×

ทำไมเราจึงเลือกโกหกมากกว่าเผชิญหน้า แล้วนิสัยโกหกจนเป็นเรื่องธรรมดาถือว่าป่วยไหม

15.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

03:03 เคสตัวอย่างของการถูกคนโกหก

09:26 ทำไมคนเราชอบโกหก

14:06 แรงจูงใจในการโกหก

24:18 ทำไมเราจึงเลือกการโกหกมากกว่าเผชิญหน้ากับความจริง

31:41 ถ้าอยากเลิกโกหกทำอย่างไร

34:25 รับมือกับคนชอบโกหกอย่างไร

‘โกหก’ เป็นพฤติกรรมหนึ่งของมนุษย์ที่ประหลาด เราไม่ชอบให้คนอื่นโกหก แต่บางครั้งเราก็ไม่สามารถห้ามตัวเองไม่ให้โกหกคนอื่นได้

 

R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว จึงมาหาสาเหตุว่าทำไมคนเราต้องโกหกแทนที่จะเผชิญหน้ากับความจริง โกหกจนเป็นนิสัยถือว่าเป็นโรคไหม พวกสิบแปดมงกุฎเขาตั้งใจโกหกหรือเขาเชื่อว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นจริงๆ และเราจะอยู่ร่วมกับคนชอบโกหกได้อย่างไร


ทำไมคนเราจึงโกหก

จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า โกหก คือการจงใจกล่าวคำที่ไม่จริง พูดปด พูดเท็จ ซึ่งตรงกับทางจิตวิทยาที่ให้นิยามของการโกหกว่าคือการไม่พูดความจริงทั้งหมด โดยไม่นับเจตนาว่าจะเจตนาดีเพื่อเป็นการกู้สถานการณ์หรือว่าทำให้ใครสบายใจขึ้นก็ตาม คนเราจึงพูดโกหกกันอยู่เป็นประจำ แถมวันละหลายครั้ง มี TED Talks หนึ่งที่พูดถึงสถิติการโกหกไว้อย่างน่าสนใจว่า โดยปกติแล้วมนุษย์จะโกหกและถูกโกหกราววันละ 10-200 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโกหกตัวเองหรือโกหกคนอื่นก็ตาม

 

สาเหตุที่คนคนหนึ่งเลือกที่จะโกหก ส่วนใหญ่มาจากการไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง อาจเคยเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตว่าถ้าพูดความจริงจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ตัวเราเองอาจถูกตำหนิหรือลงโทษ เลยเรียนรู้ว่าการโกหกนั้นอาจเป็นทางออกที่ดีกว่าสำหรับทุกฝ่าย หรือรู้สึกว่าความจริงที่ตัวเองต้องเผชิญอยู่นั้นหนักหนาเกินกว่าจะรับไหว จึงเลือกการโกหกแทนการรับมือกับความจริง

 

เช่น ตอนเด็กเราเคยทำแจกันของแม่ตกแตก เมื่อแม่เดินมาเห็นเราก็บอกแม่ว่าแมวทำ แล้วแม่ก็ไม่ด่า จึงรู้สึกว่าการทำอย่างนี้มัน ง่าย และ เร็ว กว่าการยอมรับความจริงอย่างตรงไปตรงมา หรือในทางกลับกัน ถ้าเราทำแจกันแตกและถูกแม่ลงโทษด้วยการดุด่าว่ากล่าวอย่างไม่ฟังเหตุผล เราจะเรียนรู้ว่าถ้าพูดความจริง เราจะได้รับการลงโทษด้วยความรุนแรง เราจึงเลือกการโกหกเป็นทางออก

สิ่งที่ต้องระวังก็คือเมื่อเราเริ่มเรียนรู้แล้วว่าการโกหกนั้นคือทางออกที่ปลอดภัย เราจะสั่งสมทัศนคติที่ว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย เลยทำแบบนี้บ่อยเข้า ในที่สุดมันจะบ่มเพาะนิสัยให้เราเป็นคนชอบโกหกในที่สุด

