×

วีนแตก หัวร้อน ขึ้นง่าย ควรจัดการตัวเองอย่างไร และแค่ไหนถึงต้องไปหาหมอ

13.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:10 ทุกวันนี้คนปรี๊ดกันง่ายขึ้นไหม

03:23 ทำไมเรามักปรี๊ดง่ายกับคนใกล้ตัว

11:44 วิธีจัดการกับการปรี๊ด

16:11 สาเหตุที่คนปรี๊ด

22:20 หลักในการทบทวนตัวเอง

26:00 เมื่อไร แค่ไหน เราถึงควรพบแพทย์ได้แล้ว

29:03 บำบัดอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง

ความโกรธ เป็นหนึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน แต่มีความโกรธอีกลักษณะหนึ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใดโดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และบางครั้งไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ หลายคนเรียกมันว่าการ ‘ปรี๊ด’ อาการนี้เกิดได้กับคนใกล้ตัวอย่างคนในครอบครัว และบางครั้งก็เกิดขึ้นกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนอย่างที่เราเห็นกันในข่าว

 

ถ้าลองสังเกต ระยะหลังเราจะพบเห็นคนปรี๊ดแตกกันง่ายขึ้น เกรงใจกันน้อยลง คำถามที่ตามมาคือแค่ไหนที่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ แล้วแค่ไหนที่เรียกว่าต้องขอความช่วยเหลือ

 

ทุกวันนี้คนปรี๊ดกันง่ายขึ้นจริงหรือเปล่า

อันที่จริงคนอาจปรี๊ดกันมานานแล้ว อย่างการขับรถปาดหน้า หรือนักเรียนต่างสถาบันมีเรื่องชกต่อยกันจากการพูดจาไม่เข้าหู แต่สื่อและโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ทำให้เราเห็นข่าวคราวเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เราเลยได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นไปด้วย

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนเราทุกวันนี้ก็เครียดกันมากขึ้นจริงๆ เพราะหันมองรอบตัวก็พบว่าสิ่งที่จะช่วยให้ผ่อนคลายได้นั้นมีน้อย แต่สิ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เครียดและโกรธได้ตลอดเวลากลับมีมากมาย แม้แต่สิ่งที่คิดว่าทำเพื่อการผ่อนคลายอย่างการเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่อาจทำให้เราได้เห็นชีวิตที่ดีกว่าของคนอื่นแล้วเอามาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเอง สิ่งนี้ก็บ่มเพาะอาการปรี๊ดให้เกิดได้ง่ายขึ้นด้วย

 

ทำไมเรามักปรี๊ดง่ายกับคนใกล้ตัว

บ่อยครั้งที่เราปรี๊ดกับคนรัก พ่อแม่พี่น้อง คนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่เครียดมาจากที่ทำงาน เราก็จะเห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการที่ข้าวของไม่เข้าที่เข้าทางก็ทำให้ปรี๊ดแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นในเชิงจิตวิทยาสันนิษฐานว่า ด้วยความที่คนเหล่านั้นอยู่กับเรามานาน และอาจมีบางเหตุการณ์ในอดีตที่เขาเคยสร้างความรู้สึกไม่ดีกับเรา แม้ว่าจะผ่านมานานจนเราจำไม่ได้แล้ว หรืออาจอธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันคือเรื่องอะไร เพราะประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันมาทั้งหมดมันพัวพันกันมานานอย่างแยกไม่ออก อาจเรียกง่ายๆ ว่า ‘เห็นหน้าแบบนี้แล้วมันขึ้น’ ถ้าเป็นสาเหตุนี้ การวางของผิดที่ผิดทางก็เป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เราโกรธ ไม่พอใจ แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ฝังอยู่ในความรู้สึกของเรา

 

อีกสาเหตุหนึ่งคือเราคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถออกจากความเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ แฟนของเราได้ เหมือนกับเป็นเป้านิ่งให้เราลงความรู้สึกโกรธได้เสมอ ต่างกับเพื่อนที่ทำงาน เจ้านาย ที่เราไม่กล้าทำอย่างนั้น เพราะกลัวว่าหากไปปรี๊ดใส่ วันหนึ่งความสัมพันธ์อาจเปลี่ยนไป คนใกล้ตัวมากๆ จึงกลายเป็นคนที่รองรับอารมณ์นี้ของเราไป เพราะเราคิดว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาก็ยังจะรักเรา

 

สาเหตุของอาการปรี๊ด

คนเราจะมีจุดอ่อนหรือความเซนสิทีฟในเรื่องที่ต่างกัน บางคนจะยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง (Self-righteous) เช่น เห็นคนขับรถคร่อมเลน หรือขับรถมาแทรกตรงคอสะพานแล้วจะปรี๊ดทันที เพราะคิดว่านี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราต่างหากคือสิ่งที่ถูกต้อง พร้อมกับความรู้สึกที่คิดว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไปฆ่าความไม่ถูกต้องทั้งหลายที่เราเจอ ซึ่งสาเหตุทั้งหมดอาจมาจากการเลี้ยงดูหรือบ่มเพาะนิสัยและทัศนคติจากครอบครัวที่เน้นความถูกต้องเป็นหลักจนไม่สนใจเรื่องอื่น ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องดี แต่ในขณะเดียวกันมันอาจทำให้คนคนนั้นเซนสิทีฟเกินไป เพราะเวลามีสิ่งเหล่านี้เข้ามาปะทะจะไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ โดยอาจจะหลงลืมไปว่าอีกฝ่ายที่เราคิดว่าเขาผิดจนเกินอภัยนั้นก็เป็นคนเหมือนกัน

 

บางคนอาจถูกครอบครัวเลี้ยงมาโดยให้ความสำคัญกับการให้เกียรติคนอื่นมาก ดังนั้นเมื่อตัวเขาโดนเอาเปรียบ หรือเห็นคนอื่นถูกเอาเปรียบ เช่น เวลาไปซื้อของแล้วลูกค้าโดนแม่ค้าโกง เขาก็จะเข้าไปปกป้องความเป็นธรรมนั้นด้วยวิธีรุนแรงเหลือเกิน โดยลืมไปว่าอีกฝ่ายก็เป็นคน เป็นแม่ เป็นลูกของใครสักคนเช่นเดียวกันกับเขา

 

อาจสรุปได้ว่าเราถูกเลี้ยงมาโดยให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรหรือยืนหยัดเพื่อสิ่งไหน เราก็จะปรี๊ดกับสิ่งนั้นง่ายเสมอ แม้ว่าเบื้องต้นจะเกิดจากความหวังดีก็ตาม

 

การแสดงออกของอาการปรี๊ด

อาจจะมีทั้ง หนึ่ง เข้าไปจัดการเหตุการณ์นั้นๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าถูกต้อง หรือ สอง ไม่รับรู้ แล้วเอาตัวออกจากสถานการณ์นั้น ทั้งที่อาจจะยังโกรธมากอยู่ก็ได้

 

บางคนเลือกวิธีการทำลายข้าวของหรือการทำร้ายร่างกายผู้อื่น แม้จะทำให้ความโกรธลดลงก็จริง แต่อาจโดนตอบโต้หรือทำร้ายคืนได้ นี่จึงไม่ใช่ทางออก ที่ถูกต้องควรเลือกวิธีที่ไม่เดือดร้อนผู้อื่นและไม่ทำให้ข้าวของเสียหาย แต่ละคนต้องหาวิธีของตัวเองในการบรรเทาหรือปลดปล่อยความโกรธนั้น อาจเป็นการตะโกน หรือต่อยหมอนแทน

 

การเหยียบเบรก อาการปรี๊ดแบบเฉพาะหน้า

เราไม่ควรคิดจะแก้ไขหรือเปลี่ยนพฤติกรรมในขณะที่กำลังมีอาการปรี๊ดโดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า เหมือนสำนวนไทยที่เขาว่า ‘น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ’ มันสายเกินไปแล้วที่จะพยายามหยุดตัวเอง แต่ถ้ารู้สึกตัวว่าโกรธและอยากหาวิธีในการจัดการตัวเองแบบปัจจุบันทันด่วน ให้ลองสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางกาย เพราะนั่นคือสิ่งที่จะเกิดก่อนอาการด้านอื่นๆ เช่น

