 2 สาเหตุสำคัญ
1. เกิดจากการหล่อหลอมของคนรอบข้าง
อาจเป็นครอบครัวที่ปลูกฝังความคิดเห็นแบบนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจไม่รู้ว่าวิธีการนี้จะส่งผลให้คนในครอบครัวเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายไปโดยปริยาย เช่น พ่อแม่ที่แสดงความคิดด้านลบต่อสถานการณ์ต่างๆ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ลูกก็จะซึมซับและฝังแน่นความคิดแบบนี้
คล้ายกับพ่อแม่ฝังซอฟต์แวร์การรับรู้นี้ให้กับลูก ลูกจึงแสดงออกไปในทิศทางเดียวกัน เพราะคิดว่าการแสดงความคิดเห็นต่อโลกแบบนี้เป็นทางเดียวที่ทำได้
2. เกิดจากกลไกของตัวเองแล้วถูกฝึกจนเป็นนิสัย
หลายคนอาจเคยหวังอะไรไว้มากๆ แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้ตามที่หวังไว้ จึงบอกกับตัวเองว่า ‘ไม่ได้หรอก’ ‘ไม่มีหรอก’ ‘ไม่จริงหรอก’ พูดกับตัวเองอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะไม่อยากให้ตัวเองผิดหวังซ้ำ เหมือนเตรียม ‘เบาะใจ’ ไว้รองรับเวลาที่ตัวเองเฟล ซึ่งความคิดเหล่านี้จะค่อยๆ สร้างนิสัยให้ตัวเองปฏิเสธและไม่เชื่อในสิ่งที่ควรจะได้รับในที่สุด
ในความร้ายยังมีความดี
เล่ากันมาเสียตั้งยาวจนรู้สึกว่าการมองโลกลบๆ นั้นเต็มไปด้วยข้อเสีย แต่ธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปก็จะมีทั้งดีและร้ายสลับกันไปตามเหตุผลและสถานการณ์ การมองโลกในแง่ดีเพียงอย่างเดียวแบบที่หลายคนค่อนแคะว่าเดินเล่นอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องดีเสียทั้งหมด เพราะการไม่คิดเผื่อใจอะไรไว้เลยแบบสุดโต่งมักทำให้เราไม่ระวังภัยหรือคาดการณ์อะไรไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อเจอความผิดหวังจากเรื่องราวที่ได้เจอหรือจากความสัมพันธ์จึงเจ็บหนักและยากที่จะฟื้นฟู ส่วนในขณะเดียวกัน คนที่มองโลกในแง่ร้ายจนไม่คิดถึงความเป็นไปได้ของความดีงามก็อาจไม่เคยได้สัมผัสถึงความสวยงามของทุ่งลาเวนเดอร์ที่เคยแซะคนอื่นไว้บ้างเลยก็ได้
ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียอย่างที่หลายคนว่าไว้ การมองโลกในด้านลบไว้บ้างจึงเป็นเหมือนการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับสถานการณ์ที่จะต้องเจอ ซึ่งหลายครั้งอาจเป็นประโยชน์ในเชิงอาชีพ เพราะบางคนฝึกทักษะการมองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) จึงเหมาะสำหรับการทำอาชีพผู้บริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ให้กับองค์กรในแง่เชิงธุรกิจ หรือแม้แต่การเป็นวิศวกรด้านความปลอดภัย (Safety Engineer) ก็ยังต้องอาศัยทักษะการมองความเลวร้ายไว้เป็นพื้นฐานด้วยเช่นกัน
มองโลกในแง่ร้ายขนาดไหนถึงต้องไปพบแพทย์
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามนุษย์โดยทั่วไปจะมองสถานการณ์ร้ายดีสลับกันไปตามประสบการณ์และวิจารณญาณของตัวเอง แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่อาการคิดลบนั้นปราศจากเหตุผลและห้ามตัวเองไม่ได้ที่จะไม่คิดอย่างนั้นจนรู้สึกว่าตัวเองน่าจะมีความผิดปกติบางอย่าง ถ้าสงสัยและคิดว่าการไปหาจิตแพทย์ยังไม่ใช่ทางออกแรก ลองถามตัวเองดูก่อนก็ได้ว่าจากเรื่องที่เกิดขึ้น เรายังสามารถหาความดีงามจากมันได้อยู่หรือเปล่า หรือเราสามารถเห็นความคิดด้านดีอื่นๆ จากความเลวร้ายที่เราเจออยู่ตรงหน้าได้ไหม ถ้ายังพอบอกตัวเองได้ว่าเราไม่เห็นต้องคิดกับมันลบขนาดนั้นก็ยังถือว่าเป็นคนที่สุขภาพจิตดีอยู่
แต่ถ้าเมื่อไรที่รู้สึกว่าความคิดด้านลบนั้นทำงานจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ มีความวิตกกังวลก้อนใหญ่อยู่หลังหัว มีความคิดเลวร้ายต่อคนนั้นคนนี้ หรือรู้สึกว่าเสียงที่ลั่นขึ้นมาในหัวที่มีต่อโลกใบนี้และที่มีต่อตัวเองไม่มีอะไรดีงามและเกินการควบคุม ถ้าเป็นอย่างนี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาทันที เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคทางจิตเวชที่เราคิดไม่ถึงก็ได้
อยู่แบบดาร์กๆ โอเคไหม
ถ้าลองสำรวจความคิดแล้วพบว่าตัวเองยังพอ ‘Healthy’ ยังพอมองเห็นความคิดด้านอื่นที่ยังดีงาม แต่ก็เลือกที่จะไม่เชื่อหรือไม่รู้สึกอย่างนั้นก็ไม่ใช่ความผิดอะไร เพราะถ้ารู้สึกว่าการโลกสวยมันออกจะขวยเขินหรือขัดกับตัวเราจนเกินไป เลยเลือกตัวเองให้อยู่ฝั่งดาร์กหน่อยๆ แล้วรู้สึกเท่กว่าก็ไม่ใช่ปัญหา เพียงต้องสำรวจตัวเองอยู่เป็นประจำว่าความคิดที่เราเป็นอยู่นั้นมันนำพามาซึ่งปัญหาในชีวิตประจำวันบ้างหรือเปล่า เช่น เรารู้สึกไม่ไว้ใจใครจนรู้สึกหวาดระแวงเกินไป หรือการมองโลกในแง่ร้ายเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ คิดว่าทุกคนที่เข้ามาในชีวิตจะมีแต่คนที่ไม่จริงใจหรือไม่ก็หวังผลประโยชน์ ถ้าคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลาไม่เวิร์กแน่ๆ
ความคิดเราเป็นเรื่องสนุก ถ้ายังพอควบคุมได้ ลองเล่นกับความคิดตัวเองดูก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าอยู่แต่ฝั่งดาร์กจนเคยชิน ลองพาความคิดตัวเองไปสู่ฝั่งโลกสวยที่สุดดูบ้างก็น่าจะเป็นเรื่องสนุกดี เพราะมันจะพาเราไปเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดถึง เพราะการเอาตัวเองอยู่ท่ามกลางความคิดเลวร้ายมืดหม่นก็อาจใจร้ายกับตัวเองเกินไป เพราะหลายครั้งความคิดที่เราตั้งไว้อาจบั่นทอนความสุขเราได้ง่ายๆ จนทำให้เราคิดว่าความสุข ความดี ความสำเร็จ ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองควรได้รับ
ลองพาความคิดตัวเองไปด้านบวก โอบกอด ให้อภัย และบอกตัวเองบ้างก็ได้ว่าความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนคู่ควรจะได้รับ และเราเองมีค่าพอที่จะได้รับความสุขนั้น
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com