ไม่กี่ปีมานี้มีศัพท์ทางจิตวิทยาคำหนึ่งซึ่งแพร่หลายให้เราได้ยินมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ อินโทรเวิร์ต (Introvert) อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำนี้ก็จะเข้าใจไปว่าเป็นอาการของคนชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงสังสรรค์ ทำตัวแปลกแยกจากคนหมู่มาก ไปจนถึงต่อต้านสังคม (Antisocial) หรือมักเศร้าหม่นอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งไม่ใช่ความจริงเสียทั้งหมด
วันนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น จึงชวน ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว มาหาคำตอบว่าจริงๆ แล้ว Introvert คืออะไรกันแน่ เกี่ยวกับอาการซึมเศร้าไหม ใช่โรคที่ต้องรักษาหรือเปล่า แล้วถ้า Introvert และ Extrovert จำเป็นต้องมาเจอกัน จะอยู่กันอย่างไรด้วยความเข้าใจให้มีความสุข
ประชากรโลกนี้มีจำนวนหลายพันล้าน ถึงจะเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ทุกคนล้วนแตกต่าง แม้แต่คนชาติพันธุ์เดียวกัน ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน ก็ยังต่างกันไปในรายละเอียดของแต่ละปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นการที่เราจะแบ่งมนุษย์ออกเป็น Introvert และ Extrovert แค่สองแบบนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ นี่จึงเป็นการแยกประเภทเพียงคร่าวๆ ให้เราเห็นภาพมนุษย์ที่มีลักษณะนิสัยพื้นฐานที่ต่างกันโดยแนวคิดทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งเท่านั้น
Introvert คืออะไร
เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพ ลองสมมติว่าเรากำลังอยู่ในงานวันเกิดเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งในงานมีใครต่อใครมากมาย ทั้งเพื่อน เพื่อนของเพื่อน และผู้คนใหม่ๆ มากหน้าหลายตาที่ต้องทักทาย ทำความรู้จัก พูดคุย ทุกคนต้องเปิดช่องทางในการรับรู้เยอะมาก คนที่เป็น Extrovert จะเอ็นจอยกิจกรรมเหล่านี้อย่างยิ่ง เพราะนั่นคือวิธีการชาร์จพลังของเขา การได้อยู่กับผู้คนทำให้เขามีพลัง เกิดการไหลเวียนของพลังงานจากคนอื่นมาสู่ตัวเขาและจากตัวเขาไปสู่คนอื่น นี่คือสิ่งที่เขาสนุก กลับถึงบ้านก็ยังมีความสุขมาก เพราะได้ไปรับพลังมาอย่างเต็มเปี่ยม
แล้ว Introvert ล่ะอยู่ไหน เขาก็ไปงานปาร์ตี้ที่ว่านั่นเช่นกัน แต่การพบผู้คนมากหน้าหลายตา ต้องยิ้ม ต้องปฏิสัมพันธ์ ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิตเป็นสิ่งที่ใช้พลังเยอะมากสำหรับเขา ทั้งๆ ที่เขาทำได้และไม่ได้แสร้งทำด้วย แต่ยิ่งทำ พลังในร่างกายจะยิ่งหมดไป เพราะนั่นไม่ใช่วิธีชาร์จพลังของเขา
การชาร์จพลังสำหรับ Introvert คือการได้อยู่กับตัวเอง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ ปลอดภัย คุ้นเคย แล้วใช้เวลาเหล่านั้นทบทวนใคร่ครวญกับความคิด ความรู้สึกของตน
เพราะฉะนั้นการจะวัดว่าใครเป็น Introvert หรือ Extrovert ต้องดูที่วิธีการชาร์จพลังว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่ไปมองว่าเขามีลักษณะพฤติกรรมแบบไหน
ถ้าเขามีพลังจากการอยู่คนเดียวแสดงว่ามีโอกาสที่จะเป็น Introvert ส่วน Extrovert นั้น ถ้าเราจับเขาไปนั่งอยู่บนยอดเขานิ่งๆ คนเดียวเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เขาจะรู้สึกเหมือนเป็นบ้า เรามาทำอะไรกันอยู่ที่นี่ มันไม่เห็นมีอะไรเลยบนนี้ ในขณะที่ Introvert จะบอกว่าบนนี้มีอะไรตั้งเยอะ ทั้งหมอก ทั้งเส้นขอบฟ้า ที่สำคัญ มันมีความเงียบสงบอันแสนมีค่า
แต่ก็ไม่ใช่ว่า Introvert จะอยากอยู่คนเดียวเสมอไป พวกเขาสามารถอยู่กับสังคมได้เมื่อรู้สึกว่านี่คือสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับตน เพราะจริงๆ แล้ว Introvert ก็อยากสื่อสารเชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่นเช่นกัน แค่ไม่ใช่ในทุกรูปแบบ ทุกเมื่อ อย่างไร และกับใครก็ได้ แต่เป็นเฉพาะบางที่ บางคน บางรูปแบบเท่านั้น Introvert ก็คือมนุษย์ปกติที่เหงาเป็นและต้องการเพื่อนคุยอย่างคนทั่วไป แต่เขาจะรายละเอียดเยอะหน่อยเท่านั้นเอง
บางครั้งเพื่อนของ Introvert จะพบว่าพวกเขาไม่ชอบรับโทรศัพท์ แต่จะสะดวกติดต่อผ่านข้อความมากกว่า หรือไม่ก็เจอหน้ากันไปเลย เพราะเขารู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้และมีคุณค่ามากกว่า
ข้อดีของ Introvert
แม้หลายครั้งคำว่า Introvert จะฟังดูลบ แต่ที่จริงก็มีข้อดี เช่น
1. ตอนประชุมงาน เราอาจเห็นคนแบบนี้นั่งเงียบ และไม่ใช่คนแรกๆ ที่จะแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเขาจะคิดใคร่ครวญเยอะ จะค่อยๆ พิจารณาทั้งความคิดและความรู้สึกของตัวเองกว่าจะตัดสินใจพูดออกมาแต่ละอย่าง อาจใช้ตัวกรองหลายชั้น ฉะนั้น บางครั้ง Introvert อาจให้ความคิดเห็นลึกซึ้งในแง่มุมที่คนคิดไวไม่ทันฉุกคิด
2. เขามักไวต่อความรู้สึก อาจเรียกได้ว่าเซนสิทีฟหรืออะไรที่ใกล้เคียง จึงเป็นเหตุผลให้คนลักษณะนี้ไม่ค่อยชอบไปในที่ที่เสียงดังหรือคนเยอะๆ เช่น การไปคอนเสิร์ตนั้น ที่จริง Introvert ก็ไปได้ แต่พอผ่านไปสัก 2 เพลงเขาก็รู้สึกหมดพลังแล้ว เพราะรอบๆ ตัวมีความเคลื่อนไหววุ่นวายมากเกินไป เมื่อกลับถึงบ้านเขาจะรู้สึกเหมือนไปผ่านสนามรบมา
3. อยู่กับเขา เราอาจได้บทสนทนาที่ลึกซึ้ง เช่น เขาอาจถามเราว่าที่ผ่านมามีช่วงเวลาไหนที่ภาคภูมิใจในตัวเองบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย เขาจะเอ็นจอยกับการคุยกันในลักษณะนี้มากกว่าบทสนทนาผิวเผินกับคนไม่คุ้นเคยอย่างที่เรียกว่า small talk
อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า Extrovert มักจะพุ่งไปข้างหน้าในแนวระนาบ ส่วน Introvert มักจะค่อยๆ ลงลึกไปในแนวดิ่ง
เก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว เป็น Introvert ไหม
อาการเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว ไม่ยอมเข้าสังคม ต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก เหล่านี้อาจไม่ใช่ Introvert แถมยังควรรีบเข้าไปดูแล เพราะ Introvert คือมนุษย์ที่ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เขาเพียงต้องการชาร์จพลังของตนด้วยการอยู่คนเดียวเป็นระยะ สรุปคือต่อให้เขาจะชอบอยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ตลอดเวลา และเขายังชอบคบหาเพื่อนมนุษย์ แต่ไม่ใช่ในจำนวนมากๆ และใครก็ได้
เพราะฉะนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าคุณลูกไม่ยอมออกจากห้องเลย ไม่ยอมกินข้าวร่วมกับผู้อื่นเลย และรู้สึกว่าเริ่มเข้าไม่ถึงชีวิตลูกแล้ว ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
ถ้าสงสัยว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน
หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจได้ลองสำรวจตัวเองคร่าวๆ แล้วพบว่า ด้วยพื้นฐานเราเป็นคนที่มีความสุขกับคนกลุ่มเล็กๆ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อต้องทำงานกับคนหมู่มากก็สามารถทำได้ดี จึงเริ่มสับสนว่าตกลงเราชอบหรือไม่ชอบอยู่กับผู้คนกันแน่ บุคลิกภาพสลับไปมาแบบนี้เรียกว่าผิดปกติไหม
ตอบได้เลยว่านี่ไม่ใช่อาการที่ต้องพบแพทย์ เพราะไม่ว่าพื้นฐานเราจะเป็นคนอย่างไรก็ตาม เมื่อหน้าที่หรือบทบาทเรียกร้อง เช่น ในเวลาทำงาน หากเราสามารถยืดหยุ่นบุคลิกภาพของตนเองเพื่อปฏิบัติบางภารกิจในยามจำเป็นยิ่งเรียกว่าเป็นเรื่องดี และเมื่อหมดบทบาทหน้าที่ก็ค่อยกลับมาเป็นตัวของตัวเอง แบบนี้ถือว่ารู้จักวางตัวและปรับตัว เป็นมืออาชีพ มีความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ความแปรปรวนหรือผิดปกติทางบุคลิกภาพแต่อย่างใด
แต่ถ้าทำอย่างนี้มากๆ เข้าแล้วรู้สึกเหนื่อยเกินไปก็ให้ลองถามตัวเองดูว่าเราจะประคับประคองตัวเองอย่างไรให้อยู่รอดทางอารมณ์และจิตใจไปนานๆ
Introvert นำไปสู่การเป็นโรคอื่นได้หรือไม่
หลายคนอาจรู้สึกว่าธรรมชาติ Introvert มักเป็นคนคิดมาก เลยมีคำถามต่อไปว่าแบบนี้จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่ คำตอบคือที่จริงแล้วไม่ว่าเราจะมีธรรมชาติแบบไหนก็สามารถเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล หรือเศร้าได้พอๆ กัน เช่น Extrovert ก็อาจเครียดจากการหาอะไรเข้าตัวมากเกินไป หรือเกิดจากการวิ่งปะทะสิ่งต่างๆ มากเกินไปจนพอกพูนและตามจัดการไม่ทัน นี่ก็ทำให้เครียดเหมือนกัน
สรุปว่าใครก็เครียดได้ แต่จะเครียดหนักหรือนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับวิธีจัดการของแต่ละคนมากกว่า บางคนเจอสิ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียดเยอะมากในชีวิต แต่ถ้ามีวิธีจัดการความเครียดที่ดี ระบบระบายน้ำเสียของเขาทำงานดี เขาก็อาจจะเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีได้ ในขณะที่บางคนใช้ชีวิตชิลล์ แต่กลไกจัดการความเครียดแย่ คนนี้อาจเครียดกว่าคนแรกก็ได้
Introvert กับ Extrovert อยู่ร่วมกันได้หรือไม่
แท้ที่จริงแล้วมนุษย์แต่ละคนสามารถจะมีบางภาวะเป็น Introvert และบางภาวะเป็น Extrovert เหมือนเฉดสีของรุ้งที่เชื่อมและเหลื่อมกัน ไม่ได้แยกออกจากกันแบบเด็ดขาด จนบางทีฟันธงไม่ได้ว่าเป็นแบบไหน หรือบางคนอาจมีลักษณะของทั้งสองอย่างในสัดส่วนใกล้เคียงกันในร่างเดียว อย่างที่เรียกว่า Ambivert ก็มี
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างตัวเราและคนรอบข้างที่มีลักษณะพื้นฐานไม่เหมือนกัน ลองทำตามวิธีนี้
1. อย่าเพิ่งตัดสินหรือหาคำตอบว่าเขาทำอย่างนั้นไปทำไม
เช่น ถ้าเพื่อน Introvert ของเราไม่รับโทรศัพท์ หรือไลน์ไปก็อ่านข้อความ แต่ไม่ยอมตอบ ก็อย่าเพิ่งไปรีบคิดว่า ‘ไม่อยากคุยกับเราหรือ’ เพราะที่จริงแล้วอาจไม่มีอะไรเลย แค่ธรรมชาติและจังหวะในการตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามาของเขาแตกต่างกับของเราก็เท่านั้นเอง
2. ลองจินตนาการถึงความสุขอีกแบบหนึ่งที่เคยมี
เช่น ถ้า Introvert อยากเข้าใจ Extrovert ก็ลองนึกถึงความสุขของตัวเองที่ได้จากบางโมเมนต์ในอดีตตอนพบปะผู้คนมากมาย (มันต้องมีสักครั้งในชีวิตใช่ไหม) หรือถ้า Extrovert อยากเข้าใจ Introvert ก็ให้ลองนึกถึงตัวเองในวันที่พลังหมด ไม่อยากคุยกับใคร และมีความสุขมากตอนได้อยู่เงียบๆ คนเดียว (เช่นกัน มันต้องมีสักครั้งในชีวิตใช่ไหม) ถ้าเราจำความรู้สึกของช่วงเวลาเหล่านั้นได้ เราก็มีโอกาสเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น
3. ให้เวลากันและปรับจังหวะเข้าหากัน
จังหวะชีวิตของ Introvert อาจไม่รวดเร็วเร้าใจเท่า Extrovert เวลาอยู่กับเขา เราก็ต้องปรับจังหวะให้ช้าลงสักหน่อย และใช้ช่วงเวลาคุณภาพด้วยกันแบบลงลึกมากขึ้นอีกนิด
คู่สามีภรรยาที่ใช้ชีวิตร่วมกันตลอดเวลาอาจต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกันมากเป็นพิเศษ เช่น ระหว่างขับรถไปด้วยกัน สามีผู้เป็น Extrovert ชอบเปิดเพลงฟัง ในขณะที่ภรรยาผู้เป็น Introvert ชอบดื่มด่ำความเงียบ ควรเริ่มจากการที่ภรรยาต้องเข้าใจสามีเสียก่อนว่าเสียงเพลงมันช่วยกระตุ้นพลังงานความสุขของเขา ในขณะที่สามีก็ต้องเข้าใจภรรยาว่าการฟังเพลงเป็นเรื่องเหนื่อยล้าอารมณ์สำหรับเธอ แล้วจากนั้นค่อยหาทางประนีประนอม เช่น ถ้าสามีเป็นคนขับ เราจะฟังเพลงกัน แต่ถ้าภรรยาเป็นคนขับ เราจะนั่งกันไปเงียบๆ เป็นต้น
ในกรณีของ เพื่อน ขอยกตัวอย่างการไปงานปาร์ตี้อีกครั้ง คู่หูเพื่อน Extrovert /Introvert ควรจะคอยเช็กกันและกัน ถ้าเห็นว่าเพื่อน Introvert ของเรามีท่าทีอึดอัด เริ่มเหนื่อย พูดน้อยลงเรื่อยๆ หน้าหงิกลงเรื่อยๆ เพราะต่อให้พยายามแค่ไหนก็เหนื่อยจนประคองหน้าตัวเองไม่ไหวแล้ว อันนี้ก็อย่าไปโกรธเขาว่าชอบทำหน้าไม่รับแขก (ไม่ได้ชอบ มันเป็นเอง) ไม่รู้จักเข้าสังคม (รู้จัก แต่มันนานเกินไป) ถ้าเขาหมดสนุกและเริ่มทุกข์ทรมานก็ปล่อยเขากลับบ้านไปเถิด เราก็สนุกของเราต่อไป ส่วน Introvert ก็เข้าอกเข้าใจเพื่อนด้วยว่า Extrovert นั้นเขากำลังมัน พลังงานกำลังมา จิตวิญญาณกำลังพองฟู ปล่อยให้เขาอยู่ไป ไม่ต้องมัวงอนว่าทำไมไม่กลับด้วยกัน ไม่ใช่แฝดสยาม ตัวไม่ได้ติดกัน จงยกมือถือขึ้นเรียก Grab แล้วรีบกลับบ้านไปนั่งอ่านหนังสือพลางจิบชาคาโมมายล์ของเราดีกว่า
ขอยกตัวอย่างอีกสักหนึ่งสถานการณ์สมมติ การไปเที่ยวด้วยกัน หากมนุษย์ Introvert ผู้ชอบอยู่ในที่เงียบๆ อย่างลานกว้างที่มีต้นไม้ใหญ่ สุขกับการนั่งเขียนไดอะรีเพื่อทบทวนชีวิตตัวเองเบาๆ จะต้องเดินทางร่วมกับเพื่อน Extrovert ก็อย่ามัวแต่นั่งดูผีเสื้อจนไม่ไยดีเลยว่าเพื่อนของเรากำลังงุ่นง่านแค่ไหน เขาอาจจะอยากกระโจนเข้าไปฟาดฟันกับผู้คน ค้นกระบะเสื้อผ้าลดราคา หรืออยากบาร์ฮอปปิ้งเต็มทีแล้วก็ได้
คอยสังเกตว่าอะไรเป็นตัวชาร์จพลัง และอะไรเป็นตัวดูดพลังของเพื่อนเรา ถ้าเรารักเพื่อน เราก็ต้องรักทั้งตัวตนของเขา เหมือนหรือต่างจากเราไม่ใช่ปัญหา อยู่ที่ว่าเราดูแลให้ทั้งสองฝ่ายได้ผลัดกันสนุกกับการเดินทางร่วมกันครั้งนี้ในแบบที่แต่ละคนชอบอย่างไร ย้ำอีกครั้ง ตัวไม่ได้ติดกัน แยกกันไปเอ็นจอยของใครของมันบ้างก็ได้ แล้วก็ไม่ต้องพยายามดัดนิสัยให้เพื่อนมาชอบทำอะไรเหมือนเรา เพราะถ้าเขาพยายามดัดเราบ้าง เราก็คงจะรำคาญเหมือนกัน
Introvert กับค่านิยมการกล้าแสดงออกในสังคมไทย
หลายคนอาจถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าต้องกล้าแสดงออกเท่านั้นถึงจะได้รับการยอมรับ สิ่งนี้ขัดกับลักษณะพื้นฐานของชาว Introvert อย่างยิ่ง ความ ‘ไม่ชอบแสดงออก’ (ซึ่งอาจไม่ได้แปลว่าไม่ ‘กล้า’ แสดงออก) กลายเป็นคำบ่งบอกลักษณะนิสัยที่ฟังดูติดลบกลายเป็นความผิดปกติ หรือกลายเป็นจุดด้อยอย่างไม่ค่อยจะยุติธรรมนัก
นอกจากนั้นสังคมไทยยังมักเป็นครอบครัวใหญ่ ในงานรวมญาติ ลูกหลาน Introvert อาจนั่งประคองหน้าตัวเองไม่รอด (อีกแล้ว) เพราะการต้องเจอคนจำนวนมากเช่นนี้เป็นเรื่องชวนเสียพลังงานมากจนเกินจะรับไหว ทั้งที่อาจไม่ได้รู้สึกเกลียดชังญาติคนใดเลยก็ตาม แต่ทันใดนั้น ลูกหลาน Introvert ผู้นี้ก็กลายเป็นแกะดำของครอบครัวไปอย่างไม่ค่อยจะยุติธรรมเท่าไร (อีกครั้ง)
จึงนับเป็นโชคดีและความน่าโล่งใจที่ในที่สุดก็มีงานวิจัยทางจิตวิทยาออกมาอธิบายอาการเช่นนี้เสียทีว่าเป็นเพียงลักษณะปกติแบบหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องให้หมอรักษาด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อตหรือวิธีน่ากลัวอื่นๆ แต่อย่างใด
ฟังรายการ R U OK พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com