 

  1. กำมือแน่น
  2. หายใจแรง
  3. เกร็ง

 

คราวหน้าหากสังเกตพบสัญญาณเหล่านี้อีก แสดงว่าเรากำลังจะปรี๊ด อาการเหล่านี้จะมาด้วยความรวดเร็วอย่างไม่ทันตั้งตัวก่อนที่ปากจะพูดด้วยซ้ำ ซึ่งเราสามารถหยุดได้หากรู้ทันตัวเอง เช่น ถ้ารู้สึกว่าเริ่มหายใจแรง ลองเปลี่ยนเป็นหายใจลึกๆ ยาวๆ จะช่วยได้มาก ถ้ามือเริ่มกำแน่นก็เปลี่ยนมาเป็นกอดอกนิ่งๆ เป็นการล็อกตัวเองเอาไว้ ความจะปรี๊ดก็จะเริ่มผ่อนลงไปได้

 

แต่จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำที่สุดคือต้องหาเวลานั่งทบทวนถึงพฤติกรรมความโกรธของตัวเองในขณะที่อารมณ์เป็นปกติ ถ้าให้เวลามัน เราจะเข้าใจมันได้ในที่สุด

 

การทบทวนตัวเอง

แม้ว่าสาเหตุของอาการปรี๊ดมักเกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว แต่เราก็สามารถคลี่คลายมันได้ด้วยตัวเอง ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัด เล่าว่า ในวัยเด็กตนก็ปรี๊ดง่ายเช่นเดียวกัน แต่หลังจากได้ศึกษาจิตวิทยาก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับคนที่ทำให้ตนโกรธบนพื้นฐานว่า ‘เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน’ เช่น การที่เขาแสดงพฤติกรรมที่ทำให้เราปรี๊ดออกมานั้น

 

  1. เขาไปเจออะไรมา
  2. ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร
  3. เขาถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร

 

การตั้งคำถามเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่สามารถระงับความโกรธได้ในทันที แต่ก็เป็นวิธีที่จะทำให้เราหยุดและทบทวนกับตัวเองมากขึ้น

 

พระพรหมวังโส (ปีเตอร์ พฺรหฺมวํโส) ได้พูดถึงการระงับความโกรธด้วยการพยายามเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้น โดยมีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งว่า ถ้าเราไปเดินตลาดแล้วอยู่ๆ มีผู้ชายคนหนึ่งเดินมาชี้หน้าด่าเราว่าไม่สวย ดำ เราโกรธ เพราะนั่นอาจเป็นเรื่องเซนสิทีฟของเรา เลยกลับไปเล่าให้แม่ฟังว่าถูกเขาด่ามา แม่บอกว่า “ก็เห็นมันด่าทุกคนที่เดินผ่านนั่นแหละ”

 

เปรียบเทียบกับสถานการณ์ประจำวัน อย่างถ้าเราขับรถอยู่แล้วมีรถคันหนึ่งมาปาดหน้า เรายังไม่ต้องรีบโกรธหรอก เพราะในความเป็นจริง นอกจากปาดหน้าเราแล้ว มันก็จะไปปาดคนอื่นๆ ต่ออีก และปาดไปเรื่อยๆ เมื่อเจอกรณีอย่างนี้ให้ลองถามตัวเองแบบคิดว่า ‘เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน’ ว่า

 

  1. เขาอาจมีเหตุจำเป็นต้องรีบหรือเปล่า
  2. เขาอาจรีบพาลูกไปโรงพยาบาลหรือเปล่า
  3. เขาอาจปวดท้องเข้าห้องน้ำมากๆ ก็เป็นได้ใช่ไหม

 

นี่เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะบรรเทาอาการโกรธอย่างไม่รู้ตัว

 