แรงจูงใจในการโกหก

การที่เราไม่ยอมรับความจริงและเลือกที่จะโกหกเป็นทางออกแรกๆ มักจะมีแรงจูงใจต่างกันไป เมื่อลองสำรวจจะดูพบว่ามี 4 เหตุผลใหญ่ๆ คือ

 

1. อยากได้แค่ยินแค่สิ่งที่อยากได้ยิน

เช่น ทะเลาะกับแฟนมาแล้วอยากระบายให้เพื่อนฟัง เราก็จะเลือกเล่าแค่ว่าแฟนไม่ดีอย่างไร เราโดนกระทำอย่างไร แต่เลี่ยงที่จะเล่าว่าเราตอบโต้แฟนไปอย่างไร หรือเรางี่เง่าอย่างไร และที่ทำอย่างนี้เพราะเราต้องการให้เพื่อนเข้าข้างก็เท่านั้นเอง

 

2. อยากรักษาน้ำใจ

เช่น เพื่อนตัดผมทรงใหม่ด้วยความมั่นใจว่าเก๋ที่สุด แล้วถามว่าผมทรงใหม่เป็นอย่างไรบ้าง เราเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่าผมทรงไม่นี้เข้ากับเพื่อนเราเลย แต่เราก็เลือกที่จะพูดว่า ‘ก็โอเคอยู่นะ’ หรือ ‘เฮ้ย แก เดี๋ยวมันก็ยาว’ เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจและบอกอ้อมๆ เพราะมันแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว

 

3. กลัวความผิดหวัง

เช่น เราเคยตกลงกับแฟนเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเวลาเลิกงานแล้วเราจะต้องให้ความสำคัญกับแฟนเป็นอันดับหนึ่ง นัดกินข้าวก็ต้องเป็นนัด ห้ามสายหรือห้ามยกเลิกเพราะมัวแต่ทำงาน แต่วันหนึ่งเราทำงานติดพันมากๆ และเราเลือกงานแทนที่จะเลือกแฟน เลยโกหกแฟนไปว่าน้องที่ออฟฟิศป่วยกะทันหัน ต้องส่งโรงพยาบาล หรือว่าแม่เรียกให้ไปช่วยซื้อของเข้าบ้าน ไปกินข้าวด้วยไม่ได้ เราเลือกโกหกในสถานการณ์แบบนี้เพราะกลัวคนที่เรารักจะผิดหวัง

 

4. ปกป้องตัวเอง

กรณีคลาสสิก เช่น มาทำงานสาย สาเหตุจริงๆ คือนอนดึกเลยตื่นสาย แต่เราเลือกที่จะบอกเจ้านายและเพื่อนร่วมงานว่ารถติดบนทางด่วน หรือรถเสีย ต้องเข้าอู่ เพราะไม่อยากดูแย่และโดนตำหนิ

 

คนที่ถูกโกหกจะรู้ไหม

ในทางประสาทวิทยา (Neurology of Lying) ตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์เราเมื่อพูดความจริงกับตอนโกหกจะใช้สมองคนละส่วนทำงาน ทำให้ร่างกายแสดงออกต่างกันไปด้วย หลายครั้งที่เราดูภาพยนตร์แล้วมีตัวละครถูกสอบสวน ตัวละครนั้นอาจแสดงปฏิกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะแปลความหมายจากจิตใต้สำนึก (Subconcious) เหล่านี้ออก เช่น หน้าตาแสดงอาการกังวลมากกว่าคนปกติ คิ้วขมวดเข้าหากันด้วยความเครียดจนเกิดรอยย่นสั้นๆ บนหน้าผาก แตะจมูกบ่อยขึ้นเนื่องจากเส้นเลือดฝอยบริเวณจมูกจะรวมตัวกันมากกว่าปกติ หรือที่เด่นๆ อย่างการเคลื่อนไหวของดวงตา บางคนที่เตรียมตัวมาแล้วว่าจะโกหกเรื่องอะไร ดวงตาจะกลอกไปทางซ้าย เพราะเป็นการนึกถึงเรื่องอดีต ส่วนบางคนที่โกหกและกลอกตาไปทางขวาจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา เพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน โดยการกลอกตาไปทางขวาเป็นการนึกถึงเรื่องอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น

 

แต่การจะกลอกตาซ้ายหรือขวาก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการโกหกหรือไม่เสมอไป ผู้เชี่ยวชาญจะดูอาการทางร่างกายอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น สังเกตจากเสียงพูดที่เร็วขึ้นหรือช้าลงมากกว่าปกติ การอธิบายเรื่องที่มีรายละเอียดมากเกินไป เพราะกลัวว่าจะไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนั้นแล้วอาการทางร่างกายอย่างกระสับกระส่าย เหงื่อออก กลืนน้ำลาย หายใจ พยักหน้า ก็สามารถใช้พิจารณาร่วมด้วยได้เช่นกัน

 

แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีทักษะในการอ่านปฏิกิริยาจากจิตใต้สำนึก เขาก็สามารถรู้สึกได้ว่าคนตรงหน้ากำลังโกหก เขาจะรู้สึกว่าคนที่กำลังปฏิสัมพันธ์ด้วยกำลังแสดงความไม่ปกติ เพียงแต่จะแปลความหมายการขยับร่างกายไม่ได้ แต่พฤติกรรมทั้งหมดจะสะสมและส่งผลต่อความไว้ใจ (Trust) ระหว่างกัน เช่น แฟนโกหกเราว่าผิดนัด เพราะว่าติดงาน เขาจะมีอาการหลุกหลิกลุกลี้ลุกลนบางอย่างที่เราสามารถสัมผัสได้ แต่แปลความหมายไม่ได้ว่าร่างกายกำลังบอกอะไร เพียงแต่พฤติกรรมนั้นจะส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจ และเมื่อแฟนเราทำบ่อยเข้าก็อาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ หากเขาไม่ยอมเผชิญหน้ากับความจริงอย่างตรงไปตรงมา

 

โกหกเป็นนิสัยถือเป็นโรคไหม

แม้ทุกวันนี้ในทางจิตวิทยาและจิตแพทย์เองก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการโกหกในระดับที่ติดจนเป็น นิสัย นั้นถือว่าเป็น โรคโกหก เลยหรือเปล่า แต่ในทางจิตเวชมีอยู่โรคหนึ่งที่ผู้ป่วยมักมีนิสัยโกหกโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว ผู้ป่วยจะสร้างโลกทั้งใบขึ้นมา แล้วเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเอง ‘มโน’ ขึ้นมานั้นเป็นไปอย่างที่ตัวเองคิดจริงๆ เราเรียกโรคนั้นว่า โรคหลอกตัวเอง 

 

โรคหลอกตัวเอง (Pathological Liar) ผู้ป่วยจะแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อหลบหนีจากความจริงที่ตัวเองไม่อยากรับรู้ จึงสร้างเรื่องหลอกตัวเองซ้ำๆ แล้วเชื่อว่าเรื่องที่ตัวเองแต่งขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง โดยต้นเหตุของโรคนี้อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในครอบครัวที่บ่มเพาะมาตั้งแต่ยังเด็ก หรือเกิดจากความรุนแรงที่ผู้ป่วยถูกกระทำ เช่น การถูกข่มขืน การถูกทำร้ายร่างกาย ถูกบังคับขืนใจในบางเรื่อง หรือเกิดจากความผิดปกติทางประสาท ความพิการทางสมอง หรือการเรียนรู้ นอกจากนี้แล้วยังเป็นอาการข้างเคียงของภาวะยับยั้งชั่งใจไม่ได้ (Impulse Control Disorders) จนเกิดปัญหาในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองร่วมได้ด้วย

 

โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอกตัวเองสามารถจำแนกอาการได้เป็น 3 ประเภทคือ

1. กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว อาการโกหกของผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมาจากสาเหตุของการหลงผิด คิดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อนั้นเป็นเรื่องจริง ซึ่งเมื่อแยกแยะดูแล้ว เรื่องที่ผู้ป่วยเล่าส่วนใหญ่จะไม่จริง และแทบทั้งหมดมาจากโลกที่จินตนาการขึ้น ที่สำคัญคือผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะไม่มีเจตนาจะโกหก เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังพูดเป็นเรื่องจริง ถ้ามีใครพยายามจะบอกความจริงก็จะต่อต้านและไม่พอใจขึ้นมาก็ได้

 

2. กลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการโกหกของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมาจากการที่สมองและสำนึกพยายามสร้างเรื่องด้านบวกขึ้นมาประคับประคองภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้น เมื่อผู้ป่วยสร้างเรื่องให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นอยู่เป็นประจำก็อาจหลงผิดคิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงขึ้นมาก็ได้

 

3. กลุ่มที่โกหกจนเป็นนิสัย อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าวงการจิตวิทยาเองก็ยังไม่ฟันธงว่าอาการนี้จัดเป็นโรคโกหกเลยหรือไม่ แต่การโกหกเป็นประจำโดยที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็เป็นจุดเริ่มต้นของโรคหลอกตัวเองได้

 

วิธีสังเกตการโกหกของคนเป็นโรคหลอกตัวเอง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอกตัวเองจะแตกต่างจากคนที่โกหกจนเป็นนิสัย คือนอกจากจะโกหกเป็นประจำโดยไม่สนใจว่าเรื่องนั้นจะผิดถูกหรือส่งผลกระทบต่อใครแล้วยังจะ สร้างโลกใบใหม่ขึ้นมา และจินตนาการสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น อยากได้ อยากมีอยู่ในโลกใบนั้น เชื่อว่าโลกที่ตัวเองสร้างมานั้นคือเรื่องจริง เริ่มแยกเรื่องจริงกับเรื่องที่ตัวเองแต่งขึ้นมาไม่ออก และที่สำคัญจะไม่รู้ตัวเองว่ากำลังโกหก แต่เชื่อว่ากำลังพูดเรื่องจริงอยู่ ซึ่งเราสามารถสังเกตพฤติกรรมทางร่างกายของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น มักมีอาการพูดไปยิ้มไปโดยที่ไม่รู้สาเหตุ เกร็ง พูดด้วยสีหน้าที่นิ่งเกินกว่าเรื่องที่กำลังเล่า หายใจถี่แรง ใช้มือแตะปากระหว่างพูด พูดติดๆ ขัดๆ และเนื้อความซ้ำไปซ้ำมา ย่ำเท้าซ้ำๆ ขยับตัวบ่อยๆ หรืออธิบายเรื่องยืดยาวเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นของคนที่เป็นโรคหลอกตัวเอง เราเองไม่สามารถฟันธงหรือวินิจฉัยว่าใครป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่ เมื่อพบว่าคนใกล้ตัวป่วยเป็นโรคนี้ก็ควรพบผู้เชี่ยวชาญจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

โดยวิธีการรักษานั้น หากเป็นผู้ป่วยโรคหลงผิด จิตแพทย์จะให้ยารักษาเพื่อบำบัดตามอาการร่วมกับการปรับความคิดและพฤติกรรมจากนักจิตบำบัด ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะรู้ปม คลายปม รวมถึงค่อยๆ ดึงผู้ป่วยให้กลับมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ซึ่งทั้งหมดจะค่อยๆ ให้ผู้ป่วยจะสร้างสมดุลให้กับตัวเอง

 

ถ้าอยากเลิกโกหกต้องทำอย่างไร

ในกรณีที่เราไม่ได้ป่วยเป็นโรคหลงผิด แต่เป็นคนทั่วไปที่อยากเลิกพฤติกรรมการโกหกเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองก็สามารถทำได้ ถึงแม้ว่าแนวคิดทั้งหลายอาจจะไม่ได้เป็นสเตปชัดเจนและอาจเป็นนามธรรมอยู่สักหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าวันหนึ่งการโกหกของเราจะลดลง

 

1. เชื่อ ว่าพฤติกรรมด้านลบทุกอย่างของเราสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ อาจจะใช้เวลาไม่น้อยที่จะทำให้เรารู้สึกอย่างนี้ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ เราสามารถฝึกให้ตัวเองพูดอย่างตรงไปตรงมาและเลือกที่จะไม่โกหกได้ในที่สุด

 

2. ยอมรับ ในความผิดพลาดของตัวเอง ลองบอกตัวเองว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกนี้สามารถเกิดความผิดพลาดได้ทั้งนั้นไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ ไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบเสมอไป เพราะเมื่อเรายอมรับความผิดพลาดและโอบกอดตัวเองด้วยความจริงแล้ว เราก็เลือกที่จะกล้ายอมรับความจริงมากขึ้น และความรู้สึกว่าจะต้องโกหกเท่านั้นจึงจะเป็นทางรอดก็จะน้อยลงตามไปด้วย

 

3. ลด เสียงก่นด่าตัวเอง เมื่อเราทำผิดพลาด เสียงข้างในจิตใจเราอาจจะเต็มไปด้วยคำวิจารณ์ตัวเอง ‘ทำไมเราพลาดอีกแล้ว’ ‘ทำไมเราจึงห่วยอย่างนี้’ ลองลดคำที่เป็นด้านลบพร้อมกับการยอมรับว่าความผิดพลาดไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราลดน้อยลง ลองให้อภัยตัวเองแล้วเผชิญหน้ากับความจริงอย่างตรงไปตรงมา อาจจะทำให้เราอยู่กับความเป็นจริงและเลือกพูดความจริงมากกว่าการต้องโกหก

 

แต่ถ้าใครรู้สึกว่าการพยายามด้วยตัวเองเป็นเรื่องยากเกินไป โกหกจนเริ่มติดเป็นนิสัยจนยากที่จะเลิก ไม่เห็นทางอื่นที่จะต้องโกหกไปเรื่อยๆ แล้ว การเดินเข้าไปหาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดก็เป็นทางออกที่ดีที่จะได้เข้าใจตัวเองพร้อมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปด้วยก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่เกินไปนัก

 

ถ้าต้องอยู่ร่วมกับคนที่ชอบโกหกต้องทำอย่างไร

แม้ว่าเราเองจะลดการโกหกเท่าไร แต่สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือการต้องอยู่ร่วมสังคมกับคนที่โกหก ทั้งในกลุ่มเพื่อน ห้องเรียนในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในที่ทำงานก็ตาม สิ่งที่เราควรปฏิบัติเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับคนที่โกหกคือ

 

1. ปล่อยวาง นึกไว้เสมอว่าเราเปลี่ยนตัวเองได้ แต่เราไม่สามารถคาดคั้นหรือกดดันให้ใครทำอะไรได้ โดยเฉพาะการบังคับให้คนคนนั้นพูดแต่ความจริงจึงเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นไปอีก

 

2. แต่เราก็สามารถรับมือกับคนที่โกหกได้ด้วยการ พูดความจริงกลับไป เช่น เรารู้ว่าเพื่อนร่วมงานของเราคนนี้โกหกก็ควรสื่อสารกลับไปอย่างให้เกียรติว่าความจริงที่เรารู้มาเป็นอย่างนี้ อธิบายด้วยเหตุผลว่าสิ่งที่เขาโกหกนั้นสร้างความเดือดร้อนอย่างไร คนรอบข้างไม่โอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง พูดด้วยน้ำเสียงชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่เจือปนอารมณ์โกรธ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากอยู่บ้าง แต่การอธิบายอย่างจริงใจแบบนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัย สุดท้ายเขาคนนั้นรู้สึกปลอดภัยพอก็อาจยอมพูดความจริงออกมาในที่สุด

 


ฟังรายการ R U OK พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 


Credits

 

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising