ปิดโทรศัพท์มือถือไม่ให้ใครตามตัว เปลี่ยนโปรไฟล์เฟซบุ๊กเป็นสีดำ แกล้งปวดท้องเพราะไม่อยากไปโรงเรียน น้อยใจแล้วขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย หลากหลายวิธีเรียกร้องความสนใจที่เราเคยพบตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ บางทีก็พบว่าไม่สมเหตุสมผล และหลายครั้งพบว่าไม่จริง
R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว จะชวนมาสำรวจพฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจที่เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เขาเหล่านั้นทำไปทำไม นำพาไปสู่โรคทางจิตอะไรไหม และทำอย่างไรถ้าจะต้องเจอคนมีนิสัยเรียกร้องความสนใจอยู่เป็นประจำ
ทำไมคนเรา เรียกร้องความสนใจ
วลีที่บอกว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’ เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันอยู่เสมอ แต่ลึกลงไปในวลีนี้จะพบว่าการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของมนุษย์นั้น นอกจากจะต้องพึ่งพากันด้านกายภาพเพื่อเอาชีวิตรอด มนุษย์ยังต้องการการพึ่งพิงด้านความรู้สึกเพื่อให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ได้มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจระหว่างกัน บางครั้งที่การสื่อสารไม่ถูกตอบสนอง มนุษย์จึงพยายามให้ได้มาซึ่งความสนใจนั้นเลยเรียกร้องด้วยการกระทำต่างๆ นานา เมื่อประสบผลสำเร็จจึงเริ่มเรียนรู้ว่าหากแสดงออกแบบนี้ก็จะได้มาซึ่งการได้รับความสนใจ ทำให้ตัวเองรู้สึกมีค่าและเป็นการยืนยันว่ายังเป็นที่ต้องการของคนอื่นๆ อยู่
การ เรียกร้องความสนใจ จึงเป็นพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องการการซัพพอร์ตทางความรู้สึกให้รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตัวเองอยู่ โดยการเรียกร้องความสนใจนั้นเป็นได้ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละคน แต่ละช่วงวัยก็จะมีสาเหตุในการแสดงออกแตกต่างกันไป
อาการ เรียกร้องความสนใจ
ในวัยเด็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แสดงออกด้วยการต้องการความสนใจอย่างตรงไปตรงมา เช่น ตะโกนเสียงดัง ร้องไห้เสียงดังในที่สาธารณะ เกาะติดพ่อหรือแม่มากผิดปกติ ขว้างปาข้าวของ หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กในวัยนี้อาจรู้สึกว่าตัวเองมีความไม่มั่นคงทางจิตใจ โดดเดี่ยว หรือไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร ซึ่งพ่อแม่สามารถทำให้ความรู้สึกไม่มั่นคงนี้ค่อยๆ หายไปด้วยการเอาใจใส่และมองให้เห็นว่าแท้จริงแล้วลูกต้องการอะไรกันแน่ และในขณะเดียวกันก็สามารถสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตัวเองด้วยการรู้จักอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น ทั้งความเบื่อ ความเหงา เด็กอาจยังไม่สามารถจัดการความรู้สึกเหล่านั้นได้ด้วยตัวเองในทันที แต่สุดท้ายเด็กจะเข้าใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น และการแสดงออกอย่างเหมาะสมจะตามมา
วัยรุ่นจะต้องการความสนใจเพื่อนและสังคมรอบข้างเป็นหลัก ต้องการให้ตัวเองเป็นที่รัก อยากได้การยอมรับ ซึ่งเราสามารถพบเห็นการแสดงออกเหล่านี้สะท้อนผ่านการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย ทั้งการพยายามทำตัวให้เด่น การแสดงอารมณ์รุนแรงเพื่อเรียกยอดไลก์หรือรีแอ็กชันต่างๆ โดยสาเหตุที่แท้จริงของการกระทำเหล่านี้อาจเกิดจากการไม่ได้เหลียวแลหรือเติมเต็มจากครอบครัว ความรู้สึกไม่มั่นคงต่างๆ จึงแสดงออกผ่านการเรียกร้องต่างๆ คนรอบข้างสามารถให้ความสนใจตามสมควรเท่าที่ตัวเองไม่คิดว่าเกินไป
ที่สำคัญคือควรสังเกตพฤติกรรมของเพื่อน สอบถาม ให้กำลังใจ มากกว่าจะทำตามอารมณ์ตัวเองด้วยการรุมวิพากษ์วิจารณ์ รุมกลั่นแกล้ง จนสุดท้ายอาจกลายเป็นความรุนแรงที่เราคาดไม่ถึง
วัยผู้ใหญ่และวัยทำงาน ในที่ทำงานเรามักเห็นคนบางกลุ่มที่อยากแสดงความคิดเห็นทุกเรื่องทั้งที่ไม่เกี่ยวข้อง และเมื่อความคิดเห็นตัวเองไม่ได้รับการยอมรับก็เกิดความไม่พอใจ พานคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ แถมบางครั้งมีการสร้างเรื่องไปต่างๆ นานา บางครั้งก็เจอคนที่มั่นใจในตัวเองทั้งความคิดและรูปร่างมากเกินปกติ แถมยังต้องการเป็นจุดสนใจของคนอื่นๆ คนกลุ่มนี้ลึกๆ เขาอาจมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัยบางอย่างจึงแสดงตัวให้อยู่ในการจับจ้องและเสียงชื่นชม ถ้าเป็นเพียงบุคลิกหรือนิสัย เราก็สามารถมองข้ามพฤติกรรมที่สร้างความน่ารำคาญและมองให้เห็นถึงสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ก่อนที่จะตัดสินหรือรุม Bully เขา
ส่วนความสัมพันธ์ เราอาจพบเจอคู่รักที่เรียกร้องความสนใจด้วยการงอนหรือไม่พอใจที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างเพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เพราะมนุษย์ต้องการความรู้สึกปลอดภัยในความสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ารู้สึกว่ามันมากเกินไปจนเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ก็ควรพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันก่อนที่จะเบื่อหน่ายหรือรำคาญกันในที่สุด แต่สำหรับบางคู่ที่ต้องเจอคนรักที่เรียกร้องความสนใจด้วยการขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย กรีดแขน หรือหนักที่สุดอย่างการฆ่าตัวตายก็ควรทำความเข้าใจ เพราะคนกลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคจิตเวชได้ ทางที่ดีควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษา
และสำหรับผู้สูงอายุ เราก็สามารถพบพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจนี้ได้เช่นกัน เพราะส่วนใหญ่คนที่เริ่มไม่ได้ทำงานจะมีความรู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคง คุณค่าของตัวเองลดลง ไม่มีอะไรในชีวิตประจำวันให้ยึดเหนี่ยว รวมถึงรู้สึกไม่ปลอดภัยทางด้านร่างกายว่าวันหนึ่งจะป่วยและเป็นผู้ที่ไม่มีใครต้องการ ด้วยสาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุบางคนแสดงออกด้วยการน้อยใจ หนีออกจากบ้านไปดื้อๆ หรือกุข่าวว่าป่วยเพื่อให้ลูกหลานแสดงว่าสนใจตัวเองก็สามารถพบเห็นได้
เรียกร้องความสนใจ ไม่ใช่แค่นิสัย แต่อาจเป็นอาการของโรค
หลายคนที่รู้สึกว่าพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ จึงคิดว่าถ้าลองไม่ตอบสนอง เดี๋ยวเขาก็หยุดไปเอง แต่หากลองสังเกตจะมีหลายครั้งที่เรานิ่งเฉย เขายิ่งกลับเรียกเรียงความสนใจและมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นอย่างไม่มีท่าว่าจะหยุด พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคทางจิตเวชได้หลายโรค แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือการเข้าข่ายของการเป็นโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder หรือ HPD)
ภาพจำของคนที่เป็นโรคฮิสทีเรียของคนส่วนใหญ่คือคนที่ติดเซ็กซ์ ซึ่งไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง เพราะคนที่เป็นโรคนี้อยากเป็นศูนย์กลางความสนใจของคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลาและมากเกินปกติ เวลาเจอใครที่ไม่สนใจจะไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ ซึ่งการได้รับความสนใจอย่างการถูกโมโหหรือด่าว่า คนที่เป็นโรคนี้กลับรู้สึกดี ที่สำคัญจะรู้สึกควบคุมตัวเองไม่ได้เมื่อไม่ได้รับในสิ่งที่ตัวเองต้องการ นอกจากนั้นแล้วจะมีอาการเบื่อความซ้ำซากจำเจ ต้องหาสิ่งใหม่คอยปลุกเร้าตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเริ่มสงสัยว่าคนรอบข้างอาจเข้าข่ายการเป็นโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮิสทีเรีย ลองสังเกตดูว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งที่ชัดเจนก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ทันที ที่สำคัญ อย่าสันนิษฐานเอาเอง เพราะผู้ป่วยจะมีความซับซ้อนและสามารถมีอาการร่วมกับโรคทางจิตเวชอีกหลายโรค ซึ่งอาการดังกล่าว ได้แก่
1. รู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้รับความสนใจ
2. แสดงออกทางสีหน้าท่าทางเหมือนเล่นละคร หรือเล่นใหญ่อยู่ตลอดเวลาเกินความจำเป็น
3. มีอารมณ์แปรปรวน แสดงออกอย่างขาดความยั้งคิด หรือมีความอ่อนไหวต่อคำพูดคนอื่นมากเกินไป
4. มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางที่ไม่เหมาะสม ใช้รูปร่างภายนอกเรียงร้องความสนใจ ซึ่งข้อนี้ทำให้หลายคนคิดว่าฮิสทีเรียคืออาการติดเซ็กซ์ ซึ่งไม่ใช่ เพราะไม่ใช่ลักษณะการติด แต่เป็นการใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองพอใจ
5. บางครั้งก็ชอบคิดไปเอง หรือเหมาเอาว่าคนที่ตัวเองไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยจะเล่นด้วยและเป็นจริงเป็นจัง ทั้งที่อีกฝ่ายอาจไม่ได้รู้สึกอะไรด้วยเลย
6. นอกจากนั้นยังมีความรุนแรงทางอารมณ์ที่พอจะสังเกตได้ เช่น เชื่อคนง่าย ถูกโน้มน้าวใจได้ง่าย ถูกหลอกได้ง่าย บางครั้งก็ขู่จะฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องความสนใจ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากกรรมพันธ์ุ คือถ้าหากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ก็มีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดให้ลูกด้วย นอกจากนั้นแล้ว การเลี้ยงดูหรือประสบการณ์ที่รุนแรงในวัยเด็กก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดโรคนี้ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการถูกทอดทิ้งทางความรู้สึกและขาดความรักความเข้าใจจากคนรอบข้าง แต่สำหรับบางคนอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งสาเหตุของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน การไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาที่มาของโรคจะให้การบำบัดรักษาเป็นไปอย่างถูกวิธีมากขึ้น ซึ่งหลังจากตรวจพบว่าคนรอบข้างป่วยเป็นโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮิสทีเรีย สิ่งที่จะต้องรับมือด้วยค่อนข้างจะเป็นเรื่องยากที่จะหาจุดพอดี
เราต้องนึกไว้เสมอว่าคนที่ป่วยเหล่านี้ การเรียกร้องความสนใจที่เขาทำไม่ใช่ความทุกข์ที่เกิดจากความไม่สบอารมณ์เหมือนคนทั่วไป แต่เป็นเพราะเขาขาด สิ่งที่เราจะต้องหยิบยื่นให้เขาจึงไม่ใช่ ‘การตามใจ’ แต่เป็น ‘ความเข้าใจ’ ในฐานะที่ตัวเองเป็น
เช่น ปฏิบัติกับเขาในฐานะเป็นพ่อแม่ เป็นแฟน เป็นเพื่อน เป็นเพื่อนร่วมงาน เราสามารถเข้าใจและดูแลเขาตามสถานะของตัวเองได้โดยที่ตัวเองยังไม่เดือดร้อน ส่วนที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญที่จะมีวิธีบำบัดอาการเหล่านี้ให้ดีขึ้นด้วยการทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด หรือให้ยาร่วมด้วย
จะรับมืออย่างไรกับคนที่มีนิสัย เรียกร้องความสนใจ
แม้จะไม่ได้ถึงกับป่วยเป็นโรคก็ไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจจะไม่น่ากังวล เพราะบางคนใช้วิธีนี้ทำให้คนอื่นสนใจจนติดเป็นนิสัย ทั้งที่ความจริงมีทางเลือกอีกตั้งมากมายที่จะแสดงออก แถมคนที่ต้องพบเจอพฤติกรรมแบบนี้บ่อยๆ ก็สร้างความรู้สึกด้านลบตั้งแต่หงุดหงิดไปจนถึงรำคาญ ฉะนั้นแล้วเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์ ทางเลือกที่เป็นไปได้คือการปรับทัศนคติตัวเอง เพราะคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ บางครั้งเขาก็ไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำ เพราะเขาทำจนเคยชิน เราสามารถรับมือได้ด้วยการ
1. อย่าเพิ่งแสดงความสนใจต่อการเรียกร้องนั้นในทันที เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าการแสดงพฤติกรรมแบบเดิมๆ จะได้ผลเสมอไป
2. มองข้ามอคติหรือความหมั่นไส้ของตัวเองเวลาเห็นคนเรียกร้องความสนใจ ลองแยกแยะพฤติกรรมเสียงดัง เล่นใหญ่ หรือการทำตัวมีปัญหาอยู่ตลอดเวลาเหล่านั้นออก แล้วมองว่าสารที่เขาคนนั้นต้องการจะสื่อจริงๆ คืออะไร เราอาจจะรู้ถึงความต้องการของเขาชัดเจนมากขึ้นก็ได้ คนส่วนใหญ่จะติดอยู่ตรงกับดักกับความน่าขวางหูขวางตาเหล่านี้
3. หากพยายามทำความเข้าใจแล้วก็ไม่สามารถรู้ถึงความต้องการ การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาถึงความต้องการก็เป็นทางออกที่ดี เราสามารถถามไปตรงๆ ว่าเขาต้องการอะไร แต่ถ้าไม่มีอะไรนอกจากการเรียกร้องความสนใจเล็กๆ น้อยๆ อย่างการโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กเศร้าๆ หรือโพสต์คลิปตัวเองร้องไห้ลงในโซเชียลมีเดีย
ถ้ามันเป็นเรื่องไม่หนักหนาอะไรสำหรับเรา การแสดงความสนใจเล็กๆ น้อยๆ อย่างการกดไลก์หรือการถามไถ่อย่างจริงใจบ้างก็เป็นการประคับประคองทางความรู้สึกในช่วงสั้นๆ แต่ไม่ได้แก้นิสัยการเรียกร้องความสนใจที่ต้นเหตุอยู่ดี
4. เมื่อพบว่าเริ่มเรียกร้องความสนใจแบบล้ำเส้นความถูกผิด เช่น เริ่มโกหก ใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น ถ้าเป็นเพื่อนอยู่ในฐานะที่เตือนกันได้ก็ควรพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าการกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด และเมื่อมีโอกาสเปิดใจ ควรถามถึงสาเหตุของการกระทำนั้นๆ มากกว่าการดุด่าว่ากล่าว เพราะการตำหนิหรือทำให้จะสร้างนิสัยเรียกร้องความสนใจมากขึ้นไปอีก
ถ้าอยากเปลี่ยนนิสัย เรียกร้องความสนใจ เราจะปรับอย่างไรได้บ้าง
ในทางกลับกัน ถ้าตัวเราเองเริ่มรู้สึกว่าการเรียกร้องความสนใจเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก สร้างความปวดหัวน่ารำคาญให้กับคนอื่น เราก็สามารถปรับพฤติกรรมตัวเองให้ดีขึ้นได้ โดยที่เราต้องเริ่ม ‘เชื่อ’ และ ‘อยาก’ ที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ โดยมิวิธีคิดง่ายๆ ว่า
1. ลองถามตัวเองอย่างจริงใจว่าขณะนี้เรากำลังรู้สึกอะไร ต้องการอะไร และสามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาได้หรือเปล่า เช่น เราโกรธแฟนที่ไม่มาตามนัดเพราะเห็นงานสำคัญกว่า แทนที่เราจะหนีกลับบ้านแล้วไม่ยอมติดต่อแฟนไป 3 วัน ลองเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเป็นการโทรหาแฟนแล้วพูดตรงๆ ว่าเรากำลังไม่พอใจที่เขาผิดสัญญา การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้นอกจากจะจริงใจกับความรู้สึกตัวเองแล้ว ปัญหาบางอย่างอาจไม่หมักหมมและถูกเคลียร์กันให้เข้าใจตั้งแต่แรกเลยก็ได้
2. ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มไม่เป็นที่สนใจและอยากให้มีคนตอบสนองสิ่งที่ตัวเองทำ แทนที่จะโพสต์ภาพร้องไห้ลงโซเชียลมีเดียจนคนตีความไปต่างๆ นานา ลองยกหูหาเพื่อนสนิทหรือคนที่เราไว้ใจสักคน แล้วเล่าสถานการณ์หรืออารมณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ให้เขาฟัง หรือถ้าไม่มีเรื่องมีราวอะไร แต่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกไม่สนใจก็ลองฝึกพูดแบบนี้ไปแบบทีเล่นทีจริงก็ได้ว่าตอนนี้เหมือนไม่มีใครสนใจและอยากได้รับความเห็นใจจากคนอื่นอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่จะบอกใครไปแบบนั้น ไม่ต้องเขิน อาจไม่ใช่วิธีที่เราคุ้นเคยนัก แต่การแชร์เพลงเศร้าลอยๆ หวังจะให้คนอื่นสนใจก็ไม่ใช่วิธีที่จะได้มาซึ่งความสนใจเสมอไปเหมือนกัน
ถ้าลองฝึกด้วยวิธีคิดข้างต้นแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ผล หรือว่ายากเกินไปที่จะทำก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ว่าอาการเรียกร้องความสนใจเป็นส่วนหนึ่งของโรค ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งโรคซึมเศร้า โรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮิสทีเรีย หรืออาจเป็นเพียงนิสัยที่เราเคยชินว่าทำแบบนี้แล้วจะได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือเป็นเพียงพฤติกรรมก็สามารถค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างทางเลือกใหม่จนเราสามรถลดการเรียกร้องความสนใจได้ในที่สุด
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com