ปรี๊ดแค่ไหนถึงควรพบแพทย์ได้แล้ว

เราอาจเริ่มต้นด้วยการถามตัวเองง่ายๆ ว่า ‘เหนื่อยไหม’ ‘ชอบที่ตัวเองเป็นอย่างนี้หรือเปล่า’ ถ้าคำตอบคือ ‘ยังมีความสุขดีที่เป็นอย่างนี้’ ทั้งหมดก็ไม่ใช่ปัญหา

 

แต่ในความเป็นจริง เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ไม่สามารถโดดเดี่ยวจากสังคมได้ นอกจากนั้นหลายคนชอบคิดเอาเองว่าคนรอบข้างนั้นรับเราอย่างที่เป็นเราได้ ทั้งที่ไม่เคยถามสักครั้ง อาจจะเริ่มจากวิธีง่ายๆ เช่น

 

  1. ถามคนรอบข้างว่าจริงๆ แล้วเขารู้สึกอย่างไรเมื่อเราโกรธ
  2. ฟังความคิดเห็นของเขา

 

ถ้าฟังแล้วรู้สึกว่าต่อให้เขาไม่ชอบ เราก็รับได้ที่เขาไม่ชอบ เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของเขา ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปพบแพทย์ให้เสียทั้งสตางค์ทั้งเวลา

 

แต่ถ้าเมื่อไรที่เรารู้สึกว่า ‘ไม่ชอบที่ตัวเองเป็นอย่างนี้เลย’ หรือรู้สึกว่า ‘ไม่ชอบเลยที่ทำให้คนรอบข้างต้องเดือดร้อนจากความโกรธของเรา’ ก็ให้เริ่มปรึกษานักจิตบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ประจำแผนกจิตเวชของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน หากไม่กล้าเผชิญหน้ากับเรื่องนี้คนเดียว จะจูงมือไปกับเพื่อนสนิทหรือคนที่ไว้ใจก็ได้

 

วิธีรักษาอาการปรี๊ดเบื้องต้นด้วยตนเอง

หากยังกลัวการพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ เพราะยังมีความเชื่อว่าคนบ้าเท่านั้นที่ต้องหาหมอ อาจจะลองวิธีเบื้องต้นอย่างการเข้า Google เสิร์ชคำว่า Anger Management แล้วศึกษาวิธีการระงับความโกรธด้วยวิธีต่างๆ เช็กลิสต์ที่ให้ตอบคำถามว่าเรามีอาการแบบไหน ลองจัดการตัวเองด้วยวิธีเหล่านั้นดูเพื่อให้เรารู้เบื้องต้นว่าเราปรี๊ดแบบเก็บไว้ข้างใน หรือปรี๊ดแบบพลุ่งพล่านออกมา ฯลฯ

 

ลองใช้วิธีทำแบบทดสอบกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจ เพราะพวกเขาสามารถให้ข้อมูล ช่วยเราสะท้อนภาพตัวเองในมุมที่เรามองไม่เห็น และในที่สุดพวกเขาจะเข้าใจอาการที่เราเป็น และพร้อมช่วยปรามหรือทำให้เราเย็นลงได้เมื่อความปรี๊ดกำเริบ การทำงานเป็นทีมเวิร์กแบบนี้อาจช่วยให้เราหลุดพ้นจากภาวะนี้เร็วขึ้น

 

การพยายามรักษาอาการปรี๊ดของตัวเองด้วยตนเองนั้นอาจต้องใช้ความพยายามและวินัยมากกว่าการทำงานเป็นทีมกับผู้อื่น แต่ไม่ผิดอะไรที่จะลองช่วยเหลือตัวเองดูก่อน แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นเสียทีก็ควรลองเปิดใจ ให้โอกาสตัวเองไปพบและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสักครั้งก็ไม่เสียหายอะไรเหมือนกัน


  • ตัวอย่างแบบฝึกหัดในการจัดการความโกรธเบื้องต้น bit.ly/2Feu8oX
  • รายชื่อสถาบันและโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิต  bit.ly/2I523y6
  • สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่รวบรวมโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีแผนกจิตเวชพร้อมข่าวการรักษาด้านจิตวิทยาที่น่าสนใจ

 

Credits

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising